top of page
312345.jpg

ทิศทางตลาดหุ้นเอเชียดูดีขึ้น แต่ไทยได้ประโยชน์น้อย


ปัจจัยจากจีนกลับมาหนุนตลาดหุ้นเอเชีย ! 

           

ปัจจัยหนุนจากจีนทำให้ทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียดูน่าสนใจขึ้นมากนะครับ แม้ว่าก่อนหน้านี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้เปิดเผยยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวนของธนาคารจีนในเดือน ก.พ. 67 พบว่าเพิ่มขึ้น 1.45 ล้านล้านหยวน (2.015 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) เติบโตขึ้น 10.1% จากปีก่อนหน้า เทียบกับการเติบโต 10.4% ในเดือน ม.ค. 67 อย่างไรก็ดีเริ่มมีสัญญาณที่ดีขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนหลัง สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่าตลาดที่อยู่อาศัยที่เปราะบาง

เปิดศักราชใหม่ด้วยยอดการลงทุนและยอดขายอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับลดลงในอัตราชะลอตัวลง โดยได้แรงหนุนจากการที่รัฐบาลจีนพยายามยับยั้งภาวะขาลงเรื้อรังในภาคอสังหาฯ ดังกล่าว โดยรายงานจาก NBS ระบุว่าการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ในจีนลดลง 9.0% ในเดือน ม.ค.-ก.พ. ของปี 2567 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากลดลง 24.0% ในเดือน ธ.ค. 66 ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์คำนวณโดยอิงตามข้อมูลจากธนาคารกลางจีน (PBOC) พบว่า หนี้สินภาคครัวเรือนของจีนซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้กู้ซื้อบ้านลดลง 5.907 แสนล้านหยวน (8.208 หมื่นล้านดอลลาร์) ในเดือน ก.พ. 67 หลังจากที่ในช่วงที่ผ่านมาจีนได้ยกระดับการออกมาตรการต่างๆ เพื่อพลิกฟื้นภาคอสังหาริมทรัพย์ที่เปราะบาง ขณะที่ในภาคส่วนอื่นๆ เช่นยอดค้าปลีกในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 ปรับตัวขึ้น 5.5% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5.2% ขณะที่ยอดค้าปลีกทางออนไลน์พุ่งขึ้น 14.4% ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 ปรับตัวขึ้น 7% ซึ่งแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 5% ส่วนยอดการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรในช่วงเดือน ม.ค.-ก.พ. 67 ปรับตัวขึ้น 4.2% ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.2%

           

ข้อมูลเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งเกินคาดนี้ถือเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่า เศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับสองของโลกเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งหลังจากรัฐบาลจีนประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีที่แล้ว ทั้งนี้ตัวเลขเศรษฐกิจที่มีการเปิดเผยในวันนี้ถือเป็นข้อมูลสำคัญที่พิสูจน์ว่ารัฐบาลจีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ประมาณ 5% ในปีนี้ได้หรือไม่ ซึ่งล่าสุดสำนักวิจัยของธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) เปิดเผยว่า HSBC มีมุมมองเชิงบวกอย่างมากต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีนในระยะกลางถึงระยะยาว แม้ขณะนี้เศรษฐกิจจีนจะเผชิญอุปสรรคอยู่ก็ตาม หลังเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลงในปีที่แล้ว อันเนื่องมาจากการทรุดตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ โครงสร้างพื้นฐาน และการส่งออก ซึ่งทั้ง 3 ภาคส่วนนี้เป็นเสาหลักสำคัญของเศรษฐกิจประเทศ จึงส่งผลให้จีนเพิ่มความพยายามในการส่งเสริมภาคการผลิตและเทคโนโลยีภายในประเทศ เพื่อหวังยกระดับเศรษฐกิจให้ทันสมัยและยังคงสามารถแข่งขันได้ในระดับโลก แต่ HSBC ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของโลก จะสามารถก้าวข้ามอุปสรรคในระยะสั้นได้

           

นอกจากนี้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอเชียยังได้รับปัจจัยหนุนจากความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นด้วย โดยล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า เศรษฐกิจของญี่ปุ่นไม่ได้อยู่ในภาวะเงินฝืดอีกต่อไปแล้ว และทิศทางการปรับขึ้นค่าจ้างก็เริ่มมีความแข็งแกร่ง โดยรัฐบาลญี่ปุ่นจะใช้มาตรการทางนโยบายทุกอย่างที่ทำได้เพื่อรักษาแรงผลักดันเชิงบวกในด้านค่าจ้างต่อไป แม้ว่าล่าสุดสมาพันธ์สหภาพแรงงานแห่งญี่ปุ่น หรือ เร็งโง (Rengo) ซึ่งเป็นสหภาพแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น จะออกมาประกาศว่าจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างมากที่สุดในรอบกว่า 30 ปี

           

อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจและตลาดหุ้นเอเชียจะมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ส่งผลน้อยต่อตลาดหุ้นไทย ปัจจัยหนุนทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอจะกดดันให้ตลาดหุ้นไทยในระยะสั้นมีแนวโน้มที่อ่อนแอกว่า หรือ Underperform ค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นเอเชียต่อไป โดยล่าสุดศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้เหลือ 2.7% จากเดิม 3.0% แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีนี้ จะยังมีแนวโน้มฟื้นตัวได้จากแรงขับเคลื่อนของภาคการท่องเที่ยวและภาคบริการ รวมถึงเศรษฐกิจด้านอุปสงค์อื่นที่กลับมาขยายตัวเร่งขึ้นในหลายองค์ประกอบ โดยเฉพาะการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ดี แรงส่งภาครัฐจะยังหดตัวต่อเนื่องในไตรมาสแรก จากความล่าช้าของการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่าย ปี 2567 ประกอบกับปัญหาสินค้าคงคลังสะสมสูงจากปีก่อนจะยังไม่สามารถคลี่คลายได้เร็ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% ซึ่งที่ผ่านมา แม้เงินเฟ้อจะติดลบต่อเนื่อง แต่ SCB EIC ประเมินว่าไทยยังไม่เผชิญภาวะเงินฝืด โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวกตั้งแต่เดือน พ.ค. 67 เนื่องจากมาตรการช่วยเหลือด้านราคาพลังงานของภาครัฐจะสิ้นสุดลง ขณะที่ปัจจัยหนุนในระยะต่อไปคือเรื่องอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่ง SCB EIC ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะทยอยลดอัตราดอกเบี้ยจากปัจจุบันที่ระดับ 2.5% มาอยู่ที่ 2% ภายในครึ่งแรกของปีนี้

           

ตลาดหุ้นสหรัฐเริ่มมีแนวโน้มพักตัว ! ทั้งนี้ปัจจัยหนุนภายในภูมิภาคน่าจะช่วยสนับสนุนทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียได้ในสถานการณ์ที่ตลาดหุ้นสหรัฐมีโอกาสชะลอความร้อนแรงลงในระยะสั้นๆ ได้ จากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มชะลอตัวลง โดยล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขานิวยอร์ก เปิดเผยดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) ต่ำกว่าคาด โดยได้รับผลกระทบจากการร่วงลงของคำสั่งซื้อใหม่ โดยที่ดัชนีภาคการผลิตดิ่งลงสู่ระดับ -20.9 ในเดือน มี.ค. 67 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -6.0 ทั้งนี้ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงภาวะหดตัวของภาคการผลิตในนิวยอร์ก และเป็นการหดตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 ขณะที่ในภาคของการบริโภคพบว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนปรับตัวลงสู่ระดับ 76.5 ในเดือน มี.ค. 67 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 77.4 จากระดับ 76.9 ในเดือน ก.พ. 67 ขณะที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 11-12 มิ.ย. 67 หลังจากที่ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานของสหรัฐปรับตัวขึ้น 1.6% ในเดือน ก.พ. 67 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1% จากระดับ 1.0% ในเดือน ม.ค. 67 ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือน ก.พ. 67 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.9% จากระดับ 2.0% ในเดือน ม.ค. 67 ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97.00 ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 


 ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

 

Source: TradingView

76 views
bottom of page