top of page
312345.jpg

ตลาดเผชิญความเสี่ยง แต่เศรษฐกิจไทยยังไหวอยู่


ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิจัยการลงทุน บล.ไทยพาณิชย์ ชี้เป้าสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปัญหาเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ปัญหาราคาน้ำมัน ภาวะการเงินที่ตึงตัว รวมถึงการหั่นเครดิตแบงก์ไทย เป็นตัวบั่นทอนเศรษฐกิจ-การลงทุนไทย แต่ด้วยปัจจัยพื้นฐานของไทยที่ยังดีอยู่ รวมถึงการเริ่มเปิดประเทศทั้งไทยและทั่วโลก จะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ฟื้นตัว GDP ไทยในปี 65 น่าจะโตได้ 3.5% ในขณะที่หนี้ครัวเรือนซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของไทยจะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง...แนะการลงทุนในสินทรัพย์ระยะสั้นรวมถึงการลงทุนในหุ้นยังได้ผลตอบแทนที่ดี แต่ต้องระมัดระวังมากขึ้นโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มพลังงาน น้ำมัน ก่อสร้าง ค้าปลีก ส่วนหุ้นแบงก์ก็ไม่ถึงกับดี แต่ไม่ถึงกับแย่ ยังพอลงทุนได้

หลังจากที่สถานการณ์โลกไม่ดีมีการปะทะกันระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่วนไทยก็เจอ S&P สุมไฟเข้ามาให้ร้อนไปอีก จากการลดอันดับเครดิต 4 แบงก์ไทย มองเรื่องราวเหล่านี้อย่างไรบ้าง

ถ้ามองภาพรวม ความเสี่ยงจะมีมากขึ้น แต่ถ้าดูปัจจัยพื้นฐานของไทยเราจากเรื่องการดาวน์เกรดแบงก์ จริงๆ จะเห็นภาพตัวเร่งของที่เขาดาวน์เกรดแบงก์ใน 3-4 ประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่มากขึ้น เรื่องของโอกาสที่จะเกิด NPL ต่างๆ มีมากขึ้น และไทยเราได้รับผลกระทบจากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่จะหายไปจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน จริงๆ ถ้าจะให้ตอบเร็วๆ ณ ตอนนี้ อย่างภาพเศรษฐกิจใหญ่ของเศรษฐกิจไทยมันเริ่มฟื้นตัวแล้ว ปีที่แล้วเศรษฐกิจโตประมาณ 1.6% ปีนี้หลายฝ่ายมองว่าถ้าสงครามจะลากยาว ราคาน้ำมันจะขึ้น หลายฝ่ายมองว่าน่าจะเกินร้อยขึ้นไป แต่มุมมองส่วนตัวคิดว่าไม่น่าจะแพงขนาดนั้น สมมติมีบางมุมมองที่ว่าปีนี้น้ำมันจะอยู่ที่ 120-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอะไรต่างๆ แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังโตได้ถึง 2.8% ซึ่งเรามองว่าน้ำมันดิบน่าจะอยู่ที่ 80-90 ดอลลาร์ และจะทำให้จีดีพีของไทยยังอยู่แถวๆ 3.5%

สรุปก็คือว่าภาคของเศรษฐกิจเริ่มเป็นขาขึ้น แต่อาจจะมีปัจจัยกระทบ อย่างเรื่องสงคราม น้ำมัน เรื่องของปัญหาภูมิรัฐศาสตร์อะไรต่างๆ แต่ถ้าเทียบกับความโหดร้ายรุนแรงสมัยตอนโควิด ซึ่งโควิดแรงกว่าในแง่ที่ว่าเราต้องปิดประเทศ พอเราปิดประเทศกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะหายไปเลย แต่ว่าตอนนี้ภาพรวมยังไม่ขนาดนั้น และวันที่ 1 เมษายนนี้หลายประเทศเริ่มเปิดประเทศกันแล้ว รวมทั้งประเทศในเอเชียไม่ว่าจะเป็นเกาหลี มาเลเซีย หรือจะเป็นอินโดนีเซียต่างๆ ก็ตาม เริ่มจะมีการเปิดแล้ว แม้จะมีโควิดอยู่ เพราะในที่สุดเราก็ต้องอยู่กับโควิดในระดับหนึ่ง

ถึงแม้สงครามรัสเซียยูเครนอาจจะยังไม่จบ แต่ในที่สุดแล้วในมุมมองของเรา คือในที่สุดจะมีการลดความรุนแรงลงในระดับหนึ่ง คือมีการพูดคุยกัน เปิดโต๊ะเจรจากัน เพราะไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจรัสเซียก็ได้รับผลกระทบเยอะ ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในยูเครนก็เยอะ และเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐอเมริกาก็ได้รับผลกระทบจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ดังนั้น ถ้ามองในแง่ภาคเศรษฐกิจแล้ว สงครามจะอยู่ได้ไม่นานมาก อาจจะประมาณ 2-3 เดือน การพูดคุยกันเจรจากันจะประสบความสำเร็จเพิ่มขึ้น แน่นอนว่าอาจจะไม่กลับมาเต็ม 100% เหมือนเดิม โดยเฉพาะน้ำมันหรือว่าพวกธัญพืชอะไรต่างๆ กว่าจะกลับมาเป็นปกติได้ก็ค่อนข้างลำบาก

แต่ประเด็นใหญ่คือเศรษฐกิจก็น่าจะกลับมาได้บ้าง น่าจะฟื้นได้บ้าง สำหรับปีนี้ 2-3% ยังพอเป็นไปได้บ้าง เรายังคงตัวจีดีพีไทยที่ 3.5% ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น ภาพของหนี้ครัวเรือน จะเพิ่มในอัตราที่ชะลอลง ตัวเลขของสภาพัฒน์ที่บอกว่าไตรมาสที่สี่ของปีที่แล้วหนี้ครัวเรือนโตประมาณ 4% คืออัตราส่วนเขายังสูงอยู่ที่ประมาณ 89% เกือบๆ 90% ประมาณ 89.7% แถวๆ นั้น แต่ว่าการเติบโตของหนี้ครัวเรือนเริ่มชะลอลง จาก 5% เหลือ 4% ส่วนภาพเศรษฐกิจไทยกำลังจะฟื้นขึ้น ถ้าเป็นเศรษฐกิจที่รวมเงินเฟ้อที่เขาใช้ชี้มาหารตัวหนี้ครัวเรือนกับจีดีพี ในปีนี้เราจะโตประมาณ 6-7% เลยทีเดียว

ดังนั้นก็เลยมองว่าการที่ S&P มีการดาวน์เกรดแบงก์ไทย โดยให้เหตุผลในเรื่องของหนี้ครัวเรือน ส่วนตัวคิดว่า S&P ออกมาช้าไปหรือไม่ ตรงนี้คือประเด็นแรก ส่วนประเด็นที่สองคือเรื่องของภาพเศรษฐกิจมองว่ามันมีความเสี่ยงมากขึ้น แต่ว่าภาพใหญ่เป็นขาที่ค่อยๆ เริ่มฟื้น แต่ว่าการฟื้นอาจจะมีปัญหา ยังมองว่าปีนี้ยังพอไปได้ แต่ที่น่ากังวลมากคือปีหน้า ก็จะทำให้ภาพของเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้ยังไปได้ ก็ไม่น่ากังวลมากไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแบงกิ้งและอินดัสตรีอะไรต่างๆ


ถ้าสมมติมีอันดับความกังวลมี 5 ลำดับจาก 1-5 น้อยไปมาก จะให้อันดับความน่ากังวลเท่าไหร่

ก็ให้ระดับ 3 กับ 4 คืออาจจะกังวล ไม่ใช่ไม่กังวล แต่คือเราต้องเห็นภาพใหญ่ก่อน อย่างภาพใหญ่ของไทยกำลังเริ่มฟื้นขึ้น แต่ภาพใหญ่ของโลกหมายถึงสหรัฐอเมริกา ยุโรป เริ่มชะลอลง แต่เขายังดีอยู่ ถ้าดูตัวเลข ณ ปัจจุบันจาก PMI หรือดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อต่างๆ เขายังดี แต่ว่าในระยะต่อไป มีสัญญาณที่ชะลอลงได้ และแน่นอนตัวปัญหาในเรื่องรัสเซีย-ยูเครน เรื่องของวิกฤตพลังงาน เรื่องของโภคภัณฑ์ต่างๆ สินแร่ โลหะ ธัญพืชอะไรต่างๆ มันกระทบกับเงินเฟ้อ มันกระทบต่ออะไรจริงๆ ฉะนั้นบ้านเขาค่อนข้างน่ากลัว ส่วนบ้านเราฟื้นขึ้น แต่ว่าจะได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ฉะนั้นก็ต้องระมัดระวังบ้าง

ดังนั้น ถ้าจะให้ลองไล่ความกังวลในปัจจัยที่ส่วนตัวกังวลมากไปจนถึงกังวลน้อยคืออะไรบ้างนั้น ปัจจัยที่กังวลมากหน่อยในระยะต่อไปก็คือความตึงตัวทางการเงินของทางสหรัฐอเมริการวมถึงทั้งโลกก็จะมีมากขึ้นตามภาพเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น มองว่าอย่างแบงก์ชาติสหรัฐอเมริกาเขามีแผนในการที่จะขึ้นดอกเบี้ยในระดับหนึ่ง โดยช่วงที่ยังไม่เกิดสงคราม ตอนที่ยังมีในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของ โจ ไบเดน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ตอนนั้นเศรษฐกิจร้อนแรงมาก หุ้นก็ขึ้นเอาๆ ตอนนั้นเขามองในแง่ของตัวเงินเฟ้อว่าเป็นแค่ชั่วคราว แต่พอมันเป็นภาพแบบนี้ก็เลยคุมไม่อยู่ในระดับหนึ่ง เงินเฟ้อในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ 7-8% แถวๆ นี้ หลักๆ ก็คือว่าส่วนหนึ่งมันเข้าไปอยู่ในใจของคนแล้ว คนมองภาพว่าเงินเฟ้อที่มามันไม่จบง่ายๆ เมื่อไม่จบง่ายๆ ก็ต้องไปเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม ค่าเช่าบ้านกับค่าจ้างจะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงแล้วหยุดไม่อยู่ ตัวนี้แทนที่จะทำให้เฟดจะต้องขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้น แล้วก็ถอนมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจเร็วขึ้น

เมื่อไปดูตัวปริมาณเงิน การขยายตัวปริมาณเงินสหรัฐอเมริกายังค่อนข้างสูงอยู่มาก อยู่ที่กว่า 10-11% อย่างบ้านเราหรือในยุโรปอยู่ที่ 4-5% แล้ว ฉะนั้นเขาต้องถอนแรงกว่านี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจที่เขาออกมาส่งสัญญาณว่าจะต้องมีการขึ้นดอกเบี้ย ส่วนตัวมองว่าช้าไปด้วยซ้ำ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ก็น่าจะหยุด QE ได้แล้ว และเดือนมีนาคมก็น่าจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นแล้ว และเริ่มทำ QT แต่เขายังช้าไป ก็เลยตัวเงินเฟ้อมากขึ้น และมาเจอวิกฤตซ้อนวิกฤตก็คือเรื่องของรัสเซีย-ยูเครน เลยยิ่งกระทบเงินเฟ้อ

ดังนั้น สิ่งที่กังวลคือเรื่องนโยบายการเงินที่ตึงตัว และจะเป็นตัวขึ้นเร็วในระยะต่อไป จะไปกระทบในเรื่อง Fund Flow ทั่วโลก รวมถึงบ้านเราด้วย

สำหรับบ้านเรา เศรษฐกิจยังไปได้ แต่ก็อาจเผชิญของตัวต้นทุนที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งมาตรการของภาครัฐ 10 มาตรการที่มาช่วยในเรื่องของลดหย่อนราคาพลังงานอะไรต่างๆ น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติให้กับมอเตอร์ไซค์ ให้กับแท็กซี่ ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ในขณะที่ใช้กองทุนน้ำมันมาช่วยอุดหนุนราคาดีเซลก็ช่วยได้ในระดับหนึ่ง ถ้าวิกฤตน้ำมันลากยาวต่อไปก็คงต้องลดตัวของการอุดหนุน ก็ค่อนข้างถูกต้องในระดับหนึ่ง มองภาพเป็นอย่างนั้น แต่ของบ้านเราความเสี่ยงก็คือเงินเฟ้อค่อนข้างสูง ถึงแม้จะช่วยอย่างไร ถ้าต้นทุนทางการผลิต ต้นทุนทางการเงินจากต่างประเทศมันขึ้นมาแล้ว ถ้าเราไม่ขึ้นตามก็จะกระทบ เรื่องของดอกเบี้ยก็ต้องขึ้นด้วย และเรื่องของต้นทุนอะไรต่างๆ มันก็จะขึ้น ก็ทำให้เงินเฟ้อขึ้น ตรงนี้คือสิ่งที่กังวลของไทย


ผู้ลงทุนควรทำอย่างไร

ในภาพใหญ่ การลงทุนก็อาจจะต้องเริ่มระมัดระวังมากขึ้น แต่ก็อย่าเพิ่งออกจากตัวการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงเสียทีเดียว เพราะในเชิง ณ ปัจจุบันถ้ามันไม่แย่มาก เราจะดูว่าประเทศตลาดเกิดใหม่ยังเดินไปได้ อย่างบ้านเราไม่ใช่ว่าลงมาก แม้แต่ในสหรัฐอเมริกาก็ไม่ค่อยได้ลงมาก เพราะตลาดก็ยังเชื่อว่าจะไปได้ แต่ว่าสัญญาณเสี่ยงมันมากขึ้น ก็อาจจะต้องระมัดระวัง

แต่บ้านเรามีภาษีที่ค่อนข้างดีกว่า ภาพเศรษฐกิจปัจจุบันนี้ สามารถที่จะลงทุนได้ ก็ยังพอจะไปต่อได้บ้าง ลงทุนได้ แต่ก็ต้องระมัดระวังแบ่งบางส่วนเข้าไปในสินทรัพย์ระยะสั้นมากขึ้น เพราะทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น ถ้าต้นทุนทางการเงินเป็นขาขึ้น ต้นทุนการผลิตขาขึ้น พวกหุ้นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับที่มีต้นทุนทางด้านเป็นน้ำมัน พลังงาน ก็อาจจะต้องระมัดระวัง ส่วนตัวก็ลองดูในเชิงของเศรษฐศาสตร์ ลองทำสถิติดู พบว่า ถ้าเผื่อน้ำมันขึ้น และเงินเฟ้อขึ้น กลุ่มหุ้นอย่างพวกก่อสร้าง แม้กระทั่งการเงิน รีเทล ตัวค้าส่งค้าปลีก อาจจะได้รับผลกระทบระดับหนึ่ง ก็อาจจะต้องระมัดระวังตรงนี้ ส่วนหุ้นแบงก์ จริงๆ ตัวแบงก์อาจยังไม่ได้แย่มาก ไม่ถึงกับต้องขาย ยังสามารถที่จะไปต่อได้ ส่วนเรื่องดอกเบี้ยอาจจะเป็นขาขึ้นบ้าง แต่ว่าแบงก์อาจจะไม่ได้ประโยชน์ตรงนี้มากนัก ก็ต้องระมัดระวังหุ้นแบงก์ แต่ยังถือได้ ซึ่งต้องคอยดูภาพเรื่องของเศรษฐกิจโดยรวมด้วย



25 views
bottom of page