top of page
379208.jpg

พร้อมปลดแบล็กลิสต์...เครดิตบูโร ทำตามสั่ง!


รมว.คลังผุดไอเดียปลดล็อกแบล็กลิสต์เครดิตบูโร ลดระยะเวลาขึ้นบัญชีหนี้เสียของลูกหนี้ เปิดช่องให้ลูกหนี้ NPL กลับมาตั้งหลัก สามารถยื่นกู้ได้ใหม่เพื่อเป็นทุนในการกลับมาทำธุรกิจ ค้าขายได้อีกครั้ง ผู้บริหารเครดิตบูโรยืนยันทำตามนโยบายได้อยู่แล้ว ขอเพียงให้สั่งมาอย่างเป็นทางการ แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นห่วงถึงวินัยทางการเงินและจิตสำนึกของลูกหนี้บางรายที่ยอมติดเครดิตบูโร รอครบกำหนดระยะเวลา 8 ปีในการติดแบล็กลิสต์ โดยระหว่าง 8 ปีไม่ยอมเจรจากับเจ้าหนี้ ไม่ปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เมื่อครบ 8 ปีที่ข้อมูลแบล็กลิสต์ถูกลบก็จะไปกู้กับเจ้าหนี้รายใหม่ ซึ่งอาจกลับสู่วังวนหนี้แบบเดิมถ้าไม่มีความสามารถในการชำระหนี้ พร้อมเสนอแนวคิดการลดระยะเวลาขึ้นบัญชีหนี้เสียในลูกหนี้บางกลุ่มเช่นลูกหนี้ NPL จากวิกฤตโควิด ที่เดิมเคยเป็นลูกหนี้ชั้นดี ผ่อนชำระดี แต่มีปัญหาจากวิกฤตโควิด จนกลายเป็นลูกหนี้ NPL โดยไม่ได้ตั้งใจ

 

Interview : คุณสุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร)


การยกเลิกแบล็กลิสต์เป็นอย่างไร ต้องใช้เวลาเท่าไหร่

           

อธิบายง่ายๆ การรายงานข้อมูลเข้ามาในระบบของเครดิตบูโร นับแต่วันที่เราเปิดบัญชีหรือวันที่เรามีบัญชีสินเชื่อ ข้อมูลจะวิ่งเข้ามาที่เครดิตบูโรในแต่ละเดือน เจ้าหนี้จะเป็นคนส่งข้อมูลให้เรา สมมุติว่านายสุรพลไปมีบัญชีบัตรเครดิตเดือนที่ 1 คนที่เป็นเจ้าหนี้ก็จะส่งข้อมูลมาที่เครดิตบูโรเดือนที่ 1 จากนั้นเขาจะส่งมา 12 เดือน ปีที่ 2 เขาก็จะส่งมา 12 เดือน เป็น 24 เดือน ปีที่ 3 เขาก็จะส่งมาอีก 12 เดือน เป็น 36 เดือนนะครับ พอครบ 36 เดือน เดือนที่ 37 ข้อมูลใหม่เข้ามา ส่วนของเดือนที่ 1 ก็จะลบทิ้ง เป็นใหม่เข้าเก่าออก เพราะฉะนั้นทุกการดูรายงานข้อมูลเครดิตเราจะเห็นข้อมูลย้อนหลังลงไป 3 ปี

           

สมมุติว่าวันนี้ผมเปิดบัญชีมาประมาณสัก 10 ปีในเครดิตบูโรก็จะมีข้อมูลปีที่ 10 ปีที่ 9 และปีที่ 8 เท่านั้น เพราะเรามีข้อมูลย้อนหลังแค่ 3 ปี อันนี้คือสิ่งที่ต้องเข้าใจ อันดับแรก ถามว่าเราเปิดบัญชีมาตั้ง 10 ปีนะ ข้อมูลเราวิ่งเข้ามาที่เครดิตบูโรมันไม่ได้วิ่งเข้ามาแล้วเห็นประวัติทั้งหมดทั้ง 10 ปี แต่มันเห็นประวัติย้อนหลังแค่ปีที่ 10 ปีที่ 9 และปีที่ 8 คือ 3 ปีย้อนหลัง อันนี้เป็นระบบปกติก่อน

           

ทีนี้มีลูกหนี้อยู่ลักษณะหนึ่งที่เราเรียกว่าลูกหนี้เสียหรือลูกหนี้ NPL ลูกหนี้กลุ่มนี้คือไม่ไปจ่ายหนี้เกิน 90 วัน หรือ 3 งวดที่ไม่ไปจ่าย เพราะฉะนั้นก็กลายเป็นหนี้เสีย พอเป็นหนี้เสียสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่าเขาก็จะถูกส่งข้อมูลเข้ามาในระบบของเครดิตบูโร ตามกฎหมายเก่าดั้งเดิมจะต้องส่งข้อมูลมาให้ที่เครดิตบูโรนี้จนกว่าลูกหนี้รายนี้จะชำระหนี้เสร็จสิ้น พอเขาส่งเข้ามาเดือนที่ 1 ส่งเดือนที่ 2 ส่งเดือนที่ 3 ส่งหลังจากเป็น NPL ใช่ไหม พอเดือนที่ 38 เข้ามา เดือนที่ 2 ก็ลบไป เดือนที่ 39 เข้ามา เดือนที่ 3 ก็ลบไป ซึ่งเขาจะไม่มีวันออกจากระบบของเครดิตบูโรได้เลย เพราะหลักการของเครดิตบูโรคือเป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา อันนี้คือลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสีย

           

สมัยท่านอาจารย์ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ท่านเป็นผู้ว่าการแบงก์ชาติ ท่านก็บอกว่าการที่ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียหลังปี 2540 มันก็ 10 กว่าปีแล้ว ลูกหนี้เหล่านั้นสมควรไหมที่จะให้เขาส่งข้อมูลเขามาตลอด เพราะบ้านเขาก็ถูกยึดแล้ว รถเขาก็ถูกยึดหมด แล้วเหลือหนี้อยู่ก้อนหนึ่งแล้วตราบใดยังชำระหนี้ไม่เสร็จสิ้นก็ต้องส่งเข้าระบบ ส่งเข้ามาทุกวันทุกวัน Forever หรือชั่วฟ้าดินสลาย ท่านก็มีดำริว่าคนที่เป็นหนี้เสียแล้วไม่ไปชำระหนี้ แล้วก็ไม่ไปปรับโครงสร้างหนี้ คือไม่ทำอะไรเลย เราจะส่งข้อมูลเขาต่อเนื่องเข้าไปในระบบของเครดิตบูโรนี้กี่ปีดี กฎหมายเก่าคือส่งตลอดไป แต่ตอนหลังนี้ท่านอาจารย์ประสารบอกว่าให้สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกเครดิตบูโรส่งข้อมูลของลูกหนี้ประเภทนี้เข้ามา 5 ปีนับแต่วันที่เขาเป็น NPL เพราะฉะนั้นข้อมูลของเขาจะอยู่ในระบบผมก็คือปีที่ 5 ปีที่ 4 ปีที่ 3 จากนั้นพอส่งครบ 5 ปี ให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้หยุดการส่ง ไม่ต้องส่งอีกแล้วแม้ว่าเขาจะไม่ชำระหนี้ แต่ให้หยุดส่ง พอหยุดส่งข้อมูลมันค้างในระบบผม 3 ปีใช่ไหม ปีที่ 5 ปีที่ 4 ปีที่ 3 ผมจะต้องเริ่มลบข้อมูลทิ้งทีละเดือน ผมต้องใช้เวลาอีก 3 ปีในการลบข้อมูลนั้นทิ้ง เราเรียกว่า 3 ปีลบ เพราะฉะนั้นถ้าเอา 5 ปีส่งบวก 3 ปีลบมันเท่ากับ 8 ปี

           

ความหมายคือคนที่เป็นหนี้เสีย แล้วไม่ยอมไปปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ยอมชำระหนี้ ไม่ทำอะไรเลย ยอมเป็นหนี้เสีย อย่างนี้ข้อมูลจะอยู่ในระบบของผม 8 ปี โดยข้อมูลจะแสดงให้เห็นในปีที่ 8 ปีที่ 7 และปีที่ 6 แล้วจากนั้นจะมีการลบทิ้งออกไป เพราะฉะนั้นคนที่เป็นหนี้เสียก็จะมีเหมือนกับลักษณะแลกกันว่า ถ้าคุณเป็นหนี้เสีย แล้วคุณไม่ยอมที่จะชำระหนี้ คุณไม่ยอมไปปรับโครงสร้างหนี้ ไม่ยอมกลับเป็นหนี้ปกติ คุณก็จะถูกแช่แข็งอยู่ในระบบของเครดิตบูโร 8 ปี สถาบันการเงินที่เข้ามาดูเขาก็จะรู้ว่าคุณยังเป็นหนี้เสียอยู่ เพราะฉะนั้นคุณก็จะไม่มีโอกาสที่จะได้สินเชื่อก้อนใหม่เพราะคุณเป็นหนี้เสีย มันเป็นลักษณะแลกกันว่าถ้าคุณยอมเป็นหนี้เสียคุณต้องยอมให้ถึง 8 ปี ข้อมูลถึงจะออกไปจากระบบ ซึ่งข้อมูลออกก็จริงแต่หนี้ไม่ได้ออกไปด้วย เจ้าหนี้ของบัญชีนั้นก็ยังอยู่ เขาก็ยังไปฟ้องร้องดำเนินคดีเราได้ เพียงแต่ว่าข้อมูลในเครดิตบูโรไม่มี

           

ทีนี้คำถามต่อคือข้อมูลไม่มีในระบบของเครดิตบูโร แล้วคนนี้สามารถไปขอกู้ยืมเงินที่อื่นได้ไหม ผมเป็นหนี้เสียแบงก์ A ผมรอ 8 ปี พอขึ้นปีที่ 9 ผมก็ไปขอกู้ที่แบงก์ B คำถามคือแบงก์ B เสี่ยงไหม เพราะเขาเป็นหนี้ที่ยังไม่ยอมจ่ายที่แบงก์ Aแล้วเขาจะมาขอกู้ที่แบงก์ B ขณะนี้ก็มีความคิดว่า 5 ปีดีไหม อาจจะลดเป็นกี่ปีก็แล้วแต่ แต่สากลอย่างในอเมริกาเขาเก็บว่า 7 ปี ในอังกฤษเขาเก็บไว้ 6 ปี ในเมืองไทยเราจะเก็บกี่ปีสำหรับคนที่เป็นหนี้เสีย

           

ทีนี้ก็ต้องมีคำถามต่อว่าถ้าเราจะเอาคนที่เป็นหนี้เสียออกโดยเชื่อว่าเขาจะไปขอกู้ได้อีกที่แบงก์อื่น เขาอาจจะกู้ได้หรือไม่ได้ไม่มีใครรู้ คำถามคือถ้าทำอย่างนี้ 1. เสียวินัยทางการเงินหรือไม่ คนไม่ใช้หนี้ ยอมเป็นหนี้เสียอยู่ 8 ปี พอปีที่ 9 ไปขอกู้ที่อื่น แบงก์ที่ไม่เห็นข้อมูลนี้จะเสี่ยงหรือไม่กับผู้ฝากเงินของแบงก์นั้น แบงก์นั้นไม่เห็นข้อมูลหนี้เสีย แบงก์นั้นเอาเงินของผู้ฝากเงินไปปล่อยกู้ให้คนนี้เพราะไม่เห็นข้อมูล อันนี้จะยอมรับได้ไหม

           

อีกอย่างหนึ่งคือมาตรฐานสากลอยู่ที่ตรงไหนแล้วมันช่วยได้จริงไหม อันนี้ก็เป็นวิธีคิดทำไมจึงเกิดวิธีคิดนี้ เพราะในปี 2563-2565 เรามีหนี้เสียที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์โควิด คนเหล่านั้นไม่ใช่หนี้เสียปกติ เขาไม่ได้อยากเป็นหนี้เสีย เป็นแม่ค้าขายเสื้อผ้าตลาดแต่ตลาดปิด ถูกล็อกดาวน์ ไม่ได้เป็นความผิดของเขาในการเป็นหนี้เสีย ก็มีคนกลุ่มนี้อยู่ คำถามคือเราจะใช้วิธีนี้ช่วยคนกลุ่มนี้ไหม จึงเป็นที่มาของเรื่องนี้

 

หมายความว่าถ้าจะลดระยะเวลาการติดแบล็กลิสต์ คือควรที่จะลดเฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มที่เป็นหนี้เสียจากวิกฤตโควิด

           

ใช่ ในความเห็นของผมคิดว่ามันไม่ควรจะทำเป็นการทั่วไป เพราะคนที่เขามีหนี้เสียเพราะตัวเขาเองทำตัวเอง กับอีกกลุ่มหนึ่งก็คือว่าเขาไม่ได้ทำตัวเองแต่ว่ามันเกิดจากสถานการณ์โควิด มันไม่ใช่ความผิดของเขา 100% เพราะฉะนั้นเราควรจะทำงานแบบพุ่งเป้าไหม ช่วยคนที่สมควรจะต้องช่วย ส่วนคนที่เป็นหนี้เสียปกติคุณก็ไปเข้ากระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ แต่ต่อให้คนที่เขาเป็นหนี้เสียเพราะโควิดเขาก็สามารถที่จะออกจากระบบแล้วไปขอกู้ได้ สมมุติมาติดอีกว่าเงื่อนไขการขอกู้ในปี 2567 มันไม่ได้หมู เพราะการขอกู้ปี 2567 เวลาคุณจะไปขอกู้เงินแบงก์ จะต้องพิสูจน์ว่ามีรายได้เพียงพอที่จะจ่ายชำระหนี้หรือไม่

 

กลุ่มที่เขาอยากให้ช่วยอาจจะเป็นเพราะเขามองว่าคือติดเครดิตบูโรมาตั้ง 5 ปีแล้ว

           

ถ้าไม่ให้โอกาสเขา เขาเป็น NPL ก็จริง ถ้าติดแบงก์ A ถ้าไม่ไปกู้เงิน ไม่ไปหาเงินมาที่จะหมุนเวียนทำธุรกิจ มันก็คงจะยากที่จะให้เขาลืมตาอ้าปากกลับมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เขามีเงินไปรันธุรกิจแล้วก็อาจจะดีขึ้น แล้วก็สามารถไปใช้หนี้แบงก์ A ได้ด้วย

มันมีวิธีหนึ่งที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องของการลดระยะเวลาจัดเก็บ คือคนที่เป็นหนี้เสียถ้าคุณไปปรับโครงสร้างหนี้ หมายความว่าคุณยอมไปเจรจากับเจ้าหนี้ แล้วก็ไปเข้าสู่กระบวนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งเรื่องนี้แบงก์ชาติพยายามรณรงค์ให้ลูกหนี้ไปเจอกับเจ้าหนี้ โดยที่เขาจะเป็นตัวกลางในการส่งผ่านเรื่องว่าลูกหนี้รายนี้เป็นลูกหนี้แบงก์นี้ อยากจะปรับโครงสร้างหนี้ มันไม่เกี่ยว ถ้าจะไปปรับโครงสร้างหนี้ได้จะต้องปฏิบัติตามสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สัก 3-6 เดือนแล้วก็กลายเป็นหนี้ปกติ พอกลายเป็นหนี้ปกติก็สามารถจะยื่นขอสินเชื่อได้ อันนั้นก็เป็นอีกทางหนึ่งที่มันจะไปต่อได้ แต่การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่เขากำหนดกติกามาปัจจุบันอาจจะมีความไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะถ้าคุณเคยผ่อนหนี้ก่อนโควิดเดือนละ 25,000 ได้ แต่พอเจอโควิด คุณผ่อนได้แค่ 8,000 แต่แบงก์บอกว่า 8,000 ไม่ได้ ต้องเอา 12,000 คุณก็ไม่รู้จะไปหาที่ไหนมาให้ กติกาตรงนี้มันต้องผ่อนผันไหม เพื่อให้การปรับโครงสร้างนี้มันเป็นไปได้โดยที่ไม่ต้องไปยุ่งกับเวลาในการจัดเก็บข้อมูลเครดิตบูโรไม่ต้องไปยุ่งกับมาตรฐาน

 

ไม่ต้องไปวุ่นในการแก้กฎหมายด้วยใช่ไหม


เรื่องนี้มันไม่ต้องถึงขั้นแก้กฎหมาย ไม่ต้องเข้าสภาเลยทั้งสิ้น เรื่องนี้มันเป็นประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต อย่างที่ผมเรียนตั้งแต่ตอนแรกว่าสมัยท่านอาจารย์ประสารท่านออกประกาศว่าใครเป็นหนี้เสียให้ส่งข้อมูลมา 5 ปี ไม่ต้องส่งข้อมูลตลอดไป ส่งมา 5 ปีแล้วพอครบ 5 ปีให้เครดิตบูโรลบข้อมูลให้เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี เพราะฉะนั้นในวันนี้ถ้าสมมุติว่าไม่เอาเส้นทางการปรับโครงสร้างหนี้ เขาเดินเส้นนี้ก็ไปกำหนดมาว่าจะให้ส่งข้อมูลที่เป็นหนี้เสียเข้ามาในระบบผมกี่ปีเสร็จ แล้วก็บอกผมต่อว่าให้เครดิตบูโรลบข้อมูลให้เสร็จสิ้นภายในกี่ปี ปัจจุบันนี้เป็น 5 ส่ง 3 ลบ ถ้าจะออกกติกาใหม่จะออกเป็นเท่าไหร่ 4 ส่ง 3 ลบหรือ 2 ส่ง 2 ลบได้หมด ระบบทำงานได้หมด ปัญหาอย่างเดียวคือจะตัดสินใจเอาตรงไหน

 

ตรงนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป

           

เป็นการตั้งคำถามว่าควรจะช่วยทั้งหมดไหม ควรจะช่วยวิธีนี้ไหม ควรจะใช้วิธีอื่นไหม ในแง่ของเครดิตบูโรเราเป็นผู้ปฏิบัติกฎหมาย ประกาศเขาสั่งมาอย่างไร เราก็ปฏิบัติตามนั้น ไม่มีปัญหา เราปฏิบัติได้หมด เพราะเราเป็นฝ่ายปฏิบัติ สั่งมาว่าจะเอาอย่างไร

 

เครดิตบูโรในสถานะผู้ปฏิบัติงาน สามารถให้ข้อเสนอแนะได้ด้วยไหม คนที่เป็น NPL อยู่ตอนนี้ก็ต้องรอข้อสรุปกันต่อไป ตอนนี้ยังสรุปไม่ลงตัว แต่ว่าได้ไอเดียแบบนี้ก่อน

           

ไม่ต้องแก้กฎหมาย ไม่ต้องไปเข้าสภา ออกประกาศมาก็ใช้ได้แล้ว

42 views

Comentarios


bottom of page