top of page
312345.jpg

ตลาดหุ้นโลกมองข้ามไปที่วัฏจักรดอกเบี้ยขาลงแล้ว


ตลาดหุ้นสหรัฐและยุโรปยังมีเรื่องดีๆ ! 

           

แนวโน้มภาพใหญ่ของตลาดหุ้นโลกดูนิ่งขึ้นมากนะครับ โดยเฉพาะหลังจากที่นักลงทุนเพิ่มคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุม เดือน มิ.ย. 67 โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 84% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. 67 หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 41.0% เมื่อ 1 เดือนก่อนหน้านี้ และคาดการณ์ว่าจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายรวมกันทั้งสิ้น 0.90% ในปีนี้ โดยนักลงทุนขานรับตัวเลขอัตราการว่างงานสหรัฐที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.7% และการที่สหรัฐปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ม.ค. 67 โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 229,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 353,000 ตำแหน่งเป็นการบ่งชี้ว่าตลาดแรงงานไม่ได้อยู่ในภาวะที่ร้อนแรงเกินไป แม้ว่าตัวเลขการจ้างงานเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. 67 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 198,000 ตำแหน่ง

           

ขณะเดียวกันนักลงทุนคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ หลังตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานในเดือน ก.พ. 67 เพิ่มขึ้นต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ สอดคล้องกับการที่ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดนั้นอาจเกิดขึ้นไม่นานเกินรอ หากเงินเฟ้อส่งสัญญาณสนับสนุน แม้พาวเวลไม่ได้ให้กรอบเวลาที่ชัดเจนเกี่ยวกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่ขณะเดียวกันก็ระบุว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะเกิดขึ้นเร็วๆนี้

           

ขณะที่ในฝั่งของสถาบันการเงิน เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของธนาคารเจพีมอร์แกน เชส ระบุว่าเฟดควรรอให้พ้นเดือน มิ.ย. 67 ไปก่อนจึงค่อยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากมองว่าเฟดจำเป็นต้องสร้างความน่าเชื่อถือในการต่อสู้กับเงินเฟ้อ นอกจากนี้แนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงสดใสด้วย โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. 67 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 198,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.3% ในเดือน ก.พ. 67 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.4%

           

ทั้งนี้ ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่เฟด ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ล่าสุดเฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องราว 2.5% ในไตรมาส 1 ปี 2567

           

ส่วนในฝั่งยุโรป จะมีปัจจัยหนุนจากความเป็นไปได้ในการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยที่ล่าสุดนักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ECB จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 67 เช่นกัน

           

“หากเฟดและ ECB ปรับลดอัตราดอกเบี้ยพร้อมกันในเดือน มิ.ย. 67 ตามคาด ก็จะเป็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่ง และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของกระแสอัตราดอกเบี้ยขาลงทั่วโลก”

           

ขณะที่เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวเช่นกัน โดยกิจกรรมธุรกิจในยูโรโซนแสดงสัญญาณการฟื้นตัวในเดือน ก.พ. 67 เนื่องจากอุตสาหกรรมภาคบริการที่สำคัญของยูโรโซนขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 67 ซึ่งชดเชยการหดตัวในภาคการผลิต ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคบริการและการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล พุ่งขึ้นสู่ระดับ 49.2 ในเดือน ก.พ. 67 จาก 47.9 ในเดือน ม.ค. 67 และสูงกว่าตัวเลขประมาณการเบื้องต้นของเดือน ก.พ. 67 ที่ 48.9 ซึ่งตัวเลขดังกล่าวแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 67 แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมธุรกิจยังคงอยู่ในภาวะหดตัว

           

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ต้องจับตามมองและอาจนำมาซึ่งความผันผวนของตลาดหุ้นโลก คือการที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือน เม.ย. 67 นี้ มุมมองที่เปลี่ยนแปลงไปของนักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้เกิดขึ้น หลังจากเจ้าหน้าที่หลายคนของ BOJ ได้ออกมาส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลง และมีขึ้นหลังจากมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของญี่ปุ่นกำลังเคลื่อนตัวสู่เป้าหมายของ BOJ ส่วนปัจจัยที่สำคัญอีกหนึ่งปัจจัยคือผลการเจรจาค่าจ้างระหว่างฝ่ายบริหารของภาคธุรกิจและสหภาพแรงงานญี่ปุ่น

           

ทั้งนี้ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มที่คาดว่า BOJ จะยุตินโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบในเดือน เม.ย. 67 นั้น เชื่อว่า BOJ จะรอดูข้อมูลเศรษฐกิจเพิ่มเติมก่อนการประชุมในวันที่ 25-26 เม.ย. 67 โดยข้อมูลเหล่านี้รวมถึงผลสำรวจความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ (ทังกัน) และการแสดงความเห็นจากบรรดาผู้จัดการสาขาของ BOJ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในแต่ละภูมิภาค นอกจากนี้ BOJ จะเปิดเผยรายงานคาดการณ์เศรษฐกิจรายไตรมาส ซึ่งรายงานดังกล่าวจะช่วยให้ BOJ สามารถประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะยาวได้ดียิ่งขึ้น

           

การขยับของรัฐบาลจีนเป็นปัจจัยบวก ส่วนของญี่ปุ่นอาจเป็นลบ ! ดูเหมือนว่าความกังวลของนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกต่อการเปลี่ยนแปลงนโยบายของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จะมากกว่าการยุติการใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบแล้ว หลังดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของกรุงโตเกียว ปรับตัวสูงขึ้นในเดือน ก.พ. 67 หลังจากอยู่ในระดับต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือนในเดือน ม.ค. 67 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อในญี่ปุ่นจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป และทำให้ตลาดคาดการณ์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเลยด้วยซ้ำ

           

ทั้งนี้ ดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ของกรุงโตเกียว ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด เพิ่มขึ้น 2.5% ในเดือน ก.พ. 67 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ และเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างมากจากระดับ 1.6% ในเดือนม.ค. 67 ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตต่ำที่สุดในรอบ 22 เดือน ส่วนดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ของกรุงโตเกียว เพิ่มขึ้น 2.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.6% ในเดือน ม.ค. 67 ขณะที่โดยราคาอาหารยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันอัตราเงินเฟ้อให้สูงขึ้น ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อของกรุงโตเกียวมักถูกมองว่าเป็นสัญญาณบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อโดยรวมของญี่ปุ่น โดยตัวเลขในเดือน ก.พ. 67 ชี้ให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วประเทศกำลังเพิ่มสูงขึ้น ท่ามกลางการคาดการณ์ที่เพิ่มขึ้นว่า BOJ อาจยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบอย่างเร็วที่สุดในเดือน เม.ย. 67

           

นอกจากนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูง อาจผลักดันให้ BOJ ยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ แม้ BOJ ระบุว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใดๆ จะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปก็ตาม อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นเอเชียอื่นๆ น่าจะได้รับปัจจัยหนุนบ้างจากสถานการณ์และการเคลื่อนไหวออกมาพยุงเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของรัฐบาลจีน โดยที่ล่าสุดคณะกรรมการกำกับดูแลหลักทรัพย์จีน (CSRC) ให้คำมั่นว่าจะปราบปรามบรรดาผู้ที่มีพฤติกรรมปั่นตลาดอย่างเข้มงวด พร้อมยืนยันว่า การปกป้องนักลงทุนรายย่อยเป็นภารกิจหลัก โดยที่ทางการจีนได้ยกระดับมาตรการสนับสนุนตลาดหุ้น ซึ่งรวมถึงการคุมเข้มกองทุนสาย Quant และควบคุมการชอร์ตเซล และการเปลี่ยนตัวผู้นำหน่วยงานกำกับดูแลหลักทรัพย์ ขณะที่ในด้านของเศรษฐกิจ พาน กงเซิ่ง ผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ระบุว่าธนาคารกลางจีนมีโอกาสที่จะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีก พร้อมให้คำมั่นว่าจะใช้ประโยชน์จากนโยบายการเงินเพื่อหนุนให้ราคาผู้บริโภคปรับตัวขึ้นเล็กน้อย โดยที่แผนปรับลด RRR ลงอีกถือเป็นส่วนหนึ่งของการปรับเปลี่ยนนโยบายเศรษฐกิจในวงกว้างของจีนเพื่อให้เศรษฐกิจจีนบรรลุเป้าหมายการขยายตัวที่ประมาณ 5% ได้ในปีนี้ ควบคู่ไปกับการยึดมั่นต่อเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณที่ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ขณะเดียวกัน แผนการออกพันธบัตรรัฐบาลพิเศษที่มีอายุยาวนานพิเศษ (Ultra-Long) จะเป็นอีกปัจจัยที่ช่วยให้จีนสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าว แม้ว่าล่าสุดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจและแผนการทางเศรษฐกิจสำหรับปีนี้ของรัฐบาลจีนนั้น จะไม่เป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์จำนวนมากที่คาดหวังถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม และก่อให้เกิดคำถามว่าจีนจะบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ประมาณ 5% อีกครั้งได้อย่างไร หลัง GDP ขยายตัว 5.2% ในปี 2566 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นจากฐานระดับต่ำในปี 2565 ด้วย  ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”  

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

 

Source: TradingView

40 views
bottom of page