top of page
440662.jpg

SET ถอยไม่ต่ำกว่า 1,415 จุดยังไม่มีอะไรน่ากังวล


แรงกดดันจากตะวันออกกลางเริ่มเยอะขึ้น! 

           

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นมีแนวโน้มที่จะถูกกดดันจากการที่นักลงทุนเริ่มหันมาให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ย. 67 หลังจากที่ก่อนหน้านี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 100% ต่อคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ย. 67 โดยอาจเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% หรือ 0.50% โดยที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 13.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือน พ.ย. 67 หลังจากที่ให้น้ำหนัก 0.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนักเหลือเพียง 86.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือน พ.ย. 67 หลังจากที่ให้น้ำหนัก 65.3% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนการคาดการณ์เกี่ยวกับการที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% นักลงทุนให้น้ำหนัก 0.0% จากเดิมที่ให้น้ำหนัก 34.7% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากที่สหรัฐรายงานตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 254,000 ตำแหน่งในเดือน ก.ย. 67 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 147,000 ตำแหน่ง และเพิ่มขึ้น 159,000 ตำแหน่งเทียบกับเดือน ส.ค. 67 ขณะที่อัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 4.2% และต่ำกว่าระดับ 4.2% ในเดือน ส.ค. 67

           

นอกจากนี้แรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อหลังราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้น เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้โอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยลดลงอีก โดยล่าสุดโกลด์แมน แซคส์ ออกรายงานมาคาดการณ์ว่าราคาน้ำมันจะพุ่งขึ้น 20 ดอลลาร์/บาร์เรล หากอิสราเอลตอบโต้อิหร่านกลับคืนด้วยการโจมตีแหล่งผลิตน้ำมันของอิหร่าน โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่า หากการผลิตน้ำมันของอิหร่านลดลง 1 ล้านบาร์เรล/วันอย่างต่อเนื่อง ก็จะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นประมาณ 20 ดอลลาร์/บาร์เรลในปีหน้า ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ไม่ได้เพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ดังกล่าว แต่ถ้าหากสมาชิกของโอเปกพลัส เช่น ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ชดเชยการสูญเสียการผลิตน้ำมันที่หายไปบางส่วน ราคาน้ำมันก็อาจจะปรับตัวขึ้นน้อยกว่านั้น โดยอาจจะปรับตัวขึ้นไม่ถึง 10 ดอลลาร์/บาร์เรล

           

ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอิหร่านยิงขีปนาวุธจำนวนมากโจมตีอิสราเอล ซึ่งส่งผลให้สถานการณ์ในตะวันออกกลางตึงเครียดมากขึ้น และเมื่อไม่กี่วันมานี้ ผู้สังเกตการณ์ในอุตสาหกรรมน้ำมันส่งสัญญาณเตือนว่าวิกฤตตะวันออกกลางมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุปทานน้ำมัน โดยปัจจุบันอิหร่านซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มโอเปก ถือเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญต่อตลาดน้ำมันโลก โดยอิหร่านผลิตน้ำมันเกือบ 4 ล้านบาร์เรล/วัน และอุปทานน้ำมันทั่วโลกราว 4% อาจตกอยู่ในความเสี่ยงหากโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมันของอิหร่านถูกอิสราเอลโจมตีเพื่อเป็นการตอบโต้ และทำให้อิหร่านตอบโต้ด้วยการปิดช่องแคบฮอร์มุซ

           

มีการประเมินกันว่าหากมีการปิดช่องแคบฮอร์มุซ และมีการเพิ่มค่าพรีเมียมความเสี่ยงเข้าไปในราคาน้ำมัน ก็จะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นแตะระดับ 200 ดอลลาร์/บาร์เรล

           

นอกจากนี้สถานการณ์ในฝั่งของยุโรปก็ดูเหมือนว่าจะไม่ดีนัก หลังสำนักงานสถิติแห่งชาติเยอรมนีเปิดเผยว่ายอดสั่งซื้อภาคโรงงานของเยอรมนีปรับตัวลงอย่างหนักในเดือน ส.ค. 67 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนียังคงได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานในเดือน ส.ค. 67 ร่วงลง 5.8% หลังจากปรับตัวขึ้น 2 เดือนติดต่อกัน โดยยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือน ส.ค. 67 ปรับตัวลงรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค.ปีนี้ และย่ำแย่กว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์กคาดไว้ ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานที่ปรับตัวลดลงสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจเยอรมนีมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะถดถอย โดยผลสำรวจของธนาคารกลางเยอรมนี (บุนเดสแบงก์) เมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) อาจหดตัวลดลงในไตรมาส 3 ปี 2567 ขณะที่หนังสือพิมพ์ซูดดอยท์เชอ ไซตุง (SueddeutscheZeitung) รายงานว่า รัฐบาลเยอรมนีคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศจะหดตัวลง 0.2% ในปีนี้

           

หากเป็นไปตามการคาดการณ์ดังกล่าว เศรษฐกิจเยอรมนีก็จะหดตัวลงติดต่อกันปีที่ 2 ทั้งนี้จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประเมินว่าเงินเฟ้อในยูโรโซนในตอนนี้เกือบเข้าใกล้กรอบเป้าหมายการขยายตัวของราคาผู้บริโภคที่ 2% ของ ECB แล้ว

           

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า การขยายตัวของราคาผู้บริโภคของยูโรโซนชะลอตัวลงสู่ระดับ 1.8% ในเดือน ก.ย. 67 ซึ่งจากความกังวลดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้ผลสำรวจของสมาคมนักลงทุนรายย่อยอเมริกัน (AAII) เมื่อสัปดาห์ที่แล้วพบว่า นักลงทุนลดน้ำหนักความเชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ลดลงสู่ระดับ 45.5% จากระดับ 49.6% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะเดียวกัน นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักความไม่เชื่อมั่นต่อทิศทางของตลาดหุ้นในระยะ 6 เดือนข้างหน้า สู่ระดับ 27.3% จากระดับ 23.7% ในสัปดาห์ก่อนหน้า

           

ตลาดหุ้นโลกและไทยแค่พักตัวระยะสั้น ! อย่างไรก็ดีการพักตัวของตลาดหุ้นโลกจะเป็นเพียงในระยะสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและอิหร่านจะไม่บานปลายไปจนกระทบการผลิตน้ำมันของอิหร่าน หลังจากที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐไม่เชื่อว่าจะเกิด "สงครามเต็มรูปแบบ" ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะตึงเครียดเนื่องจากสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซาและกลุ่มฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน ขณะที่อิหร่านได้เข้ามาร่วมวงด้วย โดยมองว่าสงครามเต็มรูปแบบสามารถหลีกเลี่ยงได้ ขณะที่นางกมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐจะเดินหน้ากดดันให้อิสราเอลยุติปฏิบัติการทางทหารในตะวันออกกลาง พร้อมกับเน้นย้ำว่าสหรัฐยังคงมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคนี้ ในขณะที่ความขัดแย้งดำเนินมาครบหนึ่งปีแล้ว ทั้งนี้สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า นางแฮร์ริสเน้นย้ำจุดยืนสนับสนุนการหยุดยิงหลังจากประชุมร่วมกับผู้นำชุมชนมุสลิมและชาวอเมริกันเชื้อสายอาหรับ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่สำคัญกลุ่มหนึ่ง เมื่อวันที่ 4 ต.ค. 67 ที่รัฐมิชิแกน ขณะที่ทางด้านเศรษฐกิจโกลด์แมน แซคส์ ปรับลดคาดการณ์ความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยในอีก 12 เดือนข้างหน้าลง 5% เหลือเพียง 15% หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานฉบับล่าสุดออกมาดีกว่าที่คาดไว้

           

กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยว่าการจ้างงานในสหรัฐปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 6 เดือนในเดือน ก.ย. 67 ขณะที่อัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 4.1% นอกจากนี้โกลด์แมน แซคส์ ยังคงคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องลงครั้งละ 0.25% จนถึงระดับ 3.25-3.5% ภายในเดือน มิ.ย. 68

           

ขณะที่ในฝั่งของเอเชียเอง ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้ออกมาปรับเพิ่มการประเมินเศรษฐกิจของ 2 ใน 9 ภูมิภาค โดยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวต่อเนื่องหลังเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่เมื่อช่วงต้นปี และผลผลิตยานยนต์ที่เพิ่มขึ้นหลังเหตุการณ์อื้อฉาวเกี่ยวกับการโกงผลทดสอบคุณภาพยานยนต์ ขณะที่ล่าสุดนายชิเงรุ อิชิบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้สั่งการอย่างเป็นทางการให้คณะรัฐมนตรีจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่ เพื่อบรรเทาผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นต่อครัวเรือน โดยที่รัฐบาลญี่ปุ่นจะจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในวันที่ 27 ต.ค. 67 นี้ รวมทั้งตั้งเป้าหมายที่จะบรรลุระดับค่าจ้างขั้นต่ำเฉลี่ยรายชั่วโมงทั่วประเทศที่ 1,500 เยน (10 ดอลลาร์) ภายในสิ้นทศวรรษ 2020 ซึ่งเร็วกว่าที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ตั้งเป้าไว้ ซึ่งในขณะนี้ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 1,055 เยน

           

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทยในเชิงเทคนิค ตราบใดที่ดัชนี SET ยังคงไม่ปรับตัวลงมาปิดต่ำกว่า 1,415 จุด การปรับตัวลงในระยะสั้นจะเป็นเพียงแค่การพักตัวแล้วปรับขึ้นต่อในกรอบแนวโน้มหลักขาขึ้น

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงแกว่งตัวเหนือกว่า 1,415 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”  

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

  

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TQ

Comments


bottom of page