top of page
327304.jpg

ภาพใหญ่ตลาดหุ้นเอเชียยังดูไม่ดีโดยเฉพาะไทย


พักช่วงสั้นแต่แนวโน้มหลักยังขาขึ้น !

แม้ว่าในระยะสั้นจะเริ่มเห็นสัญญาณของการพักตัวบ้าง แต่ในภาพรวมผมยังคงมองว่าแนวโน้มหลักของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ โดยมีแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐเป็นปัจจัยหนุน หลังจากที่ล่าสุดแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 1.9% ในไตรมาส 2 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1 ขณะที่ นางเจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐ ออกมาส่งสัญญาณว่าโอกาสที่เศรษฐกิจจะถดถอยนั้นลดลง อันเนื่องมาจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน และระดับเงินเฟ้อกำลังลดต่ำลง แต่ความพยายามในการควบคุมอัตราเงินเฟ้อนั้นอาจเป็นสิ่งที่ต้องแลกมาด้วยการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคที่ชะลอตัวลง แม้ว่าในระยะสั้น อาจมีปัจจัยกดดันจากเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หลังจากที่ นางแมรี ดาลี ประธานเฟด สาขาซานฟรานซิสโก ออกมาระบุว่าการที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ถือเป็นการคาดการณ์ที่สมเหตุสมผล

อย่างไรก็ดีโทนความเห็นในด้านของการขึ้นดอกเบี้ยเบาลงไปมากแล้ว โดยมองว่าการที่เฟดได้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในปีที่แล้ว ทำให้อัตราดอกเบี้ยใกล้แตะระดับที่ควรจะเป็น ดังนั้นเฟดจึงควรดำเนินการให้ช้าลง และระมัดระวังมากกว่าแต่ก่อน ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 2.3% WoW มาอยู่ที่ 42.9% แต่ยังคงสูงกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่อยู่ที่ 27.8% และเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ต่ำกว่า 30% ซึ่งยาวนานที่สุดตั้งแต่ พ.ค. 64

ส่วนความเสี่ยงอื่นๆ นอกสหรัฐยังคงเป็นปัจจัยที่ต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะจากฝั่งยุโรป และจีน ซึ่งในฝั่งยุโรป แรงกดดันล่าสุดมาจากการที่กิจกรรมทางธุรกิจในยูโรโซนแทบจะหยุดชะงักในเดือน มิ.ย. 66 เนื่องจากภาคการผลิตหดตัวลงรุนแรงขึ้น ขณะที่กิจกรรมภาคบริการขยายตัวเพียงเล็กน้อย สะท้อนออกมาจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้น ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือนที่ระดับ 50.3 ในเดือน มิ.ย. 66 และลดลงจากระดับ 52.8 ในเดือน พ.ค. 66

ญี่ปุ่นโดดเด่นท่ามกลางเอเชียที่ดูเสี่ยงมากขึ้น ! ในส่วนของตลาดหุ้นเอเชีย ต้องแบ่ง 2 ส่วนนะครับ คือถ้าในภาพรวมยังคงได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจของจีนแน่นอน แต่ถ้าเฉพาะญี่ปุ่นต้องบอกว่ายังคงมีปัจจัยหนุนต่อเนื่อง หลังจาก นายคาซูโอะ อุเอดะ ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ได้เน้นย้ำถึงความพร้อมของ BOJ ที่จะคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษต่อไปจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 2% อย่างยั่งยืน และเกิดขึ้นพร้อมกับการปรับขึ้นค่าจ้าง จากที่ก่อนหน้านี้นักลงทุนเกิดความไม่แน่ใจเกี่ยวกับมุมมองของ BOJ ที่เคยระบุว่าดัชนี CPI ที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้นเป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว และทำให้นักลงทุนมีการคาดการณ์ว่าภายในปีนี้ BOJ อาจจะปรับเปลี่ยนนโยบายจากการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ขณะที่ล่าสุด BOJ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ของญี่ปุ่นในเดือน พ.ค. 66 ปรับตัวขึ้น 3.2% เมื่อเทียบรายปี โดยชะลอตัวลงจากเดือนเม.ย. 66 แต่ยังคงสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลางที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกัน ข้อมูลดัชนี CPI พื้นฐานทั่วประเทศดังกล่าวซึ่งไม่รวมอาหาร แต่รวมผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานนั้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ตลาดคาดไว้ว่าอาจเพิ่มขึ้น 3.1% แต่ชะลอตัวลงจากระดับ 3.4% ในเดือน เม.ย. 66

ขณะที่ปัจจัยลบจริงๆ จะอยู่ที่ฝั่งของจีนเป็นหลัก แม้ว่าล่าสุด นายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีนจะไปสร้างความมั่นใจในการประชุมเวิลด์ อีโคโนมิก ฟอรัม ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเทียนจิน ว่าเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 2 มีแนวโน้มที่จะขยายตัวแข็งแกร่งกว่าในไตรมาส 1 และคาดว่าอาจจะขยายตัวตามเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดไว้ที่ราว 5% เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยระบุว่าการที่ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนชะลอตัวลงท่ามกลางอุปสงค์ที่อ่อนแอทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลจีนวางแผนที่จะออกนโยบายที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศและเปิดตลาดให้กว้างขึ้น เพื่อให้จีนยังคงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก

อย่างไรดีสถาบันการเงินรายใหญ่หลายแห่งได้ทยอยพากันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์ภายในประเทศ (GDP) ของจีนในปี 2566 หลังจากจีนเปิดเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกที่ต่ำกว่าคาดในเดือน พ.ค. 66 ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่ารัฐบาลจีนจำเป็นต้องเร่งออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวหลังยุคโควิด-19 โดยล่าสุดเอสแอนด์พี โกลบอล (S&P Global) ปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีน โดยระบุว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2566 จะอยู่ที่ 5.2% ลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 5.5% หลังจากจีนเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอในเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ในช่วงหลังโควิด-19 แพร่ระบาด

ทั้งนี้ S&P ถือเป็นบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายแรกที่ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจจีน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ โกลด์แมน แซคส์ ได้ปรับลดการคาดการณ์ GDP จีนปีนี้เหลือ 5.4% จากระดับ 6% เนื่องจากความเชื่อมั่นที่อ่อนแอและความกังวลเกี่ยวกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้นภายหลังการเลือกตั้งของไทย โดยเฉพาะประเด็นความชัดเจนของรัฐบาลใหม่และนายกรัฐมนตรี กำลังเป็นปัจจัยที่ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและตลาดหุ้นของไทยแย่ลงไปอีก โดยเฉพาะในส่วนของเศรษฐกิจไทยยังคงค่อนข้างน่าเป็นห่วงมาก สะท้อนออกมาจากการที่ตัวเลขการส่งออกไทย เดือน พ.ค. 66 ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.6% มาอยู่ที่ 24,340 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ในเดือน พ.ค. 66 ประเทศไทยขาดดุลการค้า 1,849 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ ตัวเลขการส่งออก มีมูลค่า 116,344 ล้านดอลลาร์ หรือลดลง 5.1% ส่งผลให้ช่วง 5 เดือนแรกปีนี้ ไทยขาดดุลการค้า 6,365 ล้านดอลลาร์ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายการส่งออกไทยในปีนี้ จะเติบโตที่ 1-2% โดยเชื่อว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ สถานการณ์การส่งออกจะเริ่มดีขึ้น ตามทิศทางของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดีผมยังมองไม่เห็นสัญญาณที่ว่าเลย ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้จะกลับสู่เส้นทางที่รัฐบาลคาดหวังไว้ได้

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,580 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)



12 views
bottom of page