แจง...กรณีซูซูกิย้ายฐานการผลิตจากไทยไปอินเดีย เพราะยอดผลิต-ยอดขายของไทยสู้อินเดียไม่ได้ โดยอินเดียมียอดขายรถเล็กปีละ 3 ล้านคันและเป็นราชาของการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กของโลก เฉพาะโรงงานซูซูกิที่อินเดียมีกำลังการผลิตปีละ 7.5 แสนคัน ซูซูกิจึงย้ายฐานการผลิตจากไทยไปที่อินเดีย เพราะด้วยยอดการผลิตที่สูงทำให้ต้นทุนการผลิตต่อคันลดลงมาก ทำให้สามารถแข่งขันด้านราคาขายได้มาก อีกทั้งซูซูกิมีแผนที่จะใช้โรงงานที่อินเดียเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าโดยตั้งเป้าการผลิตไว้ที่ปีละ 3 แสนคัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการย้ายฐานการผลิตของซูซูกิไม่กระทบอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยมากนัก โดยนอกจากไทยจะโดดเด่นในด้านการผลิตรถยนต์สันดาปแล้ว ไทยยังมีการเตรียมความพร้อมในการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า แบตเตอรี่รถไฟฟ้า และชิ้นส่วนอะไหล่รถไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้มีค่ายรถยนต์ที่ผลิตรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้าทยอยมาลงทุนตั้งโรงงานในไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และล่าสุดมีค่ายรถยนต์อเมริกาติดต่อเข้ามาตั้งโรงงานผลิตรถไฟฟ้า แบตเตอรี่ไฟฟ้า อะไหล่รถไฟฟ้า แบบครบวงจร โดยต้องใช้พื้นที่มากถึง 2 พันไร่ท
Interview : คุณสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
ช่วงที่ผ่านมามีข่าวค่ายรถยนต์หลายค่าย จะย้ายฐานการผลิตออกจากไทย
รู้สึกตกใจจากที่เพิ่งมีการรายงานข่าวออกมา จากที่อ่านคำแถลงการณ์จากค่ายซูซูกิก็มีความเข้าใจ ในเมื่อตลาดโลกเปลี่ยนไป ก็ต้องมาเรื่องผลิตรถยนต์ไฟฟ้า คนก็ต้องไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เรามีพันธกรณีที่ไปเซ็นที่ปารีสไว้เมื่อปี 2019 ก่อนช่วงเกิดโควิด คือจะต้องลดอุณหภูมิของโลกลดลง ทุกคนก็จะต้องเร่งรัดในการลดการปล่อยคาร์บอนหรือที่เรียกว่าก๊าซเรือนกระจก ตรงนี้เป้าหมายในปี 2050 กับ 2060 หรือ 2065
กรณีดังกล่าวคือทุกประเทศที่ผลิตรถยนต์ต้องผลิตรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลดลง เราก็เหมือนกัน ที่จะต้องขายรถยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้น้อยๆ กฎหมายก็จะมีออกมา ซึ่งในหลายประเทศตั้งเป้าไว้ว่าในปีไหนที่เขาจะไม่ให้มีการขายรถยนต์ใช้น้ำมันเลย
ทั้งนี้ ประเทศไทยเราก็ต้องเตรียมพร้อม ก็ได้มีการหารือกันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนร่วม 10 กว่าปีมาแล้ว และมีการแก้กฎหมายอะไรต่างๆ ให้สอดคล้องกับรถยนต์ไฟฟ้าที่จะเข้ามาขาย รวมทั้งที่จะผลิตในไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทางยุโรปก็มีข้อห้ามในเรื่องของสินค้า 5 อย่างที่จะเข้าไปในอียูว่าต้องมีการรายงานในเรื่องของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้นทางจนถึงชายแดนเขาเป็นเท่าไหร่ ถ้าเกินจากอัตราที่เขากำหนดไว้ก็ต้องโดนปรับ ต้องเสียภาษีคาร์บอน ซึ่งในไทยตอนนี้กำลังทำ ประชาพิจารณ์อยู่เหมือนกัน เรียกว่าพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คิดว่าภายในเดือนหน้าน่าจะเข้าสู่คณะรัฐมนตรีได้ เพื่อพิจารณา เพื่อเข้าสภาต่อไป คาดว่าจะใช้กฎหมายนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า คือถ้าใครปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์มาก ก็จะต้องโดนปรับ ถูกเก็บภาษี ถ้าเก็บภาษีในไทยแล้ว เมื่อสินค้านั้นส่งไปทางยุโรปหรืออียูเขาจะเรียกเก็บภาษีเหมือนกันถ้าการปล่อยคาร์บอนเกินจากที่เขากำหนดไว้ เขาเรียกคาร์บอนฟุตพรินต์ คือสะสมตั้งแต่ต้นทางจนถึงชายแดนเขา ว่าปล่อยคาร์บอนไปเท่าไหร่ สมมุติว่าถ้าเกินไปเขาจะเก็บอยู่ 50 บาท ของไทยเราเก็บไปแล้ว 30 บาท เราก็เก็บภาษีตรงนี้ 30 บาทไปหักจาก 50 บาท เท่ากับไปเสียทางโน้น 20 บาท อันนี้จะเป็นเทรนด์ของโลกที่มากันอย่างนี้ หลายๆ ประเทศเขาก็ได้สร้างข้อกำหนดแล้ว อย่างที่ตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบียเขาก็มีกำหนดประสิทธิภาพในการใช้น้ำมันของรถยนต์แต่ละยี่ห้อ ถ้าเกินจากที่เขาได้กำหนดไว้ ก็อาจจะโดนห้ามขายเลยอะไรอย่างนี้
อย่างปีหน้า ทางออสเตรเลียเขาก็จะมีกฎหมายที่ว่าจะลดการใช้น้ำมันของรถยนต์ที่จะเอาไปขายในออสเตรเลีย ซึ่งออสเตรเลียเขาปิดโรงงานผลิตรถยนต์ไปหมดแล้ว แต่ยังมีการนำเข้า ส่วนไทยเราก็ส่งรถยนต์ไปขายที่ออสเตรเลียเป็นอันดับสองรองจากญี่ปุ่น เราส่งไปออสเตรเลียทั้งรถยนต์นั่งและกระบะสูงเป็นอันดับหนึ่งของรถยนต์ที่เราส่งออกไปยังต่างประเทศ ตรงนี้ถือว่าเราก็ต้องเตรียมพร้อม ซึ่งเราได้หารือกัน ได้เตรียมความพร้อมมาหลายปี
สำหรับกรณีของซูซูกินั้น เขาก็บอกว่าเมื่อตลาดเป็นแบบนี้ เขาก็ต้องเปลี่ยน คือแทนที่เขาจะต้องผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยก็อาจผลิตได้น้อย โดยเขามีแผนในการที่จะลงทุนในอินเดียอยู่แล้ว ซึ่งในปีหนึ่งที่อินเดียเขามีกำลังการผลิตรถยนต์ 7.5 แสนกว่าคัน ทีนี้ เขาก็จะลงทุนในการจัดตั้งโรงงานเพิ่มขึ้นแล้วก็จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือพวกไฮบริด หรือพลังงานทางเลือก ก็จะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 1 ล้านคัน ซึ่งถ้าเขาผลิตได้เป็นล้านคัน ต้นทุนต่อคันก็จะถูก ตรงนี้ก็จะช่วยให้ซูซูกิมีความสามารถในการแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้ คือสามารถแข่งกับรถไฟฟ้ายี่ห้อต่างๆ จากประเทศอื่นได้ เพราะเขาผลิตจำนวนมาก ซูซูกิลงทุนอยู่ค่อนข้างสูงมากในประเทศอินเดีย เขาอยู่ในอันดับต้นๆ ที่มียอดขายสูง แล้วอินเดียเขากำลังเติบโตทั้งยอดการผลิตและยอดการขาย และความเจริญเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของอินเดียก็ดีมากๆ มีการคาดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อินเดียจะเติบโตพอๆ กับจีนก็ได้
ทางซูซูกิไม่สามารถปรับเปลี่ยนโรงงานในไทยให้หันมาผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้
คือจะผลิตก็ผลิตได้ แต่ในแง่ของธุรกิจเขาต้องดูว่าประเทศไหนที่มีการผลิตแล้วออกมาต่อหน่วยมันถูกกว่า เช่นในประเทศต่างๆ เขาจึงมีการแยกว่า คุณเก่งทางด้านผลิตภัณฑ์นี้คุณก็ผลิตไป ส่วนประเทศนี้เก่งทางนี้ก็คือมีแรงงานมีเทคโนโลยี ก็สามารถที่จะผลิตผลิตภัณฑ์อันนั้นแข่งขั้น จึงได้มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายส่งออกกันทั่วโลก เขาถึงเรียกว่าเป็นเวิลด์เทรดขึ้นมา เป็นเรื่องการค้าของโลก
นอกจากจีนแล้ว ถนนทุกสายที่จะผลิตรถอีวีรองรับการลดโลกร้อน ก็จะมุ่งไปที่อินเดียเป็นหลัก
ก็คงไปทั่ว แล้วแต่ว่าแต่ละประเทศเขาจะส่งเสริมอย่างไร อย่างอินเดียเขามีเป้าหมายอยู่แล้วที่จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศ คือใช้ในประเทศของเขาด้วย ส่วนใหญ่ก็จะเป็นรถเล็ก เรียกว่าอินเดียเป็นราชาในการผลิตรถเล็กเลย คือเขาขายร่วม 3 ล้านคัน เขาเป็นยักษ์ใหญ่ ก็อยู่ที่การดูว่า ประเทศไหนหรือวิธีการอย่างไรถึงจะคุ้มค่าในการผลิต ทำให้ตัวเลขในงบของเขาสวยที่สุด ดีที่สุด
นอกจากซูซูกิแล้ว จะมีค่ายไหนย้ายฐานการผลิตออกจากไทยอีกหรือไม่
ที่ดูตอนนี้มีแต่บริษัทยักษ์ใหญ่มากๆ ที่อยู่ในไทยมานาน ผ่านวิกฤตมามาก ผ่านต้มยำกุ้ง ซึ่งก็ใช้เวลานานหน่อยกว่าจะกลับคืนมาสู่ภาวะปกติ จากที่เคยมียอดขายกว่า 5.8 แสนคัน เมื่อปี 2539 ก็เหลือ 3 แสนคัน และ 1.4 แสนคันในปี 2541 ฉะนั้น หายไปปีละ 75% ตรงนี้คิดว่าเขาทนร้อนทนหนาวมาแล้ว ก็สู้ได้ แต่ตอนนี้ก็ใช่ว่าเขาจะไม่มีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า เขาก็มีการผลิตและยังมีการทดลองผลิตรถกระบะไฟฟ้า ดังนั้น อยู่ที่ความเหมาะสม ความพร้อมของไทยที่แต่ละยี่ห้อเขาก็ดูว่าเมื่อไหร่ถึงจะพร้อมในการที่จะนำรถยนต์ไฟฟ้าของเขาเข้ามาขายในไทย ซึ่งตอนนี้ในไทยก็มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 8-9 หมื่นคันต่อปี
อย่างไรก็ตาม ก็ต้องดูในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้วย เช่นสถานีชาร์จแบตเตอรี่เพียงพอหรือไม่ ไม่อย่างนั้นจะมีปัญหาเหมือนต้นปีที่มีข่าวว่าไปออกันที่เชียงใหม่แล้วแย่งกันชาร์จ ตรงนี้คือความไม่พร้อม เพราะไทยเราเป็นประเทศใหญ่พอสมควร คนก็ต้องเดินทาง ในระหว่างทางก็ต้องมีสถานีชาร์จให้เขาแบบเดียวกับสหรัฐอเมริกา ที่อเมริกาเขามีให้บริการในรัฐต่างๆ เยอะมาก และเขาก็เป็นประเทศที่ชอบเดินทางข้ามรัฐ ส่งผลให้ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาอนุมัติงบ 5 พันล้านเหรียญในการติดตั้งสถานีชาร์จไฟระหว่างการเดินทางให้ประชาชน ไม่อย่างนั้นประชาชนเขาก็จะใช้รถไฟฟ้าน้อยถ้าเทียบทางด้านยุโรป
ขณะที่จีนมาเป็นอันดับหนึ่ง จีนเขาเป็นประเทศใหญ่พอๆ กับสหรัฐอเมริกา จากมณฑลหนึ่งไปอีกมณฑลหนึ่งมีระยะทางค่อนข้างไกล เขาจึงมีสถานีชาร์จกว่า 1 ล้านสถานี ซึ่งจีนเขาเตรียมพร้อม ตรงนี้ทำให้จีนมียอดขายมียอดผลิตรถยนต์ไฟฟ้าสูงมาก ซึ่งปีที่แล้วเขามียอดผลิตตั้ง 30 ล้านคัน ตรงนี้จึงทำให้ต้นทุนต่อคันของเขาถูกกว่าประเทศอื่น และเขายังมีแร่ธาตุในการผลิตแบตเตอรี่ด้วย และแรงงานเขาอาจจะมีราคาที่ถูกกว่าประเทศทางยุโรปและอเมริกา ดังนั้น ต้นทุนรถไฟฟ้าต่อคันของเขาจึงถูกกว่าแน่นอน ถึงได้ตีตลาดอื่นๆ ได้ ก็ถือว่าไปตามเทรนด์ของโลก
ส่วนของไทยต้องเตรียมพร้อมในการที่จะรับในเรื่องสภาพอากาศที่จะเปลี่ยนแปลง ซึ่งเราก็มีพันธกรณีที่จะต้องลดคาร์บอน
นอกจากการเตรียมพร้อมเรื่องโครงสร้าง เรื่องการสร้างสถานีชาร์จ เพื่อที่จะดึงดูดให้บรรดาค่ายใหญ่ๆ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไม่ให้ย้ายฐาน โดยยังใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รัฐบาลควรเข้าไปดูแลเรื่องอะไรอีกบ้าง
ความจริงที่ผ่านมาทางรัฐได้เตรียมความพร้อมอยู่แล้ว อย่างในอีอีซี เขาก็มีสนามทดสอบรถยนต์ไร้คนขับ ทางอีอีซีเรามีแล้ว ฉะนั้น ที่ว่ามาตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย ต่อไปเขาก็จะต้องมีเรื่องของรถยนต์ไร้คนขับ ตรงนี้ก็เป็นเป้าหมายอีกขั้นหนึ่ง ก็จะมีสนามทดสอบที่อีอีซี ส่วนใหญ่จะไปตั้งโรงงานแถวนั้นด้วย ตรงนี้ก็จะทำให้เขาไม่ต้องลงทุนมาก ถ้าจะทดสอบคุณภาพของแบตเตอรี่ของรถยนต์ไฟฟ้าเราก็มีพื้นที่สนามชัยเขตซึ่งอยู่ในความดูแลของสถาบันยานยนต์ ตรงนี้ก็ได้ก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์แล้ว ให้บริการแล้ว และตรวจสอบแล้ว ส่วนโรงงานแบตเตอรี่ก็เกิดขึ้นแล้วในไทยเรา และเร็วๆ นี้ก็จะเปิดอีกแห่งหนึ่งขึ้นมา เป็นยี่ห้อที่ขายรถยนต์ไฟฟ้า และต่อไปก็จะมีเข้ามาอีกหลายยี่ห้อที่จะเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย และยังมีอีกยี่ห้อหนึ่งที่มาจากสหรัฐอเมริกา เขาก็อยากจะมาตั้งโรงงานในไทย ซึ่งตอนนี้เขามีแต่หน่วยขาย เขาอยากจะได้พื้นที่ตั้ง 2 พันไร่ ก็หากันอยู่ว่าจะมีพื้นที่ให้เขาได้ใช้หรือไม่ เพราะการเข้ามาไม่ใช่แค่ตั้งโรงงานผลิตอย่างเดียว ก็จะต้องมีโรงงานผลิตแบตเตอรี่ ผลิตชิ้นส่วนอะไรต่างๆ
ทั้งนี้ อีอีซีก็ยังมีโครงการเปลี่ยนรถเก่ามาเป็นรถใหม่ ตรงนี้จะเพิ่มการใช้พวกแบตเตอรี่ พวกชิ้นส่วนอะไรต่างๆ ที่จะใส่ลงไปในรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งเหล่านี้ก็จะทำให้พวกที่จะลงทุนผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ก็จะถึงจุดคุ้มทุนได้เร็วขึ้น เพราะจะมีพวกที่จะเปลี่ยนรถเก่ามาเป็นรถไฟฟ้า ภาครัฐก็ได้เตรียมให้ทางผู้ที่จะลงทุนผลิตพวกรถยนต์ไฟฟ้ากับชิ้นส่วนรถไฟฟ้ามีความมั่นใจว่ายังมีความต้องการพวกนี้อยู่มาก
ถึงตรงนี้เป็นห่วงอุตสาหกรรมรถยนต์ของไทยหรือไม่
เรายังไม่ห่วงในแง่นี้ เพราะเรายังคิดว่าตอนนี้ที่มีปัญหาขึ้นมาในเรื่องของรถยนต์ที่ขายในไทยลดลงมากก็เพราะหนี้ครัวเรือนของเราสูง พวกไฟแนนซ์ไม่ยอมอนุมัติสินเชื่อให้คนกู้ เพราะรถกระบะกว่า 80% จะเป็นการซื้อแบบสินเชื่อ ซึ่งเมื่อปีที่แล้วเขาเข้าไปดูในเครดิตบูโร บางคนยังค้างชำระหนี้บัตรเครดิตบ้าง หนี้มือถือบ้าง และที่เขาซื้อรถยนต์ไปประกอบอาชีพ พอมีปัญหาเรื่องโควิด เขาก็ขาดรายได้ตรงนั้น ซึ่งช่วงนั้นทางแบงก์ก็ผ่อนผันให้ แต่พอหลังหมดช่วงฮันนีมูนไปแล้วเพราะช่วยเหลือไปแล้ว ตัวเลขก็เปิดขึ้นมาปรากฏว่าหนี้ครัวเรือนสูงมาก ซึ่งอันนี้คิดว่าคงจะเป็นไปในช่วงเวลาไม่กี่ปี
แต่อย่างปีนี้งบปี 2567 แทนที่จะได้ใช้ตั้งแต่ตุลาคม 2566 ก็ลากมาจนถึงเมษายนปี 2567 ดังนั้น การใช้จ่ายการลงทุน การกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็ทำไม่ได้ และเพิ่งมาทำ ซึ่งมาทำก็ดีใจมาก รัฐบาลเขาก็รีบเร่งเหมือนกันให้มีการกระตุ้นซื้อพวกอสังหาริมทรัพย์ เพราะเขามีซัพพลายเชนที่สูง ทั้งทราย ปูน คนงาน เมื่อคนซื้อบ้านก็ต้องมีพัดลม มีแอร์ มีตู้เย็น ทีวี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอุตสาหกรรมรถยนต์ในบ้านเราวันนี้ก็ยังไปได้ โดยการผลิตรถยนต์ในบ้านเราอย่างปี 2567 นี้ อยู่ที่ 1.9 ล้านคันก็ถือว่าไม่น้อย และเคยผลิตถึง 2 ล้านคันมาแล้ว ดังนั้น เราก็เป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ที่สำคัญของโลกอยู่ต่อไป และต่อไปก็จะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามาช่วยเสริม
Comments