top of page
312345.jpg

คนตกงานทะลุล้าน...โรงงานย้ายฐานการผลิตซ้ำเติม


สัมภาษณ์ : คุณชาลี ลอยสูง

ที่ปรึกษาคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย


ปัญหาของแรงงานไทยมีมานานหลายสิบปี ยิ่งเกิดโควิดยิ่งทำให้วิกฤตหนักและเร็วกว่าที่คาด ยอดคนตกงานทะลุกหลักล้านหลังหลายโรงงานปิดถาวร หลายโรงงานย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่รัฐบาลได้แต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปวันๆ ทั้งเรื่องการเยียวยาและการฉีดวัคซีน ไม่มีมาตรการระยะยาวที่ชัดเจนเพื่อรองรับปัญหาคนตกงานหลังโควิดชะลอการระบาด ชี้...ค่านิยมเดิมๆ ที่เน้นให้เรียนสูงๆ ถือเป็นดาบสองคม คนที่เสี่ยงตกงานในขณะนี้เป็นกลุ่มจบ ป.ตรี โท เอก ที่มีงานรองรับน้อย ต่างกับแรงงานเข้มข้นที่ขาดแคลนเป็นจำนวนมาก เหตุเพราะคนไทยเกี่ยงงาน และมีจุดด้อยคือรับค่าแรงแล้วมักจะหยุดงานไปฉลองสังสรรค์ เงินหมดถึงกลับมาทำงาน เป็นประเด็นหนึ่งที่ทำให้นักลงทุนต่างชาติย้ายฐานการผลิตจากไทยไปที่อื่น แนะ...รัฐบาลต้องหาทางรอดให้แรงงานไทยด้วยการอบรมให้มีทักษะ สามารถประกอบอาชีพอื่นที่ยืนบนลำแข้งตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งนายทุน ขณะที่แรงงานเองต้องพัฒนา เพิ่มความสามารถด้านภาษาอังกฤษและภาษาจีน เพื่อใช้สื่อสารกับนายจ้างที่เป็นต่างชาติ


มองสถานการณ์แรงงานไทยที่เผชิญอยู่เวลานี้หลังจากเกิดโควิด-19 มา 20 กว่าเดือน รับรู้ปัญหาอะไรบ้าง

ปัญหาด้านแรงงานไม่ได้เกิดมาแค่ 20 กว่าเดือน แต่มันเกิดมานานแล้ว อยากจะเท้าความสถานการณ์ด้านแรงงานว่าถึงจะไม่เกิดปัญหาโควิดสถานการณ์ด้านแรงงานก็เกิดวิกฤตอยู่แล้ว เพราะตอนนี้เป็นยุค AI คือเขาเอาเครื่องจักรกลหรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้ อันนี้ก็มีผลกระทบในส่วนของพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมอย่างแน่นอน ถ้าเอาเครื่องจักรหรือหุ่นยนต์เข้ามาใช้มาก คนจะเกิน ถ้าคนเกินส่วนนึงเขาก็มีการเอาคนออก

เรื่องที่สอง วิกฤตที่จะเกิดขึ้นคือ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่จะมีการเปลี่ยนจากการใช้น้ำมันมาใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนยานยนต์จาก 30,000 กว่าชิ้นจะเหลือแค่ 3,000 กว่า ซัพพลายเออร์ เทียร์ 1, 2, 3 พวกนี้จะหดหายอีกเยอะ แรงงานไม่ใช่น้อยที่จะถูกปลดออก อันนี้กำลังจะโดน พอดีกับมีจังหวะที่โควิดเข้ามาทำให้หนักกว่า ทำให้วิกฤตของกระบวนการแรงงานมาเร็วกว่าที่คาดคิด แรกๆ ยังพอรับมือได้อยู่เพราะยังเพิ่งเกิด แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะเกิดยาว คิดว่าจะเกิดสั้นๆ เงินทุนของห้างร้านที่พอมีพอเลี้ยงคนงานได้อยู่ แต่พอนานเข้าก็ไม่ไหว อันนี้ก็ต้องมาพึ่งพานโยบายของรัฐ

ถ้าจำได้ปี 2562 ที่เกิดโควิดครั้งแรก การระบาดในประเทศไทยยังน้อยอยู่ แต่รัฐบาลปิดประเทศเลยเพราะตอนนั้นยังไม่มีประสบการณ์ พอปิดประเทศขึ้นมาส่วนนึงรัฐบาลต้องรับผิดชอบเกี่ยวกับคนงานเพราะไปสั่งให้เขาปิด อันนี้หลายๆ บริษัทได้โอกาสก็ปิดเลย พอปิดแล้วก็ไปรับเงินกับรัฐบาล บริษัทไม่ต้องจ่าย พอถึงเวลาเขาไม่รับคนงานกลับเข้ามา ก็มีคนงานที่ถูกปลดออก ช่วงนั้นมีคนงานตกงานอยู่ประมาณล้านกว่าคน แต่เศรษฐกิจดีก็เริ่มรับกลับเข้ามาบ้าง ก็ยังพอมีงานทำในช่วงนั้น แต่พอมาช่วงที่ 2 หนักเข้าไปอีก มีการระบาดเป็นคลัสเตอร์ คราวนี้สั่งปิดในส่วนของแคมป์ก่อสร้างและโรงงาน อันนี้ก็เป็นประเด็น แม้รัฐบาลจะมีมาตรการรองรับเยียวยาจ่ายเงินให้กับพี่น้องประชาชน แต่พี่น้องส่วนนึงกลับไปอยู่บ้านนอกแล้ว คราวนี้ไม่แน่ใจว่าโรงงานอุตสาหกรรมจะเปิดเมื่อไหร่ เพราะบางโรงงานถึงขนาดปิดถาวรและย้ายฐานการผลิตไปที่หลายๆ ประเทศที่มีมาตรการดึงดูดนักลงทุน

ถามว่าคนงานจะตกงานขนาดไหน ตอนนี้ที่แน่ๆ 8-9 แสนคนที่ตกงาน อันนี้ที่ผมมองดูว่า 1. รัฐบาลตอนนี้ทำได้แค่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องการเยียวยา 2. เรื่องการฉีดวัคซีนที่ทำอยู่ก็แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ 3.ที่ต้องมองว่าถ้าผ่านพ้นตรงนี้ไปแล้วจะรองรับคนงานที่ตกงานได้อย่างไร อันนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องคิด อีก 2-3 เดือนข้างหน้าที่เขาบอกว่าจะมีการฉีดวัคซีนให้ครบ ถ้าคนติดน้อยลงมา คราวนี้ปัญหาคนตกงานจะมีปัญหาทันที อันนี้เป็นปัญหาที่รัฐบาลต้องคิด


แรงงานใหม่ๆ ที่จะจบมาปีนึงหลายแสนคน จบมัธยม จบอาชีวะ ปริญญาตรี ปริญญาโท

คนที่ตกงาน ที่เสี่ยงเรื่องตกงานไม่ใช่คนที่ไม่มีความรู้ คนที่มีความรู้เสี่ยงตกงานมากกว่าคนไม่มีความรู้ เพราะคนมีความรู้จบมาตำแหน่งหน้าที่ที่รองรับคนจบปริญญาตรี โท เอก มันน้อย แต่งานที่เป็นแรงงานเข้มข้นพวกนี้ยังขาดแคลน มันจะกลับหัวหลับหางทันที ตอนนี้ที่รู้ๆ มาแรงงานเข้มข้นที่อยู่ในระดับล่างขาดแคลน ต้องมีการนำเข้าแรงงานเพื่อนบ้านเข้ามาช่วยเพราะคนงานไทยไม่ทำ พอไม่ทำจะไปหางานที่ไหนทำ ก็เป็นปัญหาสังคมบ้านเราเช่นเดียวกัน อยากจะให้มองว่าที่มีการสนับสนุนให้เรียนสูงๆ ก็เป็นดาบสองคมต่ออนาคตของประเทศชาติเหมือนกัน ก็อยากจะบอกว่ารัฐบาลต้องช่วยดูแลเด็กที่กำลังจบออกมาด้วย


วันก่อนได้คุยกับนักธุรกิจท่านนึงว่างานที่มีให้ทำ คนไทยทำไม่ได้หรือไม่อยากทำ เพราะเรียนมาผิดเรียนมาสูงไป ขณะที่งานที่ทำได้ก็ย้ายฐานหรือไม่มีคนมาลงทุนแล้ว แรงงานไทย เศรษฐกิจไทยเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ไปต่อไม่ได้แล้ว อาจจะพังทั้งระบบ

อาจจะเป็นไปได้ ความจริง AI เครื่องจักรกลเกิดขึ้นมานานแล้ว เกือบ 40 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีการเอาเครื่องจักรเข้ามาทำงานเหมือนกัน แต่เอามาทำงานในส่วนที่คนไม่สามารถทำได้ หรือใช้คนผลิตไม่ทัน เขามองแล้วว่าถ้าซื้อเครื่องจักรตัวนี้เข้ามามันคุ้มกับการลงทุน เขาถึงเอา แต่ถ้าไม่คุ้มเขาจะใช้คน

ตอนนี้ต่างประเทศเขาใช้แบบนี้ ยุโรป อเมริกา เขาใช้ AI ล่วงหน้าแล้ว แต่เขาใช้ AI เขาไม่เลิกจ้างคนงาน เพราะถือว่า AI มาช่วยแบ่งเบาความเหนื่อยล้าของคนงาน โดยเอาส่วนของกำไรมาแบ่งปันเป็นค่าจ้างของคนงาน อย่างยุโรปที่ผมคุยกับเขา เขาบอกว่าถ้ามีคนงาน 10 คน เลิกจ้างไปเหลือ 3 คน อีก 7 คนไม่มีงานทำ ถามว่ามีคนมีรายได้อยู่ 3 คน ไปจับจ่ายใช้สอยจะพอกับเศรษฐกิจที่ประเทศชาติจะเจริญไหม เพราะ 7 คนไม่มีเงิน จะเอาเงินที่ไหนซื้อของ แล้วจะพัฒนาประเทศชาติได้อย่างไร

ในส่วนของบ้านเราไม่ใช่อย่างนั้น นายทุนมองเห็นถ้ามี AI มาเขาจะได้กำไรมากขึ้น เขาจะลดต้นทุน เขาไม่ได้มองเรื่องเศรษฐกิจของประเทศชาติหรือการพัฒนาความยั่งยืนของประเทศไทย เอาเปรียบอย่างเดียว อันนี้ก็เป็นปัญหาที่รัฐบาลน่าจะไปคิดค้นว่าเอา AI เข้ามามันต้องจ้างคนงานด้วย หรือเก็บภาษีในเรื่องของเครื่องไม้เครื่องมือทันสมัยให้มากหลายๆ เท่า เพื่อเอาภาษีตัวนี้มาพัฒนาประเทศชาติ อันนี้เป็นอีกมุมมองที่เราได้นั่งคิดนั่งคุยกันอยู่


มีปรากฏการณ์ในต่างประเทศหลังจากปลดล็อกดาวน์ที่คนไปสมัครงานใหม่ นายจ้างจะเลือกคนที่สามารถ work from home ได้ อย่างนี้จะเป็นอันตรายต่อแรงงานไหม

เป็นการเอาเปรียบ แต่ไม่ได้เป็นอันตราย มองว่าแรงงานบางตัวไม่จำเป็นต้องไปนั่งในออฟฟิศ นั่งอยู่ที่บ้านก็ work from home ได้ แต่แบบนี้ผมถือว่าเอาเปรียบกำลังสองเพราะการมานั่งที่บ้าน ใช้ไฟ ใช้เน็ต หลายสิ่งในบ้าน โดยนายจ้างไม่ต้องจ่าย แล้วลูกจ้างไม่ทำก็ไม่ได้เป็นภาวะจำยอม ไม่มีทางเลือก ผมถึงได้บอกว่าวันนี้ถ้านายทุนคิดอยากทำธุรกิจให้อยู่ยั่งยืน สามารถขายผลิตภัณฑ์เขาได้เรื่อยๆ มันต้องมีการแบ่งปันให้เท่าเทียมกัน ไม่ใช่นายทุนได้อย่างเดียว


ขณะนี้นอกจากวิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อแรงงาน และมีการย้ายฐานการผลิตจากไทยไปทำเลที่ดีกว่า หนำซ้ำต่างชาติยังยกกรุงเทพฯ เป็นอันดับหนึ่งของเมืองที่ work from home ได้ เป็นอันตรายต่อไทยใช่ไหม

ใช่ เรื่องแบบนี้เป็นอันตราย แต่ work from home ทำได้เป็นบางส่วน เพราะ work from home ทำงานเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ การทำออนไลน์ แต่ถ้าเป็นเรื่องการทำผลิตภัณฑ์ work from home ไม่ได้ มันต้องเข้าไปในโรงงานอุตสาหกรรม อันนี้ก็เป็นส่วนนึงที่เขามองดูอยู่เป็นบางส่วนเท่านั้น ทีนี้ก็ต้องกลับมาดูกันว่าคนงานไทยวันนี้ถึงเวลาหรือยังที่ต้องมีการพัฒนา แรงงานหรือประชาชนต้องกลับมาคิดว่าเป็นลูกจ้างเขาพอมีผลกระทบโดนก่อนเพื่อนเลย แต่ถ้าเราคิดอีกมุมนึงว่าวันนี้เรามาลองทำธุรกิจเล็กๆ น้อยๆ ไม่ต้องเอาร่ำรวยแต่พออยู่พอกิน ถ้าเราคิดแบบนี้ได้ พอไปได้ ผมคิดว่ามันจะไปถ่วงดุลเรื่องของอำนาจของทุนได้พอสมควร เพราะเราไม่ต้องง้อเรื่องไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม ถามว่าจะมีสักกี่คนที่ทำได้ อันนี้ต้องมาจากส่วนของนโยบายของรัฐด้วย รัฐต้องมีนโยบายด้านนี้ มีการฝึกสอนแนะนำให้พี่น้องประชาชนยืนบนขาตัวเองให้ได้ ก็เป็นส่วนนึงที่จะแก้ปัญหาสังคมในเรื่องแรงงานที่จะตกงานในอนาคต


สุดท้ายมีอะไรเสนอแนะกับแรงงานไทยบ้าง

จากการที่ผมได้สัมผัสกับน้องๆ แรงงานไทย สิ่งที่ด้อยที่สุดคือเรื่องภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาจีน คนไทยไม่ค่อยเก่ง นายทุนส่วนใหญ่เป็นคนต่างประเทศทั้งนั้น ไม่ใช่ทุนคนไทย เวลาที่เขามาลงทุนที่นี่ก็ต้องใช้ภาษากลาง ถ้าเราไม่เก่งในส่วนนี้ต่อให้เรามีทักษะมากก็สู้เขาไม่ได้ เพราะคนที่มาเป็นล่ามเขาไม่เก่งเรื่องฝีมือ แต่เขาพูดได้ ก็เอาไปกินหมด เพราะต้องผ่านคนพวกนั้น แล้วคนพวกนั้นไปพูดกับเจ้านายอย่างไร อันนี้เป็นจุดด้อยที่ผมชี้ให้เห็น

หลังจากนี้ไปรัฐบาลต้องมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาเราต้องเริ่มต้นตั้งแต่เด็กในวันนี้ คือเด็กที่เข้าไปเรียนหนังสือต้องเรียน 2 ภาษา เริ่มเรียน ป.5 ป.6 ไม่ทันแล้ว ต้องเรียนพร้อมกันเลย A B C กับ ก.ไก่ ข.ไข่ อันนี้เป็นส่วนนึงที่ผมอยากให้มีการปรับปรุงด้านการศึกษา

ในส่วนของคนงานก็ต้องมีการเพิ่มทักษะของตัวเองตลอดเวลา รวมทั้งต้องแก้นิสัยคนไทยที่ยังมีนิสัยอยู่อย่างคือพอได้เงินค่าจ้างแล้วโดยมากเช้าขึ้นมาจะหยุดงานกัน พอได้เงินจะมีการสังสรรค์กันหยุดงาน พอเงินหมดก็มาทำงาน ผมว่าจะสู้กับประเทศอื่นไม่ได้ เขาขยันขันแข็งกัน นักลงทุนเขามีการเปรียบเทียบก่อนที่จะไปลงทุนว่าของเรามีจุดดีจุดด้อยตรงไหน แล้วค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร สุดท้ายสรุปออกมา 2-3 ตัว อย่างอื่นดี เช่น ฝีมือ ทักษะ ผมว่าคนทั่วโลกเราไม่แพ้ใคร แต่คนไทยจะขาด 2-3 ตัว ก็ส่ายหน้าเหมือนกัน

95 views
bottom of page