top of page
379208.jpg

ยืนเหนือ 1,633 จุดได้ สั้นๆยังพอไหว...ตลาดรับรู้เฟดขึ้นดอกเบี้ยแล้ว !


หลายวันที่ผ่านมานี้มีการพูดถึงเรื่องผลกระทบต่อการลงทุนจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ระบุท่าทีที่ชัดเจนว่าจะเข้าสู่วัฏจักร หรือ Cycle ของการเริ่มขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือ Fed Funds Rate ในเดือนมี.ค. 65 นี้ (อีก 2 เดือน) ซึ่งเท่าที่สังเกตดูความเห็นส่วนใหญ่จะมองว่าเป็นปัจจัยลบกับตลาดหุ้น และกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยงอื่นมากกว่า ทั้งนี้โดยปกติตลาดหุ้นมักจะสะท้อนความเห็นของนักลงทุนในตลาดโดยรวม หรือที่เราเรียกว่า Consensus หรือ Street ต่อมุมมองในอนาคตเป็นสำคัญ ... แต่คำถามคือ เรื่องการขึ้นดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 65 และลดขนาดมาตรการ QE รวมถึงแผนการลดงบดุลของเฟดมีนักลงทุนคนไหนไม่ทราบบ้าง...ผมเชื่อว่าเกือบทุกท่านทราบอยู่แล้ว และทราบมาอย่างน้อยๆ ก็ตั้งแต่การประชุม FOMC ครั้งล่าสุดเมื่อ 15 ธ.ค. 64 แล้ว

ทั้งนี้โดยส่วนตัวนะครับ อยากให้แบ่งการตอบสนองของตลาดหุ้นต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็น 2 ช่วง คือ ช่วงก่อนการขึ้นดอกเบี้ย และหลังการขึ้นดอกเบี้ย เพราะมุมมอง และปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาของนักลงทุนแตกต่างกันนะครับ ทั้งนี้ถ้าพิจารณาเฉพาะการตอบสนองของตลาดหุ้นก่อนการขึ้นดอกเบี้ย ผมเชื่อว่าการส่งสัญญาณการกลับมาขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเป็นครั้งแรกหลังยุคดอกเบี้ยต่ำทุกครั้ง เป็นปัจจัยบวกมากกว่า เพราะแม้จะสะท้อนภาวะเงินเฟ้อที่ขยับขึ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย ตัวเลขสถิติสะท้อนชัดเจนนะครับ เพราะถ้าพิจารณาจากสถิติของตลาดหุ้นสหรัฐก่อนที่เฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังยุคดอกเบี้ยต่ำ 6 ครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 1986 พบว่าในช่วง 3 และ 1 เดือนก่อนหน้าที่เฟดจะเริ่มขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรก ตลาดหุ้นสหรัฐทำผลงานได้ดีมาก โดย S&P500 ปรับตัวขึ้น 4.4% ก่อนการขึ้นดอกเบี้ย 3 เดือน และ 2.1% ก่อนการขึ้นดอกเบี้ย 1 เดือน

ดังนั้นจากสถิติในอดีตจะเห็นได้ว่าก่อนที่เฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังยุคดอกเบี้ยต่ำ 6 ครั้งล่าสุดตั้งแต่ปี 1986 ตลาดหุ้นสหรัฐไม่ได้ตอบสนองในด้านลบอย่างที่หลายคนกังวล อาจจะเป็นเพราะนักลงทุนส่วนใหญ่ให้น้ำหนักกับ Benefits ที่ได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น มากกว่า Costs ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ดีอันนี้เป็นเพียงแค่มุมมองของผม และตัวเลขทางสถิติของตลาดหุ้นสหรัฐในช่วงก่อนที่เฟดจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกหลังยุคดอกเบี้ยต่ำเท่านั้นนะครับ ขณะที่ภาพของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐภายหลังจากที่เฟดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้วนั้น จะเป็นอย่างไรอันนี้คนละเรื่องนะครับ เพราะขึ้นอยู่กับว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น จะมากพอ และต่อเนื่อง จนสามารถชดเชยกับ Costs ที่เพิ่มขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งการลดสภาพคล่องออกจากระบบเศรษฐกิจ และตลาดการเงินของเฟดได้หรือไม่

Momentum ตลาดหุ้นโลก และหุ้นไทยยังได้อยู่ ! ขณะที่ในเชิงเทคนิคการที่ดัชนี MSCI ACWI ยังคงเคลื่อนไหวอยู่เหนือเส้นค่าเฉลี่ยทุกเส้นได้ รวมทั้งยังคงรักษารูปแบบของ Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้นได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ในปัจจุบันตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นชัดเจน

ทั้งนี้ถ้าเราเอารูปแบบของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ หรือ Moving Average (MA) มาเป็นเครื่องมือที่ใช้บ่งบอกความคงอยู่ของแนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกในปัจจุบัน การที่ล่าสุดดัชนี MSCI ACWI ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วันที่สะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มราย 3 เดือน และ EMA 200 วันที่สะท้อนความคงอยู่ของแนวโน้มรายปีได้ ก็สามารถระบุได้เลยว่าแนวโน้มขาขึ้นในระยะ 3 เดือน และ 1 ปีของตลาดหุ้นโลกยังคงอยู่ ส่วนตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้มีมุมมองต่อสถานการณ์โควิดดีกว่าที่คาด เนื่องจากตัวเลขยอดติดเชื้อโควิดไม่ได้เร่งตัวสูงขึ้นมากนักและน้อยกว่ากรณี Best Case จากการประมาณการโดย ศบค. ทำให้ไม่มีแนวโน้มที่ประเทศไทยจะกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกทั้งความรุนแรงของโรค พบว่าน้อยกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้านี้มาก

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมี Flow ไหลเข้าจากต่างชาติอย่างต่อเนื่อง หลังจากการวิจัยต่อโอไมครอนของหลายสถาบันออกมาในทิศทางบวก ขณะที่ล่าสุดรัฐบาลเตรียมออกแพ็กเกจการช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน ในภาวะสินค้าราคาแพง โดยจะมีการพิจารณาโครงการคนละครึ่งเฟส 4 บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมถึงการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเพื่อออกแพ็กเกจรวม เพื่อดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยคาดการณ์ว่าจะเลื่อน Timeline มาเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่จะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค. 65

ดังนั้นในเชิงกลยุทธ์ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,633 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาขึ้นจะยังคงอยู่ แต่ถ้าปิดต่ำกว่า 1,625 จุดลงมา การลงทุนระยะ 3 เดือนค่อยลดพอร์ตออกมาว่ากันใหม่ ส่วนการลงทุนระยะ 1 ปี ตราบใดที่ SET ยังคงยืนเหนือ EMA 200 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,591 จุด) ได้ ยังไม่มีอะไรน่ากังวลครับ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) เมื่อ SET ยังคงปิดเหนือ 1,600 จุดได้ เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,600 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club



8 views

Comments


bottom of page