Interview : ศ.ดร.ตีรณ พงศ์มฆพัฒน์
นักเศรษฐศาสตร์
สัญญาณบวกของเศรษฐกิจโลกเริ่มชัดเจน ภาคการผลิต-การบริโภค-การลงทุน-การค้า-สินค้าไฮเทคค่อยๆ เริ่มขยับดีขึ้น อเมริกายุค โจ ไบเดน จะเน้นกระตุ้นด้านการคลังเป็นหลัก ดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นเป็นช่วงๆ กระแสเงินทุนจะไหลกลับอเมริกา เงินดอลลาร์จะแข็งค่าต่อเนื่อง ส่วนยุโรปยังไม่กระเตื้อง จะลำบากต่อไปอีก 2 ปี ขณะที่ไทยยักแย่ยักยัน เหตุรัฐบาลขายผ้าเอาหน้ารอดด้วยการกู้เงินมาแจกอย่างมหาศาล ทำให้ต่อไปจะกู้ได้ยากขึ้น ต้นทุนเงินกู้สูงขึ้น มีภาระชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ท้ายสุดคนไทยต้องประหยัดกันสุดขีด ท่ามกลางภาระ NPL ที่เพิ่มสูงแบบปรอทแตก
ผ่านเดือนแรกปี 2564 ภาพรวมเศรษฐกิจไทยขณะนี้เป็นอย่างไร
ต้องแยกเป็น 2 ส่วนในเชิงวิเคราะห์ ก็คือส่วนที่เป็นเศรษฐกิจ กับส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเดิม คือเรื่องโควิด-19 สำหรับเรื่องเศรษฐกิจก็เกี่ยวข้องกับโควิด-19 เหมือนกัน เนื่องจากว่าเรามีล็อกดาวน์ไป ซึ่งในโลกนี้จะมีบางประเทศที่ล็อกดาวน์ไม่มาก บางประเทศล็อกดาวน์ได้น้อย ก็เป็นตามสภาพพื้นฐานเงื่อนไขของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นตัวเลขผู้ติดเชื้ออะไรต่างๆ ก็จะแปรผันไปตามลักษณะของประเทศนั้นๆ ด้วย หมายถึงว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ คงพูดง่ายเกินไป ความจริงจะขึ้นอยู่กับสภาพเงื่อนไขของประเทศด้วย เป็นเมือง ลักษณะการจ้างงานรายเดือน รายวัน เป็นคอนแทร็กมั้ย หรือเป็นข้าราชการ ระบบเงินเดือนระยะยาวหรือไม่ สถานการณ์ก็จะแตกต่างกันไป
แต่โดยทั่วไปแล้ว ถ้าเราพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เศรษฐกิจภาคการผลิตจะค่อยๆ กระเตื้องขึ้นเรื่อยๆ ด้านการบริโภคก็เริ่มมีการขยับ แต่การขยับของสินค้าบริโภคยังเป็นสินค้าที่มีความจำเป็น พูดง่ายๆ ก็คือสินค้าที่จะเป็นจะต้องใช้พอสมควร ก็อาจจะเพิ่มขึ้นตามความจำเป็น ส่วนความจำเป็นเรื่องท่องเที่ยวอาจจะยังไม่ฟื้นกลับมา แต่การเดินทางภายในประเทศต่างๆ เริ่มดีขึ้น ดังนั้นการใช้จ่ายต่างๆ ก็เริ่มมีมากขึ้น ตัวเลขก็จะออกไปทางนั้น
ส่วนด้านการลงทุนก็เริ่มมีการขยับเหมือนกัน สาเหตุที่มีการขยับก็เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมามันลงทุนอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้นการลงทุนขณะนี้เป็นการลงทุนชดเชยส่วนที่หายไปในอดีต ดังนั้น ตัวเลขเมื่อช่วงปลายปีจึงเริ่มขยับ ประเทศที่ขยับได้เร็ว อย่างเช่น จีน มาเป็นประเทศแรกๆ เลย ส่วนสหรัฐอเมริกาก็ขยับดีขึ้นเร็วในช่วงไตรมาสที่สี่ ส่วนยุโรปยังติดลบอยู่ คือยังไม่ถึงจุดต่ำสุดด้านการผลิต แต่สถานการณ์ไม่ค่อยดีนัก
สำหรับที่มีการค้าขายก็เริ่มขยับดีขึ้นหน่อย บริษัทที่ค้าขายด้านการส่งของ ก็อาจจะได้ประโยชน์มากหน่อย เพราะไม่มีคู่แข่ง อัตรากำไรต่างๆ ก็น่าจะดีขึ้นมาหน่อย ดังนั้นผลประกอบการก็จะแปรสภาพไป
ส่วนด้านการบริการส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าพวกไฮเทค ไฮเทคนี้จะดีตลอดไม่มีปัญหาอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทระดับโลก เป็นบริษัทร่ำรวยที่เสียภาษีก็น้อยกว่าชาวบ้านเขา ตลาดก็จะใหญ่กว่าชาวบ้านเขา คู่แข่งก็จะมีน้อยกว่าชาวบ้านเขา อะไรเหล่านี้เป็นต้น โครงสร้างตลาดมีการผูกขาดพอสมควร ก็ยังไปได้อยู่
ภาพรวมของไทยเป็นอย่างไร
ส่วนเศรษฐกิจของไทยก็เริ่มมีการขยับแบบนี้เช่นเดียวกัน แต่เรามาเจอปัญหาเรื่องการแพร่เชื้อของโควิด-19ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ที่เริ่มมาเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 ที่สมุทรสาคร และยังมีการระบาดมากขึ้น ตัวเลขการระบาดก็มีการแกว่งตัวเนื่องจากวิธีการทดสอบเชื้อของเรามีทั้งวิธีที่ไม่เหมือนในอดีต กับวิธีที่สุ่มตรวจเป็นจุดๆ ที่เรียกว่าในเชิงรุก คือวันไหนรุกวันนั้นก็ตรวจพบเยอะ ดังนั้นตัวเลขก็เลยดูยากนิดนึง แต่ก็ถือว่าภาวะการติดเชื้อของไทยช่วงนี้แย่กว่าช่วงเดือนมีนาคม 2563 ถือว่าสูงกว่าเยอะ ก็จะเป็นลักษณะของไทย คือเศรษฐกิจเริ่มขยับ
อเมริกายุค โจ ไบเดน จะไปในทิศทางไหน
ถ้าเรามองทิศทางตัวนำคือสหรัฐอเมริกา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงทีมเศรษฐกิจ เปลี่ยนแปลงรัฐบาล เปลี่ยนตัวประธานาธิบดี และยังไม่เห็นชัดว่าเขาจะทำอะไร เพียงแต่คาดคะเนจากสิ่งที่เขาพูด แต่สิ่งที่เขาพูดค่อนข้างชัดว่ารัฐบาลชุดนี้พยายามจะใช้วิธีการกระตุ้นด้านการคลังเป็นหลัก ซึ่งอันนี้มีความหมายคือรัฐบาลจะต้องเก็บภาษีมากขึ้นในระยะต่อๆ ไป ในขณะที่ตัวเครื่องมือที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นรายจ่ายของรัฐบาล ตรงนี้คือการก่อหนี้ คือก่อหนี้ก่อน อนาคตค่อยมาเก็บภาษีจากประชาชน เป็นวิธีที่รัฐบาลของโจ ไบเดน จะทำ และเยลเลนก็จะทำในแนวนี้ ซึ่งแนวคิดของคนพวกนี้ก็จะเป็นแนวคิดว่าเอาระยะสั้นไว้ก่อนหรือเอาระยะยาวทิ้งไปก่อน และอนาคตไม่น่ามีปัญหาอะไร
เพราะฉะนั้นแนวทางด้านการคลังของสหรัฐอเมริกาที่ออกมา ความหมายที่จะเกิดขึ้น คือ 1. ดอกเบี้ยมีสิทธิ์ขยับขึ้นเป็นช่วงๆ ขึ้นอยู่กับว่าเฟดจะเอาสภาพคล่องออกมาช่วยเหลือมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ช่วย ดอกเบี้ยจะขึ้น ถ้าช่วยดอกเบี้ยก็จะลง ตรงนี้ก็จะดูยากนิดนึง แต่ถ้าฟันธงก็คือเศรษฐกิจว่ามีแนวโน้มดีขึ้น แต่ขึ้นแบบลุ่มๆ ดอนๆ จะมีความแกว่ง ตอนนี้เฟดก็เริ่มงดการผลิตสภาพคล่องแล้ว ดอกเบี้ยสหรัฐอเมริกาก็เริ่มขยับ
สิ่งที่เกิดขึ้นในลักษณะของการใช้มาตรการทางการคลังเป็นหลักแทนนโยบายการเงิน นอกจากจะสะท้อนในเรื่องปรับดอกเบี้ยและความตึงตัวในตลาดหนี้สินแล้ว ก็จะเป็นเรื่องของค่าเงินสหรัฐอเมริกาที่จะตามมาจากที่ดอกเบี้ยมันขึ้น พอดอกเบี้ยขึ้นเมื่อไหร่เงินทุนก็จะกลับไปในสหรัฐอเมริกาในรูปของการซื้อพันธบัตรตรงนี้จะทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ค่าเงินดอลลาร์ก็จะสูงขึ้น ตรงนี้ก็จะมีความหมายกับประเทศทั่วโลก ถ้าเรามองจากการชี้นำ
ส่วนยุโรปไม่มีอะไรพิเศษ สถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงมาก คือเป็นสถานการณ์ที่ลำบากต่อเนื่อง ใน 2 ปีนี้ก็คงจะลำบากอยู่
ของไทยก็ทำนองเดียวกัน ก็คือว่าช่วงไตรมาสสี่ที่ผ่านมาเนื่องจากมีสถานการณ์ที่แรงมาก รัฐบาลเลยเทเงินออกมามหาศาล ก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะต้องก่อหนี้เยอะขนาดไหน ความหมายก็คือว่า ถ้าคุณก่อหนี้มากที่สุดในวันนี้ อนาคตคุณจะก่อได้ยากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าคุณไม่อยากคืนหนี้ คุณอยากก่อ ก็ก่อยากขึ้น เพราะคุณต้องให้อัตราผลตอบแทนของการที่คุณไปกู้เขาหรือไปออกพันธบัตรสูงขึ้น ในอนาคตรัฐบาลก็จะต้องมีภาระในการคืนหนี้หรือชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ก็ถือว่าขายผ้าเอาหน้ารอดไปก่อน วันนี้พยายามทำให้ประชาชนมีความรู้สึกไม่ต่อต้าน มีความรู้สึกสบายใจ มีคนช่วยเหลือ มีที่พึ่ง คือรัฐบาล มีการช่วยในโครงการเราชนะ คนละครึ่ง หรืออะไรอย่างนี้ ทำไมต้องคนละครึ่งด้วย หรือช่วยอย่างอื่นได้มั้ย เป็นคำถามที่ต้องตอบในทางการเมือง คือไม่ได้ตอบด้วยเศรษฐกิจ
ฉะนั้น แนวคิดของรัฐบาลปัจจุบันก็คือเศรษฐกิจกับการเมืองมันผสมกัน และก็มองระยะสั้นคล้ายๆ กับสหรัฐอเมริกา ก็คือพอ โจ ไบเดน ขึ้นมา เขาบอกว่าถ้าอย่างนั้นเขากระตุ้นการคลังเต็มสตรีมเลย ทั้งที่บอกว่าคนเริ่มติดโควิด-19 น้อยแล้ว กลับใช้จ่ายมากขึ้น เราจะเห็นว่าของไทยก็เหมือนกัน ดูว่าโควิด-19 มีวัคซีนแล้ว ต้องเอาเงินไปลงมากมายขนาดนั้น มันก็จะเป็นเรื่องการตัดสินใจที่ไม่ใช่เชิงเศรษฐกิจอย่างเดียว ตรงนี้คือภาพเศรษฐกิจที่เราเห็นชัดขึ้น
แนะนำคนไทยจะอยู่อย่างไร
คนไทยก็ต้องประหยัดมากๆ เพราะถ้ารัฐบาลไม่ประหยัด เราก็ต้องประหยัดแทนรัฐบาล ส่วนเรื่องวัคซีนมันก็เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อเนื่อง เพราะเริ่มมีหลายตัวให้เลือก แต่ว่าโดยหลักก็คือว่าถึงเวลาก็ต้องมีฉีดวัคซีนกัน คิดว่าในช่วงประมาณไม่นานก็น่าจะเริ่มมีการฉีดแล้ว คงจะมาเร็ว ในเรื่องของโควิด-19 มันจะอยู่ไปอีกนาน แต่ว่ามันจะเบาลงเพราะมีวัคซีนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง เพราะฉะนั้นสถานการณ์เศรษฐกิจกับเรื่องสุขภาพก็เริ่มขยับผ่านในจุดต่ำสุด แต่ว่าต้องดูสถานการณ์ในระยะยาวว่าจะเป็นอย่างไร เพราะตัวเลข NPL ก็ยังไม่โผล่ ยังปิดอยู่ แต่สรุปก็คืออยู่ยาก อยู่อย่างระมัดระวัง ก็มาคิดง่ายๆ ว่าสมัยก่อนเราอยู่สบายหรือเปล่า ก็จะสบายใจขึ้น
Comments