top of page
379208.jpg

ยุค New Normal : โอกาสทองสินค้าเกษตร-อาหารแปรรูปไทย


Interview : คุณพจน์ อร่ามวัฒนานนท์

นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย

หลังโควิด-19 ระบาด เข้าสู่ยุค New Normal เป็นโอกาสทองของสินค้าเกษตร-อาหารแปรรูปของไทย ยอดขายปรับเพิ่มขึ้นทั้งในประเทศและส่งออก ขออย่างเดียว ‘เงินบาท’ อย่าแข็งค่าเกินจนทำให้กระทบการส่งออกที่กำลังดีวันดีคืน

ผลกระทบจากโควิด-19 ถึงขณะนี้

น่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับหมวดสินค้าเกษตรกับอาหารแปรรูปทุกหมวด คือนอกจากเป็นนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็ง ส่วนตัวยังเป็นรองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และยังดูเรื่องเกษตรด้วย คือเรามองเทรนด์จากพิษโควิด-19 น่าจะเป็นโอกาสที่ดีกับการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารแปรรูปทั้งหมดของเราในปีนี้ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกไปสร้างปัญหาต่อความมั่นคงทางอาหารของโลกพอสมควร ของเรายังโชคดีที่ว่าเกิดการระบาดตั้งแต่เดือนมกราคม แล้วทางรัฐบาลก็ควบคุมดีมาก ต้องบอกว่าการชัตดาวน์ของเราไม่ได้ไปกระทบกระเทือนกับการขนส่ง หรือโลจิสติกส์ หรือภาคการผลิตที่ส่งออก นำเข้า ซึ่งรัฐบาลมีระเบียบที่ชัดเจนไม่ว่าจะเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออกทั้งหลาย และเกี่ยวกับการขนส่งทั้งหมด ทางหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็ได้แจ้งรัฐบาลตั้งแต่ต้นแล้วว่าอย่าให้ติดขัด ซึ่งรัฐบาลก็เดินตามแนวทางนี้ ถือเป็นสิ่งที่ดี ก็ยังทำให้เรามีการส่งออกที่ยังดีขึ้นอยู่

ถ้าเรามองตัวประเทศที่มีปัญหาเรื่องโควิด-19 จะเห็นได้ว่า มีเอเชียที่เริ่มคลายลงมาบ้างแล้ว แต่ทางสหรัฐอเมริกา ทางอเมริกาใต้ ทางยุโรป ยังมีการแพร่ระบาด และประเทศเหล่านี้เป็นแหล่งผลิตสินค้าเกษตรและอาหาร โดยเฉพาะช่วงนี้เริ่มเข้าซัมเมอร์ ซึ่งหน้าร้อนเป็นหน้าเพาะปลูกของทางยุโรป เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นมายังไม่ทราบว่าไปกระทบการผลิตเขาขนาดไหน จึงน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทยในกลุ่มสินค้าประมง สินค้าแช่แข็ง อาหารสำเร็จรูปพวกปลากระป๋อง ตรงนี้ถือว่าเป็นโอกาสดีมาก จากที่ดูตัวเลขการส่งออก หากเกิดอะไรขึ้นมา เราก็จะโตขึ้นเรื่อยๆ มีดีมานด์มาเรื่อยๆ

สำหรับประเทศไทยเราส่งสินค้าอาหารสำเร็จรูป อาหารทะเลไปยังกลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ตมากมากกว่าส่งให้กลุ่มฟู้ดเซอร์วิสคือภัตตาคาร ร้านอาหาร งานเลี้ยง พวกนี้โดนผลกระทบจากโควิด-19 แต่ซูเปอร์มาร์เก็ตถูกกระทบน้อย เพราะมีประชาชนไปซื้อตลอดเวลา

ย้อนไปเมื่อตอนเคอร์ฟิวมีผลกระทบอะไรหรือไม่

ไม่มี เราได้เคลียร์กับทางรัฐบาลแล้วว่าการขนส่งหากจะเคอร์ฟิวอย่างไรก็อย่าให้หยุด เพราะหยุดเรายุ่งทันทีเลย รวมทั้งแพ็กเกจจิ้ง บรรจุภัณฑ์ เหล่านี้หยุดไม่ได้ แต่วันนี้สินค้าประมงที่จะมีปัญหาคืออาหารแช่แข็ง ยังมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบอยู่ ผลผลิตกุ้งยังไม่เพียงพอ รวมถึงอาหารทะเลอื่นๆ ด้วย แต่อย่างไรได้เคลียร์กับรัฐบาลให้มีเปิดนำเข้าและส่งออกได้เต็มที่ เพราะเราสามารถแปรรูปได้ดี

เรื่องกุ้ง เกิดปัญหาอะไร

ปัญหาเรื่องโรคกุ้งตั้งแต่ 6-7 ปีที่แล้ว ก็แก้ปัญหาได้ดีขึ้น แต่จำนวนยังน้อยกว่าเก่าเยอะ หากมองในองค์รวมสินค้าเกษตรของเราทุกตัว เรื่องหนึ่งที่รัฐบาลต้องดูแลให้ดีคือเรื่องค่าเงิน ตอนแรกก็ดูอ่อนค่าลงมา แต่ช่วงนี้แข็งค่าขึ้นอีกแล้ว เรื่องค่าเงินจะเป็นปัญหากับสินค้าเกษตรมาก

การนำเข้าวัตถุดิบ มีปัญหาจากโควิด-19 หรือไม่


การขนส่งในประเทศเราไม่มีปัญหา แต่จะมีปัญหาขนส่งทางเรือ และชายแดนกับเพื่อนบ้านทั้งหลายก็ยังมีปัญหาพอสมควร ส่วนทางจีนก็ปรับดีขึ้นเยอะ ทางรัฐบาลโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพาณิชย์ได้จับมือกันไปเจรจาเปิดด่านเพิ่มขึ้นมา ซึ่งการขนส่งสินค้าอาหารทั้งหลายจะผ่านด่านจากจีนและต่อมาผ่านทางลาว

เรื่องแรงงาน

ตั้งแต่เดือนมีนาคม มีการแตกตื่นเรื่องโควิด-19 มาก ทำให้มีต่างด้าวกลับไปประมาณ 15% ทำให้ขาดแรงงานต่างด้าว ตอนนี้ยังมีการปิดด่านอยู่ ยังไม่สามารถรับคนใหม่เข้ามาได้ ก็อยากฝากรัฐบาลให้เข้ามาดูแล ซึ่งการเข้ามาของต่างด้าวก็จะมีค่าใช้จ่าย อย่างจะเข้ามาต้องกักบริเวณ แต่เรื่องนี้เราเข้าใจในแง่สาธารณสุข ก็ยินดีให้ความร่วมมือ แต่ก็ต้องคุย 2 ข้าง ข้างต้นทางว่าเขาเองจะควบคุมได้อย่างไรก่อนจะส่งเข้ามา ก็คงต้องคุยกันในส่วนนี้

เห็นว่าประมงพื้นบ้านก็มีปัญหา

ตรงนี้รัฐบาลแก้ปัญหาได้ดี ไม่มีปัญหาอะไร ตอนนี้ประมงพื้นบ้านเอง จำนวนเรือมากขึ้นเยอะ แล้วสามารถจับนำมาขายในประเทศได้เยอะ เพียงแต่ปัจจุบันมีปัญหาราคาสินค้าแพงนิดนึง เพราะนักท่องเที่ยวหายไปหมด คืออย่าลืมว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวทานอาหารทะเลเยอะ ขณะที่คนไทยเราเอง ไม่ให้จัดงานเลี้ยง งานสังสรรค์ สวนอาหารอะไรอย่างนี้ ที่ผ่านมาก็ใช้น้อยลง อยู่บ้านก็คงไม่ได้สังสรรค์กับใครอีก

ระหว่างส่งออกกับขายในประเทศ ขายนักท่องเที่ยว ขายคนในประเทศ อะไรมากกว่ากัน

มันคนละหมวด หมวดส่งออกของเรา แช่แข็งมันอยู่ที่กุ้งเลี้ยง แล้วก็อยู่ที่ปลาหมึก กับอาหารทะเลบางส่วน ที่ผ่านมา พอนักท่องเที่ยวเยอะมาก หมึกในประเทศก็ราคาสูงมากกว่าราคาตลาด เกินกว่าจะส่งออกได้ ก็เลยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบมาแปรรูปเพื่อส่งออก ซึ่งพอนักท่องเที่ยวหายไปราคาก็ลงมาบ้าง ผู้ประกอบการในประเทศเราก็ซื้อในประเทศเป็นหลัก แต่ก็ยังไม่พอ ส่วนตัวอื่นพวกปลาทั้งหลายก็ใช้ในประเทศเกือบหมด

ได้บทเรียนอะไรจากโควิด-19

มันเป็นสัญญาณเตือนทุกภาคส่วน ประชาชน ฟากรัฐบาล ต่างชาติ ผู้ค้าผู้ขายทั้งหมดว่า การที่เราไปแรงเกินไป เร็วเกินไปในทุกมิติ บางอย่างมันเกินควบคุม พอวันหนึ่งเกิดเรื่องขึ้น มันช็อกไปหมด แต่ก็มีเรื่องดีๆ เกิดขึ้นเช่นการจัดระเบียบทุกอย่างให้มันเหมาะสม ดีมานด์ ซัพพลาย และตลาด เป็นการซื้อขายบริโภคตามสัดส่วนดีมานด์ ซัพพลายจริง ไม่ใช่การปั่นราคาหรือว่าโอเวอร์ซัพพลายเกินไป โอเวอร์ดีมานด์เกินไป เอาไปตุนสต็อกไว้ สุดท้ายปั่นขึ้นปั่นลง ถือเป็นบทเรียนที่ดี สุดท้ายก็อยู่ที่ดีมานด์ซัพพลาย ก็จะอยู่แค่ว่าจะทำอย่างไรให้สินค้ามีผลผลิตต่อเนื่องไปสู่ตลาดและสู่ผู้บริโภค ถือเป็นบทเรียนทุกฝ่าย

ถ้าเราจะบอกว่า โควิด-19 กระทบผู้ประกอบการอาหารแช่เยือกแข็งไม่มาก

ใช่ คือกระทบไม่มาก ส่วนตัวมองว่าที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกสินค้าเกษตรในรอบ 3 เดือน ลงไปหลักไม่ถึง 10% แต่ทางด้านอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมกลับเป็นบวกนิดหน่อย ส่วนเดือนเมษายนที่ชัตดาวน์กันทั่วโลก ถ้าเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นแล้ว อุตสาหกรรมอาหารถือว่าร่วงน้อยที่สุด อย่างน้อยประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารอันดับ 11 ของโลก ภายใต้ประชากรประมาณกว่า 60 ล้านคน มีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน ถ้าไม่มีนักท่องเที่ยวก็จะเหลือจากการบริโภคในประเทศเพื่อที่จะส่งออก ขณะที่รัฐบาลเองก็มีนโยบายการสนับสนุนที่ดีในการไม่ให้หยุดการผลิต ก็มั่นใจว่าจะเป็นโอกาสที่ดีของสินค้าเกษตร อาหารแปรรูปทั้งหมดของไทยที่จะผลักดันตัวเลขส่งออกจากนี้ไป

แต่อย่างไรก็ตาม เราอาจจะพังเพราะค่าเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งถ้ายังแข็งค่าอีกก็ถือว่าน่ากลัว ก็ต้องยอมรับก่อนว่าทั่วโลกเกิดปัญหานี้ แต่เราเป็นประเทศที่จบโควิด-19 ได้เร็ว ควบคุมได้ดี ความมั่นใจเราสูง ก็อาจจะมีการเข้ามาลงทุนมากขึ้น ปัญหาคือถ้าเราคุมไม่อยู่ และดูแลไม่ดี กลายเป็นว่าค่าบาทเราแข็งมาก ก็จะกลายเป็นเสียเปรียบไปเลยในส่วนนี้ แทนที่จะได้เปรียบ


นักธุรกิจไทยต้องปรับตัวอย่างไรให้เข้ากับยุค New Normal

มันมีหลายธุรกิจ แต่ส่วนตัวเชื่อว่า อาหารแช่เยือกแข็ง เราปรับตัวก่อนล่วงหน้า คิดเรื่องโรคกุ้งมาก่อน 6-7 ปี อุตสาหกรรมที่เคยทำแมสก์เยอะๆ กลายเป็นเราต้องลดตัวลงมา ก็ต้องปรับเป็นสินค้าพร้อมทานมากขึ้น ประจวบกับเกิดปัญหาโควิด-19 ขึ้นมา ตลาดของผู้บริโภคในบ้านมากขึ้น คนอยู่บ้าน อยู่คอนโดมากขึ้น ความสะดวกสบายมากขึ้น มันก็ตรงกับเราพอดี เพราะฉะนั้นถามว่า เราสะเทือนหรือไม่ กลับกลายเป็นว่าเราได้โอกาสที่ดี

148 views

Comments


bottom of page