top of page
312345.jpg

ธุรกิจอ่วม! แบกรับค่าจ้างใหม่ศึกหนักส่งท้ายปี 65


ปรับขึ้นค่าแรง 1 ตุลาคม อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานมากจะอ่วมสุด ตามมาด้วยร้านอาหาร หาบเร่ แผงลอย ที่รายได้-กำไรน้อยอยู่แล้ว จะต้องแบกต้นทุนค่าแรงลูกจ้างที่เพิ่มขึ้น แต่ที่สุดแล้ววิกฤตรอบนี้ถือเป็นวิกฤตของผู้ประกอบการ ที่เจอปัญหาซ้อนปัญหา ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ วิกฤตโควิด วิกฤตเงินเฟ้อ วิกฤตต้นทุน และล่าสุดคือวิกฤตแรงงาน-ค่าแรง สุดท้ายจะสะท้อนไปยังราคาสินค้า-บริการที่เพิ่มขึ้น และผู้ที่แบกภาระตัวจริงคือประชาชนที่เป็นผู้บริโภค เตือน...เดือนกันยายนปัญหาต่างๆ ที่รุมเร้าไทยจะชัดเจนขึ้น และจะหนักขึ้นในช่วงปลายปี เพราะภาคส่งออกจะถดถอย จากเหตุคู่ค้า-ผู้ซื้อรายใหญ่ของไทยมีความอ่อนแอทางการเงิน-เศรษฐกิจ เงินไหลออกจะมากกว่าเงินไหลเข้า แถมด้วยปัจจัยแทรกซ้อนทางการเมือง ที่เดิมคนมีอำนาจยังแก้ปัญหาไม่ถูกทาง พอเจอภาวะสุญญากาศทางการเมืองทำให้แย่ไปกันใหญ่ ทางที่ดีที่สุดคือสร้างเซฟโซนด้วยการกินอยู่อย่างประหยัด เพื่อเก็บเงินสดไว้ใช้ในยามฉุกเฉิน


Interview: ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้าง ผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย


ในฐานะผู้ประกอบการ ภาวะต่างๆ ในขณะนี้ทำให้เหนื่อยใจหรือไม่

ก็เป็นเรื่องของการทำธุรกิจ ซึ่งเศรษฐกิจขนาดนี้ทุกคนก็ทราบดีว่าเราเจอวิกฤตซ้อนวิกฤต วัตถุดิบก็ราคาเพิ่ม ตลาดก็หดตัว กำลังซื้ออ่อน ตอนนี้มาเจอค่าจ้างที่ปรับขึ้น ซึ่งแรงงานก็เป็นหนึ่งในปัจจัยการผลิต และค่าจ้างก็เป็นต้นทุนของการผลิต การปรับค่าจ้างครั้งนี้ จะกระทบมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าสัดส่วนของอุตสาหกรรมที่เราทำหรือธุรกิจที่เราทำ ถ้าภาคบริการเขาใช้แรงงานมากหรือน้อย บางแห่งใช้ 200 คน บางแห่งใช้ 300 คน หรือบางแห่งเป็นพันคน

ขณะเดียวกัน การขึ้นค่าจ้างครั้งนี้ขึ้นต่ำสุด 4.81% และสูงสุด 6.5% จังหวัดที่สูงสุดคือระยอง ภูเก็ต ชลบุรี ก็ปรับขึ้นไป 354 บาท เพิ่มขึ้น 18% ส่วนกรุงเทพฯ 353 บาท ขึ้น 22 บาท ส่วนจังหวัดที่ต่ำสุดจะเป็นพวกยะลา ปัตตานี นราธิวาส อุดรธานี น่าน ขึ้น 15 บาท คราวนี้เราจะเห็นว่าช่วงของเขาถ้าเป็นร้อยละก็คือร้อยละ 4.81 ถึงสูงสุดคือร้อยละ 6.65 เฉลี่ยก็ 5% กว่าๆ เดิมทีเดียวผู้ประกอบการก็ห่วงว่าจะปรับขึ้นไปถึง 492 บาท แล้วเขาจะเอาการเมืองมาเล่นเป็นประชานิยมหรือไม่ เพราะถ้าขึ้นตรงนั้นเท่ากับเพิ่มวันหนึ่ง 166 บาท หรือเพิ่มขึ้นเดือนละ 5,000-6,000 บาท อันนี้บอกเลยว่าถ้าขึ้นขนาดนั้นเจ๊งแน่นอน

ทีนี้ลองมาโฟกัสที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลซึ่งมีการจ้างงานประมาณ 50% ของประเทศ ขึ้นจาก 331 บาทต่อวัน เป็น 353 บาท คือเพิ่มขึ้น 22 บาท หรือ 6.65% เดิมที่เขาเปรยจะขึ้น 8% ก็ประมาณ 26.50 บาท ก็แสดงว่าการขึ้นครั้งนี้ มีการเจรจากัน มีการรอมชอมกัน จริงๆ ธงเขาปักไว้ที่ 360 บาทสำหรับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่นายจ้างก็บอกไม่ไหว สูงสุดรับได้ไม่เกิน 350 บาท แล้วมีการประนีประนอมกันออกมาที่ 353 บาท

คราวนี้ในอัตรา 353 บาท ถ้ากลับมาดูแล้วจะเป็นค่าเฉลี่ยอย่างไร โดยค่าเฉลี่ยสำหรับอุตสาหกรรมทั่วไปก็น่าจะเพิ่มต้นทุนสัก 1.5-2% ตรงนี้คือต้นทุนรวมของทั้งหมด ทั้งวัตถุดิบทั้งอะไรด้วย ทีนี้จะมีผลต่อยอดขายก็ประมาณ 1% ถึงไม่เกิน 1.5% และอยู่ที่ว่าโรงงานนั้นเขาใช้แรงงานเข้มข้นมากแค่ไหน แล้วสินค้าที่เขาขายมีกำไรหรือไม่ หากเป็นอุตสาหกรรมแปรรูปเกษตร อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ซึ่งกำไรอาจไม่เยอะ แต่ใช้คนเยอะ เช่นพวกโรงงานสับปะรด โรงงานปลากระป๋อง อะไรพวกนี้ เขาต้องใช้คนเยอะ และถ้าไปคิดว่าค่าจ้างเวลาปรับไปกระทบเอสเอ็มอีรายเล็กๆ ไม่ใช่ รายใหญ่ๆ เขาใช้คนมากกว่า อย่างการ์เมนต์ เขาใช้คน 2,000-3,000 คน ส่วนอุตสาหกรรมปลากระป๋องไม่น้อยกว่า 5,000 คน พวกปลาทูน่าบรรจุกระป๋อง พวกนี้บางทีกำไรมันต่ำมาก เพราะราคาขายไม่มาก ซึ่งอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานจำนวนมาก เป็นเพราะไม่ค่อยมีเทคโนโลยี และก็มีคู่แข่งเยอะ พวกนี้จะถูกกระทบเยอะ

มีคนมาถามผมว่ามองอย่างไร ก็อยู่ที่มองจากมุมไหน มองจากลูกจ้างเพิ่ม 22 บาท กินก๋วยเตี๋ยวยังไม่ได้เลย กินข้าวแกงได้ครึ่งชามเอง พอไปถามนายจ้างขึ้น 22 บาทต่อวัน เดือนหนึ่ง 660 บาท ถ้าคุณมีคน 100 คน ก็ 66,000 บาท ถ้ามีคน 1,000 คน ก็ 660,000 บาท ถ้ามีคน 2,000 คน ก็เป็น 1.2-1.3 ล้านบาทแล้ว พวกนี้ถ้าเป็นอุตสาหกรรมที่เหนื่อยอยู่แล้ว ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ค้าขายก็ไม่ดี ซึ่งช่วงที่ผ่านมาได้คุยกับผู้ประกอบการ เขาบอกแย่เลย จะรอดหรือไม่รอด มันก็อยู่ที่ว่าคุณมองมุมไหน

แต่หากเป็นอุตสาหกรรมไฮเทค ใช้หุ่นยนต์ เหล่านี้ การกระทบเขาจะน้อย เพราะเขาใช้แรงงานน้อย เช่น อุตสาหกรรมประกอบยานยนต์ รถแข่งราคาคันละเป็นล้าน ใช้คนไม่เยอะ และพวกนี้เขาตั้งราคาแบบปีหนึ่งก็ปรับราคาที อย่างนี้เป็นต้น


การปรับค่าแรงที่ไปกระทบต่อต้นทุนรวม 1-2% ในที่สุดผู้ประกอบการก็จะผลักภาระให้กับผู้บริโภค

คือที่สุดแล้วต้นทุนค่าจ้างที่เพิ่มขึ้น ก็จะถูกกระจายต่อไปยังต้นทุน ทำให้ต้นทุนกลายเป็นราคา ผู้บริโภคก็เป็นแรงงาน แต่ถ้าดูบ้านเราในระดับนี้ไม่ได้บอกว่าสูงหรือต่ำ เพราะถ้าพูดว่าต่ำ นายจ้างเขาจะด่าผม เพราะเป็นผู้ประกอบการด้วยกัน ถ้าระดับนี้โดยใช้กรุงเทพฯ ปริมณฑลเป็นตัวตั้ง ก็จะเพิ่มต้นทุนรวม 1.5-2% ตรงนี้ขึ้นอยู่กับแต่ละอุตสาหกรรมว่าจ้างคนมากหรือน้อย และเป็นอุตสาหกรรมที่มีกำไรหรือเปล่า มีกำไรมากน้อย

ทีนี้เวลาการปรับต้องดูก่อนว่ามีธุรกิจไมโคร เวลาเราแยกเอสเอ็มอี จะต้องไปแยกไมโครด้วย ซึ่งไมโครคือพวกรายย่อยจริงๆ พวกหาบเร่ แผงลอย ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านอาหาร สมมติคุณมีลูกจ้าง 3 คน ร้านอะไรก็ได้ ปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นคนละ 660 บาท รวม 3 คน เดือนหนึ่งก็ 2,000 บาทแล้ว ซึ่ง 2,000 บาทนั้นเจ้าของร้านเขารับเต็มๆ เลย เพราะพวกนี้รายได้เขาไม่เยอะ กำไรก็ไม่เยอะ 2,000 บาทสำหรับเขามีค่า เพราะยากที่เขาจะไปปรับเพิ่มราคาก๋วยเตี๋ยว ราคาข้าวแกง แม้อาจจะเพิ่ม 1-2 บาท แต่สำหรับประเทศไทยมันแปลก พวกร้านอาหารข้างถนนบ้านเรา ถ้ามีการปรับจะปรับทีละ 5-10 บาท ทั้งที่ต้นทุนอาจจะเพิ่ม 1-2 บาท จากค่าแรงที่ปรับขึ้นไป ก็ควรจะปรับราคา 1.5 บาท แต่ไปปรับที 5 บาท ตรงนี้เราอาจจะเซได้ แต่ผักอะไรก็ยังแพง

คราวนี้สำหรับอุตสาหกรรมจะคนละเรื่อง ต้นทุนระดับนี้อยู่ในยอดขาย 1-1.5% ตรงนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะสินค้า ต้องบอกก่อน เดี๋ยวบางท่านไม่เข้าใจ บอกว่าของเขาแพงกว่า มันอยู่ที่ลักษณะของการผลิตสินค้าคุณว่าใช้คนมากหรือไม่ เพราะการปรับลงไปมันยาก ซึ่งเวลาคุณปรับลงไป ปรับนิดๆ หน่อยๆ ลงไป 1% ในตัวสินค้า บางทีช่องทางจำหน่ายมันอยู่เมกะสโตร์ คอนวีเนียนสโตร์ทั้งหลาย ห้าง มีไม่กี่บริษัทที่เราเห็น มีไม่กี่ตระกูลสำหรับผู้ประกอบการกลุ่มค้าปลีกของเรา แค่ 5-6 ตระกูลที่คุมค้าปลีกเรา 60% ดังนั้น การปรับลงไปข้างล่างมันยาก อันดับหนึ่งก็คือยาก คงจะปรับไม่ได้ คือของที่เขาขายไม่ได้เยอะอยู่แล้ว

ส่วนตัวทำโลจิสติกส์ เห็นภาพเลย พวกอุตสาหกรรมอะไรต่างๆ การปรับก็คงทำได้ยาก แต่ถ้าเขาจะปรับสูง อาจจะมองปัจจัยอื่น วัตถุดิบแพงขึ้น ที่เราไม่ค่อยพูดกันว่าของมันแพงๆ คือบาทมันอ่อนค่า ต้นปีอยู่ที่ 33 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ ส่วนวันนี้ประมาณ 36 บาท มันเพิ่ม 3 บาท ทุกๆ การนำเข้า 1 เหรียญนั่นก็คือเพิ่มขึ้น 3 บาท ประมาณ 6-7% สูงกว่าค่าจ้างที่ปรับขึ้นอีก ดังนั้น การนำเข้ามันเป็นวัตถุดิบทั้งนั้น คืออยู่ในเสื้อผ้าคุณ บอกผลิตในเมืองไทย แต่ต้องใช้น้ำมันหรือไม่ ขณะที่น้ำมันก็แพงอยู่แล้ว และวัตถุดิบก็ราคาสูงขึ้น แถมมาถึงเมืองไทย จาก 33 บาทช่วงต้นปี พอมาวันนี้เป็น 36 บาท ตรงนี้กลายเป็นต้นทุนสินค้า และยังต้องบวกแวตเข้าไปอีก รัฐบาลบอกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเกินเป้า และที่เกิดเป้าเพราะคืออะไร คือเงินบาทอ่อนค่า

สิ่งนี้ เมื่อบวกกับเรื่องต้นทุน บวกค่าแรงเข้าไป และอีกหลายอย่างบวกเข้าไป ซึ่งในเดือนนี้ก็อาจจะได้เห็นการทยอยปรับราคาสินค้า อย่างบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเริ่มด้วยการปรับขึ้น 1 บาท เป็นต้น ที่ห่วงคือเขาอยากปรับราคาตามที่เขาอยากได้คือ 2 บาท แต่ปรับไม่ได้ แล้วก็อาจจะขาดทุน


มีการปรับราคาสินค้า ขณะที่กำลังซื้อก็ไม่ดี

ก็มันเป็นวิกฤตของเรา คือบ้านเรามันเป็นวิกฤตเงินเฟ้อที่เกิดจากคนไม่มีเงิน มันแปลกนะ บางทีเงินเฟ้อมันเกิดจากอุปสงค์ คนมีเงินก็ซื้อของเยอะ เหมือนซื้อเยอะจนเงินเฟ้อ แต่ของเรามันเฟ้อจากคนมันจนอยู่แล้วจากเรื่องโควิด เฟ้อจากน้ำมัน จากซัพพลายเชนที่ขาดแคลน ที่เราพูดกันถึงซัพพลายเชน ดิสรัปชัน ข้าวสาลีที่อยู่ในบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องนำเข้ามาจากยูเครนกับรัสเซีย น้ำมันอยู่ดีๆ ก็ขึ้นพรวดขึ้นมา ทุกอย่างสูงขึ้นหมดเลย ก็เลยทำให้เงินเฟ้อสูงประมาณ 7.6% ทำให้รายได้ที่แท้จริงหายไปประมาณ 10% แล้วพอเรามาเจอตรงปรับขึ้นค่าแรงอีก ก็เป็นวิกฤต ซึ่งไม่ใช่วิกฤตของประชาชน แต่เป็นวิกฤตของนักธุรกิจเขา สินค้าที่ต้องแข่งขันกัน ไม่ได้ผูกขาด เขาก็เหนื่อย

ดังนั้น หนี้ธุรกิจก็สูง หนี้ครัวเรือนก็สูง คือทั้ง 2 เด้ง ไม่มีใครได้ ยกเว้นเจ้าสัว ที่ผูกขาดตลาด แต่สำหรับผู้ประกอบการดูแล้วส่วนใหญ่ก็หนี้เยอะ เป็นหนี้ในรอบ 16 ปี หนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจ แล้วเอ็นพีแอลที่ซุกอยู่เป็นหลัก 1.1 ล้านล้านบาท หนี้เสียที่เกิดจาก 3 เดือนยังไม่จ่ายต้นจ่ายดอก

แล้วปลายปีจะยิ่งหนัก เพราะประเทศคู่ค้าของเราจะอ่อนแอหมด ซึ่งเราทราบกันดีว่าตอนนี้สหรัฐอเมริกามีปัญหามาก เศรษฐกิจเข้าสู่ช่วงถดถอย อังกฤษก็ยิ่งหนัก เงินเฟ้อ 18% หนักกว่าเยอะ ขนาดไม่มีข้าว ส่วนจีนเราก็ทราบดี ว่ามีปัญหาเรื่องอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่กัมพูชาที่เขากำลังก่อสร้างสีหนุวิลล์ เป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบพัทยาเรา ตอนนี้สีหนุวิลล์ตึกร้างทั้งเมืองเลย ซึ่งเมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศในความลำบาก ไทยเราก็ยังลำบากน้อยกว่าเขา คือรัฐบาลเรายังพอมีเงินที่จะไปกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยปีที่แล้ว 1.5 ล้านล้านบาท และหลังๆ ก็ยังอัดฉีดเงินคนละครึ่ง แต่ถ้าเงินหมดกระเป๋าก็ต้องระวัง ตอนนี้เงินมันเริ่มไหลออก ส่งออกเราการไหลตัวมันน้อยกว่านำเข้า เงินก็เริ่มไหลออก ถ้ารัฐบาลเงินหมดกระเป๋าจะเริ่มมีปัญหา และตอนนี้รัฐบาลก็ไม่มีคนแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เพราะมัวแต่ยุ่งการเมือง บิ๊กป้อมจะมีอำนาจจริงแค่ไหน

ตอนนี้เราลุ้นการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญกันอยู่ คือเรามีปัจจัยแทรกซ้อนของเราเอง สมมติรัฐธรรมนูญตีความเป็นอย่างอื่น การเฟ้นหานายกรัฐมนตรีต้องใช้เวลา แล้วในช่วงเดือนสองเดือนก็จะกลายเป็นสุญญากาศ ไม่มีคนแก้ปัญหา ปกติคนที่เคยแก้ปัญหาก็แก้ไม่ถูกทางอยู่แล้ว คราวนี้ไม่มีคนแก้ ก็ยิ่งหนักเข้าไปอีก ก็น่าห่วง และนี่ยังไม่งอม เป็นแค่หนังตัวอย่าง ซึ่งส่วนตัวอยู่ในภาคธุรกิจถือว่าเดือนสิงหาคมนี้หนักที่สุด แล้วตั้งแต่เดือนกันยายนจะเริ่มหนัก เพราะคู่ค้าเราอ่อนแอ เราเป็นประเทศส่งออก คู่ค้าอ่อนแอหมดอย่างจีนก็มีปัญหา แล้วเราจะอยู่อย่างไร

ส่วนตัวมีธุรกิจอยู่ภาคใต้ ราคายางควรจะแพงจากราคาน้ำมันแพง แต่ทำไมราคายางลง คือพอจีนไม่ซื้อก็คือไม่ซื้อจริงๆ ตลาดจีนหายไป แล้วท่องเที่ยวอย่าคิดว่าจะฟื้นง่ายๆ เดือนตุลาคมจีนเขาอาจจะเปิดประเทศ แต่คนที่จะออกมาเที่ยวมีเงินหรือไม่ ตอนนี้ตลาดท่องเที่ยวเราก็พึ่งกลุ่มอินเดีย ที่ตอนนี้มากันเต็มเมืองแล้ว และพวกมีเงินจากยุโรป ส่วนจีนที่ล้งเล้งแต่กลุ่มนี้กระเป๋าหนัก ซึ่งก็หายไป จีนนิสัยเหมือนคนไทย ไปที่ไหนก็ต้องซื้อของไปฝากชาวบ้าน

ดังนั้น ก็อย่าคิดว่าอะไรจะเป็นอย่างที่คิด เพราะว่าคู่ค้าเรา ตลาดของเรามันอยู่ในสภาพตลาดวาย คือไม่คึกคัก และปีหน้าจะหนักกว่านี้อีก ไอเอ็มเอฟเขาก็บอกปีหน้าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวต่ำกว่าปีนี้อีก

ทั้งนี้ อยากจะบอกว่า หากใครบอกให้คุณไปใช้คนละครึ่ง ไปใช้จ่ายอะไร ผมว่าควรเก็บเงินไว้ให้ดีเถอะ เราก็ไม่รู้ว่าที่ทำงานของเรายังมั่นคงอยู่หรือไม่ คือตอนนี้ถ้าเซฟโซนคือต้องเก็บเงินไว้บ้างก็น่าจะดี ทางภาษาธุรกิจเขาบอกว่าต้องบริหารความเสี่ยง คือความไม่แน่นอนสูง แต่อย่างน้อย 1 ตุลาคม 2565 ผู้ใช้แรงงานได้เงินเพิ่มแน่นอน



39 views
bottom of page