รัฐบาลจีนเอาจริงดันเศรษฐกิจขึ้นมาใหม่ !
ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้น แต่ผู้นำในการปรับตัวขึ้นเปลี่ยนมาเป็นตลาดหุ้นเอเชียที่นำโดยตลาดหุ้นแทนแล้ว โดยล่าสุดดัชนีเซี่ยงไฮ้คอมโพสิตตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นทำสถิติดีที่สุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 51 หรือในรอบ 16 ปี หลังทางการจีนประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ประกอบกับข้อมูลภาคการผลิตของจีนออกมาหดตัวน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยตลาดหุ้นจีนได้แรงหนุนจากการที่ทางการประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้เตรียมสั่งการให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเดิมที่ยังผ่อนไม่หมด (existing home loan) ก่อนวันที่ 31 ต.ค. 67 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่มีเป้าหมายเพื่อฟื้นฟูตลาดอสังหาริมทรัพย์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้จีนได้ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อพยุงเศรษฐกิจให้รอดพ้นจากภาวะเงินฝืด โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 0.50% สู่ระดับ 6.6% มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสภาพคล่องให้กับสถาบันการเงิน และสนับสนุนความพยายามในการกระตุ้นเศรษฐกิจจีนที่กำลังชะลอตัวลงในขณะนี้
นอกจากนี้ PBOC ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตร (Reverse Repo Rate) ระยะ 7 วัน ลงจากระดับ 1.7% สู่ระดับ 1.5% ซึ่งการปรับลด RRR และปรับลดอัตราดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการปรับนโยบายการเงิน เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มั่นคงของจีน รวมทั้งการปรับลด RRR จะช่วยปลดปล่อยสภาพคล่องระยะยาวมูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านหยวนให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยให้ธนาคารเหล่านี้สามารถปล่อยเงินกู้ได้มากขึ้นและซื้อพันธบัตรรัฐบาลที่นำออกจำหน่ายเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน
ทั้งนี้นายกรัฐมนตรี หลี่ เฉียง ของจีน เน้นย้ำให้ทุกฝ่ายร่วมกันดำเนินการตามนโยบายและแผนงานต่างๆ ของรัฐบาลกลาง เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในปีนี้ ในโอกาสเป็นประธานการประชุมฝ่ายบริหารของคณะมนตรีแห่งรัฐ (State Council) หรือคณะรัฐมนตรีจีน เพื่อหารือเกี่ยวกับการผลักดันนโยบายต่างๆ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการฝ่ายการเมือง (โปลิตบูโร) ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้พิจารณาประกาศบังคับใช้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา และคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ ให้คำมั่นว่าจะเพิ่มการใช้จ่ายด้านการคลังเพื่อให้จีนบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจและยับยั้งการทรุดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์
ล่าสุดกรุงปักกิ่งกลายเป็นเมืองขนาดใหญ่ล่าสุดของจีนที่ประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบสำหรับผู้ซื้อบ้าน หลังจากรัฐบาลกลางของจีนได้เรียกร้องให้มีการใช้มาตรการพยุงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังชะลอตัวลงในขณะนี้ โดยคณะกรรมาธิการการเคหะของกรุงปักกิ่งระบุในแถลงการณ์ว่า กรุงปักกิ่งจะผ่อนคลายกฎระเบียบด้วยการอนุญาตให้ประชาชนที่ไม่มีถิ่นที่อยู่ในปักกิ่งสามารถซื้อบ้านในเขตที่อยู่อาศัยหลักภายในถนนวงแหวนที่ห้าได้ เมื่อประชาชนเหล่านี้จ่ายเงินประกันสังคมหรือภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาขั้นต่ำเป็นเวลา 3 ปี แทนที่จะเป็น 5 ปีตามเกณฑ์ปัจจุบัน
นอกจากนี้ กรุงปักกิ่งยังได้ปรับลดสัดส่วนเงินดาวน์ขั้นต่ำสำหรับบ้านหลังแรกลงเหลือ 15% และ 20% สำหรับบ้านหลังที่สอง ขณะเดียวกันก็จะแนะนำให้ธนาคารพาณิชย์ปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านเดิมที่ยังผ่อนไม่หมด (existing home loan) ให้ใกล้เคียงกับระดับของสินเชื่อใหม่ โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นอุปสงค์ในตลาดที่อยู่อาศัย มาตรการใหม่เหล่านี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 67 ซึ่งเป็นวันแรกของเทศกาลวันหยุดยาว ฉลองวันชาติของจีน
ความเคลื่อนไหวของกรุงปักกิ่งมีขึ้นหลังจากเมืองขนาดใหญ่อีก 3 แห่งของจีน ซึ่งได้แก่ เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว และเซินเจิ้น ได้พากันประกาศผ่อนคลายกฎระเบียบการซื้อบ้านไปแล้วก่อนหน้านี้
นอกจากนี้ ตลาดหุ้นจีนยังได้ปัจจัยหนุนหลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ก.ย. 67 อยู่ที่ระดับ 49.8 เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค. 67 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 49.1 เดือน ก.ค. 67 ที่ระดับ 49.4 และเดือน มิ.ย. 67 ที่ระดับ 49.5 โดยถึงแม้ว่าดัชนีอยู่ต่ำกว่า 50 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนยังคงอยู่ในภาวะหดตัว แต่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ย. 67 ของจีนหดตัวลงน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ระดับ 49.5
สถานการณ์ตะวันกลางกดดันตลาดหุ้นโลกระยะสั้น ! อย่างไรก็ดีตลาดหุ้นโลกในภาพรวมนำโดยตลาดหุ้นสหรัฐอาจมีโอกาสพักตัวระยะสั้นๆ ได้บ้าง เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ตึงเครียดในตะวันออกกลาง หลังจากอิหร่านได้ยิงขีปนาวุธหลายสิบลูกโจมตีอิสราเอล เพื่อตอบโต้อิสราเอลที่ใช้ปฏิบัติการสังหารผู้นำกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ซึ่งเป็นพันธมิตรของอิหร่าน ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้สั่งการให้กองทัพสหรัฐ เข้าช่วยเหลืออิสราเอลในการป้องกันประเทศ และยิงขีปนาวุธที่พุ่งเป้าโจมตีอิสราเอล โดย เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอลยืนยันว่าจะตอบโต้อิหร่านที่ยิงขีปนาวุธโจมตีอิสราเอลในครั้งนี้ ขณะที่อิหร่านประกาศว่าอิสราเอลจะถูกถล่มอย่างย่อยยับหากกระทำการตอบโต้อิหร่าน ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดความกังวลว่าสงครามในตะวันออกกลางอาจลุกลามเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ดัชนี CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐ ทะยานขึ้นเหนือระดับ 20 จุดในระหว่างวัน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ในตะวันออกกลาง
นอกจากนี้ นักลงทุนยังจับตาเหตุการณ์ประท้วงผละงานที่ท่าเรือในเขตอีสต์โคสต์และกัลฟ์โคสต์ของสหรัฐ ซึ่งทำให้การขนส่งทางทะเลราวครึ่งหนึ่งของสหรัฐต้องหยุดชะงัก โดยแม้ว่าการประท้วงนี้อาจจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านอุปทานทั่วโลกที่รุนแรงเท่ากับในช่วงที่โรคโควิด-19 แพร่ระบาด แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจเผชิญกับความไม่แน่นอนมากขึ้นในช่วงเวลาที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศ ซึ่งล่าสุดนักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.25% ในเดือน พ.ย. 67 หลังการกล่าวถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ที่ระบุว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% จำนวน 2 ครั้ง รวม 0.50% ภายในสิ้นปีนี้ โดยคณะกรรมการเฟดพิจารณาแล้วเห็นว่าเราไม่ควรเร่งปรับลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้ข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 64.3% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือน พ.ย. 67 และให้น้ำหนักเพียง 35.7% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ขณะที่ในการคาดการณ์ผลการประชุมเฟดในเดือน ธ.ค. 67 นักลงทุนให้น้ำหนักสูงสุด 48.5% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.00-4.25% ขณะที่ให้น้ำหนัก 35.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% และให้น้ำหนัก 16.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ในภาวะที่ภาคการผลิตของสหรัฐยังคงไม่ฟื้นตัว
สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) เปิดเผยว่า ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐทรงตัวที่ระดับ 47.2 ในเดือน ก.ย. 67 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 47.6 โดยดัชนียังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ เป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 โดยได้รับผลกระทบจากภาวะหดตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน สอดคล้องกับการที่เอสแอนด์พี โกลบอลเปิดเผยว่า ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.3 ในเดือน ก.ย. 67 จากระดับ 47.9 ในเดือน ส.ค. 67 และดัชนี PMI ยังคงปรับตัวต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ภาวะหดตัวของภาคการผลิตสหรัฐ โดยเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
อย่างไรก็ดีทิศทางของตลาดหุ้นไทย ยังคงอยู่ในแนวโน้มขาขึ้นได้ โดยจะได้รับผลจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ที่ปัจจุบันมีสภาพคล่องส่วนเกินจากกองทุนวายุภักษ์เดิมอยู่ 4 หมื่นล้านบาท บวกกับของใหม่ 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็น 1.9 แสนล้านบาท
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงแกว่งตัวเหนือกว่า 1,370 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TQ
Comments