top of page
327304.jpg

เฟดยังไม่รีบลดดอกเบี้ยมี.ค.67 มีผลต่อตลาดหุ้นน้อย


           

ตลาดหุ้นสหรัฐมีแต่เรื่องดีๆ ! ความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นปัจจัยหนุนทิศทางของตลาดหุ้นโลกได้เป็นอย่างดี โดยล่าสุดสถานการณ์วิกฤตภาคธนาคารของสหรัฐได้ยุติลงอย่างถาวรแล้ว หลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ประกาศยุติโครงการระดมทุนสำหรับธนาคาร (Bank Term Funding Program : BTFP) ในวันที่ 11 มี.ค. 67 ทั้งนี้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้วที่ประชาชนชาวสหรัฐแห่ถอนเงินออกจากธนาคารพาณิชย์จำนวนมาก หลังจากที่ธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (Signature Bank) ล้มละลายอย่างรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อป้องกันวิกฤตในภาคการเงิน เฟดจึงเปิดตัวโครงการ BTFP เพื่อให้เงินกู้ยืมฉุกเฉินแก่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ โดยได้รับอนุมัติจากรัฐมนตรีคลังภายใต้ "สถานการณ์ผิดปกติและเร่งด่วน” ทั้งนี้การยุติโครงการดังกล่าวถือเป็นสัญญาณว่าความตื่นตระหนกในภาคธนาคารได้คลี่คลายลงแล้ว นอกจากนี้เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมใหม่โดยมีผลบังคับใช้ทันทีจนกว่าโครงการจะสิ้นสุด ถือเป็นการปิดช่องโหว่การนำเงินกู้ดังกล่าวมาเก็งกำไรจากส่วนต่างราคา (Arbitrage) ที่ธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐนิยมทำกัน

           

ขณะที่ในส่วนของแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงดีต่อเนื่อง โดยที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 4 ปี 2566 พบว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.3% ในไตรมาสดังกล่าว สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 2.0% สอดคล้องกับตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐที่เพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ธ.ค. 66 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.4% จากระดับ 0.4% ในเดือน พ.ย. 66 และรายได้ส่วนบุคคลเพิ่มขึ้น 0.3% สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ขณะที่ยอดขายบ้านใหม่พุ่งขึ้น 8.0% สู่ระดับ 664,000 ยูนิตในเดือน ธ.ค. 66 เมื่อเทียบรายเดือน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 649,000 ยูนิต จากระดับ 615,000 ยูนิตในเดือน พ.ย. 66 สอดคล้องกับการที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผยว่า ดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) พุ่งขึ้น 8.3% ในเดือน ธ.ค. 66 เมื่อเทียบรายเดือน ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 1.5% โดยได้แรงหนุนจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อการจำนองที่ปรับตัวลง และราคาบ้านที่มีเสถียรภาพ

           

ปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน พ.ค.ปีนี้ หลังจากที่มีการเปิดเผยข้อมูลเงินเฟ้อชะลอตัวลง แต่ก็ยังไม่เร็วพอที่จะทำให้เฟดเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้ในเดือน มี.ค. 67 ตามที่ตลาดคาดไว้ก่อนหน้านี้มีน้ำหนักลดลงไปอย่างมาก แม้ว่าล่าสุดสหรัฐจะรายงานดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลทั่วไป(Headline PCE) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 2.6% ในเดือน ธ.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน (Core PCE) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญปรับตัวขึ้น 2.9% ในเดือน ธ.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ชะลอลงจากระดับ 3.2% ในเดือน พ.ย. 66 ก็ตาม

           

โดยล่าสุด Fed Fund Futures บ่งชี้ว่า มีโอกาสราว 48% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. 67 และมีโอกาส 90% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 30 เม.ย.-1 พ.ค. 67 สอดคล้องกับผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงไตรมาส 2 ของปีนี้

           

ยุโรปและญี่ปุ่นเป็นกองหนุนที่ดีของตลาดหุ้นโลก ! แนวโน้มทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งยังคงเป็นจุดแข็งของตลาดหุ้นสหรัฐชัดเจน โดยล่าสุดสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงิน (Nominal GDP) ปี 2566 ของสหรัฐขยายตัว 6.3% เทียบกับ Nominal GDP ของจีนในปี 2566 ที่ขยายตัวเพียง 4.6% โดย Nominal GDP เป็นมาตรวัดมูลค่าผลผลิตภายในประเทศที่ยังไม่ปรับค่าเงินเฟ้อ ซึ่งข้อมูลดังกล่าวบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐทำผลงานได้อย่างโดดเด่นในปี 2566 ซึ่งเป็นผลมาจากราคาผู้บริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น และยังสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐสามารถฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าเศรษฐกิจจีน

           

นอกจากนี้ข้อมูลดังกล่าวยังแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐยังคงมีสถานะที่แข็งแกร่ง สวนทางกับเศรษฐกิจจีนที่เผชิญกับความท้าทายทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และทำให้มีโอกาสน้อยลงที่ตัวเลข GDP จีนจะสามารถตีตื้นขึ้นมาแซงสหรัฐได้ ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับจีน กดดันการฟื้นตัวในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมาของตลาดหุ้นเอเชียชัดเจน ทั้งนี้เศรษฐกิจที่ทำผลงานดีเยี่ยมของสหรัฐยังสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตลาดหุ้นในประเทศ โดยดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงปลายเดือนมกราคม ในขณะที่มูลค่าตลาดหุ้นจีนหายไปราว 6 ล้านล้านดอลลาร์

           

ขณะที่ตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่นก็ดูเหมือนจะมีปัจจัยบวกมากกว่าจีนและเอเชีย โดยที่ในฝั่งยุโรป ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคบริการและการผลิตขั้นต้นของยูโรโซน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 47.9 ในเดือน ม.ค. 67 จากระดับ 47.6 ในเดือน ธ.ค .66 แม้ว่าตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 50 จะบ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว และ PMI รวมภาคบริการและการผลิตของยูโรโซนหดตัวมาแล้วเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน แต่ถือว่ามีสัญญาณที่ดีขึ้น ขณะที่ในฝั่งญี่ปุ่น ล่าสุดมอร์แกน สแตนลีย์ ปรับลดเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นจีน และได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นญี่ปุ่น หลังจากตลาดหุ้นของทั้งสองประเทศยังคงทำผลงานสวนทางกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ มอร์แกน สแตนลีย์ปรับลดคาดการณ์เป้าหมาย ณ สิ้นปี 2567 ของดัชนี MSCI China Index ลงสู่ระดับ 53 จุด จากเดิมที่ระดับ 60 จุด โดยพิจารณาจากสมมติฐานที่ว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนและมูลค่าตลาดจะปรับตัวลง ซึ่งการปรับลดเป้าหมายดังกล่าวบ่งชี้ว่าดัชนี MSCI China Index แทบไม่มีแนวโน้มขาขึ้นในปีนี้

           

ขณะเดียวกันมอร์แกน สแตนลีย์ ได้ปรับเพิ่มเป้าหมายดัชนี Topix ตลาดหุ้นญี่ปุ่นขึ้นสู่ระดับ 2,800 จุด จากระดับ 2,600 จุด และการทำผลงานที่แตกต่างกันนับตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงขณะนี้ สะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยพื้นฐานทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ เศรษฐกิจมหภาค และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน สอดคล้องกับการที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตลาดหุ้นจีนปรับตัวย่ำแย่กว่าตลาดหุ้นญี่ปุ่น เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกยังคงเลือกที่จะลงทุนในตลาดหุ้นอื่นๆ แทนตลาดหุ้นจีน โดยแม้ว่าจีนพยายามใช้มาตรการกระตุ้นการซื้อขายในตลาด แต่ก็แทบจะไม่สามารถฟื้นฟูบรรยากาศการซื้อขายให้กลับมาคึกคักได้ เนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและวิกฤตการณ์ในตลาดอสังหาริมทรัพย์ของจีน

           

ในด้านของพื้นฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของญี่ปุ่น สะท้อนออกมาจากการที่กระทรวงแรงงานญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลว่า จำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น ณ สิ้นสุดในเดือน ต.ค. 66 พุ่งสูงกว่าระดับ 2 ล้านคนเป็นครั้งแรก ขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยที่จำนวนแรงงานต่างชาติเพิ่มขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์แตะ 2,048,675 คน ซึ่งเพิ่มขึ้น 225,950 คนหรือ 12.4% จากปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของจำนวนผู้ฝึกงานด้านเทคนิค หลังจากญี่ปุ่นผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดนอันเข้มงวดในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งนี้นับตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา จำนวนแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี และในปีที่แล้วนั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นเพียง 5.5% ในปีก่อนหน้า นอกจากนี้ จำนวนบริษัทและสถานที่ต่างๆ ที่จ้างแรงงานต่างชาติก็เพิ่มขึ้น 6.7% สู่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 318,775 แห่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าบริษัทต่างๆ เหล่านี้จ้างแรงงานต่างชาติมากขึ้นเพื่อรับมือกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

           

นอกจากนี้อัตราเงินเฟ้อในกรุงโตเกียวในเดือน ม.ค. 67 ที่ลดลงต่ำกว่า 2% เป็นครั้งแรกในรอบกว่าหนึ่งปีครึ่ง โดยลดลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ อาจส่งผลให้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ต้องชะลอการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ออกไป ทั้งนี้ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่รวมราคาอาหารสด แต่รวมเชื้อเพลิง ในกรุงโตเกียว เพิ่มขึ้น 1.6% ในเดือน ม.ค. 67 ลดลงจากระดับ 2.1% ในเดือน ธ.ค. 66 และถือเป็นตัวเลขต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 เนื่องจากราคาพลังงานลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ราคาที่พักอาศัยและอาหารแปรรูปเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยลง โดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตัวเลขดังกล่าวถือเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกันที่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว เมื่อเทียบกับประมาณการโดยนักวิเคราะห์ซึ่งอยู่ที่ 1.9% และยังแสดงให้เห็นการชะลอตัวของราคาในภาคบริการที่สำคัญอีกด้วย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อของกรุงโตเกียวเป็นตัวชี้วัดแนวโน้มเงินเฟ้อของทั้งประเทศ ซึ่งบ่งชี้ว่าอัตราเงินเฟ้อโดยรวมของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ในเดือน ม.ค.นี้

           

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่ Technical Rebound เท่านั้น

        

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”   

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

           

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายสัปดาห์ (Weekly)

 

Source: TradingView

364 views
bottom of page