top of page
312345.jpg

ระวัง! กลายเป็นแหล่งฟอกเงิน...ธุรกิจชิ่งหนีเมืองไทย ออก ICO ตปท.


สัมภาษณ์พิเศษ คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์ (Mr.Messenger) กับมุมมอง..กฎหมายควบคุม ICO

 

ในฐานะผู้ให้คำแนะนำการลงทุน ตอนนี้ ก็มีกฎหมาย สินทรัพย์ดิจิทัลออกมาแล้ว ให้คนลงทุนได้ 300,000 บาท คุณชยนนท์มองอย่างไร น่าสนใจไหมสำหรับนักลงทุน

มองจากภาพใหญ่ พอออกกฎหมายฉบับนี้มาค่อนข้างชัดว่ากระทรวงการคลังไม่ได้สนับสนุน Cryptocurrency แต่การออกฎหมายมาบอกว่ายืนยันไม่ใช่เป็นหลักทรัพย์ดิจทัลแต่เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง แสดงว่าไม่ได้สนับสนุนแต่ก็ไม่ห้าม

พอออกมาแบบกลางๆ แบบนี้ ในมุมหนึ่ง คือ เก็บภาษีจากผู้ลงทุน คิดว่าฝั่งผู้ลงทุนไม่ได้มีแรงต่อต้านเพราะเป็นหลักทรัพย์ประเภทใหม่ อีกอย่างก็ทำให้ผู้ลงทุนตระหนักว่ามีข้อเสียแฝงอยู่ ไม่เหมือนการลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนกองทุนรวมที่ได้รับการลดหย่อนภาษี แต่ยังมีอีกฝั่งว่าเงินที่ระดมทุนจาก ICO หรือเรียกว่า Initial Coin Offering ซึ่งสมมุติว่ามีเงินสกุลใหม่ออกมา เจ้าของธุรกิจระดมทุนผ่าน ICO กลายเป็นว่าเงินที่ได้จากการระดมทุน ทางสรรพกรตีความคิดว่าเป็นรายได้ด้วย

เงินลงทุนก้อนนี้ต้องไปคำนวณกับรายได้ที่ต้องเสียภาษี ซึ่งถ้ามองในมุมนี้จากการหาข้อมูลในกฎหมายต่างประเทศว่ามีประเทศใดตีความการออก ICO แบบนี้หรือไม่ และปรากฏว่าไม่มี

ดังนั้น หากกฎหมายออกแบบนี้จริงคิดว่า ICO หลังจากนี้ บริษัทในไทยหรือต่างประเทศที่จะมาทำธุรกิจในไทยจะไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ต่างประเทศ ก็จะเป็นความเสี่ยงอย่างหนึ่งว่า การไม่ห้ามแต่ให้บริษัทไปจดทะเบียนตั้งบริษัทที่ต่างประเทศแล้วมาขายคนไทย และคนไทยต้องเป็นคนเสียภาษี แต่กลายเป็นว่าบริษัทหรือเจ้าของกิจการไม่ได้อยู่ในไทยก็จะทำให้รัฐไม่สามารถเก็บภาษีได้ ...จึงต้องระวัง

ถ้าออกไปตั้งบริษัทเมืองนอกแล้วกลับมาระดมขายในไทย อันนี้ถือว่าผิดกฎหมายไหม ที่ว่าห้ามขาย ICO ที่จดนอกไทยเข้ามาระดมทุน

ก็ไม่เกี่ยว อย่างเช่น Bitcoin มีการจดทะเบียนที่เมืองนอกแล้วก็มีโบรกเกอร์ในต่างประเทศที่เข้ามาขายในไทย คือมาเก็บภาษีจากคนที่ซื้ออีกที ตอนนั้นให้ไปจดทะเบียนต่างประเทศแล้วเข้ามาขายในไทยจะผิดหรือไม่ ถือว่าไม่ จึงกลายเป็นออปชันของผู้ประกอบการหรือคนออก ICO ซึ่งกลายเป็นว่าจะไม่ออกในไทย เพราะเงินภาษีก้อนใหญ่ หากจะออก ICO 100 ล้านบาท ก็จะโดนภาษี 30% คนที่เป็นเจ้าของกิจการก็ต้องหาทางเลือกอื่นที่ทำให้ตัวเองจ่ายภาษีประหยัด

จึงเป็นคำถามที่คิดว่ารัฐต้องกลับมาพิจารณาหรือเข้าสู่กระบวนการการฟังจากผู้ประกอบการ เพราะการระดม ICO มีความคล้ายกันกับบริษัทจดทะเบียนออกหุ้น IPO ซึ่งหุ้น IPO เป็นการระดมทุน และการระดมทุนจะเป็นรายได้ได้อย่างไร

ไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่มีกฎหมายออกมา ตีความแบบนี้ใช่ไหม

ใช่ จึงมองว่าเหมือนทางการไม่ได้ห้ามก็จริง แต่ชัดเจนว่าไม่ได้สนับสนุน

ในมุมส่วนตัวของผม ICO หรือ Cryptocurrency นั้นอย่างไรต้องมา หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะกระบวนการหรือคนที่มีแนวคิดการตัดตัวกลางทิ้งออกไปยังมีอยู่ และยังมีเรื่องเทคโนโลยี Blockchain อยู่เบื้องหลัง อย่างไรมันก็ต้องมา ถ้าไปห้ามมาก เหมือนตัวอย่างที่เห็นจากบริษัทข้ามชาติ เช่น Facebook หรือ Line ที่รัฐจะไปเก็บภาษี ซึ่งรายได้ของ Facebook ทุกบาททุกสตางค์ส่งกลับไปที่สหรัฐอยู่แล้ว ปัจจุบันคนไทยใช้ Facebook กันหมดแล้ว รัฐจะมาห้ามหรือออกกฎตอนนี้ว่าห้ามคนไทยใช้ Facebook ก็จะทำให้รัฐโดนโจมตี ที่มาห้าม

เช่นเดียวกันถ้าผู้ประกอบการหรือประชาชนทุกคนหันไปออกทุน ICO หรือลงทุนใน Cryptocurrency ผ่านแพลตฟอร์มที่ไม่ใช่ในไทย การที่รัฐจะไปเก็บภาษีจากตรงนั้นอาจจะช้าไปหรือไม่ ผมมองว่าพ.ร.บ.นี้น่าจะยังมีการแก้ไขในตัวบทอีกครั้ง

ขอย้ำอีกทีว่า ในฐานะผู้แนะนำการลงทุนจะแนะนำผู้ลงทุนอย่างไรดี

ในฐานะของนักลงทุนคิดว่าต้องเจอภาษีจาก Capital Gain แต่ก็ยังถือว่าพอได้

ทีนี้ยังมีผู้ลงทุนอีกกลุ่มหนึ่งที่บอกว่าได้ซื้อ Token หรือ Coin มาจากแพลตฟอร์มต่างประเทศ สมมุติว่าโอนเข้ามาอยู่ในตัวแทนขายหรือ Exchange Platform ในไทย ซึ่ง Exchange Platform ที่โอนเข้ามาในไทยจะไม่รู้ต้นทุนเพราะมีการซื้อในต่างประเทศแล้วโอนกลับเข้ามาเพื่อ Trade ในไทย แล้วต้นทุนจะคิดอย่างไรเพราะตัวกฎหมายยังไม่ได้มีการกำหนดไว้ ซึ่งกลายเป็นช่องโหว่เหมือนกัน

สมมุติมีการซื้อจากต่างประเทศมา 10 เหรียญตั้งแต่เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ตอนนี้อยากเอากลับเข้ามาในไทยให้ถูกต้อง สมมติราคาอยู่ที่ 100 เหรียญ แต่ในตอนนั้นราคา Platform Exchange ที่รู้คือ 100 เหรียญ พอบอกว่ามีการโอนมาในไทย 100 เหรียญแล้วขาย 100 เหรียญ จะต้องเสียภาษีหรือไม่...

นับว่าเป็นคำถามหนึ่งว่าตัวกฎหมายแบบนี้เปิดช่องให้มีการทำธุรกรรมฟอกเงินหรือไม่ เหมือนไปทำธุรกรรมผิดกฎหมายมาแล้วไปซื้อ Cryptocurrency ในต่างประเทศโดยนำเข้าไทยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

เพราะฉะนั้นในอีกมุมหนึ่งการเก็บภาษีจากผู้ลงทุนยังไม่ได้เคลียร์ในหลายมุม ถ้าคนที่ลงทุนเองโดยไม่ได้เจตนาจะโกงหรือฟอกเงิน คิดว่าตอนนี้ยังไม่เป็นไร เพราะยังสามารถ Trade หรือลงทุนได้อยู่ แต่ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงในตัวเอง คือ ภายใน 1 วันสามารถลบหรือบวกได้ 30-40% พอมีแรงเหวี่ยงยิ่งกว่าหุ้นปั่น 1 ตัว แปลว่านักลงทุนต้องระมัดระวัง

ในความคิดเห็นส่วนตัวภาษีที่เก็บจากนักลงทุนไม่ได้น่ากลัวขนาดว่าต้องถอยออกมา

ข้อสังเกตที่ให้ระวังคือ เรื่องฟอกเงินใช่ไหม

ครับ เพราะว่าเมื่อมีกฎหมายแล้ว ก็อาจจะถูกใช้เป็นช่องทางใต้ดินกันได้ เพราะตอนไม่มีกฎหมายบัญญัติ คือ ไม่มีใครเปิดหน้าออกมาอย่างไร และถ้าได้อ่านข่าวในเว็บไซต์ต่างประเทศทั้งหลาย Bitcoin เป็นสกุลเงินที่ผู้ก่อการร้ายเอาไว้ Trade กัน เพราะหลีกเลี่ยงตัวกลางและการตรวจสอบได้ แต่พอไทยมาทำเป็นกฎหมายแล้วมาเจอช่องโหว่คิดว่าผู้ไม่ประสงค์ดีต่อตัวระบบจะกลายเป็นว่าสามารถนำเงินนั้นกลับเข้ามาสู่ระบบได้

แต่มองว่ายังมีเวลา 90 วันซึ่งทาง ก.ล.ต.น่าจะมีการทำประชาพิจารณ์ เรียกผู้เกี่ยวข้องและบริษัทที่สนใจจะออก ICO มาเข้าสู่กระบวนการรับฟังความเห็น ชี้ประเด็นที่คิดว่าแบบไหนสมควรหรือไม่สมควรแล้วส่งกลับไปให้กรมสรรพากรและกระทรวงการคลังพิจารณาอีกครั้ง

ผมเชื่อว่า สมาคมฟินเทคประเทศไทย ผู้ประกอบการ ก.ล.ต. น่าจะร่วมกันและผลักดันให้เกิด Ecosystem ที่ดีขึ้นในการ Trade Cryptocurrency ให้เป็นหลักทรัพย์ตัวหนึ่งได้ ซึ่งพ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับไม่ได้ยอมตีความรับในหลักการว่า Cryptocurrency เป็นหลักทรัพย์ คือ การออก พ.ร.ก.เพื่อครอบคนทำธุรกิจนี้กับนักลงทุน แต่ไม่ได้รองรับว่า Cryptocurrency เป็นหลักทรัพย์ แปลว่าอาจจะออกกฎหมายลูกหรือการออกพ.ร.ก.ฉบับที่ 3-4 อีกครั้ง แล้วบอกว่า Bitcoin คือ Cryptocurrency ถือเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่ง ซึ่งจะแยกแม่บทออกมาจากฉบับที่ 1 และ 2

ย้อนกลับมา ที่การลงทุนในปัจจุบัน คือการลงทุนในหุ้น ช่วงเดือนพฤษภาคมนี้ ตลาดหุ้นลดลงมาก และนักลงทุนต่างชาติก็ขายไปเยอะมาก น่ากังวล

สิ่งที่น่ากังวล คือ บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีกำไรที่เริ่มชะลอตัว แม้ไม่ถึงกับขาดทุน และในบาง Sector ชะลอตัวอย่างมากอย่างน่าใจหาย เช่น

1. กลุ่มนันแบงกิ้ง ไมโครไฟแนนซ์ มีกำไรลดลง 40-50%

2. ธุรกิจน้ำอัดลมได้ผลักต้นทุนตัวเองรองรับภาษีน้ำตาลที่จะมาเก็บในปี 2562 แต่ต้องมีการทยอยปรับขึ้นราคาเพราะถ้าไปปรับขึ้นราคาในช่วงนั้นก็จะตกใจทั้งหมด แต่เมื่อมีการปรับขึ้นราคาแล้วกลายเป็นว่าเหมือนตลาดอิ่มตัวพอดี จากราคาน้ำอัดลมขวดละ 14 บาท ปรับขึ้นเป็น 18 บาท ผู้บริโภคจะหันไปดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำอย่างอื่น แสดงว่าราคามีผลต่อผู้บริโภคระดับหนึ่ง การปรับขึ้นเพียง 4-5 บาทแล้วทำให้ยอดขายไม่โตขึ้น

คิดว่าต้องตั้งคำถามแล้วว่าในภาคของการบริโภค ในไทยใกล้จะอิ่มตัวหรือไม่

3. ถ้าสังเกตเฉพาะหุ้นในกลุ่มพลังงานในไทย ปตท. ปตท.สผ. เป็นกลุ่มหุ้นที่วิ่งขึ้นมาค่อนข้างแรงที่สุดนับตั้งแต่ต้นปี แต่ถ้าลบปัจจัยของการวิ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานหุ้นไทยควรจะอยู่ที่ระดับไหน ปรากฎว่าหุ้นในกลุ่มพลังงานมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยมาก ถ้าตัดการวิ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานออกไป หุ้นไทยวันนี้ควรปรับต่ำกว่า 1,700 จุด

แปลว่าตลาดหุ้นที่ยังทรงตัว ยังปรับลงไม่ได้ แต่ก็ยังปรับขึ้นไม่สุด ... ในมุมหนึ่ง คือ กำไรโตช้า และมุมหนึ่งที่ยังวิ่งขึ้นไม่ได้ กลายเป็นว่าวิ่งได้ในบาง Sector เท่านั้น

4. นักลงทุนเริ่มใส่ความคาดหวังในเชิงบวกเข้าไปในตลาดน้อยลง อย่าง Sector ใหญ่ที่สุด คือ สถาบันการเงิน จากการที่ออกมามีสงครามค่าธรรมเนียมฟรี ลดค่าธรรมเนียมทั้งหมดเพื่อที่จะดึงฐานลูกค้าไว้ อย่างบางธนาคารมีการบอกว่าลดประมาณการรายได้ลงทันที ซึ่งทำให้นักวิเคราะห์หรือนักลงทุนตีความคาดหวังลดลงมาถึงแม้ว่าในไตรมาส 1 จะขยายตัวได้ดี

ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องปัจจัยภายในที่ทำให้หุ้นไทยเป็นแบบนี้

ส่วนปัจจัยภายนอก คือ ตอนนี้นักลงทุนกังวล กับเรื่องของ อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ปรับขึ้นมาเกิน 3% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อย 2-3 ครั้ง คนก็ไปดูที่ตัวเลขว่าเงินเฟ้อเป็นอย่างไรบ้าง ยอดค้าปลีกเป็นอย่างไรบ้าง ปรากฏว่าตัวเงินเฟ้อก็ขยับขึ้นมาใกล้กับเป้าหมาย โดยภาคการบริโภคของสหรัฐ ขยายตัวได้ดี ค่อนข้างชัดว่าเฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งก่อนหน้านี้สมมุติว่าเป็นนักลงทุนในสหรัฐ กู้สกุลดอลลาร์มาในราคาถูก มองเห็นว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้าดอกเบี้ยจะแพงกว่านี้

เพราะฉะนั้นเป็นการปิดความเสี่ยงหรือปิดเงินกู้ ดีมานด์ต่อดอลลาร์ หรือความต้องการต่อการกลับไปถือครองหลักทรัพย์ในสกุลดอลลาร์กลายเป็นว่าสูงขึ้นมาทันทีในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา พอเป็นแบบนี้ดอลลาร์แข็งค่า แปลว่าเงินประเทศอื่นอ่อนค่า คือ ทั้งโลกอ่อนค่าหมด ทำให้เจอปัจจัยที่ 2 คือ นักลงทุนต่างชาติมีการลดสัดส่วนการถือครองทั้งตราสารหนี้และหุ้นในไทย

บรรยากาศแบบนี้ต่างชาติคงไม่กลับมาแน่นอน เงินทุนต่างชาติยังจะอีกไหลออกไปได้อีกเรื่อยๆ จนไม่รู้ว่าจะเอาหุ้นที่ไหนมาขาย

จริงๆ มีอีกคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือ ดอลลาร์จะแข็งมากกว่านี้หรือไม่ หากไปดูตัวชี้วัดที่ชื่อว่าไลบอร์ อัตราดอกเบี้ยไลบอร์ที่ตลาดอังกฤษ Trade สกุลหลักอยู่ 5 สกุล สกุลที่ดูกันมากที่สุด คือ ดอลลาร์

ไลบอร์ คือ ต้นทุนการกู้ยืมระหว่างธนาคารกันเอง ตัวนี้สะท้อน 2 มุม คือ ถ้าไลบอร์สูงขึ้นแสดงว่าแนวโน้มดอกเบี้ยน่าจะสูงตาม อันนี้คือวิ่งหมุนวงล้อตามกัน อีกมุมหนึ่งคือว่าสะท้อนความเสี่ยงของตัวภาคธนาคารที่มองกันเอง

ปรากฏว่าตัวไลบอร์วิ่งสูงขึ้นมากกว่ามุมมองของอัตราการขึ้นดอกเบี้ย เพราะว่าเท่าที่เห็นมาหรือค้นหามาคือ J.P. Morgan บอกว่า

1. สหรัฐมีการออกพันธบัตรรัฐบาลล็อตใหม่ประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการออกพันธบัตรเยอะกว่าที่ประมาณการไว้หรือนอกจากงบกระทรวงการคลังของสหรัฐที่เพิ่มเติม ทำให้ซัปพลายตัวพันธบัตรเพิ่มขึ้น เมื่อซัปพลายเพิ่มขึ้นตัวราคาลง เพราะถ้าอยากจะขายก็ต้องลดราคาลง เพราะมีของมากขึ้น มีลักษณะคล้ายเทกระจาดขายทำให้ตัวไลบอร์ปรับตัวสูงขึ้น

2. บริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐแต่ทำธุรกิจนอกสหรัฐมีความกังวลเรื่องการเก็บภาษี เรื่องการออก Trade War หรือนโยบายของโดนัลด์ ทรัมป์ ที่จะพยายามทำในปีนี้จากนโยบายในสหรัฐ Great Again ส่วนนี้เลยมีการดึงกำไรหรือดึงเงินทุนจากสกุลอื่นกลับเข้าสู่สหรัฐในช่วงในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมาค่อนข้างเยอะ คิดเป็นตัวเลขประมาณเกือบ 2,000 ล้านเหรียญ เป็นปริมาณค่อนข้างเยอะ

พอมี 2 Factor นี้ เป็นปัจจัยที่เกิดเฉพาะในไตรมาส 1 ไตรมาสเดียว เพราะการดึงเงินกลับมันคงไม่ได้กลับมาไตรมาส 3 ด้วยเหมือนกัน แสดงให้เห็นว่าการที่ดอลลาร์แข็ง และการที่ดอกเบี้ยระยะสั้นปรับตัวขึ้นสูงเกินไป มันไม่ได้มาจากการคาดการณ์ของดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ยังมาจากปัจจัยอื่นด้วย

แปลว่าไตรมาส 2 และ 3 ถ้าไม่เห็นการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยแรงและไม่มีปัจจัยเรื่องการประมูลพันธบัตรเยอะหรือไม่มีการดึงเงินกลับอีกต่อไป คิดว่าการแข็งค่าของดอลลาร์ที่เห็นในไตรมาส 1 ใกล้จะชะลอแล้ว จึงฟันธงว่าคงไม่เห็นดอกเบี้ยสหรัฐ หรือ พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 10 ปี ที่ระดับเกิน 4% ในเร็วๆนี้

พอตอนนี้พันธบัตร 10 ปีขึ้นมา 3% คนก็เริ่มตกใจแล้วว่าดอลลาร์จะแข็งขึ้นไปมากกว่านี้หรือไม่ ในมุมส่วนตัวการแข็งค่าแรงๆ ผ่านไปแล้ว หลังจากนี้จะเป็น Sideway จะไม่มีนัยอะไร

ถ้าเป็นนักลงทุนไทยถามว่า แล้วแบบนี้จะลงทุนได้หรือไม่ ...ขึ้นอยู่กับผลประกอบการและตัวนักลงทุนเอง คือ เรื่องเงินไหลออกไม่น่าจะมีผลแล้วนับจากนี้

45 views
bottom of page