top of page
312345.jpg

ประมงไทยสุดจะทน เร่งรัฐช่วยอุดหนุนสภาพคล่อง...ก่อนประมงไทยตายเกลื่อนทะเล


Interview : คุณมงคล มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมการประมงสมุทรสาคร


ประมงไทยสุดจะทน ดิ้นรนมาจนสุดทาง เร่งรัฐช่วยอุดหนุนสภาพคล่อง แก้ปัญหากฎหมาย เลิกเอาใจต่างชาติแบบสุดซอย ก่อนประมงไทยตายเกลื่อนทะเล แจง...ทุกวันนี้มีกฎหมายประมงค้ำคออยู่กว่า 300 ฉบับ จนกระดิกกระเดี้ยกันลำบาก แถมค่าปรับแพงหูฉี่ 5 แสน-1 ล้านบาท หมดปัญญาหาเงินมาจ่าย ยืนยัน...เมื่อมาถึงทางตันจำเป็นต้องฮึดสู้ รวมตัวยกพลขึ้นบกถ้าภาครัฐยังเมินเฉย


มีกำหนดยกทัพมาเรียกร้องรัฐบาลที่กรุงเทพฯ หรือไม่

เรากำหนดไว้ว่าภายในวันที่ 18 กันยายนน หากไม่ได้มีการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ก็จะมีการขับเคลื่อนต่อไป

มีการพูดคุยเพื่อหาทางที่ไม่ต้องถึงขั้นมากรุงเทพฯ หรือยัง

ล่าสุดที่ได้คุยกับทางภาครัฐไปเมื่อวันที่ 9 กันยายน ผลปรากฏว่าทางรัฐบอกจะรีบเร่งดำเนินแก้ไขปัญหาข้อเรียกร้องอย่างเร่งด่วน สำหรับข้อเสนอเร่งด่วนของเรานั้น เป็นเรื่องประกาศกฎของประชาคม ซึ่งสามารถดำเนินการได้เลยถ้ารัฐมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหา ซึ่งข้อเรียกร้องของเราไม่ได้ขัดกับหลัก IUU เป็นแค่วิธีปฏิบัติที่สอดคล้อง สามารถทำได้ และไม่เสี่ยงต่อความผิดทางด้านตุลาการ

เป็นข้อเรียกร้องเฉพาะจังหวัดสมุทรสาครหรือทั่วประเทศ

ที่เราแถลงการณ์ไปเมื่อวันที่ 10 กันยายนเป็นส่วนของจังหวัดสมุทรสาคร แต่ก็สอดคล้องอยู่กับประเด็นหลักๆ ของสมาคมประมงแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

ปัญหาประมงชายทะเลของสมุทรสาครและที่อื่นๆ เป็นเรื่องเดียวกันหรือไม่

เราจะได้รับผลกระทบเหมือนๆ กันในเรื่องของปัญหาประมง ของตัวข้อกฎหมาย และระเบียบข้อปฏิบัติต่างๆ ที่ออกมาบังคับใช้เยอะมาก คือจะบอกว่าที่เราสู้เพราะเป็นเรื่องอาชีพทำกิน ชาวประมงเราอยากทำมาหากินโดยไม่อยากทำความผิด ไม่อยากไปเรียกร้องถ้ามันไม่สุดทางจริงๆ คือเราคนทำมาหากิน อยากหากินในอาชีพได้ต่อไป

ภายใต้กฎ กติกา ระเบียบขนาดนี้ เท่ากับหมดอนาคตใช่หรือไม่

ใช่ คือถ้ายังไม่มีการแก้ไข ยังใช้ต่อไป ผู้ประกอบอาชีพประมงไม่สามารถอยู่ได้ ณ วันนี้โอเคยังอาจจะไม่พลาด ไม่ผิดกฎหมาย แต่ถามว่ามันมีโอกาสพลาดหรือไม่ มันมีมากแน่นอน คือมีกฎหมายมากกว่า 300 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับอาชีพประมง ไม่โดนวันนี้ก็อาจโดนวันหน้าค่าปรับสูงมาก ปรับเสร็จคือไม่มีทางหวนกลับมาทำอาชีพประมงได้เลย ปรับ 5 แสนบาท หรือ 1 ล้านบาทอย่างนี้ คือปรับหมดตัว จะเอาที่ไหนไปให้

มีการพูดว่าจะให้รัฐบาลซื้อเรือประมงจากผู้ประกอบการไป 2,505 ลำ

ในส่วนของเรือประมง ณ ปัจจุบันเรือประมงพาณิชย์มีประมาณ 1 หมื่นลำเศษ และมีโครงการของกรมประมงตั้งแต่เริ่มมีการจัดระเบียบ พ.ร.ก. IU ว่าในการทำประมงยั่งยืน ต้องเอาเรือออกจากนอกระบบประมาณ 20% ก็คือเป็นที่มาของรัฐให้เราลงชื่อสมัครใจที่จะขายเรือออกไปจากระบบ ใครที่ไม่อยากทำ อยากออกนอกระบบ เพื่อที่เรือที่ยังอยู่และจับสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนสามารถทำประมงได้ตลอดปี แล้วคนที่อยู่ก็ยังอยู่ได้ ก็เป็นที่มาของ 2,500 ลำ ซึ่งก็มีราคากลาง มันเป็นกระบวนการที่ประชุมมาหลายครั้งแล้ว เป็นโครงการของรัฐเอง และผ่านมา 5-6 ปี เรือที่สมัครใจออกตั้งแต่ปี 2558-2559 ก็จอดกันจนพัง แต่ยังไม่มีการรับซื้อคืน เขาก็ต้องมีค่าใช้จ่ายในการดูแล จนดูแลไม่ไหว ไม่มีปัญญาจะดูแลกัน ก็จมไปแล้วบางส่วนก็มี

เรือลำหนึ่ง ตกกี่ตัน

เรือมีขนาดตั้งแต่ 10 ตันกว่า ไปจนถึง 50-60 ตัน ก็คือมีทุกขนาด แล้วแต่ใครสมัครใจ ไม่อยากทำต่อแล้ว อยากออกจากอาชีพนี้ ก็ลงชื่อไว้

อีกเรื่องหนึ่งคือที่ขอเงินช่วยเหลือเสริมสภาพคล่อง

ในส่วนนี้ เรามีการเรียกร้องตั้งแต่ปีที่แล้วว่า ถ้าประมงเราได้รับผลกระทบจากการจัดระเบียบต่างๆ ทำให้ขาดสภาพคล่อง เพราะค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมา แต่ว่ารายได้ไม่เพิ่ม เรื่องขาดสภาพคล่องก็มา จึงเรียกร้องให้รัฐจัดโครงการสินเชื่อ แต่โครงการนี้คือชาวประมงกู้กับแบงก์แต่ผ่านมติครม.ที่จะมีการอุดหนุนในส่วนดอกเบี้ยประมาณ 3% ซึ่งถ้ารวมทั้งโครงการตลอดระยะเวลา 7 ปี รัฐสนับสนุนไม่เกิน 700 ล้านบาท คือสนับสนุนเฉพาะแค่ดอกเบี้ยเท่านั้น แต่เงินกู้คือชาวประมงกู้กับแบงก์ ซึ่งได้ผ่านครม.เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา แต่ ณ ปัจจุบันหลังจากผ่านครม.แล้ว เงื่อนไขต่างๆ การปฏิบัติต่างๆ ทางแบงก์เองก็ยังไม่เรียบร้อย อย่างแบงก์ออมสินก็ยังไม่ผ่านบอร์ด คือ 3-4 เดือนที่ผ่านมายังไม่มีใครได้รับสินเชื่อในส่วนนี้ ซึ่งในส่วนของสินเชื่อก็คือปัญหาหนึ่ง แต่ว่าหลักใหญ่คือกฎระเบียบ ยังไม่แก้ไขประกาศในส่วนนั้น ถึงแม้สินเชื่อจะตกมาถึงชาวประมง ก็ไม่มีประโยชน์ ซึ่งหลักการ IUU ก็คือการทำประมงที่ถูกควบคุม มีการรายงานตรวจสอบย้อนกลับได้ ตรงนี้เรายินดี แต่ที่นอกเหนือจากนี้แล้วนำมาบังคับใช้ มันทำให้อาชีพประมงไปไม่รอดจริงๆ

30 views
bottom of page