top of page
379208.jpg

ถ้าตั้งรัฐบาลใหม่ได้ไม่วุ่นวาย...ตลาดหุ้นไทยขาขึ้น


นักลงทุนเริ่มมองแต่ปัจจัยบวก !

ชัดเจนว่าในระยะสั้นนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกมองข้ามโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟดไปแล้ว แม้ว่าล่าสุด CME FedWatch จะระบุว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 89.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. 66 และให้น้ำหนักเพียง 10.1% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% โดยให้น้ำหนักมากกว่ากับความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ หลัง เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ออกมาระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังอยู่บนเส้นทางที่จะสามารถรักษาตลาดแรงงานที่แข็งแกร่ง ขณะที่เงินเฟ้อปรับตัวลง

นอกจากนี้งบดุลบัญชีที่แข็งแกร่งของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน จะเป็นแหล่งที่มาของความเข้มแข็งของเศรษฐกิจสหรัฐ พร้อมกับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม โดยแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมากกว่าที่คาดไว้ รวมทั้งผู้บริหารในภาคธุรกิจหลายรายมีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่สำคัญยังคงสะท้อนมุมมองดังกล่าวด้วย โดยที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 64.4 ในเดือน มิ.ย. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 4 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.9 จากระดับ 59.2 ในเดือน พ.ค. 66

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคคลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ และวิกฤตเพดานหนี้สหรัฐ นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและในช่วง 6 เดือนข้างหน้าต่างดีดตัวขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 3.3% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ต่ำกว่าระดับ 4.2% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว และสำหรับในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะแตะระดับ 3.0% ลดลงจากระดับ 3.1% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานของสหรัฐ ปรับตัวขึ้นเพียง 3.8% ในเดือน พ.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ลดลงต่อเนื่องจากระดับ 4.3% ในเดือน เม.ย. 66

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้นเพียง 4.6% ในเดือน พ.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% จากระดับ 4.7% ในเดือน เม.ย. 66 ทั้งนี้ ดัชนี PCE ถือเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สามารถตรวจจับการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของผู้บริโภค และครอบคลุมราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมากกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI)

อย่างไรก็ดีผลกระทบจากการยื่นล้มละลายของสหรัฐที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเป็นประเด็นที่ต้องจับตากันต่อไปด้วย หลังจากที่ล่าสุด Epiq Bankruptcy ผู้ให้บริการข้อมูลการยื่นล้มละลายของสหรัฐ เปิดเผยว่า ยอดการยื่นขอล้มละลายตามมาตราที่ 11 ของสหรัฐในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 แตะ 2,973 ราย เมื่อเทียบกับ 1,766 รายในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า พุ่งขึ้น 68% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งยอดการยื่นขอล้มละลายที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสะท้อนให้เห็นถึงจำนวนครอบครัวและธุรกิจจำนวนมากที่เผชิญกับภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากอัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การยื่นขอล้มละลายสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งจัดอยู่ในประเภทกฎหมายย่อยบทที่ 5 ของมาตรา 11 เพิ่มขึ้นถึง 55% ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566

ยุโรปและเอเชียยังไม่ดี ส่วนไทยลุ้นรัฐบาลใหม่ ! ขณะที่ฝั่งสหรัฐยังคงสดใส และเป็นเครื่องจักรสำคัญในการสนับสนุนทิศทางขาขึ้นของตลาดหุ้นโลก ทิศทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอในฝั่งของยุโรปและเอเชียดูน่ากังวลมากกว่า โดยที่ในฝั่งของยุโรป พบว่ากิจกรรมภาคการผลิตของยูโรโซนหดตัวในอัตราที่เร็วกว่าคาดในเดือน มิ.ย. 66 เนื่องจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งผลกระทบด้านการเงิน และบ่งชี้ถึงแนวโน้มภาคอุตสาหกรรมที่ซบเซา โดยที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของยุโรปจากฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 43.4 ในเดือน มิ.ย. 66 จากระดับ 44.8 ในเดือน พ.ค. 66 ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่ำกว่าระดับที่คาดไว้เบื้องต้นที่ 43.6 โดยดัชนีที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตอยู่ในภาวะหดตัว สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายของเยอรมนีที่ปรับตัวลดลงแตะ 40.6 ในเดือน มิ.ย. 66 จาก 43.2 ในเดือน พ.ค. 66 ซึ่งเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 สะท้อนว่าภาคการผลิตของเยอรมนีหดตัวในอัตราเร็วที่สุดในรอบ 3 ปีในเดือน มิ.ย. 66 โดยทั้งผลผลิตและคำสั่งซื้อใหม่ปรับตัวลดลง โดยภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 5 ของเศรษฐกิจเยอรมนี ขณะที่ตัวเลขการส่งออกของเยอรมนีลดลงในเดือน พ.ค. 66 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน มิ.ย. 66 หดตัวลงเช่นกันสู่ระดับ 46.5 จากระดับ 47.1 ในเดือน พ.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในปีนี้และเป็นหนึ่งในระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่วิกฤตการณ์ทางการเงินปี 2551-2552 ขณะที่ในฝั่งของเอเชียจีนยังคงเป็นความเสี่ยงหลัก โดยที่ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการเดือน มิ.ย. 66 ของจีนปรับตัวลงสู่ระดับ 53.9 จากระดับ 57.1 ในเดือน พ.ค. 66 เนื่องจากกิจกรรมทางธุรกิจและยอดสั่งซื้อใหม่ชะลอตัวลง

ทั้งนี้แม้ว่าดัชนี PMI ที่อยู่เหนือระดับ 50 จะบ่งชี้ว่า ภาคบริการของจีนยังมีการขยายตัว และเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 6 แต่ในเชิงของแนวโน้มแล้วมองไม่ดีเลย ซึ่งในปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ หลังมีการเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในเดือน พ.ค. 66 รวมถึงยอดค้าปลีกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ซึ่งทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าจีนอาจจะเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไม่ช้านี้ แม้ว่า หลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะกล่าวในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวแข็งแกร่งกว่าในไตรมาส 1 และคาดว่าอาจจะขยายตัวตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ราว 5% เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเศรษฐกิจจีนขยายตัวเพียง 3% ในปี 2565 ซึ่งเป็นการขยายตัวที่อ่อนแอที่สุดในรอบเกือบ 50 ปีก็ตาม

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ปัจจัยการเมืองเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดทิศทางของตลาดในระยะต่อไป ซึ่งผมเห็นด้วยกับสภาหอการค้าไทยที่ระบุว่าเมื่อกระบวนการเลือกประธานสภา แล้วเสร็จ ก็จะเป็นการเลือกนายกรัฐมนตรี หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ไม่มีความวุ่นวาย ไม่มีการชุมนุมประท้วง รัฐบาลนิ่งและมีเสถียรภาพ คิดว่าเศรษฐกิจจะสามารถฟื้นตัวได้รวดเร็ว สอดคล้องกับการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยของหลายหน่วยงานที่ยังมองภาพในมุมบวก โดยเฉพาะที่ธนาคารโลก (World Bank) ได้ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ดีขึ้นเป็น 3.9% จากเดิม 3.6% ซึ่งถ้าสถานการณ์เป็นไปตามที่สภาหอการค้าไทยคาดหวัง ผมมองว่าตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มกลับสู่ขาขึ้นอีกครั้ง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,565 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ทุกวันอาทิตย์ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

371 views

Comments


bottom of page