top of page
327304.jpg

ภาพซ้ำเดิมๆ ตลาดหุ้นโลกขาขึ้น ส่วนเอเชียยังขาลง



ภาพซ้ำเดิมๆ

ตลาดหุ้นโลกขาขึ้น ส่วนเอเชียยังขาลง

           

หลัง มี.ค.สหรัฐจะลดดอกเบี้ยต่อเนื่อง !

           

แนวโน้มหลักของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ สะท้อนออกมาจากการที่ในปัจจุบัน 4 ดัชนีหลักสำคัญ ทั้งตลาดหุ้นโลก สหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ในทางเทคนิคอยู่ในสถานะที่เกิด Golden Cross ครบทั้ง 5 ขั้น แม้ว่าล่าสุดนักลงทุนในตลาดการเงินโลกได้ปรับลดน้ำหนักต่อคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 67 ขณะที่เพิ่มน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือนดังกล่าว จนล่าสุดน้ำหนักการคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 67 ได้แซงหน้าน้ำหนักของการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว โดยที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 46.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. 67 จากที่เคยให้น้ำหนัก 76.9% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.9% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค. 67 หลังจากที่ให้น้ำหนักเพียง 19.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากที่นายราฟาเอล บอสติก ประธานเฟดสาขาแอตแลนตา ออกมาคาดว่าเฟดจะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 3 ของปีนี้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อกำลังกลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2%

             

อย่างไรก็ดี นายบอสติกเปิดช่องสำหรับคาดการณ์กำหนดเวลาที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าไตรมาส 3 และเป้าหมายของเฟดคือการกำหนดนโยบายที่ไม่เข้มงวดเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องเข้มงวดเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ราคาดีดตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวอาจไม่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนมากนัก เพราะแม้เฟดจะยังคงไม่เริ่มลดดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 67 แต่นักลงทุนในตลาดการเงินโลกยังคงมองว่าหลังจากนั้นเฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่องอยู่ดี โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่านักลงทุนเชื่อว่าเฟดจะลดดอกบี้ยลง 4 ครั้งติดต่อกันหลังจากการประชุมในเดือน มี.ค. 67 โดยที่นักลงทุนให้น้ำหนัก 50.9% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. 67, ให้น้ำหนัก 50.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือน มิ.ย. 67, ให้น้ำหนัก 47.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือน ก.ค. 67, ให้น้ำหนัก 45.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ก.ย. 67

           

ขณะที่ในฝั่งของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ทิศทางของสหรัฐก็ยังคงแข็งแกร่ง โดยที่ล่าสุดผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นสู่ระดับ 78.8 ในเดือน ม.ค. 67 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 64 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 70.2 จากระดับ 69.7 ในเดือน ธ.ค. 67 ทั้งนี้ผู้บริโภคเพิ่มความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ขณะที่คลายความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ โดยผู้บริโภคสหรัฐคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้น 2.9% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า ลดลงจากระดับ 3.1% ในการสำรวจเดือนที่แล้ว ขณะที่เฟด สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.4% ในไตรมาส 4 ปี 2566 หลังจากมีการขยายตัว 2.2%, 2.1% และ 4.9% ในไตรมาส 1, 2 และ 3 ตามลำดับ นอกนั้นพบว่าความเสี่ยงทางด้านการคลังลดลงไปอย่างมากแล้ว หลังจากที่ล่าสุดสภาคองเกรสสหรัฐลงมติผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวแล้ว โดยขณะนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ถูกส่งไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพื่อลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยงบประมาณชั่วคราวฉบับนี้จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางสหรัฐมีงบประมาณใช้จ่ายไปจนถึงช่วงต้นเดือน มี.ค. 67 และสามารถหลีกเลี่ยงการถูกปิดดำเนินการหรือชัตดาวน์ได้ หลังสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 314 ต่อ 108 เสียง ให้ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราว ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายดังกล่าวของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐมีขึ้นหลังจากวุฒิสภาได้ให้การรับรองด้วยคะแนนเสียง 77 ต่อ 18 เสียง ก่อนที่งบประมาณชั่วคราวฉบับเดิมจะหมดอายุลง

           

เงินทุนจะไม่ไหลกลับเข้าเอเชียจนกว่าสหรัฐจะลดดอกเบี้ย ! นอกจากนี้ปัจจัยบวกและแนวโน้มของตลาดหุ้นยุโรปยังคงเป็นปัจจัยหนุนทิศทางของตลาดหุ้นโลกด้วย โดยในฝั่งยุโรปล่าสุด นางคริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (ECB) ส่งสัญญาณว่า ECB มีแนวโน้มจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงฤดูร้อนปีนี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีกรรมการหลายคนของ ECB ได้ออกมาส่งสัญญาณดังกล่าว แม้ว่าล่าสุดอัตราเงินเฟ้อของยูโรโซนดีดตัวขึ้น 2.9% ในเดือน ธ.ค. 67 โดยได้แรงหนุนจากการพุ่งขึ้นของราคาพลังงาน ขณะที่เป้าหมายเงินเฟ้อของ ECB อยู่ที่ระดับ 2%

           

ส่วนในฝั่งของญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมราคาอาหารสดและเป็นข้อมูลเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ให้ความสำคัญ เพิ่มขึ้น 2.3% ในเดือน ธ.ค. 66 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 2.5% ในเดือน พ.ย. 66 โดยดัชนี CPI พื้นฐานเดือน ธ.ค. 66 ถือเป็นการขยายตัวในอัตราต่ำสุดในรอบเกือบ 2 ปีหรือนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 นอกจากนี้ BOJ คาดการณ์ว่า ตัวเลขเงินเฟ้อของญี่ปุ่นจะชะลอตัวลงอีกในช่วงไม่กี่เดือนข้างหน้า เนื่องจากต้นทุนด้านพลังงานและวัตถุดิบประเภทอื่น ๆ เริ่มอ่อนแรงลง หลังจากที่ก่อนหน้านี้ต้นทุนดังกล่าวพุ่งขึ้นอย่างมากและส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน ทำให้ล่าสุดนักลงทุนยังคงมองว่า BOJ จะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) จากการประชุมเมื่อวันที่ 31 ต.ค. 66 โดยกำหนดเพดานกรอบบนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีที่ระดับ 1.0% และให้ระดับดังกล่าวเป็นระดับอ้างอิง หรือ "Reference Point" เพื่อให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวสามารถปรับตัวขึ้นได้อีก และเพื่อสะท้อนถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ดีตราบใดก็ตามที่เฟดยังคงไม่เริ่มทยอยลดดอกเบี้ย ตลาดหุ้นเอเชียจะไม่ได้รับปัจจัยหนุนจากแนวโน้มภาพใหญ่ของตลาดหุ้นโลก สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุด

ตลาดหุ้นเอเชีย ในทางเทคนิคอยู่ในสถานะที่เกิด Dead Cross ครบทั้ง 5 ขั้น สะท้อนภาวะขาลงเต็มตัว ขณะที่ด้านของ Fund Flow ตลาดหุ้นของประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชีย (EM Asia Stocks) ซึ่งไม่รวมตลาดหุ้นจีนนั้น เผชิญกับเม็ดเงินไหลออกรายสัปดาห์มากที่สุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 ราว 6.6 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้เม็ดเงินไหลออกรายสัปดาห์จากตลาดดังกล่าวเป็นปริมาณมากที่สุดในรอบเกือบ 19 เดือน โดยเม็ดเงินที่ไหลออกจากตลาดนั้น นำโดยตลาดหุ้นไต้หวันซึ่งเป็นตลาดที่มีบริษัทเทคโนโลยีเข้าจดทะเบียนมากที่สุด และตลาดหุ้นอินเดียซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตรวดเร็วที่สุดในเอเชีย เนื่องจากตลาดลดความคาดหวังว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง และส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง  ดังนั้นในส่วนของตลาดหุ้นไทย การฟื้นตัวต่อเนื่องของดัชนี SET ตั้งแต่บริเวณ 1,345 จุดวันที่ 13 ธ.ค. 66 จะมีแนวต้านสำคัญอยู่ที่บริเวณ Fib Node 0.382 และ 0.618 หรือ 1,447 และ 1,497 จุดตามลำดับ ซึ่งตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถขยับตัวขึ้นมายืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นมาในรอบนี้ยังคงมองเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

           

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,497 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

           

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

8 views
bottom of page