เฟดลดดอกเบี้ยเป็นปัจจัยบวก !
แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นต่อเนื่อง หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ 0.50% เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยที่การประชุมครั้งล่าสุด 18 ก.ย.เฟดมีมติ 11 ต่อ 1 ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.75-5.00% ...เป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2563 ซึ่งขณะนั้นเฟดได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงใกล้ 0% เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และหากไม่นับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยฉุกเฉินที่เกิดขึ้นในปี 2551 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดวิกฤตการเงินทั่วโลก ...ขณะที่นักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอย หลังการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ต่ำกว่าคาด หลังกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 12,000 ราย สู่ระดับ 219,000 รายเมื่อกลางเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 230,000 ราย นอกจากนี้จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 14,000 ราย สู่ระดับ 1.83 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 67
ทั้งนี้ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ภายในสิ้นปีนี้ รวมทั้งอีก 1.00% ในปี 2568 และ 0.50% ในปี 2569
อย่างไรก็ดีในส่วนของมุมมองของนักลงทุน ล่าสุดพบว่านักลงทุนเทน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในเดือน พ.ย. 67 และปรับลดอีก 0.50% ในเดือน ธ.ค. 67 โดยข้อมูลจาก FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 67.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือน พ.ย. 67 และให้น้ำหนัก 33.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ส่วนในการประชุมเดือน ธ.ค. 67 นักลงทุนให้น้ำหนักสูงสุด 50.0% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 4.00-4.25% ขณะที่ให้น้ำหนัก 34.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% และให้น้ำหนัก 15.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.75-4.00% ซึ่งถือว่าเป็นปัจจัยบวกมากๆ สะท้อนออกมาจากการที่นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และอดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐ กล่าวว่า การที่เฟดตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% รอบเดือน ก.ย.ที่ผ่านมาถือเป็นการส่งสัญญาณบวกสำหรับเศรษฐกิจสหรัฐ โดยมองว่าเป็นการแสดงถึงความเชื่อมั่นของเฟดว่าเงินเฟ้อกำลังชะลอตัวลง และกำลังกลับไปสู่เป้าหมาย 2% โดยความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อได้ลดน้อยลงแล้ว และสหรัฐยังมีตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง สอดคล้องกับการที่นาง กมลา แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐ และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรคเดโมแครต ขานรับการที่เฟด ตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากถึง 0.50% โดยมองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวถือเป็นข่าวดีสำหรับชาวอเมริกันที่ต้องแบกรับภาระจากราคาสินค้าที่พุ่งสูง สวนทางกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ และผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐจากพรรครีพับลิกัน ที่มองว่าการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งล่าสุด เป็นการส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังแย่มาก หรือเฟด อาจจะกำลังเล่นการเมือง แต่ดูเหมือนว่านักลงทุนจะไม่ให้น้ำหนักกับความเห็นของนายโดนัลด์ ทรัมป์ หลังนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ระบุชัดเจนว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ตลาดแรงงานมีความแข็งแกร่ง และเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลงแล้ว และปฏิเสธคำวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่า การตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% มีแรงจูงใจทางการเมือง
นอกจากนี้สถานการณ์การเลือกตั้งในสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยหนุนตลาดหุ้นโลกอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ผลสำรวจความคิดเห็นล่าสุดของเอ็นบีซีนิวส์ (NBC News) เผยให้เห็นว่านางกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต มีคะแนนนำอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกันอยู่ 5% โดยพบว่าผู้ตอบแบบสำรวจจำนวนมากขึ้นมองแฮร์ริสเป็นตัวเก็งที่จะคว้าชัยเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ วันที่ 5 พ.ย. 67 โดยผลสำรวจพบว่า 48% เทคะแนนให้แฮร์ริส เพิ่มขึ้นจาก 32% ในเดือน ก.ค. 67 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในการสำรวจความนิยมที่มีต่อนักการเมืองโดยเอ็นบีซีนิวส์ นับตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่มีคะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นหลังจากเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ขณะที่เมื่อถามถึงนายโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้ตอบแบบสอบถาม 40% มีมุมมองในเชิงบวกต่อเขา ซึ่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจาก 38% ในเดือน ก.ค. 67 ขณะที่ผลสำรวจโดยซีบีเอสนิวส์ (CBS News) แสดงให้เห็นว่า แฮร์ริสมีคะแนนนำทรัมป์ 4% ที่ 52% ต่อ 48% โดยมีค่าความคลาดเคลื่อนอยู่ที่ 2%
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ล่าสุดนายโดนัลด์ ทรัมป์ ออกมาระบุว่าจะไม่เข้าร่วมการโต้วาทีเป็นครั้งที่ 2 ก่อนที่ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐจะเปิดฉากขึ้นในเดือน พ.ย. 67 นี้ ในขณะที่นางกมลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครตได้ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมการโต้วาทีครั้งที่ 2 กับสำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในวันที่ 23 ต.ค. 67 นี้แล้ว
ทั้งนี้โอกาสที่เฟดจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่องได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลสหรัฐด้วย หลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐระบุในการประชุมสมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน ว่าเขาคาดหวังว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไป พร้อมกับให้คำมั่นว่าคณะบริหารของเขาจะเดินหน้าผลักดันให้ต้นทุนการดำรงชีวิตของชาวอเมริกันปรับตัวลดลง โดยเขามองว่าการที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% ในการประชุมครั้งที่ผ่านมาเป็นข่าวดีสำหรับผู้บริโภค นอกจากนี้ ไบเดนยืนยันว่า เขาไม่เคยพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด แม้แต่ครั้งเดียวในขณะดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี ซึ่งเป็นท่าทีที่ตรงกันข้ามกับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ได้ขู่ว่าจะลดทอนความเป็นองค์กรอิสระของเฟด หากเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสมัยที่สอง
ตลาดหุ้นเอเชียถูกกดดันจากปัจจัยจากจีนและญี่ปุ่น! มีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นเอเชียจะทำผลงานได้ดีน้อยกว่าตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นๆ เนื่องจากนักลงทุนวิตกกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจจีน หลังจากมีรายงานว่ารัฐบาลจีนได้ปรับลดการใช้จ่าย ขณะที่อัตราว่างงานในกลุ่มเยาวชนของจีนพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน โดยสำนักงานสถิติจีนรายงานว่าอัตราการว่างงานในกลุ่มเยาวชนอายุ 16-24 ปี ซึ่งไม่รวมถึงนักศึกษาในมหาวิทยาลัย เพิ่มขึ้นเป็น 18.8% ในเดือน ส.ค. 67 จาก 17.1% ในเดือน ก.ค. 67 โดยอัตราว่างงานเดือน ส.ค. 67 ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบ 9 เดือน หรือนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 2 เนื่องจากตลาดแรงงานชะลอตัวลงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
ขณะที่กระทรวงการคลังจีนเปิดเผยว่าตัวเลขการใช้จ่ายของรัฐบาลจีนในช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้อยู่ที่ระดับ 22.21 ล้านล้านหยวน (3.15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ) ลดลง 2.9% จากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 เนื่องจากรายได้ของรัฐบาลท้องถิ่นที่ได้จากการขายที่ดินนั้น ปรับตัวลดลงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในสถานการณ์ที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปี เอาไว้ที่ระดับ 3.35% และคงอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 5 ปี ที่ระดับ 3.85% ซึ่งการดำเนินการของ PBOC สวนทางกับที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า PBOC จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ซึ่งจะทำให้ PBOC มีโอกาสมากขึ้นที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยโดยไม่ส่งผลให้เงินหยวนอ่อนค่าลงอย่างรุนแรง และนี่ไม่ใช่ครั้งแรก เพราะก่อนหน้านี้ PBOC เคยสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ทั้งประเภท 1 ปี และ 5 ปีในเดือน ก.ค. 67 โดยมีเป้าหมายที่จะกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจ หลังจากเศรษฐกิจจีนเผชิญกับวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์เป็นเวลานาน รวมทั้งความเชื่อมั่นในหมู่ผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่ย่ำแย่ลง
ขณะที่ล่าสุดธนาคารรายใหญ่ได้พากันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2567 ลงสู่ระดับต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 5% โดยแบงก์ ออฟ อเมริกา ปรับลดคาดการณ์ GDP จีนในปี 2567 ลงสู่ระดับ 4.8% และซิตี้กรุ๊ปปรับลดคาดการณ์ GDP จีนลงสู่ระดับ 4.7% ทำให้ล่าสุดเริ่มมีข่าวมากขึ้นว่าจีนอาจออกพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวพิเศษภายใน 2 ปี เพื่อหาเงินกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านล้านหยวน (1.4 ล้านล้านดอลลาร์) นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงจากฝั่งญี่ปุ่นด้วย ทั้งนี้แม้ว่าล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า BOJ อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ BOJ ส่งสัญญาณอย่างระมัดระวังเกี่ยวกับการปรับนโยบายการเงินสู่ระดับปกติ หลังจากที่ BOJ ได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 0.25% จากระดับ 0%-0.1% ในการประชุมเมื่อวันที่ 31 ก.ค. 67 ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากเดิมที่เคยใช้นโยบายผ่อนคลายการเงินมาเป็นเวลานาน หลังจากมีสัญญาณบ่งชี้ถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ล่าสุดเงินเฟ้อญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 4 โดยที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ไม่รวมราคาในหมวดอาหารสด ปรับตัวขึ้น 2.8% ในเดือน ส.ค. 67 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำหนดไว้ที่ระดับ 2% และสูงกว่าในเดือน ก.ค. 67 ที่ปรับตัวขึ้น 2.7% ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า BOJ อาจจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงแกว่งตัวเหนือกว่า 1,370 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อลงทุน” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นไปที่ระดับ 75% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TQ
Comments