top of page
312345.jpg

โรงเรียนเอกชนแบกภาระค่าใช้จ่ายอ่วม...ค่าเทอมค้างจ่ายพุ่งสูง


Interview : ผศ.ดร.ศุภเสฏฐ์ คณากูล

นายกสมาคมคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการศึกษาเอกชน


‘โควิด-19’ ตัวแปรสำคัญระบบการเรียนการสอน ต้องปรับการเรียนเป็น 4 รูปแบบเพื่อรับมือสถานการณ์ที่แตกต่างกันไปคือ On-site, Online, On Hand และ On Demand โรงเรียนเอกชนเผชิญวิบากต้อง งด ลดค่าเทอม ค่าอาหาร สันทนาการ ให้ผู้ปกครอง แต่ยังต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายหลังแอ่น ทั้งเงินเดือนครู บุคลากร ที่ต้องจ่ายครบแม้ไม่มีการเรียนการสอน แถมยังต้องผ่อนผันค่าเทอมให้ผู้ปกครองที่ชักหน้าไม่ถึงหลัง เผย...ยอดค่าเทอมผ่อนผันค้างจ่ายปีที่แล้วสูงถึง 3 พันล้านบาท มองอนาคตโรงเรียนเอกชนเริ่มริบหรี่ ทยอยปิดตัวเฉลี่ยปีละ 60-70 แห่ง ต่างกับโรงเรียนนานาชาติที่ยังไปได้ดี แจง...ในช่วงโควิดขอรัฐช่วยด่วน 2 เรื่อง หนึ่ง เร่งฉีดวัคซีนให้ครู บุคลากรทางการศึกษา สอง ออกโครงการค่าเทอมคนละครึ่งเพื่อช่วยผู้ปกครอง สุดท้ายจะวิน-วินทั้งรัฐ โรงเรียน และผู้ปกครอง


สรุปการเปิดภาคเรียนของนักเรียนเป็นไปตามกำหนดเดิม

ทั้งประเทศเปิดภาคเรียนไปแล้วคือเมื่อวันที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา ตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด คือจะเปิดแบบ On-site คือมาเรียนที่โรงเรียน ส่วน Online ก็คือเรียนทาง Online รวมถึง On Hand และ On Demand เปิดทุกแบบผสมผสานกันหมด


สถาบันการศึกษา รวมถึงอาจารย์มีความพร้อมขนาดไหน

ทุกสถาบันทั้งรัฐเอกชน ท้องถิ่น ต้องผ่านมาตรฐานของกรมอนามัย Thai Stop COVID Plus คณะติดตามจากกระทรวงสาธารณสุขเข้าไปติดตามว่าโรงเรียนจะเปิดอย่างไร ซึ่งมีบางแห่ง อย่างเช่นในเขตกรุงเทพฯ และสี่จังหวัดยังเปิดแบบมาเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ ยังต้องเปิดเรียนแบบออนไลน์ไปเรื่อยๆ และยังมีอีกหลายจังหวัดที่ยังมาเรียนที่โรงเรียนไม่ได้ เพราะสถานการณ์แต่ละจังหวัดขึ้นอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อจังหวัดเป็นคนอนุมัติ ว่าให้ใครมาเรียนได้บ้าง ซึ่งการเรียนรู้ไม่มีข้อจำกัด เพราะฉะนั้นนักเรียนสามารถเรียนในสี่ระบบที่เหลือได้ตรงนี้ ส่วนความพร้อม ทุกโรงเรียนพร้อมหมด เพียงแต่ว่าตอนนี้มีครูที่ยังไม่ฉีดวัคซีนมากพอสมควร ซึ่งก็ต้องรอวัคซีน คือมีฉีดไปบางส่วนแต่ไม่เยอะเท่าไหร่ ก็อยากให้รัฐบาลเร่งฉีดครูบาอาจารย์ รวมถึงถ้านักเรียนสามารถฉีดได้ก็จะดี


ครู อาจารย์ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วกี่เปอร์เซ็นต์

ครู อาจารย์ทั้งภาครัฐ เอกชน ท้องถิ่นมีประมาณ 6-7 แสนคน น่าจะฉีดไปแล้วประมาณ 10% หรือ 6-7 หมื่นคน ยังเหลืออีกเยอะ ขณะที่รัฐบาลก็พยายามเร่ง ก็ต้องดูกระบวนการ แต่ตอนนี้ไม่ทันแล้ว หลายจังหวัดที่เคยจะให้มาเรียน On-site ก็ต้องเลื่อนไปเยอะ เพราะเรื่องความปลอดภัยของนักเรียนคือสิ่งสำคัญ ทุกที่ต้องหารือกับทางสาธารณสุขก่อนว่าจะเปิดได้หรือไม่ มีคนติดเชื้อหรือไม่ ไม่ใช่ว่าจะตัดสินใจด้วยตัวเอง เราต้องทำงานร่วมกับทางสาธารณสุข


เรียนออนไลน์ เราสามารถควบคุมเรื่องประสิทธิภาพการเรียนการสอนได้อย่างไร

ต้องยอมรับว่าเรื่องการเรียนออนไลน์ในไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราไม่มีทางเลือกอื่นมากมายมาแทนตรงนี้ หลายโรงเรียนพยายามช่วยเหลือนักเรียน เช่นหาอุปกรณ์ให้ แล้วใช้วิธีการต่างๆ กันไป สิ่งที่ทุกโรงเรียนอยากได้คืออินเทอร์เน็ตฟรีให้นักเรียนทุกคน ตอนนี้ก็พยายามคุยกับกระทรวง เพราะสำคัญมากถ้าจะให้เรียนออนไลน์ ไม่เช่นนั้น พ่อแม่ก็ต้องเสียเงินค่าอินเทอร์เน็ตตลอด ลำบากพ่อแม่


เทอมที่แล้ว ไม่หนักเท่าเทอมล่าสุดนี้

ใช่ สถานการณ์ไม่เหมือนเดิม โรงเรียนก็ต้องปรับตัวเองเยอะ


ในส่วนของสถาบันการเรียน จะไหวหรือไม่ในด้านค่าเทอม จะมีการช่วยเหลือส่วนนี้อย่างไร

ทางโรงเรียนเอกชนก็คุยกันทั้งประเทศ 4,000 กว่าโรงเรียน มีทั้งรับเงินอุดหนุนกับไม่รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล คือไม่เก็บค่าเทอมเลยส่วนนี้ก็มีที่ไม่เก็บค่าเทอมผู้ปกครอง และที่รับ 70% ก็อย่างเช่นบางที่ต้องเรียนออนไลน์ บางที่ก็ลดค่าว่ายน้ำ ลดค่ารับส่ง ค่าอาหารเดือนแรกเดือนที่สองเริ่มลดลงไปเยอะแล้ว เพียงแต่ว่า โรงเรียนยังไม่สามารถระบุได้ว่านักเรียนจะมาเรียนได้วันไหน อย่างกรุงเทพฯ ยังระบุไม่ได้เพราะเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม รวมถึง ปทุมธานี นนทบุรี คือถามว่าลดหรือไม่ คำตอบคือ ลดมูลค่าเยอะพอสมควร


การลดค่าใช้จ่ายให้กับผู้ปกครอง ถึง 50% หรือไม่

ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่ากี่เปอร์เซ็นต์ เพราะต้องรอโรงเรียนทุกโรงเรียนเปิดให้นักเรียนมาเรียนที่โรงเรียน ถึงจะรู้ว่าลดได้เท่าไหร่ อย่างบางที่ รู้แล้วว่าเปิด เขาจะประชุมกรรมการบริหารโรงเรียนและเชิญผู้ปกครองมาบอกว่าส่วนไหนไม่ได้ใช้เขาจะคืน แต่บางที่ หรือบางจังหวัดยังเปิดไม่ได้ เช่นที่ราชบุรี หรือที่อยุธยา ที่เลื่อนไปวันที่ 1 กรกฎาคมในการที่จะมาเรียน On-site ที่โรงเรียน ก็ยังตอบไม่ได้ว่าจะต้องคืนเงินเท่าไหร่ ดังนั้นต้องรอ แต่เท่าที่ถามทุกรายพร้อมที่จะคืน แต่ต้องรอว่าเปิดได้เมื่อไหร่ก็จะคืนตามอัตราส่วนที่ไม่ได้ใช้ แต่ส่วนใหญ่จะคืน เป็นค่าที่ไม่ได้ใช้ทั้งหมด ซึ่งเรามีคืน ลด ผ่อนผัน แล้วก็มีหนี้ค้างชำระที่ติดพันกันมา คือโรงเรียนเอกชนมี 4 ส่วนตรงนี้ที่จะช่วยผู้ปกครอง


เมื่อโรงเรียนต้องช่วยผู้ปกครอง โรงเรียนเองจะอยู่ไหวหรือไม่

เราเก็บค่าเทอม รวมถึงค่าธรรมเนียมต่างๆ มาก็ต้องนำมาใช้จ่าย อย่างเช่นครูต่างชาติ เราต้องทำสัญญา 1 ปี ถ้าเราไม่ต้องจ้างเขา เขาก็ต้องไปอยู่ที่อื่น ซึ่งบางส่วนก็มีค่าใช้จ่ายตรงนี้ รวมถึงเงินเดือนครู สอนไม่สอนก็ต้องจ่าย ไม่เหมือนค่าน้ำค่าไฟที่ลดลงจริง แต่ก็ต้องมาเสียค่าเงินเดือนครูที่เราต้องดูแลเขา หรือสวัสดิการต่างๆ ดังนั้นสิ่งที่ไม่ได้ใช้เราช่วยเต็มที่ แต่ก็อยากให้รัฐบาล อย่างโครงการคนละครึ่ง ลดค่าเทอม น่าจะมาช่วยตรงนี้ น่าจะมีประโยชน์กับผู้ปกครองคือช่วย 1,000-2,000 บาท โรงเรียนก็พร้อมที่จะลดค่าเทอมให้เท่าที่อยู่ได้ คือต้องไปด้วยกันทั้ง 2 ขา คือขาผู้ปกครองและขาโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนบางแห่งต้องไปหาเงินกู้เพื่อดูแลโรงเรียน เพราะโรงเรียนไม่เปิดโรงเรียนก็ไม่มีรายได้ รายได้เช่นรายได้จากขายอาหารก็ไม่มี ก็ต้องหยุดจ้างคนงานที่มาทำ ก็ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้น


ตอนนี้มีโรงเรียนที่ปิดกิจการไปเลย มากหรือไม่

ปีหนึ่งมีปิดเฉลี่ย 60-70 โรงเรียน ส่วนปีนี้อาจจะปิดกิจการมากกว่าเดิม เพราะสถานการณ์แบบนี้ไปต่อไม่ไหว และผู้ปกครองก็ไม่อยากส่งลูกมาเรียน เพราะห่วงเรื่องความปลอดภัย ไม่ว่าจะโรงเรียนรัฐหรือเอกชน คือเขาห่วงลูกเขา ต้องเข้าใจ เพราะมาเรียนต้องขึ้นรถรับส่ง บางทีก็มีการถอดแมสก์ จึงทำให้บางโรงเรียนต้องปิดกิจการ และบางที่มีเงินหมุนเวียนไม่ทัน เพราะช่วงนี้ต้องใช้เงินในการจ่าย ถ้าคืนผู้ปกครองก็เป็นล้าน ก็หมุนเวียนไม่ทัน อาจจะได้แหล่งเงินกู้จากกระทรวงศึกษาธิการมาช่วยดูแลตรงส่วนนี้ ซึ่งแน่นอนว่า คงจะมีโรงเรียนปิดกิจการอีกมาก แต่จุดประสงค์ใหญ่ของโรงเรียนเอกชนคือช่วยรัฐบาล ช่วยผู้ปกครอง ใครมีปัญหาอะไรให้ไปคุยกันที่โรงเรียน

เฉพาะยอดที่ผ่อนผันค่าเทอมปีที่แล้วเกือบ 3 พันล้านบาทที่ผู้ปกครองไม่มีกำลังจะจ่าย แต่โรงเรียนก็ให้ผ่อน คือช่วยเหลือผู้ปกครอง บางคนก็ให้เป็นทุนการศึกษา


จากนี้ถ้ามองดูธุรกิจสถาบันการศึกษา ถือเป็นธุรกิจไม่น่าทำหรือไม่

คือถ้าไปได้ก็คือโรงเรียนนานาชาติ ในขณะที่โรงเรียนเอกชนจะน้อยลง แต่จะมีโรงเรียนนานาชาติที่จะเพิ่มขึ้น ผู้ปกครองที่ไม่ส่งลูกไปเรียนต่างประเทศก็ส่งมาเรียนที่โรงเรียนนานาชาติ ในช่วงโควิด-19 นี้ โรงเรียนนานาชาติจะไปรอดกว่า แต่ต้องใช้ทุนเยอะ คือต้องปรับเปลี่ยนตัวเองพอสมควร


ตอนนี้ทางโรงเรียนต้องการอะไรมากที่สุด

เราต้องการช่วยผู้ปกครองเต็มที่ ทุกวิถีทาง แต่ว่าเราก็อยากให้รัฐบาลเข้ามาช่วยผู้ปกครองด้วย เช่นโครงการคนละครึ่งจ่ายค่าเทอม ซึ่งเมื่อผู้ปกครองได้ตรงนั้นก็มาจ่ายค่าเทอมโรงเรียน ฉะนั้นรัฐบาลได้ ผู้ปกครองได้ โรงเรียนได้ ก็จะวินๆ ทั้งหมด คืออยากให้รัฐบาลลงมาช่วยจ่ายในส่วนที่ต้องชำระ แต่ส่วนที่โรงเรียนลดให้ไม่ต้องชำระ เช่นค่าอาหารโรงเรียนที่ไม่ต้องทานในเดือนมิถุนายน ค่ารถรับส่ง ค่าแอร์ ส่วนพิเศษเหล่านี้ ก็จะลดไป ไม่ต้องจ่ายตรงนี้

อย่างไรก็ยังเชื่อว่าการเรียนในโรงเรียนจะดีที่สุดกว่าการเรียนในอีกหลายช่องทางที่เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 นี้ เพียงว่าตอนนี้มันเลือกไม่ได้ ส่วนเรื่องการเปิดเรียน คงต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของนักเรียนเป็นหลัก อย่างโรงเรียนที่อยู่ตามต่างจังหวัดที่ไม่มีการระบาดก็มีการเปิดภาคเรียนไปกันบ้างแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่อีกหลายจังหวัดก็น่าห่วง เนื่องจากมีคนติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก

140 views
bottom of page