top of page
379208.jpg

SME ไทยเผชิญสารพัดวิกฤต...ร้องภาครัฐดูแล



ยุคข้าวยากหมากแพง รายได้ลด กำลังซื้อหด อุตสาหกรรมข้ามชาติทุ่มตลาด ทำให้กระทบ SME รายย่อยทั้งที่ผลิตขายในประเทศและผลิตเพื่อส่งออก ทั้งยังมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงเกินควร การขึ้นค่าแรง ตลอดจนต้นทุนพุ่งพรวดทั้งค่าไฟฟ้า ค่าน้ำมัน SME 5 เรื่อง เริ่มจากแผนพัฒนากำลังคนและผู้ประกอบการ SME อย่างยั่งยืน ปรับกลไกไตรภาคี ให้ธุรกิจ SME วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดอัตราค่าจ้าง เพิ่มประสิทธิภาพผู้ประกอบการ SME และประสิทธิภาพแรงงานแบบคู่ขนานและเป็นระบบ มีมาตรการส่งเสริม ช่วยเหลือ ในการลดต้นทุน ค่าครองชีพ ให้ผู้ประกอบการ SME และภาคแรงงาน มีมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนต้นทุนต่ำ เพื่อการพัฒนาอาชีพ พัฒนาการผลิต พัฒนาทักษะ สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ และแก้ไขปัญหากับดักของหนี้ครัวเรือน พร้อมฝากถึงคลังและแบงก์ชาติให้ดูแลนโยบายการเงินโดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้พิโกและนาโนไฟแนนซ์ที่อัตราดอกเบี้ยทะลุสูง 20-30%

 

Interview : คุณแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย


ตอนนี้นักธุรกิจยังวางใจในเรื่องเศรษฐกิจไทยไม่ได้

           

โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจฐานรากยังคงเป็นที่น่าห่วงใยและต้องระวังอย่างยิ่ง เพราะวันนี้เราเห็นปัญหาเรื่องของรายได้ลด กำลังซื้อหด ซึ่งผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายย่อยได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่ง ทั้งเรื่องของการแข่งขันจากอุตสาหกรรมข้ามชาติที่มีต้นทุนถูกกว่า ทำให้ธุรกิจในประเทศและธุรกิจภาคการผลิตเพื่อการส่งออกได้รับผลกระทบ ในขณะที่วันนี้เราเห็นแล้วว่าสภาวะหนี้ครัวเรือนสูง แล้วเรายังมีหลากปัจจัยที่เกี่ยวกับการเข้าถึงสินเชื่อของผู้ประกอบการรายย่อยของภาคแรงงานเอง รวมถึงเรื่องของดอกเบี้ยที่ยังอยู่ในระดับที่สูง

           

ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบในเรื่องของเศรษฐกิจประเทศไทยทั้งสิ้น รวมถึงวันนี้เราพูดถึงปลายเหตุ เราพูดถึงเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่เราไม่ได้พูดถึงต้นเหตุในการที่เราจะเพิ่มประสิทธิภาพแรงงานอย่างมีกลยุทธ์ และทุ่มงบประมาณให้กับการพัฒนากำลังคนไปสู่ความยั่งยืน วันนี้เรามีเทคโนโลยีดิจิทัล เรามีเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ที่เข้ามามีส่วนสำคัญในการที่จะปรับเปลี่ยนรูปแบบของการใช้แรงงาน ในอาชีพเดิมอาจจะหายไป ก็จะมีอาชีพใหม่ๆ เกิดขึ้น

           

ทีนี้ เรามองว่าปัจจัยการผลิต วัตถุดิบจะส่งผลกระทบเรื่องของปัจจัยในเรื่องต้นทุนค่าแรงที่เพิ่มขึ้น เพราะวันนี้เราเผชิญหน้ากับวิกฤตน้ำมัน ไฟฟ้า เป็นวิกฤตพลังงานที่ส่งผลกระทบ แม้ว่าภาครัฐจะช่วงตรึงได้ในระยะเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายถ้าไม่ได้ปรับโครงสร้างต้นทุนของพลังงานน้ำมันและไฟฟ้าอย่างจริงจัง อย่างไรก็จะส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและประชาชนแรงงานโดยทั่วไปอย่างแน่นอน

 

เอสเอ็มอีเจอผลกระทบรอบด้าน

           

ใช่ เราเห็นความบอบบางเหลื่อมล้ำ เราบอบช้ำจากโควิด เราโดนเศรษฐกิจรุมเร้า และแถมยังติดกับดักหนี้ยั่งยืน โดนขยี้ซ้ำ รายได้ลด ต้นทุนเพิ่มรอบทิศ เหล่านี้เป็นสิ่งที่คิดว่าเราต้องหันหน้ามาคุยกันแล้วก็หาทางออกให้กับทางรอดของเศรษฐกิจและประเทศไทย ผู้ประกอบการเราเห็นด้วยกับเรื่องการขึ้นค่าแรง เราไม่ได้ไม่เห็นด้วย เพราะวันนี้ผู้ประกอบการเองกับภาคแรงงานเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน เราหัวอกเดียวกัน เอสเอ็มอียังได้รับผลกระทบมาก ทำให้อยู่ยาก แน่นอนว่าแรงงานยิ่งอยู่ลำบาก

           

ฉะนั้น เรามองเห็นว่าการขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นสิ่งที่ต้องทำ แต่ในการขยับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะมีอยู่ 5 เรื่องที่ภาครัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนส่งเสริม และต้องมีตัวชี้วัดที่ชัดเจน คือ


1. แผนยุทธศาสตร์การพัฒนากำลังคนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างยั่งยืน วันนี้เราจะมาขึ้นค่าแรงไป เสร็จแล้วอีก 3 ปี ไปขยับค่าแรงต่อ ซึ่งวันนี้เราต้องมองทิศทางยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ในการที่จะพัฒนากำลังคนแบบขั้นบันได เราต้องการพัฒนากำลังคนเพราะมีความต้องการแรงงานเฉลี่ย 5 ล้านคนต่อปี วันนี้หน่วยงานต่างๆ ของทางภาครัฐเองก็พยายามทำ แต่ยังทำได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของความต้องการในแต่ละปีเลย ดังนั้น การจัดสรรทรัพยากร วิธีการในการพัฒนากำลังคนรวมถึงงบประมาณต่างๆ ต้องมาดูแลตรงนี้อย่างชัดเจน

           

2. เรื่องของกลไกไตรภาคี วันนี้เรามองเห็นว่ากลไกไตรภาคี จะเป็นกลไกที่มีส่วนในการที่จะให้พี่น้องแรงงานและพี่น้องเอสเอ็มอีได้มีสิทธิ์มีเสียงร่วมกันในแต่ละจังหวัด คือวันนี้กลไกไตรภาคีต้องกระจายอำนาจ และให้มีผู้แทนแต่ละภาคส่วนในการที่จะเข้ามามีบทบาทกำหนดอัตราค่าแรง และฝั่งผู้ประกอบการต้องมีสัดส่วนของเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร เข้ามาด้วย เพราะเราอย่าลืมว่าแรงงานนอกระบบส่วนใหญ่ยังเป็นแรงงานในภาคการเกษตร

           

ส่วนเรื่องที่ 3 กลไกการส่งเสริมเพื่อเข้าถึงการเพิ่มประสิทธิภาพแรงงาน และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแบบคู่ขนานอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ตรงจุดนี้ภาครัฐไม่ใช่ไม่ทำ ทำอยู่ แต่ต้องทำแบบเป็นระบบ มีเครดิตสกอริ่ง มีมาตรฐาน มีคุณวุฒิวิชาชีพ ในด้านแรงงาน ในด้านผู้ประกอบการที่จะไปเป็นตัวกำหนดค่าจ้าง ค่าแรงที่เป็นธรรม เราก็จะคุยกันเรื่องนี้น้อยลง

           

ในขณะเดียวกัน การจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอกับเรื่องของการใช้ระบบการพัฒนาแรงงานของ สสว. เรามองเห็นว่าระบบนี้เป็นระบบที่ดีในการที่จะสเกลอัปผู้ประกอบการ และอัปสกิล รีสกิลผู้ประกอบการเอสเอ็มอีทั่วประเทศ แต่เรื่องการเข้าถึง กับเรื่องการใช้งบประมาณตรงนี้ อาจจะยังมีข้อจำกัด

           

4. มาตรการในการลดต้นทุนและค่าครองชีพให้กับภาคแรงงานและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ตอนนี้เราเห็นแล้วว่าต้นทุนของผู้ประกอบการและภาคแรงงาน เผชิญชะตากรรมเดียวกัน

           

ส่วนเรื่องที่ 5 คือเรื่องมาตรการทางการเงินและดอกเบี้ย ที่วันนี้เราติดกับดักเรื่องของหนี้ครัวเรือน หนี้นอกระบบ เราคิดว่าการให้พี่น้องแรงงานและภาคเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งทุนต้นทุนต่ำ เพื่อการพัฒนาอาชีพ เพื่อพัฒนาทักษะ เพื่อพัฒนาแรงงาน ในการที่จะประกอบอาชีพ สร้างสรรค์ ประกอบอาชีพที่เป็นมูลค่าเพิ่ม ก็จะดียิ่งขึ้น

 

ล่าสุดรัฐมนตรีคลังคนใหม่ได้คุยกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มีการพูดคุยกันให้พิจารณาการเข้าถึงแหล่งเงิน

           

เป็นเรื่องที่ดีที่รัฐมนตรีคลังกับผู้ว่าฯ แบงก์ชาติมีแนวทางและทิศทางในการหันหน้าเข้าหากันในการเจรจาร่วมมือหาทางออกให้กับเศรษฐกิจของไทย และสิ่งสำคัญคือเรื่องดอกเบี้ย มันไม่ใช่เรื่องดอกเบี้ยนโยบายเพียงด้านเดียว ดอกเบี้ยนโยบาย เขาเรียกว่าเป็นเชิงแมส แต่สิ่งที่จะต้องเข้าไปเจาะคือเรื่องของการเข้าถึงแหล่งทุนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีโดยการใช้กลไกของ บสย.เข้ามาช่วยค้ำประกันสินเชื่อให้กับเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอาจจะต้องปรับ บสย.ให้ใช้กับกลไกของธนาคารรัฐมากขึ้น ไม่ใช่ไปใช้กับธนาคารพาณิชย์ บสย.เป็นกลไกที่จะให้ธนาคารรัฐช่วยผู้ประกอบการหรือแรงงานที่จะอัปสกิล รีสกิลทำธุรกิจสร้างสรรค์ธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาใช้ประโยชน์จากเงินทุนโดยมี บสย.ร่วมค้ำ ซึ่งจริงๆ บสย.ทำงานได้ดีมากในเรื่องของการแก้หนี้ และส่งเสริมกลุ่มที่อยากได้แหล่งทุน แต่มีผู้ประกอบการจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึง ตรงนี้เราก็พยายามดันเข้ามา

           

อยากจะฝากแบงก์ชาติกับทางกระทรวงการคลังว่าผู้ประกอบการและภาคแรงงาน ประชาชนทั่วไป เป็นห่วงเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ความเสี่ยงจากการที่ไม่มีมาตรฐานในการคิดหรือมีกลไกในการที่จะมีความชัดเจนที่จะคำนวณอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเป็นความเสี่ยงต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำนวนมาก ก็ยังต้องกู้เงินในอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ในขณะที่วันนี้พิโกหรือนาโนไฟแนนซ์ควรที่จะมาทบทวนเรื่องของดอกเบี้ยกันมั้ย เพราะว่าพิโก-นาโนไฟแนนซ์ดอกเบี้ยทะลุเข้าไป 20- 30% กว่า ตรงนี้คือสิ่งที่เราอยากให้เห็น

 

เรื่องการเก็บภาษีธุรกิจออนไลน์ เขาบอกว่าจะได้ทำให้ลดคู่แข่งธุรกิจเอสเอ็มอีไทย เรื่องนี้ช่วยได้จริงหรือไม่

           

เรื่องของการเก็บภาษีออนไลน์ จริงๆ เป็นเรื่องที่ดีเพราะเรามองว่าการค้าขายไม่ว่าจะเป็นออนไซต์หรือออนไลน์ การเสียภาษีจะทำให้ประเทศสามารถนำเม็ดเงินภาษีมาพัฒนาประเทศได้ แต่ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีออนไลน์ สิ่งสำคัญเลยก็คือในเรื่องธุรกิจข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจค้าขายออนไลน์กับไทย ตรงนี้เราควรที่จะใช้รูปแบบภาษีที่เป็นรูปแบบเสมอภาคกัน ที่สำคัญก็คือเรื่องของกลไกในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหรือผู้ประกอบการออนไลน์มีขีดความสามารถในการที่จะใช้ช่องทางออนไลน์ ช่องทางโซเชียลมีเดียในการประกอบอาชีพเพิ่มมากขึ้น ตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับรัฐบาล เป็นประโยชน์กับหน่วยงานภาครัฐในการจัดเก็บรายได้ด้วย และจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความตื่นตัวในการเข้าสู่ระบบ เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ในการที่จะมีรายได้เข้าประเทศในการพัฒนาประเทศ

           

แต่สิ่งสำคัญสุดคือเราต้องพัฒนาผู้ประกอบการในการที่จะมาเข้าสู่ออนไลน์ให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น ให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น และเรียนรู้ในเรื่องของการจัดการทางภาษีมากขึ้น เขาจะได้ไม่กลัวการเสียภาษี และที่สำคัญคือในกลุ่มของผู้ที่ใช้ออนไลน์ เราต้องมีกลไกในการกำกับหรือว่าดูแลไม่ให้ถูกเอาเปรียบจากมิจฉาชีพ หรือเขาเรียกว่ามีการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพมาตรฐานให้เป็นไปโดยดี

 

43 views

Comments


bottom of page