top of page
312345.jpg

ตลาดหุ้นโลกมีโอกาสพักสั้นๆ เพื่อไปต่อในระยะกลาง


ดอกเบี้ยสหรัฐแค่แรงกดดันสั้นๆ ! แน่นอนว่าในระยะสั้นทิศทางของตลาดหุ้นโลกและสหรัฐจะชะลอความร้อนแรงลงในระยะสั้นๆ หลังผลการสำรวจของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก ตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 3.0% ไม่เปลี่ยนแปลงจากคาดการณ์ก่อนหน้านี้ ส่วนคาดการณ์เงินเฟ้อของผู้บริโภคในระยะเวลา 3 ปี เพิ่มขึ้น 0.2% สู่ระดับ 2.9% ขณะที่คาดการณ์เงินเฟ้อในระยะเวลา 5 ปี ลดลง 0.3% สู่ระดับ 2.6% ส่งผลให้ล่าสุด นายโทมัส บาร์กิน ประธาน เฟดสาขาริชมอนด์ ออกมาให้ความเห็นว่าคณะกรรมการเฟด “ควรใช้เวลามากขึ้นในการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจก่อนที่จะตัดสินใจปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้” โดยเขามองว่าการที่เศรษฐกิจมหภาคและตลาดแรงงานของสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากในขณะนี้ ทำให้เฟดจำเป็นต้องจับตาทิศทางเงินเฟ้ออย่างระมัดระวัง เว้นแต่จะมีข้อมูลบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็เป็นเรื่องเหมาะสมที่เฟดจะเริ่มพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยดอกเบี้ยของเฟดที่อยู่ในระดับสูงในขณะนี้จะช่วยชะลอการขยายตัวของเศรษฐกิจ และจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐปรับตัวลงสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

           

ขณะที่ในรายงาน Dot Plot ซึ่งมีการเผยแพร่หลังการประชุมเฟดเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 67 ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่เฟด 10 รายคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในปีนี้ โดยปรับลดครั้งละ 0.25% รวม 0.75% ไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ย 3 ครั้งในการประชุมเดือน ธ.ค. 66 ขณะที่เจ้าหน้าที่เฟด 9 รายคาดว่า เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 2 ครั้งหรือน้อยกว่านั้น ส่งผลทำนักลงทุนพากันเพิ่มคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน มิ.ย. 67 หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมีนาคมเพิ่มขึ้นถึง 303,000 ตำแหน่ง สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 205,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9% ซึ่งจะเป็นปัจจัยทำให้เฟดตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงเป็นเวลานานกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

           

ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักเพียง 48.6% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. 67 หลังจากที่ให้น้ำหนัก 61.5% เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า นอกจากนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 50.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. 67 หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 36.3% เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า   นอกจากนี้ประเด็นที่น่ากังวลว่าจะเข้ามากดดันแนวโน้มของตลาดหุ้นโลกและสหรัฐในระยะต่อไปคือ ความกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อ ที่อาจส่งผลให้การปรับลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลกได้รับผลกระทบ หลังจากที่ล่าสุดองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เปิดเผยว่าดัชนีราคาอาหารโลกปรับตัวขึ้นในเดือน มี.ค. 67 สิ้นสุดการปรับตัวลดลง 7 เดือนติดต่อกัน โดยดัชนีราคาอาหารโลกซึ่งติดตามสินค้าโภคภัณฑ์อาหารที่มีการซื้อขายกันมากที่สุดในโลก เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 118.3 จุดในเดือน มี.ค. 67 เพิ่มขึ้นจาก 117.0 จุดในเดือน ก.พ. 67 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี

           

รวมทั้งยังมีประเด็นของราคาน้ำมันด้วยที่ แบงก์ ออฟ อเมริกา (BofA) มองว่าการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมันดิบอาจจะทำให้เฟดเผชิญกับความยากลำบากมากขึ้นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีนี้ แม้เฟดยังคงมีโอกาสที่จะดำเนินการดังกล่าวก็ตาม หลังจากที่สัญญาน้ำมันดิบในตลาดสหรัฐพุ่งขึ้นไปแล้วเกือบ 20% ในปีนี้ โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น, สต็อกน้ำมันดิบทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งสถานการณ์ตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ และการที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) ปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน           

           

BofA มีมุมมองว่าการที่เงินเฟ้อด้านการบริการยังคงอยู่ในระดับสูงนั้น ราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นอาจจะจำกัดความสามารถของธนาคารกลางต่างๆ ในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นราคาน้ำมันกำลังสร้างปัญหาให้กับเฟดอีกครั้ง โดยมองว่าราคาพลังงานจะพุ่งขึ้นต่อเนื่องจนถึงฤดูการขับขี่ยานยนต์ในช่วงฤดูร้อนของสหรัฐ ขณะที่ตลาดทั่วโลกจะเผชิญกับภาวะขาดแคลนน้ำมันดิบในปริมาณ 450,000 บาร์เรล/วัน และ BofA คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์จะพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 95 ดอลลาร์/บาร์เรล

           

ภาพใหญ่ระยะกลาง เศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกยังดี ! อย่างไรก็ดีผมยังคงมองว่าทิศทางการพักตัวที่เกิดขึ้นของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นๆ จะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มใหญ่ที่ยังคงเป็นขาขึ้น เนื่องจากสุดท้ายแนวโน้มของตลาดหุ้นโลกและสหรัฐจะเคลื่อนไหวตามแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่าตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 303,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. 67 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 205,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลงสู่ระดับ 3.8% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.9% นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐได้ปรับตัวเลขการจ้างงานในเดือน ก.พ. 67 โดยปรับเป็นเพิ่มขึ้น 270,000 ตำแหน่ง จากเดิมรายงานว่าเพิ่มขึ้น 275,000 ตำแหน่ง ขณะเดียวกันตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 4.1% ในเดือน มี.ค. 67 เมื่อเทียบรายปี และเมื่อเทียบรายเดือน ค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ สอดคล้องกับตัวเลขการจ้างงานของภาคเอกชนสหรัฐจาก ADP ที่เพิ่มขึ้น 184,000 ตำแหน่งในเดือน มี.ค. 67 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 66 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 148,000 ตำแหน่ง หลังจากเพิ่มขึ้น 155,000 ตำแหน่งในเดือน ก.พ. 67 ทั้งนี้ ภาคบริการมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 142,000 ตำแหน่ง ขณะที่ภาคการผลิตมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น 42,000 ตำแหน่ง ซึ่งมุมมองดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากการที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ออกมาระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่ง และจะเป็นปัจจัยที่สามารถเรียกคะแนนเสียงจากชาวอเมริกันก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือน พ.ย. 67 ได้

           

ทั้งนี้ เศรษฐกิจสหรัฐมีการขยายตัว 2.5% ในปี 2566 สูงกว่าประเทศอื่นๆ ในกลุ่มพัฒนาแล้ว นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ว่าสหรัฐจะยังคงเป็นผู้นำเศรษฐกิจโลกในปีนี้ แม้ว่าการขยายตัวจะลดลงสู่ระดับ 2.1% ขณะที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวแสดงความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และการใช้นโยบายการเงินของเฟด โดยระบุว่าตัวเลขการจ้างงานและเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงภาพรวมอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งยังคงบ่งชี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ตลาดแรงงานที่มีการปรับสมดุล ขณะที่เงินเฟ้อกำลังปรับตัวลงสู่ระดับ 2%

           

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจของยุโรปยังคงเห็น Momentum ของการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมธุรกิจของยูโรโซนขยายตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ค. 66 ในเดือน มี.ค. 67 สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคบริการและการผลิตขั้นสุดท้ายของยูโรโซนจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.3 ในเดือน มี.ค. 67 จาก 49.2 ในเดือน ก.พ. 67 ซึ่งดีกว่าตัวเลขประมาณการขั้นต้นเดือน มี.ค. 67 ที่ 49.9 ส่วนดัชนี PMI ภาคบริการขั้นสุดท้ายของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51.5 ในเดือน มี.ค. 67 จาก 50.2 ในเดือนก.พ. 67 และดีกว่าตัวเลขประมาณการขั้นต้นเดือน มี.ค. 67 ที่ 51.1 อีกทั้งยังเป็นตัวเลขสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 67 สอดคล้องกับกิจกรรมธุรกิจในภาคบริการของเยอรมนีประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในยูโรโซน พลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือน มี.ค. 67 หลังหดตัวติดต่อกัน 5 เดือน โดยที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการขั้นสุดท้ายของเยอรมนีจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ที่รวบรวมโดยเอสแอนด์พี โกลบอล ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 50.1 ในเดือน มี.ค. 67 จาก 48.3 ในเดือน ก.พ. 67 ซึ่งตัวเลขที่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่ากิจกรรมภาคบริการอยู่ในภาวะขยายตัว

           

ขณะที่ดัชนี PMI รวมภาคบริการและการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนี ปรับตัวขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือนที่ 47.7 ในเดือน มี.ค. 67 จาก 46.3 ในเดือน ก.พ. 67 ในด้านของเสถียรภาพ พบว่าตัวเลขเงินเฟ้อในยูโรโซนชะลอตัวสู่ระดับ 2.4% ในเดือน มี.ค. 67 ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 2.6% ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมราคาพลังงาน อาหาร เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และยาสูบ ชะลอตัวลงจาก 3.1% ในเดือน ก.พ. 67 สู่ระดับ 2.9% ในเดือน มี.ค. 67 ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์เช่นกัน ด้านเงินเฟ้อในภาคบริการ ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่ได้รับการจับตาจากธนาคารกลางยุโรป (ECB) อยู่ที่ระดับ 4% ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5

           

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ความคาดหวังเกี่ยวการออกกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านทั้งนโยบายการเงินและการคลัง ซึ่งมีความจำเป็นอย่างมากในสถานการณ์ปัจจุบันเป็นปัจจัยหนุนสำคัญของตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไป หลังจากที่ล่าสุดสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน มี.ค. 67 อยู่ที่ 107.25 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ลดลง -0.47% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ใกล้เคียงตลาดคาดการณ์ -0.4% โดยยังคงลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป ในไตรมาส 1 ปี 2567 เฉลี่ยลดลง -0.79% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมสินค้าหมวดพลังงาน และอาหารสด เดือนมี.ค. 67 อยู่ที่ 104.61 ส่งผลให้เงินเฟ้อพื้นฐาน เพิ่มขึ้น 0.37% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ในไตรมาส 1 ปี 2567 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเพียง 0.44% ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

           

กลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

                           

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

 

Source: TradingView

7 views
bottom of page