top of page
312345.jpg

เงินบาทแข็ง ทำส่งออกข้าวไทยแพ้คู่แข่ง


Interview : คุณเจริญ เหล่าธรรมทัศน์

นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย


อนาคตส่งออกข้าวไทยวังเวง! ปัญหารุมเร้ารอบด้าน ปัญหาระยะสั้นคือขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่ง รวมถึงเงินบาทแข็งค่า ทำให้ข้าวไทยแพงกว่าคู่แข่ง แต่ปัญหาระยะยาวหนักกว่า เป็นปัญหาอมตะนิรันดร์กาล ภาครัฐไม่ใส่ใจ ใช้การเมืองแก้ปัญหาราคาข้าวมาตลอด ทำให้กลไกบิดเบี้ยว ภูมิใจแบบลมๆ แล้งๆ มากว่า 30 ปี ว่าข้าวไทยเป็นข้าวพรีเมียม ไม่ให้ความสำคัญกับการวางยุทธศาสตร์ข้าวให้พัฒนาทันยุคทันสมัย กลายเป็นปัญหาดินพอกหางหมู ทั้งปัญหาภัยแล้ง ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง ปัญหาผลผลิตต่อไร่ที่ต่ำ ปัญหาปุ๋ยราคาแพง ปัญหาการขาดการพัฒนาพันธุ์ข้าวให้หลากหลายตรงความต้องการของตลาดโลก สุดท้ายแพ้คู่แข่งหลุดลุ่ยไม่ว่าจะเป็น อินเดีย พม่า เวียดนาม ล่าสุด การส่งออกข้าวไทยลดฮวบกว่าครึ่ง ถ้าปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อเรื้อรัง ข้าวไทยจะมีแค่ขายให้คนไทยกิน ส่วนผู้ส่งออกต้องผันตัวไปเป็นเทรดเดอร์หรือคนกลางขายข้าวจากอินเดีย พม่า เวียดนาม ลาว กัมพูชา ให้ลูกค้าเก่าๆ เหตุข้าวไทยไม่ถูกปากคนกิน ผลผลิตลดลง และราคาที่แพงกว่ามาก


สถานการณ์ข้าวปีนี้เป็นอย่างไร

ไม่ค่อยสดใส ตัวเลขส่งออกของเราก็ยังถดถอยเรื่อยๆ 2 เดือนแรกของปี 2564 เราส่งออกไป 8 แสนตัน เดือนละ 4 แสนตัน ซึ่งต่ำมาก ปกติปีที่ดีๆ การส่งออกอยู่ที่เดือนละ 8 แสนตันถึง 1 ล้านตัน โดยปัจจัยลบ มีปัญหาทั้งระยะยาวและสั้น โดยระยะสั้นอย่างที่พูดถึงคือเรื่องขาดตู้ส่งสินค้า เงินบาทเราแข็งค่าเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน เรามีปัญหาภัยแล้งติดต่อกันมา 2-3 ปี ทำให้น้ำเขื่อนไม่สามารถปล่อยมาช่วยทำนาปรังได้ ดังนั้น การผลิตของเราก็น้อยลง

ส่วนปัญหาระยะยาวเป็นเรื่องของโครงสร้างอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้รับการปรับปรุงหรือพัฒนามานาน โดยฝ่ายการเมืองก็ใช้นโยบายราคามาทำให้ชาวนาพอใจแค่นั้นเอง แต่เราไม่ได้พัฒนาเรื่องพื้นฐานจริงๆ เช่น ต้นทุนของการผลิต พันธุ์ข้าวใหม่ๆ เราก็ไม่มี ผลผลิตต่อไร่เราก็ต่ำ ปุ๋ยก็แพงกว่าเขา ตรงนี้เป็นปัญหาระยะยาว ถ้าเราไม่ปรับตรงนี้ จะทำให้เราแข่งขันยากขึ้น ส่วนตัวไม่ได้มองจะเป็นที่ 1 – 3 ซึ่งที่ 1 เราสู้เขาไม่ได้หรอก อย่างอินเดียพื้นที่ปลูกข้าวเขามากกว่า เขาปรับปรุงพันธุ์ข้าวมาแล้ว ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงกว่าเราเยอะ และทำให้ในระยะเวลาไม่กี่ปีเขามีข้าวล้นตลาด แล้วก็เอาออกมาขาย

ปีนี้อินเดียอาจจะส่งออก 15 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามกับไทยรวมกัน ยังสู้เขาไม่ได้ ฉะนั้น ตำแหน่งไม่สำคัญแล้ว แต่จะทำให้ให้เกิดการพัฒนา ว่าสินค้าเราดีขึ้น ต้นทุนเราถูกลง แข่งขันกับตลาดโลกได้ และชาวนาได้รายรับสมเหตุสมผล


เรื่องคุณภาพข้าวไทยต้องดีขึ้นเป็นเรื่องที่พูดกันมานานแล้ว ตอนนี้คู่แข่งของไทยต่างก็พัฒนาคุณภาพไปกันมากแล้ว

แน่นอน อย่างเวียดนาม ลองคิดดู 20 ปีที่แล้ว หลังสงครามเขายังซื้อข้าวจากเรา และตอนที่เวียดนามส่งออกข้าวช่วงแรกเป็นข้าวแข็งมาก เวลาเย็นเหมือนกับแป้งไปเลย ไม่อร่อย ทานไม่ได้ แต่เขาพัฒนามาเรื่อยๆ และช่วง 10 ปีนี้เขามีพันธุ์ข้าวหลากหลายออกมาตรงกับความต้องการของตลาด ท้ายที่สุดคือต้องตรงกับความต้องการของตลาด แต่สำหรับประเทศไทยเราในช่วง 30 ปี ไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าว คือเราใช้พันธุ์เก่าๆ ออกมา แล้วเราภูมิใจมากกับพันธุ์ข้าวเก่าๆ ว่าเป็นพรีเมียม แต่ว่าการแข่งขันไม่ใช่ว่าขายได้ราคาดีแล้วเราจะสบายตลอดไป เพราะถ้าราคาข้าวของเราสูงก็จะมีช่องว่างให้คนอื่นเข้ามาสอดแทรก ส่วนเรื่องคุณภาพเราไม่ได้ดีขึ้น และยังกลับถดถอยไปอีก มันก็ง่ายที่คนอื่นจะมาเอาตลาดเราไป

ที่ผ่านมาโดยเฉพาะช่วง 3-4 ปีนี้ จะเห็นได้ว่าเวียดนามเอาตลาดหลักของไทยไปหมดเลย ซึ่งหากเรายังไม่ทำอะไร คิดว่าอนาคตน่าจะลำบาก เราอาจจะปลูกข้าวให้พอทานภายในประเทศเท่านั้นเอง หรือส่งออกก็คงจะไม่มาก ในช่วง 3-5 ปีจากนี้เราอาจจะส่งออกเพียง 3-5 ล้านตัน ซึ่งน้อยกว่าปกติประมาณครึ่งหนึ่ง ดังนั้น เรื่องโครงสร้างเป็นสิ่งที่เราต้องปรับปรุง การพูดว่ายุทธศาสตร์ระยะยาวไม่ควรมี ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เราจะต้องมียุทธศาสตร์ระยะยาว มีจุดประสงค์ระยะยาวว่าเราต้องการทำอะไร เสร็จแล้วเราก็ต้องปรับปรุงยุทธศาสตร์เราให้เข้ากับสถานการณ์ไปเรื่อยๆ 3 ปี 5 ปี 10 ปี คือทุกอุตสาหกรรม ทุกบริษัท ทุกๆ อย่างที่เราจะทำ มันจะต้องมีจุดมุ่งหมาย ระยะสั้น กลาง และยาว ไม่ใช่บอกว่า ถึงเวลาคุณไม่ได้เป็นรัฐบาล คุณมาคิดอะไรตอนนี้ อันนี้เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง อันนี้ไม่ได้พูดถึงการเมือง ถ้าส่วนตัวจะทำอะไร ก็จะต้องวางโครงการไว้ล่วงหน้า ว่าจะทำอะไร

ตอนนี้พวกเราพยายามทำทุกอย่าง รัฐบาล 2-3 ปีเปลี่ยนที แล้วก็มีแต่นโยบายที่เรียกยาแก้ปวด มันแก้ได้ชั่วครั้งชั่วคราว ไม่ได้คิดถึงระยะยาวว่าคุณจะต้องทำอะไร ของเรามีปัญหาโครงสร้างเยอะ เราต้องแก้ไข และถ้าไม่มีรัฐบาลที่มั่นคงอยู่ได้นานแล้วมีอำนาจพอที่จะแก้ไข มันก็จะวนอยู่ในอ่างแบบนี้ และผลสุดท้าย ความสามารถในการแข่งขันเราก็น้อย รัฐบาลก็ต้องเอางบประมาณมาช่วยชาวไร่ชาวนามากขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงวันหนึ่ง ภาษีพวกเราก็ไม่พอที่จะมาจ่าย ก็จะต้องไปกู้เงินมา และจะเป็นปัญหาระยะยาว


รัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ตอนนี้อยู่มา 7 ปีแล้ว

5 ปีแรกจะเป็นการระบายข้าวเก่าที่อยู่ในโครงการจำนำ 18 ล้านตันออกไป ซึ่งไม่ใช่งานง่าย เป็นงานที่ลำบากมาก ตอนนี้จบแล้ว เราก็ต้องมาเริ่มทำกันใหม่ แต่ส่วนตัวอยากรู้ว่า รัฐบาลจะอยู่นานพอที่จะทำอะไรอีกหรือไม่


อยากให้ภาครัฐทำอะไรบ้าง

คุณต้องพัฒนาพันธุ์ข้าวให้เป็นที่ต้องการของตลาด ซึ่งตอนนี้เราก็เริ่มทำแล้ว ถือว่าเราก็ยังโชคดีตอนนี้ประชาธิปัตย์ดูแลทั้งกระทรวงพาณิชย์และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คือผลิตออกมาแล้วให้กระทรวงพาณิชย์ขาย เป็นข้าวอะไร ต้องทำอะไรบ้าง ที่ผ่านมาเคยมีหรือไม่ที่พรรคหนึ่งดูแล 2 กระทรวง ไม่มีเลย ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างทำ แล้วไม่เคยคุยกันด้วย หนักที่สุดก็คือเอกชน จะทำอย่างไรดี ดังนั้นถือว่าตอนนี้เป็นโอกาสดีที่พรรคเดียวคุม 2 กระทรวง ทั้งผลิตทั้งขาย ตอนนี้เราได้ทำยุทธศาสตร์ 5 ปีมาแล้ว และกำลังติดตามอยู่ สิ่งแรกที่เราต้องทำ ก็คือพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ออกมาให้เป็นที่ต้องการของตลาด และต้นทุนการผลิตต้องลดลง เพื่อที่จะแข่งขันกับเขาได้ แผนคือสิ่งที่กำลังเริ่มทำแล้ว แต่ว่าพันธุ์ข้าวพันธุ์ใหม่ที่จะออกมาเข้าสู่ตลาดได้ ต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3-5 ปี เพราะฉะนั้นเมื่อถึงเวลานั้น รัฐบาลนี้จะอยู่ไหนแล้ว และก็จะมีการติดตามต่อหรือไม่


ทำไมสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยไม่เข้ามาทำหน้าที่นี้เอง

เราไม่มีอำนาจหน้าที่ในการจัดการ ส่วนตัวก็ฟังนโยบายจากรัฐบาล เดี๋ยววันนี้เขาประกัน เดี๋ยวพรุ่งนี้เขาจำนำ บางเรื่องเขาทำอะไรก็ไม่รู้ เราก็ทำตามเท่าที่เราสามารถทำตามได้ สำคัญที่สุดคือนโยบายทุกอย่างควรจะให้เอกชนมีส่วนร่วม เราอยู่ในตลาด เราเป็นคนทำ รัฐบาลจะมากำหนดให้เราทำอย่างโน้นทำอย่างนี้ทั้งที่เขาไม่เคยขายข้าวสักเม็ด นี่คือปัญหาใหญ่เลย ซึ่งส่วนตัวว่ารัฐบาลทุกรัฐบาลก็จะดำเนินการไปตามนี้ พูดง่ายๆ ชาวนามี 20 ล้านเสียง และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือต้องให้ชาวนาแฮปปี้ แต่จะเป็นอย่างไรต่อไปในอนาคต เราไม่รู้แล้ว


สรุปจบไตรมาสแรกของปี 2564 ไม่น่าจะดี

ส่งออกก็จะน้อยกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วเราลงมาเหลือ 5.7 ล้านตัน ปีนี้เราตั้งหลักไว้ที่ 6 ล้านตัน แต่ดูๆ แล้วค่อนข้างจะลำบาก โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้งมองว่าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องน้ำที่เราแก้ไขไม่ได้ เพราะมันแล้งติดกันมา 2 ปีจะ 3 ปีแล้ว ถ้าดู 3-4 เขื่อนหลัก จำนวนน้ำในปัจจุบันน้อยกว่าปีที่แล้วอีก เพราะฉะนั้นข้าวนาปรัง ซึ่งเป็นสินค้าที่เราส่งออกมากที่สุด ก็ไม่น่าจะพอ


ผู้ส่งออกข้าวตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก

ไปทำอาชีพอื่นกันเยอะแล้ว คือพูดลำบาก เพราะเราไม่มีสินค้าที่จะขาย คุณเคยมีข้าวดีที่สุดในโลก แต่ตอนนี้ไม่มีสินค้าที่จะขาย เรามีคอนเนกชันที่ดี และผลสุดท้ายเราจะเป็นเทรดเดอร์ คือเราไปเอาข้าวคนอื่นไปขาย อันนี้พูดตรงๆ เลย เพราะมันไม่มีโอกาสที่จะขายข้าวของเราเอง สมมุติว่าข้าวคุณราคาสูงกว่าเขาตันละ 100 เหรียญ คุณขายไม่ได้หรอกข้าวไทย เราก็อาจจะต้องไปเอาข้าวอินเดียไปขายจีน หรือไปเอาข้าวที่ไหนไปขายประเทศอื่น เพราะเรายังมีคอนเนกชัน


อย่างข้าวพม่า เขมร

ก็มีผู้ส่งออกไทยไปตั้งโรงงาน หรือโรงสีที่เขมร ส่วนที่พม่าก็เริ่มมี และในอนาคตพม่าก็เป็นประเทศส่งออกข้าวที่น่ากลัว เพราะเขาอุดมสมบูรณ์มาก มีแม่น้ำ 4 สายซึ่งไม่ได้ถูกใครควบคุมไว้เลย ไม่เหมือนเราที่แม่โขงก็ถูกจีนเขาคุมไว้ ในอนาคตส่วนตัวมองว่าพม่าจะเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ที่น่ากลัว มีเวียดนามมาติดๆ เลย อย่าลืมว่าเมื่อ 30-40 ปีที่แล้วพม่าคือผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก


ราคาข้าวที่เราขายยังดีอยู่ไหม

ในส่วนราคาข้าวเปลือกชาวนาแฮปปี้ เพราะอยู่ที่ประมาณใกล้ๆ หมื่นบาทต่อตัน ซึ่งเป็นราคาที่ดีมาก แต่ทำให้ราคาส่งออกเราสูง ข้าวชนิดเดียวกันของเราราคาสูงกว่าคู่แข่ง อย่างข้าวชนิดเดียวกัน ข้าว 5% ข้าวขาว ของเราขายประมาณ 530 เหรียญ ที่อินเดียขายที่ 400 เหรียญเอง ทำให้เราส่งออกลำบากมาก ตรงนี้คือปัญหา


ปัญหาขณะนี้ คือเราไม่มีของ หรือว่าลูกค้าไปซื้อของถูกจากที่อื่น

มี 2 อย่าง คือข้าวก็คือข้าว ลูกค้าก็ต้องซื้อของถูกอยู่แล้ว เพราะข้าวเป็นของคนจนกินเป็นส่วนใหญ่ ไม่ใช่คนรวยกิน คนที่กินข้าวมากที่สุดก็คือไม่มีเงิน เพราะฉะนั้นคือต้องคุณภาพพอสมควรและราคาต้องแข่งขันกับเขาได้ ข้าวเราแพง ภัยแล้ง ผลผลิตเราหายไปหลายล้านตัน เพราะขาดแคลนน้ำในการปลูกข้าว ก็ทำให้สินค้าภายในประเทศเราสูงขึ้น ถามว่าราคาข้าวเปลือกดีไหม คือดี แต่คนที่ปลูกไม่ได้เพราะไม่มีน้ำ ก็ไม่มีรายรับ ไม่มีของขาย แถมเงินบาทเราก็แข็งค่า รวมถึงตู้คอนเทนเนอร์ก็ไม่มี แต่พูดอะไรมากก็ไม่ได้

20 views
bottom of page