จีน-ฮ่องกง ความสัมพันธ์ที่ทั่วโลกจับตามอง
ความเคลื่อนไหวของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับฮ่องกงนั้น ดูเริ่มจะมีความตึงเครียดมากขึ้น ตั้งแต่การที่มีการชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และการที่ทางจีนได้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฮ่องกง เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งเป็นการประกาศชัดเจนถึงนโยบาย ONE CHINA ของจีนที่จะไม่ยินยอมให้มีการแบ่งแยกดินแดนตามที่ผู้ประท้วงฝั่งประชาธิปไตยในฮ่องกงเรียกร้องและต่อสู้ในช่วงที่ผ่านมา
แม้ว่าฮ่องกงจะอยู่ภายใต้ “หนึ่งประเทศ สองระบบ” ที่มีระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมได้ก็ตาม แต่หากมีการกระทำที่นอกเหนือกฏหมายก็เป็นสิ่งที่รัฐหรือประเทศนั้นไม่สามารถยอมได้
สำหรับสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ปรับจีนอยู่เดิมก็ได้ออก “กฎหมายประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนฮ่องกง” และล่าสุดก็ได้พิจารณาตัดสิทธิพิเศษทางการค้าจากฮ่องกง โดยกล่าวว่าจีนได้พยายามกลืนกินฮ่องกงเป็นการผิดสัญญาที่จะให้ฮ่องกงเป็น “เขตปกครองตนเอง” หลังจากที่ฮ่องกงถูกส่งคืนจากการปกครองของอังกฤษให้จีนเมื่อปี 1997 เป็นเวลา 50 ปี (ครบกำหนด 30/06/2047)
หมากก้าวแรกของจีนซึ่งถูกที่ ถูกเวลา
ทำไมจีนถึงลงมือในช่วงนี้ทั้งๆ ที่คาดเดาได้ไม่ยากว่า จะต้องได้รับการต่อต้านจากชาวฮ่องกง และชาวโลก สาเหตุนั้นมาจากสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ที่แสดงท่าทีในการที่จะไม่ยอมให้จีนก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจ
รวมถึงการที่สหรัฐฯ ได้มีการเข้ามายุ่งเกี่ยวกับฮ่องกงทั้งผ่านทาง Twitter พูดถึงการสนับสนุนผู้ประท้วงในฮ่องกง หรือการออกกฎหมาย เป็นการที่ทำให้จีนต้องแสดงท่าทีที่ชัดเจนว่าจะไม่ให้ประเทศอื่นเข้ามายุ่งเกี่ยวกับอาณาธิปไตยของตนโดยเด็ดขาด และกลุ่มผู้ประท้วงประชาธิปไตยในฮ่องกงที่เริ่มมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการรวมจีนในอีก 27 ปีข้างหน้าจึงเป็นกระบวนการตัดไฟตั้งแต่ต้นลมอีกด้วย
ในขณะที่ประเทศคู่แข่งฝั่งตะวันตกอย่างสหรัฐฯและยุโรป ยังอยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาไวรัสโควิด-19 เศรษฐกิจยังอ่อนแอและต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นกลับมา ทำให้ความสามารถในการแทรกแซง หรือตอบโต้กลับนั้นค่อนข้างจำกัด รวมถึงการที่ ปธน.ทรัมป์จะต้องหาเสียงเลือกตั้งในช่วง ปลายปี 2020 นี้ เรียกได้ว่าการที่มีศึกทั้งในบ้านและนอกบ้านอยู่เช่นตอนนี้เป็นจังหวะที่หาได้ยากสำหรับจีน
การกระทำของจีนที่นานาชาติไม่สามารถโต้กลับได้ ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความแข็งแกร่ง และอำนาจของจีนที่จะเป็นผู้นำของฝั่งเอเชีย แล้วก้าวท้าทายมหาอำนาจของโลกเดิมอย่างสหรัฐฯ ในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ฮ่องกงจะเป็นอย่างไรต่อจากนี้
จีนคงไม่ยอมถอยจากการแสดงจุดยืนในการเป็นจีนเดียวอย่างแน่นอน โดยแม้สหรัฐและชาติพันมิตรจะตอบโต้โดยการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีของฮ่องกง ซึ่งจะส่งผลให้ระยะสั้นบริษัท และสำนักงานต่างๆอาจต้องทำการลดธุรกรรมในฮ่องกงเพื่อลดต้นทุนที่อาจจะเพิ่มขึ้นจากมาตรการดังกล่าว
ในภาพเศรษฐกิจในระยะสั้นของฮ่องกงคงไม่กระทบกับจีนมากนักเพราะในปี 2019 นั้นจีนมี GDP อยู่ที่ 14.32 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่ฮ่องกงมี GDP เพียง 0.36 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเพียง 2% ของจีนเท่านั้น
ในระยะยาวแม้ว่าฮ่องกงอาจจะเปลี่ยนระบบการเมืองการปกครองอยู่บ้าง แต่ในเรื่องของระบบเศรษฐกิจนั้นก็ยังคงเป็นทุนนิยมอยู่อย่างเช่นเคย ดังนั้นในมุมของนักลงทุนต่างชาติหากยังต้องการทำธุรกิจกับประเทศจีน ฮ่องกงก็ยังคงเป็นทางเชื่อมที่สำคัญระหว่าง ประเทศจีนกับทั่วโลก ซึ่งยากที่จะเห็นประเทศอื่นจะมีศักยภาพที่จะมาทดแทนฮ่องกงได้
กลยุทธ์การลงทุนในสถานการณ์นี้
โดยในระยะสั้นนักลงทุนควรหลีกเลี่ยงการลงทุนในในฮ่องกงโดยตรง โดยเฉพาะ กลุ่ม REITs ที่เป็นอุตสาหกรรมที่มีรายได้จากการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ปล่อยเช่า โดยส่วนใหญ่เป็นอาคารสำนักงาน และศูนย์การค้าต่างๆ
เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการที่อาจมีการย้ายสำนักงานในอนาคต อีกทั้งภาคการท่องเที่ยวยังได้รับผลกระทบจากทั้งไวรัสโควิด-19 และอาจเกิดการประท้วงในช่วงเลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกง (LegCo) ในเดือนกันยายนนี้
อีกทั้งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาที่ตลาดหุ้นส่วนใหญ่ได้มีการฟื้นตัวกันอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะหุ้นจีนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 20% แต่ REITs ฮ่องกงยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องสวนทางกับตลาดหุ้นฮ่องกงอย่าง Hang seng Index อย่างชัดเจน สำหรับกลยุทธ์การลงทุนสำหรับเหตุการณ์ฮ่องกง-จีน ในครั้งนี้ เรายังคงชอบหุ้นจีนจากปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงแข็งแกร่งและมีแนวโน้มฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น และหุ้นสหรัฐฯในกลุ่มเทคโนโลยี และ Health Care ที่ยังมีผลประกอบการแข็งแกร่งท่ามกลางสภาวะเศรษฐกิจซบเซาทั่วโลกครับ
เขียนโดย : นายศรชัย สุเนต์ตา - กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Office บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด
Commentaires