top of page
327304.jpg

แนวโน้มเศรษฐกิจที่อ่อนแอ กดดันตลาดหุ้นไทย


สหรัฐดันตลาดหุ้นโลกขาขึ้นต่อ !

แนวโน้มหลักของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ หลังโกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ในปี 2567 โดยได้แรงหนุนจากรายได้ที่เติบโตอย่างแข็งแกร่งและความเชื่อมั่นที่ว่าภาวะเลวร้ายที่สุดของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยที่โกลด์แมน แซคส์ ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 2.6% ในปี 2567 ตามค่าเฉลี่ยรายปี ซึ่งสูงกว่าการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่คาดว่าจะขยายตัว 2.1% โดยสหรัฐมีแนวโน้มจะขยายตัวมากกว่าประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ อีกครั้ง โดยขยายตัว 2.1%

ขณะเดียวกัน โกลด์แมน แซคส์ เชื่อว่า แรงฉุดจากนโยบายคุมเข้มทางการเงินและการคลังนั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงขยายตัวต่อเนื่อง โดยที่แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 4 ในสถานการณ์ที่ภาคอสังหาริมทรัพย์และภาคการผลิตที่เคยเป็นจุดอ่อนของเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีการฟื้นตัวแล้ว โดยที่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ล่าสุดตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้านเพิ่มขึ้น 1.9% สู่ระดับ 1.372 ล้านยูนิตในเดือน ต.ค. 66 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.350 ล้านยูนิต สอดคล้องกับตัวเลขจำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองเพิ่มขึ้น 2.8% ในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 2 และจำนวนผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์เพิ่มขึ้น 2% ในสัปดาห์ที่แล้ว และเพิ่มขึ้น 7% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ในส่วนของภาคการผลิต ดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -5.9 ในเดือน พ.ย. 66 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -7.5 และดีขึ้นจากระดับ -9.0 ในเดือน ต.ค. 66 สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิต (Empire State Index) จากเฟดสาขานิวยอร์ก ที่ปรับตัวขึ้น 13.7 จุด สู่ระดับ +9.1 ในเดือน พ.ย. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 66 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -2.8 จากระดับ -4.6 ในเดือน ต.ค. 66

ในทางตรงกันข้าม ในภาคการบริโภคและภาคการจ้างงานที่เคยร้อนแรงก่อนหน้านี้และเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวขึ้นมาเริ่มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องแล้ว โดยล่าสุดตัวเลขยอดค้าปลีกลดลง 0.1% ในเดือน ต.ค. 66 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 66 หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือน ก.ย. 66 โดยได้รับผลกระทบจากการลดลงของยอดขายรถยนต์และเฟอร์นิเจอร์ ขณะที่ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 13,000 ราย สู่ระดับ 231,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือน และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 220,000 ราย นอกจากนี้จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องเพิ่มขึ้น 32,000 ราย สู่ระดับ 1.87 ล้านราย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 66

นอกจากนี้ล่าสุดนักลงทุนในตลาดได้เพิ่มน้ำหนักต่อการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ค. 67 ซึ่งเร็วกว่าเดิมที่คาดไว้ในเดือน มิ.ย. 67 โดยที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 49.8% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน พ.ค. 67 จากเดิมที่ให้น้ำหนักเพียง 32.1% เมื่อเดือนที่แล้ว หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด ทั้งนี้ ดัชนี PPI ทั่วไป (Headline PPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 1.3% ในเดือน ต.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.9% จากระดับ 2.2% ในเดือน ก.ย. 66 ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 2.4% ในเดือน ต.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.7% จากระดับ 2.7% ในเดือน ก.ย. 66

ในส่วนของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พบว่าดัชนี CPI ทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงานของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 3.2% ในเดือน ต.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.3% และลดลงจากระดับ 3.7% ในเดือน ก.ย. 66 ส่วนดัชนี CPI พื้นฐาน (Core CPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงานของสหรัฐ ปรับตัวขึ้น 4.0% ในเดือน ต.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.1% และลดลงจากระดับ 4.1% ในเดือน ก.ย. 66

นอกจากนี้ความเสี่ยงที่ความขัดแย้งเกี่ยวร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวในสภาคองเกรส จะทำให้สหรัฐผิดนัดชำระหนี้ และเป็นเหตุให้มูดี้ส์ปรับลดแนวโน้มความน่าเชื่อถือของสหรัฐได้ยุติลงแล้ว หลังจากที่ล่าสุดวุฒิสภาสหรัฐมีมติด้วยคะแนนเสียง 87 ต่อ 11 เสียง ผ่านร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวแล้ว โดยวุฒิสภาสหรัฐได้ส่งร่างกฎหมายดังกล่าวไปยังประธานาธิบดีโจ ไบเดนแล้ว

เอเชียยังคงเปราะบางและจะ Underperform ! อย่างไรก็ดีในระยะสั้นดูเหมือนว่าตลาดหุ้นเอเชียจะกลับมามีสถานะ Underperform แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกอีกครั้ง จากแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะเปราะบางกว่า เพราะแม้กระทั้งญี่ปุ่น แม้ว่าล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นในวันนี้ว่า ยอดส่งออกเดือน ต.ค. 66 เพิ่มขึ้น 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 1.2% และเป็นการปรับตัวขึ้นติดต่อกันเดือนที่ 2 แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ปรับตัวลง 2.1% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจลดลงเพียง 0.6% และเป็นการปรับตัวลงครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส ทั้งนี้ ตัวเลข GDP ที่ออกมาย่ำแย่กว่าคาดในไตรมาส 3 สะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นยังคงเผชิญกับความไม่แน่นอน ซึ่งรวมถึงผลกระทบจากการอ่อนค่าของเงินเยน, ปัญหาเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเป็นเวลานาน และแนวโน้มสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในต่างประเทศ

ในฝั่งของจีนดูเหมือนจะเริ่มดีขึ้น โดยล่าสุดตัวเลขยอดค้าปลีกเดือนต.ค. 66 ของจีนปรับตัวขึ้น 7.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่าอาจเพิ่มขึ้น 7% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนต.ค.ของจีนปรับตัวขึ้น 4.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจเพิ่มขึ้น 4.4% หลังจากที่ทางการจีนประกาศใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม โดยมุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือรัฐบาลท้องถิ่น นอกจากนี้ จีนยังได้ออกมาตรการเพื่อสร้างเสถียรภาพในภาคอสังหาริมทรัพย์ด้วย

ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 2566 ขึ้นสู่ระดับ 5.4% และเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2567 ขึ้นสู่ระดับ 4.6% อย่างไรก็ดีตัวเลขดังกล่าวยังคงไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อทิศทางของเศรษฐกิจจีนในระยะยาวให้กับนักลงทุนได้ ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจของอาเซียนยังคงอ่อนแอต่อเนื่องด้วย โดยตัวเลขส่งออกของสิงคโปร์ลดลงเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันในเดือน ต.ค. 66 เมื่อเทียบเป็นรายปี ขณะที่ในฝั่งของมาเลเซีย เศรษฐกิจของมาเลเซียขยายตัวเพียง 3.3% ในไตรมาส 3 เมื่อเทียบเป็นรายปี โดยถือเป็นอีกไตรมาสที่เศรษฐกิจมาเลเซียเติบโตอย่างอ่อนแอ เนื่องจากถูกกดดันจากการส่งออกที่ซบเซา ขณะที่ในเดือน ต.ค. 66 ธนาคารโลกได้ปรับลดคาดการณ์เป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจมาเลเซียสู่ระดับ 3.9% จาก 4.3% สำหรับปี 2566 โดยให้เหตุผลว่าอุปสงค์จากต่างประเทศชะลอตัวลง สอดคล้องกับในส่วนของไทยที่ล่าสุดนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวยอมรับว่า มีความเป็นห่วงหลังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงตัวเลข GDP ไตรมาส 3 ออกมาโตเพียง 1.5% เท่านั้น ขณะที่ในส่วนของแนวโน้มตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคถ้า SET จะกลับมาสร้าง Momentum ของการปรับตัวขึ้นในระยะสั้นอีกครั้งได้ SET จะต้องกลับมายืนเหนือ 1,520 จุดให้ได้อีกครั้งก่อน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,520 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคราย 30 นาที (30 Min)

Source: TradingView


41 views
bottom of page