top of page
347550.jpg

ผ่าเศรษฐกิจไทยป่วยเรื้อรัง เลยไม่กล้าขยับดอกนโยบาย


ตีแผ่เศรษฐกิจไทยอยู่ในสภาพติดหล่มจมโคลน! ส่งผลกนง.ไม่กล้าขยับ “ดอกเบี้ยนโยบาย” มา 27 งวดติดต่อกันหรือเกือบ 4 ปีมาแล้วที่ใช้อัตราดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี อาจจะอยู่ในอัตรานี้จนถึงปีหน้าก็ยังไม่มีใครบอกได้ว่าจะปรับขึ้นได้หรือไม่ หรืออาจจะไม่กล้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีหน้า ทั้งนี้ก็มีความเป็นไปได้เพราะภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัว เติบโตน้อย เศรษฐกิจโตแบบกระจุกตัว รวยอยู่กับคนกลุ่มเดียวที่อยู่ข้างบน สวนทางกับชาติศก.เกิดใหม่ยามนี้ ต่างปรับเพิ่มดอกเบี้ยอุตลุดเพื่ออุ้มค่าเงิน ในขณะที่เงินบาทกลับแข็งค่าทำสินค้าไทยแพงและขายยากในตลาดต่างประเทศ ส่งผลให้แข่งขันกับคู่แข่งไม่ได้ แถมยังถูกซ้ำเติมหนักจากสินค้าต่างประเทศราคาถูกเข้ามาตีตลาดไทย จนผู้ผลิตเดี้ยงไปตามๆ กัน ถ้าไม่ระวัง! เผยเศรษฐกิจไทยกลายเป็นคนป่วยเรื้อรัง จนยากแก่การเยียวยารักษาเข้าไปทุกวัน

ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ กล่าวในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” จัดขึ้นโดยกองบรรณาธิการ “ดอกเบี้ยธุรกิจ” ถึงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ มีมติ5 ต่อ 2 เสียงให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวดีขึ้น ภาวะเงินเฟ้อต่างๆ ที่สะท้อนถึงความต้องการสินค้าและบริการยังไม่ได้ดีขึ้นเช่นกัน อีกทั้งหากไปดูตัวเลขของภาวะเงินเฟ้อพื้นฐานยังต่ำมากไม่ถึง 1% จึงยังไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ส่วนคนที่อยากให้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมีสาเหตุเพราะกลัวค่าเงินบาทจะแข็งเกินไป ทำให้กนง.รู้สึกว่าหนี้ครัวเรือนเยอะจึงอยากคงอัตราดอกเบี้ยไว้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 1.5% มานานมาก และคิดว่าจะเป็นแบบนี้ไปอีกซักระยะหนึ่ง ส่วนในปี 2562 ต้องมาดูอีกทีว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ต่างๆ จะเป็นอย่างไร

“คาดว่ากนง.จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้อีกซักระยะแล้วปีหน้าค่อยมาดูอีกทีว่าจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้นการคาดคะเนที่คิดว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยในสหรัฐสูง เช่น Bond Yield ประมาณกว่า 3% มานานพอสมควรก็ถือว่าสูง และอัตราดอกเบี้ยไทยต้องปรับขึ้นไปแบบนั้นหรือไม่ ซึ่งต้องมีคนคาดคะเนโดยเฉพาะคนในสายสถาบันการเงินที่อยากให้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะถ้าปรับขึ้นสถาบันการเงินสามารถปล่อยกู้ได้ในอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น แต่ถ้าจะเป็นแบบนี้ต่อไปก็ต้องดูอย่างอื่นด้วยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่คิดว่า GDP ขึ้นไปเป็นกว่า 4% จะยั่งยืนหรือไม่ สภาวะเงินเฟ้อจะเป็นตัวแปรที่สำคัญทางกนง.ต้องศึกษาให้มาก คิดว่าเสียงส่วนใหญ่ที่ไม่ให้ปรับขึ้นคงเป็นเพราะเศรษฐกิจไม่ได้เอื้ออำนวย ส่วนตัวเลขปัจจัยพื้นฐานทางด้านราคาสินค้าไม่ได้ปรับขึ้น”

ศ.ดร.ตีรณเตือนให้ระวัง ปัญหาใหม่จะมีเข้ามาเพิ่มคือ ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาตกรุนแรงมาก ส่วนใหญ่ตกกันประมาณ 5-8% ส่งผลทำให้ราคาสินค้าในตลาดโลกถูกลง ทำให้สินค้าไทยจะแข่งยากขึ้นและแรงกดดันจากราคาสินค้าจะผ่อนลงไปเยอะ ตัวเลขราคาสินค้าที่เราดูจากดัชนีผู้บริโภคอาจจะลงในปีหน้า สินค้านำเข้าจะต่างประเทศจะถูกลงเพราะค่าเงินบาทแข็ง ในส่วนนี้จะทำให้เกิดสภาพราคาฝืดเข้ามาดึงให้ราคาสินค้าหรือค่าครองชีพสินค้าจำนวนมากผ่อนกำลังลง ส่งผลให้กนง.ลำบากใจมากว่าอยากจะปรับขึ้นตามสหรัฐ แต่ก็ปรับขึ้นไม่ได้เพราะตัวเลขภาวะเงินเฟ้อไม่เปิดโอกาสให้ ซึ่งในปีหน้าจะเป็นปีที่กนง.หนักใจว่าจะเดินทางไหนต่อดี จะใช้กลยุทธ์ไหนมองนโยบายการเงิน นับว่าต้องอาศัยความรู้มองสถานการณ์ต่างๆ ว่าความผันผวนเกิดจากปัจจัยอะไร และอัตราดอกเบี้ยควรจะเดินไปในลักษณะไหนซึ่งต้องพิจารณาพอสมควร

โดยเฉพาะในปีหน้าจะมีความผันผวนมากพอสมควรที่จะทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มที่คาดคะเนยากมากขึ้น ถ้ามองจากค่าเงินต่างๆ แล้วของไทยยังมีค่าเงินที่แข็งต่อเนื่อง หากดูจากสภาวะเงินเฟ้อยังมีปัจจัยที่ทำให้โอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้ามีน้อย แต่ถ้ามองจากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐที่ปรับขึ้นในตอนนี้จึงมีคำถามเหมือนกันว่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐถ้าสูงไปแบบนี้ผิดปกติหรือไม่ ซึ่งอัตราดอกเบี้ยไทยน้อยกว่าสหรัฐจะสมเหตุสมผลหรือไม่ คนกลุ่มนี้อยากให้อัตราดอกเบี้ยขึ้นแต่พอเอาเข้าจริงก็ต้องดูปัจจัยอื่นๆ ควบคู่กัน ปีหน้าเป็นเรื่องยากของกนง.ว่าจะเดินไปทางไหนเนื่องจากแรงกดดันจากสถาบันการเงินอยากให้มีการปรับขึ้น แรงกดดันจากสายประชาชนหรือผู้ประกอบการธุรกิจมองว่าถ้าปรับขึ้นมาก็จะมีปัญหา ขณะนี้ค่าเงินแข็งยังเอาไม่อยู่แล้วถ้าค่าเงินแข็งกว่าขณะนี้จะทำอย่างไร

“จากมติในที่ประชุมกนง.ที่มีการขยับจาก 7 ต่อ 0 เป็น 6 ต่อ 1 หรือ 5 ต่อ 2 ต้องการให้เพิ่มดอกเบี้ยอาจจะไม่มีอะไรเพราะเป็นความคิดที่ต่างกันได้ อาจจะมีบางท่านที่มองปัจจัยแตกต่างกันออกไป บางท่านมองว่าต่ำมานานแล้วปรับขึ้นบ้างน่าจะพอรับได้ อาจจะไม่ได้แคร์เรื่องค่าเงินมากนัก คนที่มองว่าต้องขึ้นดอกเบี้ยส่วนใหญ่มองว่าไทยต่ำมานานแล้ว แต่คนที่ไม่อยากให้ขึ้นมองเศรษฐกิจยังไม่ดีจริงอยากให้มั่นใจกว่านี้”

ศ.ดร.ตีรณกล่าวและว่าถ้าสหรัฐมีการขึ้นดอกเบี้ยต่อก็จะเป็นแรงกดดัน ถ้ามองจากอัตราดอกเบี้ยก็อาจจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง เพราะมี Found Flow ออกนอกประเทศ แต่ขณะนี้สวนทางสภาพข้อเท็จจริงที่เห็นเพราะค่าเงินบาทแข็ง ไทยก็ต้องดูต่อไปว่าปีหน้าถ้าค่าเงินบาทอ่อนมากก็เป็นไปได้ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยก็ได้

“กลุ่มคนที่มองว่าอยากให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพอาจจะอยากให้ขึ้น เสียงของกนง.ก็จะแตกแบบนี้เพราะปัจจัยเริ่มไม่ตรงกันระหว่างมองปัจจัยในประเทศและปัจจัยต่างประเทศ ถ้ามองปัจจัยต่างประเทศก็อยากจะปรับขึ้น แต่ถ้ามองปัจจัยในประเทศหากสภาวะเงินเฟ้อไม่ดีอาจจะรู้สึกว่าไม่น่าจะขึ้นอาจจะลงได้อีก แต่โดยทิศทางคิดว่า 1.5% จะเป็นแบบนี้ไปอีกนาน ถึงปรับขึ้นหรือลงก็ไม่มาก ไม่ได้เป็นตัวแปรที่จะสร้างอิทธิพลอะไรในตลาดไม่เหมือนกับต่างประเทศ”

สำหรับวิกฤตประเทศในกลุ่ม Emerging Market หรือ EM ขณะนี้ ศ.ดร.ตีรณกล่าวว่าเกิดจากเศรษฐกิจมีอัตราการเติบโตดีกว่าไทย ประเทศที่เล็กๆ แต่เศรษฐกิจโตดีมากจึงมีการกู้จากต่างประเทศ แต่พอเกิดวิกฤตขึ้นอย่างในตุรกีหรือบางประเทศที่เจอแซงชั่นทำให้ค่าเงินตก ส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบก่อน ทำให้ต้องพึ่งการปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดกั้นไม่ให้ค่าเงินตกแรง จะเห็นได้ว่าหลายประเทศที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่วนใหญ่เป็นเพราะค่าเงินตกแรง แต่ของไทยเนื่องจากเศรษฐกิจเติบโตช้า ไม่มีการกู้ ไม่มีการลงทุนมาเป็น 10 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพียงการกู้ในประเทศถือว่าเพียงพอแล้ว ทำให้ไทยไม่จำเป็นต้องกู้เงินจากต่างประเทศ กลายเป็นว่าไทยไม่ต้องเผชิญกับความผันผวนนี้

“เห็นได้ว่าในช่วง 1-2 เดือนนี้ค่าเงินบาทแข็งกว่าค่าเงินดอลล่าร์ ทั้งที่ค่าเงินดอลล่าร์แข็งกว่าเมื่อเทียบประเทศในกลุ่ม EM หรือประเทศที่ค่าเงินตกแรงอย่างจีน อินเดีย อินโดนิเซีย ฟิลิปปินส์ ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ย การมองเพื่อเปรียบเทียบยากเพราะสถานการณ์ช่วงนี้เกิดจากสถานการณ์ความผันผวนจากการแซงชั่นของสหรัฐ และตัวนี้ยิ่งทายยากว่าจะดำเนินการไปอีกนานแค่ไหน ทายยากยิ่งโอกาสที่ไทยจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยิ่งยากเพราะค่าเงินประเทศอื่นตกกันหมด สภาวะเงินเฟ้อไทยต่ำและสินค้านำเข้าจากต่างประเทศถูกลง ต่อไปสินค้าจากต่างประเทศมาตีตลาดไทย สินค้าไทยจะไปแข่งขันในตลาดต่างประเทศก็ไม่ได้เพราะค่าเงินบาทแข็ง เพราะฉะนั้นกนง.คงต้องใช้ความรู้เยอะว่าสถานการณ์ความผันผวนในปีหน้าจะดำเนินนโยบายอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศอย่างไร แต่ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยนิ่งตามสภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว คือไทยโตช้าทำให้อัตราดอกเบี้ยปรับขึ้นไม่ได้”

ส่วนเงินทุนสำรองไทยที่มีจำนวนมาก ศ.ดร.ตีรณเปิดเผยสาเหตุจากไทยไม่ได้มีการลงทุนจึงไม่มีการกู้จากต่างประเทศ ทำให้ทุนสำรองดูเหมือนเยอะ ส่วนหนึ่งมีการเก็บสะสมจากการแทรกแซงค่าเงินในสมัยยุคแรกแต่ตอนนี้ก็ระบายไม่ออก แต่พวกนี้นับว่าเป็นอาการที่ไม่ดี เศรษฐกิจไม่ดีแต่เก็บเงินทุนสำรองไว้มากถือว่าผิดปกติซึ่งวันหนึ่งจะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงจะมากน้อยขนาดไหน ถ้าเกิดค่าเงินผันผวนมากค่อยว่ากันอีกทีว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวตามสภาพแบบไหนแต่ระหว่างนี้ยังไม่เห็น ในช่วง 1-2 ไตรมาสนี้ค่าเงินบาทยังดูแข็งอยู่ โอกาสที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยยังไม่ง่าย เสียงที่เพิ่มขึ้นมาจาก 1 เป็น 2 โอกาสที่จะเป็นเสียงส่วนใหญ่คงไม่ง่าย หากดูตัวเลขการลงทุนของไทยหลายปีแทบจะไม่ปรับมาหลายปี และเศรษฐกิจก็กระจุกตัวอยู่กับคนกลุ่มเดียวที่อยู่ด้านบน เศรษฐกิจไม่มีกำลังซื้อโอกาสที่จะนำเข้ามามากก็ยากเหมือนกันเพราะโอกาสที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยตัวของประชาชนคงยาก

“การคืนแวตในสวัสดิการช่วยได้ในระดับหนึ่งในชนชั้นกลางล่าง แต่ถ้าเป็นชนชั้นล่างจริงที่ไม่ได้ซื้อสินค้าแวตก็ไม่มีผลอยู่แล้ว เพราะคนที่มีรายได้น้อยมากคงไม่ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย ประเด็นคือเป็นวิธีการหนึ่งของรัฐบาลที่คิดวิธีการให้คนที่ลำบากเบาลงมา เปลี่ยนวิธีกระตุ้นเศรษบกิจใหม่ที่ทำอย่างไรให้ไปถึงคนจน โดยให้ราชการช่วยคิดด้วยว่าจะประหยัดตรงนี้ดีหรือไม่ ทำให้แวตไม่ส่งกระทบ เชิญให้คนจนมาใช้แวต โดยเก็บแวตมากขึ้นเพื่อคิดว่าจะเสียเยอะแต่เสียน้อย คือตอนนี้ราชการต้องคิดหลายประเภทว่าทำสิ่งหนึ่งให้ได้หลายๆ บท ก็เป็นสไตล์ใหม่ของคนรุ่นใหม่ที่คิดกัน การทำให้คนเข้าสู่ระบบมากดีหรือไม่ทำให้นโยบายที่ออกมาไปผูกกับการคืนภาษี” ศ.ดร.ตีรณกล่าวและระบุว่า เศรษฐกิจไทยเป็นแบบนี้มาเป็นระยะนานถึง 10 ปี ทำให้ GDP ลดจาก 6% ลงมาอยู่ที่ประมาณ 4% แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจการเมืองมันสอดคล้องกันอยู่ในช่วงที่ผ่านมา ในช่วงระยะสั้นอุณหภูมิทางการเมืองและเศรษฐกิจคงมีผล

“สมมุติมีการเดินหน้าเลือกตั้งคนเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น ตลาดทุนอาจจะตอบสนอง แต่ในระยะยาวยังขึ้นอยู่กับหลังจากการเลือกตั้งว่าจะนำไปสู่ปัญหาอะไรที่ตามมา นับว่าเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูกันต่อไป แต่ความไม่แน่นอนในอนาคตที่เกิดขึ้นหากสมมุติเลือกตั้งเสร็จแล้วต้องยุบสภาภายใน 6 เดือน หรือความไม่มั่นคงทางการเมืองกลับมาใหม่และมีความรุนแรงขึ้นภาพก็จะเป็นอีกแบบหนึ่ง แต่ถ้าการเมืองมาดีแล้วภาพก็จะเป็นอีกอย่างหนึ่งเพราะฉะนั้นสถานการณ์ทางการเมืองมองเป็นช่วงระยะเวลาซึ่งภาพในช่วงระยะสั้นอาจจะดีแต่ในช่วงระยะยาวยังไม่รู้ ยังเป็นตัวแปรที่คิดว่าวันนี้คนยังไม่มั่นใจ ถึงแม้ Road Map จะไปในทิศทางแบบนั้น แต่ก็ยังมีคนจำนวนหนึ่งที่ยังไม่เชื่อ และยังไม่รู้ว่าในพรรคการเมืองต่างๆ จะเกิดอะไรขึ้น การเปลี่ยนแปลงในพรรคต่างๆ จะเป็นอย่างไร ขณะนี้เริ่มเห็นมีการขยับบ้างแล้ว แต่การขยับแบบนี้เป็นเพียงแบบข่าวสารเท่านั้น กลไกลการทำงานต่างๆ ทางการเมืองยังอยู่ในลักษณะโดนปิดกั้นอยู่

กล่าวในเชิงเศรษฐศาสตร์ของไทยนั้น ศ.ดร.ตีรณมองความสำคัญของปัจจัยภายนอกและปัจจัยการเมืองเศรษฐกิจต้องดูปัจจัยทั้ง 2 อย่าง “ขณะนี้ปัจจัยภายนอกยังไม่ดีมากนักเพราะมีตัวแปรเข้ามามากขึ้น เศรษฐกิจภายในเป็นช่วงที่ทายไม่ยาก เศรษฐกิจภายในช่วง 4-5 ปีเป็นการทายเศรษฐกิจที่ง่าย แต่สิ่งที่ทายยากมาก คือ การเมือง เพราะการเมืองเป็นปัจจัยที่ไม่สำคัญมากมาย แต่เป็นตัวแปรที่มีผลสวิงมาก จะเห็นในช่วงก่อนหน้านี้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมากจากปัจจัยการเมือง ตอนนี้เริ่มฟื้นขึ้นมาเนื่องจากสถานการณ์การเมืองเริ่มมีเสถียรภาพ แต่ว่าเสถียรภาพนี้มีจริงหรือไม่ยังไม่รู้ เพราะฉะนั้นปัจจัยทางการเมืองในแง่การมองการเมืองเศรษฐกิจยังต้องให้น้ำหนักอยู่และยังต้องติดตาม คิดว่าช่วงประมาณ 1-2 เดือนนับจากนี้กรอบการเมืองจะเป็นข่าวที่ให้ความสนใจ”

106 views
bottom of page