top of page
369286.jpg

ยังไม่มีปัจจัยกดดันให้ตลาดหุ้นโลกเปลี่ยนทิศ


Momentum ของตลาดหุ้นสหรัฐดีมาก!

ในระยะสั้นยังคงไม่พบปัจจัยกดดันใดที่มีนัยสำคัญพอที่จะทำให้แนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกเปลี่ยนไปได้นะครับ ในทางตรงกันข้ามปัจจัยหนุนยังคงแข็งแกร่งมากขึ้นด้วยซ้ำ โดยเฉพาะจากฝั่งสหรัฐ และญี่ปุ่น ที่แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงแข็งแกร่งมาก สะท้อนออกมาจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.2% ในไตรมาส 2 เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1

เช่นเดียวกับในฝั่งของญี่ปุ่น ที่ล่าสุดรายงานตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในไตรมาส 1 ออกมาขยายตัวถึง 2.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งแข็งแกร่งกว่าการประมาณการเบื้องต้นที่ระบุว่าขยายตัวเพียง 1.6% หลังจากการใช้จ่ายในภาคธุรกิจดีดตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นหลักฐานล่าสุดที่บ่งชี้ว่าอุปสงค์ภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว มิหนำซ้ำยังแข็งแกร่งกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1.9% ซึ่ง Momentum การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวเกิดขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศยกเลิกมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ซึ่งทำให้บริษัทต่างๆ ปรับเพิ่มการลงทุน หลังจากที่พากันเลื่อนการลงทุนในช่วงที่โควิด-19 แพร่ระบาด ขณะที่การอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนยังคงฟื้นตัว ซึ่งการอุปโภคบริโภคในภาคเอกชนนั้น คิดเป็นสัดส่วนกว่าครึ่งหนึ่งของระบบเศรษฐกิจญี่ปุ่น

ทั้งนี้จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งดังกล่าว ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2566 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นสหรัฐและญี่ปุ่น ปรับตัวขึ้นมาแล้วราว 12.0% และ 23.2% ตามลำดับ

นอกจากนี้การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งดังกล่าวของสหรัฐและญี่ปุ่น ส่งผลให้ล่าสุดธนาคารโลกปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้สู่ระดับ 2.1% สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 66 ที่ระดับ 1.7%

ขณะเดียวกัน ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.1% ในปีนี้ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือน ม.ค. 66 ที่ระดับ 0.5% และคาดว่าเศรษฐกิจจีนขยายตัว 5.6% ในปีนี้ สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในเดือนม.ค. 66 ที่ระดับ 4.3% ส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เพิ่มขึ้น 15.5% WoW มาอยู่ที่ 44.5% สูงที่สุดในรอบ 84 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. 64 สวนทางกับสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่ลดลง 12.5% WoW มาอยู่ที่ 24.3% ส่งผลให้สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish สูงกว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish เป็นครั้งแรกในรอบ 16 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 16 ก.พ. 66 โดยมีส่วนต่าง Bull-Bear Spread สูงถึง 20.2% ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 82 สัปดาห์ หรือตั้งแต่วันที่ 11 พ.ย. 64 อีกด้วย

สอดคล้องกับดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ หรือ Volatility S&P 500 Index ที่ในสัปดาห์แรกของเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาปรับตัวลดลงอีก 5.3% ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปี 2566 ปรับตัวลดลงมาแล้วถึง 36.1% สู่ระดับต่ำที่สุดตั้งแต่ 18 ก.พ. 63 สะท้อนให้เห็นถึง Momentum ขาขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐชัดเจน ขณะที่ปัจจุบันดัชนี S&P500 ของตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นมาแล้ว 12.0% ในปี 2566

เศรษฐกิจจีนยังคงเป็นปัจจัยกดดันตลาดหุ้นเอเชีย ! นอกจากนี้ความเสี่ยงโดยตรงของตลาดหุ้น และระบบเศรษฐกิจสหรัฐได้ลดน้ำหนักลงไปมากแล้วไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเพดานหนี้ หรือระบบธนาคารของสหรัฐ ซึ่งล่าสุดตัวเลขเงินฝากและกิจกรรมการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์ในสหรัฐได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกันในสัปดาห์สุดท้ายของเดือน พ.ค. 66 เป็นสัปดาห์ที่ 3 ติดต่อกัน โดยเงินฝากของธนาคารสหรัฐขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น 4.66 หมื่นล้านดอลลาร์ สู่ 17.2 ล้านล้านดอลลาร์ และการปล่อยกู้เพิ่มขึ้น 4.6 พันล้านดอลลาร์ สู่ระดับ 12.1 ล้านล้านดอลลาร์ แม้ว่าล่าสุดสำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์จะมีการรายงานโดยอ้างอิงข้อมูลจากกลุ่มนักวิเคราะห์ว่า การกู้เงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐนั้นเสี่ยงที่จะเพิ่มแรงกดดันต่อระบบธนาคารของสหรัฐก็ตาม หลังสหรัฐผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งร้ายแรงเป็นผลสำเร็จในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา

การผ่านกฎหมายเพิ่มเพดานหนี้ดังกล่าวทำให้สหรัฐสามารถกู้ยืมเงินได้เพิ่มมากขึ้น โดยกระทรวงการคลังสหรัฐจะหาวิธีเพิ่มพูนกระแสเงินสดในคลัง หลังจากแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2560 ไปเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเจพีมอร์แกนคาดการณ์ว่า สหรัฐจำเป็นต้องกู้เงิน 1.1 ล้านล้านดอลลาร์ผ่านการออกพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นภายในสิ้นปี 2566 โดยจะออกพันธบัตรรัฐบาลสุทธิ 8.5 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 4 เดือนข้างหน้า

อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นเอเชีย มีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้แย่ หรือ Underperform เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของตลาดหุ้นโลก, สหรัฐ, ยุโรป และญี่ปุ่น โดยมีปัจจัยกดดันสำคัญมาจากเศรษฐกิจและตลาดหุ้นจีน

ทั้งนี้เศรษฐกิจจีนที่ฟื้นตัวอย่างเชื่องช้านับตั้งแต่ยกเลิกนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นจีนลดลง และพากันมองหาทางเลือกการลงทุนในตลาดหุ้นประเทศอื่นๆ นอกจากนี้จีนยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะเงินฝืด หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ เพิ่มขึ้นเพียง 0.2% ในเดือน พ.ค. 66 ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 0.3% และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 4.6% ในเดือน พ.ค. 66 ซึ่งรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจลดลง 4.3% เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวลง รวมทั้งอุปสงค์ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอ่อนแอลง

สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้เชี่ยวชาญออกมาเรียกร้องให้ธนาคารกลางจีนตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่ล่าสุดองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) คาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจในอินเดียจะแซงหน้าจีนในปีนี้และปีหน้า

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,580 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

1 view

Comments


bottom of page