Interview : ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
ที่ปรึกษา กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร
ปีก่อนว่าแย่แล้ว แต่ปีนี้จะแย่ยิ่งกว่า โควิด-19 รอบสองจะยืดเยื้อยาวนานกว่ารอบที่แล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อจะพุ่งพรวดในทุกๆ วัน แถมวัคซีนที่ไทยจะได้ก็ล่าช้าและไม่เพียงพอสำหรับทุกคนในประเทศ รัฐบาลเหมือนจนปัญญาไม่กล้าล็อกดาวน์ คนไทยต้องฝืนทนอยู่กับโควิดเพราะกลัวอดตายมากกว่า คาด GDP ไทยอย่างเก่งโตแค่ 2% แต่เผลอๆ มีสิทธิ์ติดลบ การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจะช้ากว่าใครๆ ในโลก ที่สำคัญคือเศรษฐกิจไทยตกต่ำมาก่อนที่โควิดจะระบาดรอบแรกด้วยซ้ำ ส่วนมาตรการเราชนะ ไทยไม่ได้ชนะอะไรเลย เป็นแค่โครงการเยียวยาที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SME เจอปัญหา 3 เด้ง จ่ายคืนหนี้ไม่ได้ หมดแรงจ้างคนงาน หมดหนทางที่ทำให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ติง...รัฐบาลแก้ปัญหาไม่ถูกทาง ถึงตอนนี้ทุกอย่างแทบจะสายไปแล้ว โดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวที่จบเห่ อุตฯ รถยนต์ที่ยังวนๆ อยู่กับรถที่ใช้น้ำมัน ทั้งๆ ที่ทั่วโลกเข้าสู่ยุค EV กันหมดแล้ว การส่งออกก็จมอยู่กับปัญหาเดิมๆ คนไทยทำได้แค่ประคองตัวให้รอดไปถึงปีหน้าให้ได้
ตลอดปี 2563 สถานการณ์โดยรวมไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เริ่มต้นปี 2564 ยังมาเจอโควิด-19 ระลอกใหม่อีก ขณะที่ทางเกียรตินาคินภัทรมีการปรับจีดีพีลดลง มีมุมมองเรื่องเศรษฐกิจในปีนี้อย่างไร
แนวโน้มของเศรษฐกิจปีที่แล้วกับปีนี้มีความแตกต่างกัน โดยปีที่แล้วเท่าที่จำได้ เรามีการระบาดของโรคใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อนเลย และมีการระบาดอย่างหนักช่วงปลายเดือนมีนาคม จากนั้นก็มีการประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ถ้าจำได้ดีจะเข้าใจว่าตอนนั้นจริงๆ แล้วการระบาดของโควิด-19 น้อยกว่าตอนนี้มาก ตอนนั้นตอนที่จุดสูงสุดก่อนประกาศล็อกดาวน์ซึ่งเรากลัวจะมีปัญหานั้นมีผู้ติดเชื้อใหม่เพียง 520 คนเท่านั้นเอง และมีการประกาศล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจเดือนเมษายน สถานการณ์คราวที่แล้วถ้าจำได้จะมีคำพูดนึงที่บอกว่า ต้องการที่จะให้เจ็บทีเดียวแล้วจบ ถ้าเราปิดประเทศ จะได้ไม่ระบาด และจบ
ประเด็นปีที่แล้วตอนนั้น เราทำอย่างนั้น แต่เรามารู้ ณ วันนี้ว่าการทำแบบนั้นมันเหมือนกับการกลั้นหายใจ ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงมากในไตรมาสสองของปีที่แล้ว จีดีพีติดลบ 12% ไตรมาสสามยังติดลบต่อ แต่ว่าจีดีพีของเราฟื้นในไตรมาสสี่ ซึ่งตัวเลขเป็นอย่างไรเรายังไม่เห็น เพราะยังไม่ออก แต่ว่าคงฟื้นได้ไม่มาก พอมาปลายไตรมาสสี่ ก็เกิดการระบาดรอบสอง ครั้งนี้จะแตกต่างจากรอบที่แล้ว เพราะครั้งนี้มีการระบาดหนักกว่ารอบที่แล้วมาก คือตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 ขณะนั้นมีหลายร้อยคนเลยที่เป็นผู้ติดเชื้อรายใหม่ ตอนนี้ก็จะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่อย่างน้อย 200 คนต่อวัน รุนแรงกว่าปีที่แล้วอีก
แต่สังเกตหรือไม่ ครั้งนี้รัฐบาลไม่กล้าล็อกดาวน์ เรายังเปิดเศรษฐกิจอยู่ เมื่อเปรียบเทียบกับปีที่แล้วแตกต่างกันอย่างมาก ล่าสุดมีการเรียกร้องจากผู้ประกอบการด้วยซ้ำไปว่าในส่วนของการให้บริการด้านรับประทานอาหารยังอยากให้เปิดถึง 5 ทุ่มด้วยซ้ำไป ซึ่งก็มีการคลายล็อกช่วงปลายเดือนมกราคม ฉะนั้นจะเห็นว่ากระแสรอบนี้คนบอกต้องอยู่กับโควิด-19 ไม่เช่นนั้นเราจะอดตายเพราะโควิด-19
ดังนั้น รอบนี้ถ้าจะให้วิเคราะห์ประเมินว่าการระบาดรอบนี้จะรุนแรงกว่ารอบที่แล้ว และจะยืดเยื้อกว่ารอบที่แล้ว รอบที่แล้ว 1 เดือนกว่าๆ ก็ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่ติดต่อกัน 100 วันรัฐบาลจึงปลดล็อก สำหรับรอบนี้ดีไม่ดีติดเชื้อรายใหม่หลักร้อยไปเรื่อยๆ อีกหลายเดือน และเราก็ต้องยอมอยู่กับโควิด-19 เพราะกลัวจะอดตาย ประเด็นหลักจะเป็นอย่างนี้ เมื่อเป็นอย่างนั้น แต่ละคน แต่ละบริษัทต้องมีความระมัดระวังกันเอง สลับกันมาทำงาน ทีม A ทีม B เผื่อทีม A ติด ก็ยังมีอีกทีมเหลือ เราต้องช่วยตัวเองมากขึ้นอย่างมากในรอบนี้
ส่วนประเด็นที่สองที่เกี่ยวข้องกับตรงนี้ ที่เรากล้าจะต้องทำแบบนี้ ก็เพราะอย่างที่บอกว่าผลกระทบเศรษฐกิจปีที่แล้วรู้เลยว่ามันรุนแรงมาก และรัฐบาลก็คงไม่กล้าที่จะให้เศรษฐกิจติดลบ 12% อีก ประการต่อมารัฐบาลคิดว่าน่าจะมีวัคซีนเข้ามา ปัญหาก็คือวัคซีนจะมาที่ประเทศพัฒนาแล้ว ถ้าประเมินเร็วๆ ซึ่งทางแบงก์อเมริกาที่เป็นพันธมิตรของภัทรก็ประเมินในทำนองนี้ว่า ประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกา อย่างยุโรป เขาจะฉีดวัคซีนได้เกือบครบ เกือบทั้งหมดของประชากร หรือประมาณ 80% ของประชากรได้ภายใน 6 เดือนข้างหน้านี้ ฉะนั้นเมื่อได้จำนวนผู้ที่ฉีดวัคซีนได้ถึง 80% ก็จะถือว่าเกิดการมีภูมิคุ้มกันอย่างกว้างขวางทั่วถึง ทำให้การระบาดชะงักงันลงไปได้ ดังนั้นประเทศพัฒนาแล้วเขาก็เลยเร่งฉีดวัคซีน สหรัฐอเมริกาฉีดวัคซีนวันละ 1 ล้านโดส เป็นต้น และต่อไปจะเพิ่มมากกว่านั้น
ทีนี้ปัญหาของประเทศไทยก็คือว่า ถึงแม้จะเอาตัวเลขที่รัฐบาลอ้างว่าได้มีการหาวัคซีนเพิ่มเติมแล้ว แต่เราจะได้ฉีดวัคซีนได้แค่ครึ่งหนึ่งของประชากรภายในปลายปีนี้ และเศรษฐกิจปีนี้มีความเป็นไปได้ว่าจะฟื้นตัวช้าและฟื้นตัวน้อยกว่าที่คิด ทางภัทรก็เลยปรับการคาดการณ์จีดีพีลงไป จากเดิมที่คาดการณ์ว่าจะโตกว่า 3% ก็เหลือ 2% ซึ่ง 2% ตรงนี้อาจจะดูดีเกินไปด้วยซ้ำ ถ้าครึ่งหลังไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพราะยังมีการระบาดในประเทศไทย อันนั้นก็จะมีปัญหาว่า ดีไม่ดีจีดีพีประเทศไทยอาจจะโตแทบไม่ได้เลยในปีนี้
จะถึงขั้นติดลบหรือไม่
การติดลบเป็นไปได้ในกรณีที่แย่ที่สุดก็คืออย่างเช่นสมมุติว่าเรามีวัคซีนทั่วโลก แล้วจีนค่อยๆ ฉีด ปรากฏว่าเขาฉีดได้ไม่ทั่วถึงเพราะมีข่าวว่าคนแพ้วัคซีน แล้วคนไม่ยอมฉีดวัคซีน มาตรการต่างๆ ไม่สามารถที่จะขับเคลื่อนตรงนี้ได้ หรืออย่างเช่นวัคซีนผลิตไม่ทันอะไรอย่างนี้เป็นต้น ก็อาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยิ่งเป็นไปได้ยาก แต่ตอนนี้เท่าที่เห็นคือจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ยุโรปยังสูงอยู่ แต่สังเกตมั้ยว่าตลาดหุ้นยังปรับสูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะตลาดมั่นใจว่าการมีวัคซีนฉีดวัคซีนไปได้ทั่วถึงในระยะเวลาอันใกล้ ประมาณสัก 6 เดือน ก็จะทำให้เรื่องนี้จบไปเลย คิดว่าตลาดหุ้นคาดการณ์ตรงนี้ไว้แล้ว
ปีที่แล้วไทยชนะโควิด-19 แต่แพ้เศรษฐกิจ ปีนี้เราอาจจะแพ้ทั้งสองอย่างหรือไม่
คือปีนี้ต้องยอมรับว่าการฟื้นตัวจะไปได้ยาก เพราะเราได้วัคซีนน้อยไป ได้มาไม่ทันท่วงที ถ้าดูตัวเลขที่เห็น เดิมทีรัฐบาลวางใจเพราะเห็นว่าไม่มีการระบาดเลย ก็เลยไม่ได้เตรียมเร่งหาวัคซีนมาให้มาก และต้องยอมรับว่าตอนนี้วัคซีนยังเป็นตลาดของผู้ขาย คือทุกคนอยากจะไล่ซื้อวัคซีนกันหมด เพิ่งเห็นตัวเลขว่ามีการจองวัคซีนโดยประเทศต่างๆ ทั่วโลก 8 พันล้านโดส เกินกว่าครึ่งหนึ่งประชากรของโลกที่มี 7 พันล้านคน แล้วต้องใช้ 2 โดสต่อ 1 คน
ประเด็นคือของประเทศไทยเรา จริงๆ ดูตัวเลขจองวัคซีน เราจองได้แค่ 28 ล้านโดสเท่านั้น หรือประมาณ 20% หรือ 30% กว่าๆ ของประชากรเท่านั้นเอง เมื่อเทียบแล้วเราจองวัคซีนน้อยกว่าคนอื่นเขา ฉะนั้น คนอื่นจะฟื้นเร็วกว่าเรา ในลักษณะที่มีการระบาดมากในประเทศไทย
อีกประเด็นที่สำคัญมากคือการระบาดรอบนี้แตกต่างจากรอบที่แล้ว ซึ่งรอบนี้การระบาดมาจากเพื่อนบ้าน มีแรงงานต่างด้าวเข้ามาทั้งที่ถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย รอบที่แล้วที่ประเทศพม่าแทบจะไม่มีระบาดเลย มาเลเซียก็ระบาดน้อยนิดเดียว แต่ตอนนี้พม่ายังระบาด มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละเกือบ 600 คน มาเลเซียหนักกว่าเพราะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นมากๆ เลย ตอนนี้เข้าใจว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 3,500 คน
ฉะนั้น รอบนี้เราจะปราบเรื่องของการติดเชื้อได้ยาก เพราะมีคนลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมายจำนวนมาก นอกจากนั้นแล้วอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดการระบาดก็คือแหล่งการพนันหรือบ่อน ซึ่งปราบกันยาก แหล่งของการระบาดเป็นสองเรื่องนี้ และสองเรื่องนี้เราไม่เคยปราบได้เลยในอดีต มันก็ยากที่จะปราบได้ในขณะนี้ สงสัยว่าเราจะปราบผู้ติดเชื้อได้ไม่ทันท่วงทีเท่าไหร่
เรื่องความมั่นใจในการฉีดวัคซีน
คิดว่าเราต้องยอมรับ ก็มีข่าวออกมาว่ามีผู้เสียชีวิตจากการฉีดวัคซีน ข่าวล่าสุดที่ได้ยินคือที่นอร์เวย์จากที่ 23 คน กลายเป็น 29 คน และมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เกิดทำให้กลัวกันใหญ่เลย ซึ่งไปดูตัวเลขล่าสุดที่มีการรายงานสำหรับวัคซีนของไฟเซอร์ก็มีผู้เสียชีวิตเหมือนกัน และมีผู้ที่แพ้วัคซีนด้วย ก็เลยเกิดทำให้ไม่มั่นใจ แต่จริงๆ แล้วตัวเลขเหล่านี้ถือว่าน้อยมากๆ เลยเมื่อเทียบกับคนที่ได้รับวัคซีน โดยมีผู้รับวัคซีนไปแล้ว 50 ล้านโดส คือ 50 ล้านคนที่ได้โดสแรกไปแล้ว
ตัวเลขล่าสุด เรายังได้เห็นข่าวคนที่มีอาการแพ้ รวมกันเพียงไม่กี่พันราย ตัวเลขที่มีการเปิดเผยมากสุดคือตัวเลขของไฟเซอร์ ซึ่งเมื่อช่วงสัปดาห์ 14-23 ธันวาคม 2563 ที่ฉีดที่สหรัฐอเมริกา 1.89 ล้านคน ในจำนวนนี้มีคนที่ได้รับผลกระทบข้างเคียง 4,393 ราย หรือ 0.2% ถามว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบข้างเคียงที่รุนแรงกี่คน ก็แค่ 176 คนเท่านั้นเอง ในขณะที่คนเป็นโควิด-19 มีโอกาสเสียชีวิต 1-2% นี้เป็นตัวเลขของทางการในปัจจุบัน ฉะนั้นก็ยังคุ้มค่าที่จะฉีด ถ้าเราเห็นข่าวว่าฉีดแล้วตาย ฉีดแล้วมีอาการข้างเคียงเยอะ คนหลายคนเลยไม่ยอมฉีด แต่ต้องยอมรับว่าถ้าฉีดแล้วจะลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากโควิด-19 มากกว่าไม่ฉีดเยอะมาก
รัฐบาลจะทำอย่างไรในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้เดินต่อไป แม้จะออกโครงการเราชนะก็คงไม่เพียงพอ
คือเราไม่ได้ชนะ เราแค่พยายามที่จะช่วยคนที่เขาลำบากมากที่สุดมากกว่า เราพยายามเยียวยา มาตรการทุกอย่างจะเป็นมาตรการเยียวยา แต่ไม่ได้มีมาตรการอะไรเลยที่จะทำให้ธุรกิจเขาเดินได้ดีพอที่เขาจะจ้างงานได้ต่อ ดีพอที่เขาจะไม่ล้มละลาย ดีพอที่เขาจะจ่ายคืนหนี้ได้ ส่วนตัวเป็นห่วงโดยเฉพาะ SME เขาจะโดนทั้ง 3 เด้งเลย ก็คือเรื่องจ่ายคืนหนี้ทำได้ยาก เรื่องไม่ปลดคนงานก็ทำได้ยาก เรื่องทำให้ธุรกิจเดินต่อก็ทำได้ยาก กับภาวะแบบนี้
มาตรการที่เกี่ยวข้องที่จะทำให้ธุรกิจเดินได้ ต้องมาคิดถึงเรื่องเทคโนโลยีและกระบวนการต่างๆ ด้วย ยกตัวอย่าง ที่ผ่านมามีคนส่งไลน์มาให้ดู บอกว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีเช่น UVC การฆ่าเชื้อด้วยอัลตราไวโอเลตชนิด C ซึ่งมีการทดลองว่าสามารถที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ จะฆ่าไวรัสโควิด-19 นี้ได้ ถ้ามีแสงพวกนี้ที่สามารถทำเป็นแบบตะเกียง ก็จะทำให้ทำความสะอาดพื้นที่ได้ พูดได้ว่าเราจะทำความสะอาดเพื่อให้ปลอดเชื้อ ธุรกิจก็จะสามารถเดินไปได้ ซึ่งถ้ามีสิ่งแบบนี้ ให้ผู้ประกอบการรีบซื้อมา ลดภาษีให้เขา ดีไม่ดีช่วยเขาซื้อด้วย เพื่อให้เขาทำธุรกิจต่อไป แล้วป่าวประกาศให้ลูกค้ามีความมั่นใจในการเข้าไปใช้บริการ เช่นในร้านกาแฟที่เขาใช้แสงนี้ทำให้ปลอดเชื้อได้ เป็นต้น ตรงนี้คือการฟื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจ ไม่ใช่เยียวยาแบบให้ละ 3,500 บาท ไป 2 เดือน
การพักหนี้ ยืดหนี้ ก็ยังไม่พอ
เห็นด้วยว่าไม่พอ ก็เลยเป็นห่วง ปีนี้ถ้ายืดเยื้อแบบนี้ เดี๋ยวคอยดู จะเห็นธุรกิจเขามีปัญหากัน เขาจ่ายหนี้คืนไม่ได้ เดี๋ยวธนาคารจะต้องประกาศให้เห็นว่าเอ็นพีแอลจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างมาก แล้วธนาคารจะต้องตั้งสำรองมากขึ้นเรื่อยๆ เราจะเห็นแบบนั้น แต่มันก็จะสายไปแล้ว ถ้าจะคิดแค่จ่ายเงินเยียวยามันไม่พอ ต้องคิดใหม่ ไม่ใช่คิดว่าให้คน 15 ล้านคนได้คนละ 3,500.บาทไป 2 เดือน จ่ายเป็นรายสัปดาห์ ตรงนี้เป็นกระบวนการเยียวยาเฉยๆ ถ้าคิดว่าจะทำให้เศรษฐกิจไปต่อ จะต้องช่วยเขาว่าธุรกิจเขาจะเดินได้อย่างไร ฟื้นฟูได้อย่างไร ให้ Cash Flow เท่าไหร่ จะต้องช่วยพักชำระหนี้เท่าไหร่ จะต้องใช้วิธีการปรับเปลี่ยนทำธุรกิจอย่างไร อันนี้รัฐบาลควรมาร่วมคิดกับทางภาคธุรกิจ จริงๆ ต้องทำตั้งนานแล้ว ตั้งแต่ก่อนที่ปลอดเชื้อว่าเราจะทำให้ทุกอย่างมันยั่งยืนได้อย่างไร หรือแม้กระทั่งบางอย่างถ้าไม่ยั่งยืน บอกว่าเมื่อก่อนเรามีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน แต่จากนี้เหลือ 20 ล้านคน ถ้าอย่างนั้นจะทำอย่างไร ถ้าเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาแค่นั้น จะทำให้ทรัพยากรต่างๆ ที่เคยใช้สำหรับนักท่องเที่ยว 40 ล้านคนจะจัดสรรใหม่อย่างไร สิ่งเหล่านี้ไม่เคยเห็นมีการพูดถึงเลย
สหรัฐอเมริกาได้ประธานาธิบดีคนใหม่ การส่งออกของไทย จะยากกว่าสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ เป็นประธานาธิบดีหรือไม่
คิดว่าไม่ได้ยากกว่าสมัย โดนัลด์ ทรัมป์ เพราะทางสหรัฐอเมริกาเองเขาคงไม่มีนโยบายอะไรที่จะกีดกันการค้ามากขึ้น แต่ส่วนตัวคิดว่าปัญหามันเป็นแบบนี้ที่ตัวเราเองตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว ถ้ายังจำกันได้คือจีดีพีของเราก็ติดลบตั้งแต่ไตรมาสหนึ่งแล้ว เศรษฐกิจเราอ่อนแอมาตลอดตั้งแต่ปี 2562 เราไม่ได้ปรับตัวตรงนั้นเลยว่าเราจะไปขายสินค้าอะไร เช่น เราขายรถยนต์สันดาปภายใน แต่รถโลกจะไปอีวีกันหมดแล้ว เราเองก็ไม่มีอนาคตที่สดใสเท่าไหร่หรอกกับรถยนต์ที่เราผลิตอยู่ในปัจจุบัน และชิ้นส่วนเรามีการผลิตมากกับรถประเภทนี้ ถามว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร ก็ยังไม่มีการพูดถึง
แต่ถ้าดูภาพรวมจริงๆ ในระยะสั้น ถ้าเราดูข่าวจะเห็น อย่าว่าแต่ส่งออกเลย ตู้คอนเทนเนอร์ส่งออกยังไม่มี มีการขาดแคลนอย่างมาก แต่ก็ยังแก้ปัญหาตรงนี้ยังไม่ได้ เพราะฉะนั้นการหารายได้มาทดแทนการท่องเที่ยว ยังหามาทดแทนไม่ได้เลย เพราะไม่มีตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออก ก็คงต้องส่งออกทางเครื่องบิน ซึ่งต้นทุนในการขนส่งก็แพงมาก และบางอย่างก็ส่งทางเครื่องบินไม่ได้
อีกด้านคือการท่องเที่ยว หายไปอย่างน่าใจหาย เพราะก่อนโควิด-19 เรามีนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน จ่ายคนละ 5 หมื่นบาท ก็ได้ 2 ล้านล้านบาท ปีที่แล้วเฉพาะไตรมาสที่ 1 6 ล้านคน ปีนี้ทางภัทรคาดว่าทั้งปีน่าจะได้แค่ 2-3 ล้านคนเท่านั้นเอง ฉะนั้นจะโหดร้ายมากเลยสำหรับผู้ประกอบการในภาคการท่องเที่ยว
การลงทุนภาครัฐยังไหวหรือไม่
ตอนหลังไม่เห็นความชัดเจนว่ารัฐให้ความสำคัญต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอะไร ถ้าจำได้เดิมทีพูดกันบ่อยในเรื่องอีอีซี ตอนนี้ก็เงียบไปเยอะ สาเหตุหนึ่งเพราะโครงการอีอีซี 5 โครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดนั้น 3 ใน 5 อันเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทั้งสิ้น อย่างเช่นเดิมทีจะทำให้มีรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งต้องใช้สนามบินเพราะนักท่องเที่ยวเยอะ ความต้องการตอนนี้ก็คงหายไปแล้ว นอกจากนี้ ยังเคยมีการพูดถึงการขยายสนามบินอู่ตะเภา ตอนนี้ไม่ต้องอู่ตะเภาหรอก แค่ดอนเมืองกับสุวรรณภูมิก็เหลืออยู่แล้ว อีกเรื่องหนึ่งคือให้การบินไทยเป็นหัวหอกในการสร้างอู่ซ่อมเครื่องบินที่อู่ตะเภา ตรงนี้การบินไทยเองก็เข้าไอซียูไปแล้ว
ฉะนั้นหลายๆ อย่างเดินต่อได้ยาก เพราะเดิมทีเราหวังจะพึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งต้องหาตัวใหม่ แต่ดูเหมือนสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นมีความเป็นไปได้ว่าดูเหมือนทุกคนกำลังจะย้ายกลับไปอยู่ถิ่นฐานเดิมต่างจังหวัด ส่วนรัฐบาลก็คงปล่อยให้คนตกงานกลับไปอยู่ต่างจังหวัด ก็ดูเหมือนรัฐบาลให้งบประมาณไปกระตุ้นกิจกรรมในต่างจังหวัด อาจจะมีบ้าง แต่ว่าเรายังไม่เห็นว่าในต่างจังหวัดจะทำได้มากน้อยแค่ไหน และทำในลักษณะอะไร มียุทธศาสตร์อย่างไร แต่เข้าใจดูเหมือนกับว่าทุกคนกำลังไปสู่การชี้นำให้กลับไปอยู่ต่างจังหวัด แล้วก็คงมีรายได้ที่ต่ำกว่าเดิม
แนะนำคนไทยรับมืออย่างไรดี
คือต้องยอมรับว่าสิ่งที่พวกเราทำกันอยู่ รู้ว่าจะต้องเริ่มป้องกันความเสี่ยงของตัวเองกันแล้ว แบ่งคนทำงานเป็นทีม A ทีม B บางคนก็ทำงานที่บ้านสลับกันไป ลึกๆ เรารู้แล้วว่ารอบนี้คงระบาดอีกค่อนข้างมากและนาน เราก็ต้องระวังตัวเอง เพราะวัคซีนไม่มาให้คนไทยอย่างทั่วถึงในปีนี้ มันต้องปีหน้า ดังนั้นเราต้องพยายามอยู่รอดไปถึงปีหน้า และส่วนตัวเข้าใจว่าทางรัฐบาลเอง ก็คงทำได้แค่ว่าถ้าทำงานอย่างที่ทำในปัจจุบันไม่ได้ ก็กลับต่างจังหวัด แล้วพยายามไปหาอะไรทำในต่างจังหวัด และต้องทำใจ ถ้าเป็น SME คงจะมีหลายแห่งที่ไปไม่ไหว และเราจะเห็นตัวเลข แรงงาน เอ็นพีแอล ธนาคารตั้งสำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นในปีนี้
Commentaires