ตลาดหุ้นทั่วโลกเป็นขาขึ้น นำโดยตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป ฮ่องกง จีน ฯลฯ แต่ตลาดหุ้นไทยยังสาละวันเตี้ยลง นักลงทุนทั้งต่างชาติและนักลงทุนไทยเมิน หนีไปลงทุนในตลาดหุ้นอื่นที่ทำกำไรได้เป็นกอบเป็นกำ ชี้...ขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกแข่งกันทำ All Time High แต่หุ้นไทยยังไปไม่ถึงไหน แสดงว่าไทยมีปัญหาเฉพาะตัว เช่นการขาดหุ้น Tech ที่โดดเด่นพอที่จะผลักดันดัชนีให้โต รวมถึง GDP ไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐก็ไม่ชัดเจน ไม่จูงใจให้เกิดความหวังมากพอ ทำให้ประตูตลาดหุ้นไทยแทบจะปิดตาย มองไม่เห็นอนาคต ส่วนการมีแนวคิดดึงกองทุน LTF กลับมาเพื่อกระตุ้นการลงทุน มองว่าในที่สุดแล้วจะได้แค่เม็ดเงินเดิมๆ ที่เคยจมอยู่กับ LTF รุ่นก่อนที่วนกลับมาซื้อ LTF กองใหม่ แนะ...ถ้าอยากให้การลงทุนใน LTF คึกคักต้องกำหนดระยะเวลาการลงทุนสั้นๆ แค่ 5-7 ปี รวมทั้งให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีแยกกับการได้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีจากการลงทุนใน RMF พร้อมฝากทิ้งท้ายให้คิดถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้านเราว่าการไม่ลดดอกเบี้ยถือเป็นผลลบกับเศรษฐกิจในภาพรวม
Interview : คุณชยนนท์ รักกาญจนันท์ (Mr. Messenger)
ตลาดหุ้นโลก หุ้นอเมริกา หุ้นยุโรปดีวันดีคืน หุ้นเอเชียขึ้น มีแต่หุ้นไทยที่ยังกู่ไม่กลับ
ก่อนอื่นเรามาไล่เรียงสถานการณ์ทำความเข้าใจกันก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น...จุดเปลี่ยนตอนแรกที่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกา ยุโรป เอเชีย มีการปรับฐานเกิดจากตัวเลขเงินเฟ้อเดือนมีนาคมของสหรัฐมันสูงกว่าที่ตลาดคาด ตลาดจึงมีมุมมองว่าเป็นแบบนี้เฟดน่าจะลดดอกเบี้ยไม่ได้แน่ๆ ที่เคยคาดกันเมื่อปลายปี 2566 ต้นปี 2567 ว่าโอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยปีนี้ 5 ครั้งกลายเป็นเหลือ 1 ครั้งเท่านั้น (แถมมีคิดว่าเฟดจะขึ้นดอกเบี้ยด้วยซ้ำ) แต่ล่าสุดตลาดกลับฟื้นขึ้นมาก็เป็นผลจากเฟดนั่นเอง--หลังเฟดประชุมวันที่ 1 พฤษภาคม และ เจอโรม พาวเวล ออกมาแถลง เขาส่งสัญญาณชัดว่าเรื่องขึ้นดอกเบี้ยนั้นปิดประตูเลยปีนี้ไม่ขึ้น แต่เรื่องลดดอกเบี้ยนั้นเขาขอดูตัวเลขเศรษฐกิจให้มั่นใจก่อนว่าจะลดตอนไหน การที่เฟดออกมาพูดแบบนี้มันมี 2 โทน คือ โทนเหยี่ยวกับโทนพิราบ เหยี่ยวอยากจะขึ้นดอกเบี้ย และพิราบอยากจะลดดอกเบี้ย โดยมันออกค่อนข้างแนวพิราบ ตลาดเลยมองว่าโอกาสที่จะลดดอกเบี้ย 1 ครั้งมันอาจจะมากขึ้นเป็น 2-3 ครั้งก็ได้ในอนาคต ตอนนี้พวกเรามองโลกในแง่ร้ายเกินไปพอหันกลับไปดู คืองบบริษัทจดทะเบียนในอเมริกาโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม 7 นางฟ้ากำไรดีวันดีคืนกันหมดทำให้หุ้นเทคโนโลยีพวกนี้มันดันตลาดหุ้นกลับขึ้นมา นักลงทุนก็มามองว่างบการเงินบริษัทก็ออกมาดีแล้วเราจะกลัวเรื่องดอกเบี้ยทำไม เพราะคุณเจอโรม พาเวล ก็บอกยังไงก็ไม่ขึ้นดอกเบี้ย อย่างนั้นพวกเรากลับเข้าตลาดกันเถอะ—จึงเป็นที่มาว่าตั้งแต่ต้นเดือนจนถึงศุกร์ที่ 10 พฤษภาคมดาวโจนส์บวก 8 วันติดต่อกัน และเป็นสัปดาห์ที่ดาวโจนส์บวกแรงที่สุดนับตั้งแต่ ปี 2024 เป็นต้นมาเลย
ดังนั้นการบวกของตลาดหุ้นมันมาจาก 2 อย่างคือ 1. ตลาดเชื่อแล้วว่าไม่มีการลดดอกเบี้ย 2. ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในอเมริกามันสนับสนุนให้มีแรงซื้อไปต่อ
ขณะเดียวกันหุ้นยุโรปก็ดีไปกับเขาด้วย ถามว่าทำไมหุ้นยุโรปขึ้น ดัชนีฟุตซี่ลอนดอนทำ All Time High ดัชนี Stoxx 600 ของยุโรปตอนนี้ทดสอบ All Time High เพราะยุโรปกับอังกฤษเจออีกสภาพหนึ่ง คือ อังกฤษล่าสุดผลประชุม BOE ออกมาผลโหวต 7 ต่อ 2…7 คนให้คงดอกเบี้ย 2 คนให้ลดดอกเบี้ย คือเสียงแตกเพราะอยากลดดอกเบี้ย แปลว่ายุโรปกับอังกฤษอาจจะลดดอกเบี้ยเร็วกว่าเฟด การลดดอกเบี้ยเห็นแล้วว่าตลาดคาดหวังอยากให้มีการลดดอกเบี้ย...ลดดอกเบี้ยดียังไง ...ลดดอกเบี้ยก็ทำให้ต้นทุนการกู้ยืมลดลง ลดดอกเบี้ยทำให้สภาพคล่องเพิ่มขึ้น ลดดอกเบี้ยทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้น แปลว่าตัวเลขเศรษฐกิจจะกระเตื้องมากขึ้น เห็นว่าผลประกอบการบริษัทในยุโรปออกมาไม่ได้ดีเท่ากับของอเมริกาแต่สัญญาณส่งจากธนาคารกลางเขาบอกแน่ๆ ว่าจะลดดอกเบี้ยเร็วกว่าเฟด อาจจะลดเร็วภายในครึ่งปีนี้คือมิถุนายนหรือกรกฎาคมด้วยซ้ำ กระแสทุนก็เลยวิ่งเข้าไปที่ยุโรป
คำถามคือแล้วหุ้นฝั่งเอเชียวิ่งขึ้นจากสาเหตุอะไร...ถ้าเป็นฮ่องกง เนื่องจากเขาผูกนโยบายการเงินไว้กับอเมริกา คืออเมริกาขึ้นดอกเบี้ยฉันก็ขึ้นด้วย ถ้าลงดอกเบี้ยก็ลงด้วย ดอลลาร์ฮ่องกงเลยวิ่งตามดอลลาร์สหรัฐ พอเฟดไม่ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ย ธนาคารกลางฮ่องกงก็คงดอกเบี้ย แล้วทุกคนบอกว่าแบบนี้ที่จะเซอร์ไพรส์ดอกเบี้ยขาขึ้นไม่มีเหมือนกัน ก็เลยมี Fund Flow ไหลไปที่ฮ่องกงดันดัชนีฮั่งเส็งขึ้นและเมื่อวันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม มีบวกต่ออีก 2% เพราะมีข่าวลือว่าทางการอาจจะมีมาตรการลดภาษี หรือจีนจะออกมากระตุ้นหรือออกมาพยุงหุ้นต่อเนื่อง อันนี้ก็เป็นเหตุการณ์เฉพาะของฝั่งเอเชีย
สรุปภาพรวม คือ บรรยากาศการลงทุนขอแค่ไม่ขึ้นดอกเบี้ย—ตลาดพร้อมไปต่อ เพราะงบไตรมาส 1 ออกมาแล้วโดยภาพรวมบริษัทส่วนใหญ่ยังดีเวอร์ ยอดขายและกำไรได้ตามนักวิเคราะห์คาด
เมื่อไหร่ฝนจะมาตกเมืองไทยบ้าง ทำยังไงให้ทุนไหลกลับมาลงทุนในบ้านเราบ้าง ไม่ใช่ขายเอาๆ
ปัญหาคือตั้งแต่ต้นปีมาตลาดหุ้นไทย Underperform มาตลอด ขณะบรรยากาศภาพรวมตลาดหุ้นที่อื่นเขา All Time High กันหมดแต่หุ้นไทยยังไม่ไปไหน แบบนี้แสดงว่าเรามีปัจจัยเฉพาะตัวของเราอยู่ ก็ต้องมาชวนกันนึกว่าอะไรที่ทำให้ต่างชาติไม่มาลงทุน ผมคิดว่าอย่างที่ 1. คืออุตสาหกรรมที่เป็นเขตเศรษฐกิจใหม่หรือกลุ่มเทคโนโลยีไม่มีในบ้านเรา เวลาเขาจะดันหุ้นเทคฯ คือเขาหาหุ้นเทคฯ ในไทยเขาอาจจะหาไม่เจอเลยดันยากหน่อย 2. ถ้ามองตัวเลข Old Economy ธุรกิจดั้งเดิมนั้น ล่าสุด สศค. แบงก์ชาติ หรือสำนักเอกชนอย่าง UOB เพิ่งออกมาล่าสุดปรับเป้า GDP ของไทยตอนนี้ไม่มีใครให้ปีนี้เกิน 3% ทั้งที่เมื่อต้นปีให้ 3.5% แสดงว่าหุ้นเทคฯ ที่ควรดันตลาดได้เราไม่มี เศรษฐกิจเก่าที่เราหวังว่าปีนี้จะโตดีกว่าปีก่อนดูแล้วอาจจะพอๆ กับปีก่อน หรือผ่านไปอีก 2 เดือนข้างหน้าอาจจะโดนปรับเป้าลงไปแย่กว่าปีก่อนด้วยซ้ำไป 3. แล้วรัฐบาลจะมาช่วยกระตุ้นอะไรไหม โครงการ Digital Wallet เราก็เห็นว่าแบงก์ชาติถึงกับส่งจดหมายเปิดผนึกออกมา นักวิชาการบอกว่าอย่าออกมาเลยมันเป็นความเสี่ยง แสดงให้เห็นว่าโดยแท้จริงแล้วตลาดอาจจะไม่ชอบมาตรการหรือนโยบายภาครัฐที่จะเกิดขึ้นมาตอนนี้ ถามว่าแล้วเศรษฐกิจจะฟื้นได้จากตรงไหน เรียนตามตรงผมยังมองไม่เห็นว่าหุ้นไทยจะฟื้นได้ยังไง ขนาดตลาดหุ้นทั้งโลกดีขนาดนี้ ต่างชาติยังไม่เข้าหุ้นไทยเลย แสดงว่าเราอาจจะต้องมีมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาลจริงๆ จังๆ มากกว่า---ซึ่งยาก
รัฐมนตรีคลังคนใหม่มาบอกว่า จะตั้งกองทุน LTF -- อันนี้ช่วยได้ไหม
ขอตั้งคำถามว่าที่เราทุกคนซื้อ LTF กันมานั้น LTF ที่ครบ 7 ปีเมื่อ 2-3 ปีก่อน-มีใครขายบ้าง เราคงรู้ไม่มีใครขายออกมาเลย ที่ไม่ขายเพราะมันขาดทุนอยู่ที่เดิม คำถามคือถ้ามี LTF ออกมาใหม่คุณจะทำยังไงกับเงินก้อนนี้ สำหรับผมก็ขาย LTF ที่ขาดทุนอันนี้แล้วไปซื้อ LTF เงื่อนไขใหม่อย่างน้อยๆ ไม่ได้กำไรแคปปิตอลเกนแต่ก็ยังได้ภาษีคืน สรุปคือมันเป็นเงินเก่าครับ มันคือเงินเก่าที่วนมา อันนั้นเป็นความเสี่ยงว่าถ้าออก LTF มาจริงเงินใหม่ที่มาลงทุนอาจจะไม่เยอะ เพราะเรามีสถิติเก็บข้อมูลเมื่อสิ้นปีที่แล้วว่า เรามีออกกองทุน ThaiESG ออกมา ซึ่งจะเห็นว่าไม่ได้ใหญ่ขนาดที่จะทำให้ตลาดหุ้นไทยวิ่งขึ้นได้ ไม่อย่างนั้นตอนนี้ดัชนีหุ้นไทยทะลุ 1,400-1,500 ไปแล้วถูกไหม ทีนี้ถามว่าถ้าจะออก LTF จริงๆ เพื่อมี Impact มันต้องจูงใจให้เงินใหม่เข้าไปลงทุนด้วย ผมเสนอแบบนี้ ถ้าจะออก LTF จริง ผมเสนอไปยังภาครัฐ
1. เงื่อนไขการถือครองต้องไม่ยาวเท่า SSF และ RMF คือกลับไปใช้เงื่อนไขเดิมได้ไหมคือ 7 ปีถือตามปีปฏิทิน 5 ปีได้ไหม ให้สั้นลงเป็นเงื่อนไขที่จะจูงใจได้ เพราะถ้าถือยาวเกินไปคนมองภาพระยะยาวไม่ออกว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยจะเป็นยังไง ตอนนี้ตัวเลือกการลงทุนในต่างประเทศก็เยอะมากมายด้วย จะออก LTF มาประหยัดภาษีแล้วขาดทุนแบบนั้นฉันไม่เอาดีกว่า ก็ต้องจูงใจเขาด้วยการลดการถือครองให้สั้นลง
2. อย่าให้เป็นวงเงินเดียวกันกับ SSF กับ RMF ซึ่งมันรวมกันกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ รวมกันทั้งหมด 500,000 แต่ให้แยกออกไปเลยแล้วใช้อีกวงเงินหนึ่งอีก 500,000 แปลว่าผู้ประหยัดภาษีสามารถซื้อกองทุน RMF, SSF และ LTF รวมกัน 1 ล้านเพื่อลดหย่อนภาษี ถ้าแบบนี้คือสิทธิประโยชน์ของผมได้วงเงินเอาไปเครดิตภาษีเพิ่ม ผมอาจจะยินดีเอาเงิน(ใหม่)มาเติมเพิ่ม แต่ผมไม่แน่ใจจริงๆ ว่า 2 เงื่อนไขที่ผมเสนอนี้ กรมสรรพากรเขาจะคิดยังไง
ตอนนี้คนไทยมีเงินใหม่ด้วยเหรอ...ติดหุ้น ขาดทุน เศรษฐกิจไม่ดี
ผมว่ามี เราทุกคนประกอบธุรกิจกัน เราทุกคนเป็นมนุษย์เงินเดือน เราได้เงินเดือน เรามีเงินออมเราเพิ่งได้โบนัสต้นปีผมคิดว่ามีกันหมด แต่เศรษฐกิจไม่คึกคักพอมีเราก็ไปออมสินทรัพย์เสี่ยงต่ำหรือไม่รู้เศรษฐกิจจะยังไงก็เอามาใช้ซื้อความสุขระยะสั้นในวันนี้ แต่ถ้าบรรยากาศการลงทุนคึกคัก เห็นว่ามีโอกาส เปรียบเทียบความเสี่ยงกับผลตอบแทนแล้วมันคุ้มค่า ผมคิดว่าคนจะยินดีเอาเงินที่เซฟหรือเก็บไว้เป็นกองหลัง หรือเอาไปซื้อประกัน เขาอาจจะคิดใหม่ว่าประกันฉันเยอะแล้ว Saving มีเยอะแล้ว ก็เอาส่วนหนึ่งผลักมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงดีกว่า ... แต่ตอนนี้ใครก็เห็นว่าส่วนใหญ่ผลตอบแทนหุ้นไทยช่วง 10 ปีที่ผ่านมาผลตอบแทนติดลบ 2% มันไม่ชวนให้บรรยากาศการลงทุนคึกคัก ดังนั้นเราต้องช่วยกันเรื่องนี้ ภาครัฐต้องออกนโยบายในการจูงใจให้คนเข้ามาลงทุนมากขึ้น
ถ้าเฟดดึงเกมการลดดอกเบี้ยออกไป ดึงไปถึงปลายปีค่อยลดครั้งหนึ่ง หรืออาจจะไม่ลดปีนี้ไปลดปีหน้าเลย ถ้าแบบนี้มันจะเกิดผลยังไงตลาดหุ้นไทย
ถ้าตลาดหุ้นไทย ผมคิดว่าเราเหนื่อยตรงที่ว่า ถ้าผมเป็นแบงก์ชาติตอนนี้คงกดดันมากตรงที่ว่าวันหนึ่งสถานการณ์อาจจำเป็นต้องลดดอกเบี้ยแต่ถ้าลดดอกเบี้ยตอนนี้จะกลายเป็น ผมลดเพราะใบสั่งคุณเศรษฐากับรัฐบาลที่กดดันมาตลอด มันจะเสียความอิสระหรือความเป็นกลาง มันก็ยากเหมือนกัน แต่ถ้าเฟดยังค้างดอกเบี้ยอยู่ขณะนี้ทำให้ต้นทุนสูงบ้านเขารอด แต่คนอื่นประเทศอื่นอย่างบ้านเราเศรษฐกิจเราวิ่งตามมหาอำนาจ เราค้าขายกับเขาเป็นส่วนใหญ่ทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยบ้านเรายังสูงกว่าปกติในอดีต มันจะเป็นภาระของบริษัทเอกชน--อันนี้ไม่ดี ถ้า Higher for Longer คือคงอยู่แบบนี้ไปไม่ยอมลดดอกเบี้ยเสียที เป็นแบบนี้ผมคิดว่าจะเป็นผลลบกับเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมากกว่าจะเป็นผลบวก อันนี้ต้องระวัง แต่ถามว่าอเมริกาจะมาแคร์เราไหม--คงไม่ นโยบายเขาทำก็เพื่อเศรษฐกิจประเทศเขา ---
แล้วมีความเป็นไปได้ไหมที่จะเฟดจะลดดอกเบี้ย ผมได้คุยกับ Fund Manager ที่ลงทุนในตราสารหนี้นอกตลาดเขาบอกว่าบริษัทที่จดทะเบียนที่นั่นตอนนี้ไปขอสินเชื่อเยอะแต่ธนาคารทำเรื่องไม่ทันเขาอยากได้สินเชื่อเร็วมากขึ้น แต่พอไปดูงบดุลกระแสเงินสด คือเขาอยากขอสินเชื่อเพิ่มเขาอยากผลิตเพิ่มขึ้นสั่งซื้ออุปกรณ์เพิ่มขึ้น ดูแล้วคือดีมานด์ยังดีอยู่ ดังนั้นเศรษฐกิจอเมริกาที่คึกคักแบบนี้เขาบอกว่าไม่เห็นสัญญาณว่าเงินเฟ้อจะลดลงเร็ว มันอาจจะค้างอยู่แถว 2-3% นานมากขึ้น ดังนั้นเฟดมีแนวโน้มจะไม่ลดดอกเบี้ยเลยมีความเป็นไปได้ไหม ต้องบอกว่า Fund Manager ชาวอเมริกาส่วนหนึ่งเขาก็คิดอย่างนั้นเหมือนกัน แปลว่าเราฐานะนักลงทุนไทยและเราถือหุ้นไทยอยู่ก็ต้องระวังเหมือนกัน เพราะคำว่า Higher for Longer ไม่ดีต่อหุ้นไทย
コメント