พิษ 'ภาษีทรัมป์' สาหัส...ส่งออกวูบ จีดีพีหด
- Dokbia Online
- 12 minutes ago
- 2 min read

ภาษีตอบโต้ของอเมริกากระทบยอดส่งออกไทย 3-4 แสนล้าน ไทยต้องเร่งเจรจาการค้า FTA กับยุโรปและอังกฤษให้ลุล่วงโดยเร็วเพื่อชดเชยรายได้ส่งออกที่ลดลง คาด....ในสถานการณ์แวดล้อมที่เป็นลบรอบด้าน ทำให้ GDP ไทยปีนี้โตแค่ 1.6-1.8% ทั้งเวิลด์แบงก์/IMF และ Moody’s มองภาพไทยในเชิงลบ กระทบต้นทุนการกู้ยืมของรัฐบาลและเอกชนไทยที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยมากขึ้น รวมทั้งทำให้ความเชื่อมั่นในการลงทุนจากต่างประเทศลดลง เร่งรัฐบาลเจรจาทางการค้ากับอเมริกาให้มีปัญหากับไทยน้อยที่สุด ควบคู่กับการบริหารจัดการงบประมาณภาครัฐให้กระตุ้นเศรษฐกิจได้โดยเร็ว ร่วมมือกับธุรกิจเอกชนในการเพิ่มศักยภาพการผลิต คุณภาพสินค้า-บริการ ทักษะฝีมือแรงงาน เพื่อให้แข่งขันกับคู่แข่งได้ พร้อมแสดงความเป็นห่วงงบรัฐที่จะกู้ 5 แสนล้านเพื่อนำมากระตุ้นเศรษฐกิจว่าอาจติดปัญหาเพดานหนี้ แต่ถ้ากู้ได้จริงต้องบริหารจัดการให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด แนะ...อีกทางเลือกคือนำงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 3.5 แสนล้านต่อปี มาขัดตาทัพเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
Interview : รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ อาจารย์คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)
ดูสถานการณ์เศรษฐกิจไทยเราตอนนี้เป็นอย่างไร
เนื่องจากพื้นฐานเศรษฐกิจของไทย เราพึ่งพาต่างประเทศค่อนข้างจะมาก สูงถึง 72% ขณะเดียวกันเราพึ่งพาในประเทศ 28% เหตุผลคือประชากรเรามีไม่เยอะ กำลังซื้อเราก็ไม่มาก ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยเราอยู่ด้วยปัจจัยนอกประเทศเป็นหลัก คือการส่งออก การท่องเที่ยว และการลงทุนจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ต่างประเทศมีประชากรทั่วโลกบวกกันประมาณเกือบ 8,000 ล้านคน ส่วนไทยมี 68 ล้านคน ฉะนั้น ที่ผ่านมาเราอยู่ได้ด้วยปัจจัยนอกประเทศที่มีประชากรอยู่ประมาณ 7,900 ล้านคน ถ้าสินค้าเราแข่งขันได้ ส่งออกได้ เราก็มีกิจกรรมทางเศรษฐกิจ โรงงานก็ผลิต แรงงานก็มีงาน มีรายได้ ก็เกิดกิจกรรมการใช้จ่ายในประเทศ
ดังนั้น การส่งออก การท่องเที่ยว จึงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับไทยคือที่ผ่านมาเป็นอย่างนั้น ฉะนั้น ถ้าหากเจอปัจจัยเรื่องต่างประเทศเมื่อไหร่ก็จะกระทบทันที ซึ่งรอบนี้เราก็โดนจากที่ โดนัลด์ ทรัมป์ มีมาตรการภาษี ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่ไทยเราก็เผชิญด้วย เพราะเราเกินดุลการค้าสหรัฐอเมริกาเป็นลำดับ 10 ส่วนจีนเป็นอันดับหนึ่ง โดยของเราเกินดุล 35,000 ล้านเหรียญต่อปี ทำให้สหรัฐอเมริกามีมาตรการตั้งกำแพงภาษีสำหรับประเทศที่เกินดุลเขามากๆ และเราก็เป็นประเทศที่โดนด้วย และไทยก็โดนภาษีในอัตรา 36% แต่เขาก็มีการชะลอไป 90 วัน ซึ่งการชะลอนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเจรจา พูดคุย จะต่อรองได้ขนาดไหน ซึ่งวันนี้ยังไม่ได้มีการนัดหมาย ว่าจะให้ไปเจรจาได้เมื่อไหร่ คงต้องติดตามว่าจะออกหัวหรือออกก้อย แต่ดูแล้วเราน่าจะโดนแน่นอน เพียงแต่จะโดนมากโดนน้อย เพดานก็คือ 36% หรือจะไม่สูงเท่านั้นก็ได้ แต่แน่นอนคือไทยถูกกระทบแน่ เพราะเราส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาคิดเป็นสัดส่วน 18% ของการส่งออกทั้งหมดของเรา
ฉะนั้น ตรงนี้ไทยคงถูกกระทบบางส่วน โดยในส่วนผลกระทบสหรัฐอเมริกาคิดเป็นตัวเลขประมาณ 3-4 แสนล้านบาท ซึ่งเราต้องหาอย่างอื่นมาชดเชยที่จะช่วยตรงนี้ให้กระทบน้อยที่สุด นั่นก็คืออาจจะต้องไปหาความร่วมมือทางการค้ากับประเทศทางยุโรป อย่างอียูเองเป็นกลุ่มประเทศยุโรปซึ่งไทยกำลังเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอยู่ แต่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยพยายามจะให้จบในปีนี้ หากทำได้ เราก็อาจจะได้ตลาดของอียูมาชดเชย เพราะเอฟทีเอ ความหมายก็คือมีการยกเว้นภาษีซึ่งกันและกัน อันนี้ก็ช่วยให้เรามีโอกาสในการส่งออกได้เพิ่มขึ้น
อีกประเทศหนึ่งคือประเทศอังกฤษ ซึ่งไทยเรากำลังเจรจาเอฟทีเออยู่เหมือนกัน ซึ่งยังไม่แล้วเสร็จ ตรงนี้เป็นอีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจ ส่วนเอ็กซ์ตร้าได้มีการตกลงไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา คือสวิตเซอร์แลนด์และอีก 2-3 ประเทศในยุโรป รวมเป็น 4 ประเทศเป็นเอกซ์ตรา อันนี้ตกลงไปแล้ว ก็เป็นสิ่งซึ่งถ้าเราอยากประคองตัวเลขทางเศรษฐกิจก็คงจำเป็นต้องใช้กลไกทางการค้าเป็นความร่วมมือ แล้วอาจจะต้องหาตลาดใหม่ อีกส่วนหนึ่งคือสินค้าที่เราจะส่งออกต้องมีการแก้ไข ก็คืออาจจะต้องสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าของไทย
สำหรับประเทศจีน เราก็ขาดดุลกับจีนเยอะมาก ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องพูดคุยกันว่าเราจะลดการขาดดุลตรงนี้อย่างไร เพราะเราซื้อสินค้าจีนเยอะ แต่จีนซื้อสินค้าจากไทยน้อย ตรงนี้เป็นประเด็นการเจรจาแล้ว
การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยก็ถูกกระทบ
ด้วยสถานการณ์แบบนี้ทำให้มีการประมาณการตัวเลข GDP ปีนี้ แต่เดิมต้นปีรัฐบาลมองว่าน่าจะได้สัก 3% แต่พอมาเจอเหตุการณ์แบบนี้ แล้วก็เหตุการณ์อื่นอย่างเช่นเรื่องการท่องเที่ยวและเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากจีนต่ำกว่าที่คาดไว้ ตรงนี้เลยทำให้ตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ ปีนี้จะไม่เป็นอย่างที่เราคาดไว้แล้ว ซึ่งเดิมรัฐบาลคาดไว้ที่ 3% ขณะนี้เรามองว่าไม่น่าถึง 3% แล้วพอมาเจอเหตุการณ์ภาษีก็มองว่าไม่น่าจะเกิน 2% อาจจะประมาณ 1.6-1.8% ซึ่งธนาคารโลก ไอเอ็มเอฟ ก็มีการประมาณการเราว่าปีนี้โตไม่ถึง 2% ก็เป็นประเด็นที่ราต้องมาทบทวนเหมือนกันว่าทำไมเราถึงโตน้อยเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียนด้วยกัน ไทยโตต่ำกว่าประเทศอื่นไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เขาก็โตประมาณ 5% กว่าๆ ส่วนไทยโตไม่ถึง ตรงนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องมาทบทวนเหมือนกัน ว่าเราจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างไร ดังนั้น เงื่อนไขของภาษีของทรัมป์เลยเป็นตัวแปรสำคัญ
ล่าสุด ก็มาเจออีกประเด็นหนึ่งคือ Moody’s ซึ่งเป็นสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือก็มีการประกาศจัดอันดับของไทยเท่าเดิมที่ Baa1 แต่มีเสถียรภาพติดลบ ความหมายก็คือจาก Stable Outlook ก็กลายเป็น Negative Outlook คือเริ่มมองในเชิงลบแล้ว แม้เรตติ้งจะเป็นตัวเลขเดิม แต่มีวงเล็บข้างหลังว่า Negative Outlook ความหมายก็คือมองว่าน่าจะเป็นเชิงลบ ตรงนี้เลยมีนัยสำคัญ
ถ้าเป็นเช่นนี้ แสดงว่าหลายคนเขาก็มองเราเป็นแบบนี้แล้ว ธนาคารหรือไอเอ็มเอฟ รวมทั้ง Moody’s เองที่เป็นสถาบันจัดอันดับเครดิต แล้วมาจัดอันดับตรงนี้ จะมีนัยอย่างไรต่อไทยเรา ก็คืออันดับที่ว่านี้คือ Baa1 เป็น Negative Outlook แสดงว่าประเทศนี้เริ่มมีสัญญาณบางอย่างในเชิงลบ ดังนั้น ตรงนี้มองความหมายก็คือว่า เริ่มมีความเสี่ยงบางประการที่เขามองว่าเราเริ่มจะไม่ค่อยดี เช่นหนี้สาธารณะเราก็มากขึ้น หนี้ครัวเรือนเราก็เยอะ การเติบโตเราก็โตต่ำ ตรงนี้เขาก็มองแล้วก็ประมวลออกมาเป็นเอกสาร แล้วก็วิเคราะห์ออกมา อันนี้จะมีนัยอย่างไร ซึ่งความหมายก็คือว่ามันจะมีผลต่ออัตราดอกเบี้ยเวลาเราจะไปกู้ยืมเงิน
ฉะนั้น พันธบัตรรัฐบาลที่ออกมาจะแปรผันตามความเสี่ยง ถ้าความเสี่ยงสูง อัตราดอกเบี้ยจะแพงขึ้น ดังนั้น ตรงนี้อันดับที่เขาจัดความหมายจะเป็นแบบนี้ นั่นก็คือต้นทุนของการยืมเงินของภาครัฐในอนาคตอาจจะต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงขึ้น ก็เป็นประเด็นหนึ่งที่กลายเป็นภาระทางการคลังต่อไปในอนาคต ยกเว้นว่าเศรษฐกิจเราจะดีขึ้น
อีกประการหนึ่งในภาคเอกชน กติกาของการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของสถาบันเหล่านี้คือบริษัทในประเทศใดก็ตามจะมีอันดับสูงกว่าอันดับของประเทศไม่ได้ นั่นก็หมายถึงว่าถ้าอันดับประเทศไม่ค่อยดี บริษัทในประเทศไทยเลยพลอยลำบากไปด้วย ถ้าจะไปออกหุ้นกู้ ออกตราสารหนี้ขาย ดอกเบี้ยก็จะแพงตามขึ้นไปด้วย อันนี้จะกลายเป็นภาระทางต้นทุนทางการเงินทั้งของภาครัฐและเอกชนในประเทศนั้นด้วย ตรงนี้เลยเป็นอะไรบางอย่างที่บ่งบอกว่าต้นทุนเราจะสูงขึ้นแล้ว นั่นก็หมายถึงจะมีผลระยะยาว พอต้นทุนทางการเงินสูงขึ้นนั่นคือผลประกอบการของภาคเอกชน อาจจะแย่ลงคือมีกำไรน้อยลง
ความเสี่ยงในแง่ Negative Outlook นี้จะมีระยะนานแค่ไหน
สิ่งที่เขาประเมิน เขาจะประเมินเป็นระยะๆ ถ้าหากรัฐบาลสามารถปรับแก้ ตัวเลขที่เขาบ่งบอกมาว่าเริ่มมีสัญญาณเชิงลบนั้น ถ้าเราแก้ไข หรือการเจรจาความกับสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จ หรือตัวเลขต่างๆ ของเราดีขึ้น เขาก็อาจจะปรับเป็นบวกได้ ตรงนี้ยังมีเวลาที่เราจะปรับตัว เตรียมตัว ซึ่งตรงนี้การเจรจากับรัฐบาลและโดนัลด์ ทรัมป์ในรอบนี้เลยมีนัยสำคัญในช่วง 3 เดือนที่เขาเลื่อนไป เราต้องคิดทางออกให้ดี แล้วเตรียมตัวให้ดี
ขณะเดียวกัน ก็ต้องแก้ปัญหาภายในของเราในเรื่องของงบประมาณ จะเร่งรัดอย่างไร จะใช้จ่ายอย่างไร และจะกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างไรให้เกิดผลทางเศรษฐกิจให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ซึ่งปัญหาเศรษฐกิจของไทยจะมีหลายปัญหา ทั้งปัญหาโครงสร้างแล้วก็ข้อจำกัดหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแข่งขัน เราก็จำเป็นต้องมีการพัฒนาคือพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาทักษะสกิล เราอาจจะรีสกิล อัปสกิล อะไรต่างๆ อันนี้เป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้ยั่งยืน แล้วจะเพิ่มความสามารถ เพิ่มรายได้ด้วย และช่วยเรื่องแข่งขันด้วย
เหล่านี้คือสิ่งที่จะต้องทำคู่ขนานกัน เรียกว่าโครงสร้างพื้นฐานก็ต้องทำด้วยเหมือนกัน ก็เลยเป็นโจทย์หลายโจทย์ที่รัฐบาลต้องแก้ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ เพดานหนี้ และด้วยข้อจำกัดของการลงทุนต่างๆ ดังนั้น มีข้อจำกัดค่อนข้างเยอะ คือต้องอาศัยความสามารถและศักยภาพหลากหลายทีเดียว
งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 5 แสนล้านที่จะออกมา รวมถึงเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ จะช่วยได้หรือไม่
5 แสนล้านก็อาจมีความจำเป็น แต่มีข้อจำกัดเหมือนกันว่า 5 แสนล้านเราจะนำเงินมาจากไหน เพราะตอนนี้เพดานของหนี้ของเราอยู่ที่ 65% เมื่อเทียบกับจีดีพี ซึ่งจนหนี้สาธารณะจะก่อได้ไม่เกิน 70% ฉะนั้น เราจะเหลือพื้นที่อีกไม่มาก เราเหลือพื้นที่อีกประมาณ 8-9 แสนล้าน ดังนั้น ถ้าจะก่อหนี้ ต้องดูให้ดี เพราะเราจะมีการขาดดุลงบประมาณของปี 2569 ซึ่งตอนนี้อยู่ในกระบวนการอยู่ แล้วจะมีผลในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเราก็จะขาดอยู่ประมาณ 7 แสนล้าน ฉะนั้น ถ้าเอา 5 แสนล้านบวกเข้าไป จะกลายเป็นขาดดุลงบประมาณ 1.2 ล้านล้าน ซึ่งจะเกินเพดาน
ฉะนั้น ตอนนี้เลยกลายเป็นประเด็นว่า ถ้าจำเป็นต้องกู้หนี้ 5 แสนล้านเพื่อจะมาลงทุน จะใช้เม็ดเงินอย่างไรและวิธีใด เพราะถ้าจะใช้งบประมาณแผ่นดินก็จะมีเพดานจำกัดไว้ ถ้านอกเหนือจากนี้ใช้วิธีการกู้ยืมเงินพิเศษซึ่งสามารถทำได้ แต่มีเงื่อนไขก็คือจะกู้ออกมาได้ก็ต้องเข้าเงื่อนไข ซึ่งเงื่อนไขก็คือประเทศประสบปัญหาภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจ ตามมาตรา 172 ของราชอาณาจักรไทยเท่านั้น ตรงนี้เลยมีเงื่อนไขว่าสถานการณ์ขณะนี้จะเข้าเงื่อนไขตรงนั้นหรือไม่ หากไม่เข้าเงื่อนไข ก็ใช้วิธีนี้ไม่ได้
ตรงนี้เลยเป็นอีกประเด็นหนึ่งว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร แต่สุดท้าย เราอาจจะต้องบริหารเงินเท่าที่มีให้เกิดผลที่สุด โดยใช้วิธีการเช่นอาจจะใช้ให้มันเกิดประสิทธิภาพสูงหน่อย คิดโครงการให้ดีหน่อย เพราะเม็ดเงินเหล่านี้เรากู้มา ซึ่งถ้าเราใช้เงินให้ดี มีโครงการที่ดี ผลตอบแทนมันเยอะก็ยังพอไหวอยู่ ฉะนั้น ตรงนี้ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการเงินที่เราจะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโดยผ่านงบประมาณประจำปี แล้วก็อาจจะด้วยวิธีอื่น
อย่างไรก็ดี จริงๆ เรายังมีอีกเครื่องมือหนึ่งก็คือเรามีงบประมาณที่อยู่ในรัฐวิสาหกิจ เป็นงบลงทุนอยู่อีกประมาณ 3.5 แสนล้านบาทต่อปี ก็อาจบริหารจัดการเม็ดเงินก้อนนี้ให้เกิดผลโดยเร็ว ขณะเดียวกัน งบประมาณปี 2568 ซึ่งตอนนี้ก็ผ่านมาค่อนปีแล้ว ก็รีบเร่งการเบิกจ่ายให้มากให้เร็วหน่อย เพราะปกติทุกปี เงินงบประมาณจะถูกใช้จ่ายไม่ค่อยเต็มร้อย คือเราตั้งไว้ร้อย ส่วนใหญ่จะเบิกจ่ายประมาณสักกว่า 80% ฉะนั้น ถ้าเราบริหารจัดการดีๆ ให้เม็ดเงินเหล่านี้เบิกจ่ายโดยเร็ว ให้เกิดผลในปีนี้ ตรงนี้อาจจะช่วยอีกแรงหนึ่ง ดังนั้น คงต้องใช้หลายภาคส่วน ขณะเดียวกัน ก็ต้องใช้เรื่องการส่งออกเป็นตัวช่วย
ส่วนเรื่องเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ คงยังมีขั้นตอนอีกพอสมควร อาจจะไม่ทันในปีนี้ คือมันก็เป็นบวก แต่อาจจะต้องมาตอบอยู่หลายอย่างว่า ถ้าจำเป็นต้องทำ ควรจะทำอะไรก่อน อะไรหลัง เพราะจริงๆ เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ก็มีผลดี ขณะเดียวกันก็จะมีผลกระทบ ก็ต้องมาบวกลบคูณหารกัน แต่จำนวนผู้จ้างงานที่เกี่ยวข้องไม่มากเท่าไหร่ถ้าพูดถึงในแง่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตัวเลขก็มี เพียงแต่จำนวนแรงงานที่จะเข้าไปทำงานถ้าดูจากที่มีการประมาณการก็ไม่มาก จ้างงานไม่มาก เป็นแค่หลักหมื่นคนเท่านั้นเอง ตรงนี้ก็คงจะต้องผสมผสานกันหลากหลายวิธี
สรุปคือพื้นฐานเศรษฐกิจเราก็ยังไม่ค่อยแข็งแรง แถมมีโรคภัยอีก ดังนั้น ต้องทำร่างกายให้แข็งแรง เพื่อรับมือกับปัจจัยภายนอกได้ เลยมีหลายประเด็นที่จะต้องทำคู่ขนานกัน
Comments