top of page
327304.jpg

ตลาดหุ้นไปต่อยาก เพราะยังขาดปัจจัยบวกใหม่ๆ


ปัจจัยบวกต่อเนื่องมีไม่เยอะ !

แนวโน้มหลักของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาฟื้นตัวต่อเนื่องได้นะครับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ข่าวร้ายเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินของรัฐบาลสหรัฐมักจะเป็นปัจจัยฉุดตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมา จากการที่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือรายใหญ่ 3 แห่งต่างก็ระบุว่า หนี้สินและยอดขาดดุลงบประมาณของรัฐบาลสหรัฐที่อยู่ในระดับสูง รวมทั้งความเสี่ยงด้านการเมืองในสหรัฐอาจจะส่งผลกระทบต่อสถานะการเป็นผู้ออกพันธบัตรรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ดีประเด็นดังกล่าวทั้งในด้านของปัญหาการคลังและความวุ่นวายทางการเมืองในสหรัฐดูเหมือนจะไม่ได้ส่งผลกระทบกับตลาดเหมือนกับในช่วงที่ผ่านมาแล้ว อย่างไรก็ดีความร้อนแรงของตลาดหุ้นโลกคงไม่สามารถร้อนแรงเหมือนตอนต้นปีได้ หลังจากที่ล่าสุดมอร์แกน สแตนลีย์คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2567 และคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.375% จนถึงเดือน มิ.ย. 67 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลังจากนั้น

ทั้งนี้ข้อมูล FedWatch Tool ล่าสุดของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 85.4% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 12-13 ธ.ค. 66 ขณะเดียวกัน นักลงทุนคาดว่าเฟดจะยังคงตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน ม.ค.-พ.ค. 67 ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน มิ.ย. 67 ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐปรับตัวลงสู่ระดับ 60.4 ในเดือน พ.ย. 66 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 63.7 จากระดับ 63.8 ในเดือน ต.ค. 66 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการพุ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ย และสงครามในตะวันออกกลาง โดยการที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นเวลานานในช่วงที่ผ่านมานั้น ส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง โดยที่ในช่วงที่เหลือของปี 2566 แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ของเฟดสาขาแอตแลนตา ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.1% ในไตรมาส 4 ปี 2566 หลังจากมีการขยายตัว 2.2%, 2.1% และ 4.9% ในไตรมาส 1, 2 และ 3 ตามลำดับ ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ได้ปรับคาดการณ์ตัวเลข GDP สหรัฐในปี 2567 ลงมาอยู่ที่ระดับ 1.6% เมื่อเทียบเป็นรายปี จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 2.5% และคาดว่าอุปสงค์ในตลาดแรงงานของสหรัฐจะชะลอตัวลงในปี 2567 ด้วย

อย่างไรก็ดีในด้านบวกคือค่อนข้างชัดเจนว่าเงินเฟ้อของสหรัฐมีแนวโน้มผ่านจุดสูงสุดแล้ว โดย นายปีเตอร์ ออพเพนไฮเมอร์ นักวิเคราะห์จากโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่าเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยดูเหมือนผ่านจุดสูงสุดแล้ว และยังคงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป หรือซอฟต์แลนดิ้ง ซึ่งปัจจัยดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องดีสำหรับตลาดหุ้น โดยช่วยลดความเสี่ยงในช่วงขาลงสำหรับนักลงทุน แต่ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทยังคงมีช่วงขาขึ้นที่จำกัด โดยคาดว่าบริษัทจดทะเบียนจะมีการขยายตัวของกำไรเพียงเล็กน้อยไปจนถึงปี 2567 และมีสิ่งบ่งชี้ว่าราคาหุ้นในตลาดได้ซึมซับรับการคาดการณ์ภาวะซอฟต์แลนดิ้งของเศรษฐกิจสหรัฐแล้ว สอดคล้องกับทางนักวิเคราะห์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ที่ประเมินว่าดัชนี S&P500 ของตลาดหลักทรัพย์สหรัฐจะปิดท้ายปี 2567 ที่ระดับ 4,500 จุด หรือเพียง 2% จากระดับปัจจุบัน แม้จะคาดการณ์ว่าผลประกอบการบริษัทบนดัชนีดังกล่าวจะฟื้นตัวตลอดทั้งปี 2567 โดยกำไรต่อหุ้นของบริษัทใน S&P500 จะปรับขึ้น 7% ในปีหน้า

เศรษฐกิจขยายตัวต่ำจำกัดการแกว่งตัวขึ้น ! แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ไม่สูงมากนัก จะเป็นปัจจัยที่จำกัดกรอบการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลกและไทย โดยในภาพใหญ่ของโลก เลขาธิการความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในกลุ่มเอเปกมีแนวโน้มจะเติบโตชะลอตัวลงในปีหน้าและยังคงอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโลก เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นได้ชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ในขณะที่จีนกำลังดิ้นรนฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ รวมถึงความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับจีนที่ทำให้การค้าซบเซาลง

เอเปกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเปกจะเติบโตลดลงสู่ 2.8% ในปี 2567 จากการเติบโตระดับ 3.3% ในปี 2566 และจะขยายตัวเฉลี่ยที่ 2.9% ในปี 2568 และ 2569 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 3.2% และ 3.5%-3.6% ตามลำดับ ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยของภูมิภาคสำคัญๆ นอกเหนือจากสหรัฐยังคงมีโอกาสทรงตัวในระดับสูง โดยเฉพาะในฝั่งยุโรปที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) ควรจะตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับสูงหรือใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ไปจนถึงปีหน้า เพื่อลดแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ECB มีมติคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 66 ซึ่งเป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 65 โดยการคงอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ระดับ 4.00% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 4.75% ส่วนอัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์อยู่ที่ระดับ 4.50% ซึ่งการคงอัตราดอกเบี้ยของ ECB ในการประชุมครั้งล่าสุดนั้น ทำให้นักลงทุนในตลาดคาดการณ์ว่า ขั้นตอนต่อไปของ ECB คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุดในเดือน เม.ย.ปีหน้า และคาดว่าภายในสิ้นปีหน้า ECB อาจจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งสิ้น 0.90% ซึ่งแน่นอนว่าจากมุมมองล่าสุดสะท้อนว่า IMF ไม่เห็นด้วยกับการที่ ECB จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยก่อนเวลาอันควร ตามการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาด และ IMF เตือนว่า ECB ไม่ควรปรับลดอัตราดอกเบี้ยเร็วเกินไป เพราะอาจจะทำให้ ECB ต้องดำเนินนโยบายคุมเข้มมากขึ้นในภายหลัง

อย่างไรก็ดีโจทย์ใหญ่ที่มีความท้าทายและเป็นความเสี่ยงของตลาดหุ้นเอเชีย คือแนวโน้มเศรษฐกิจของจีน โดยล่าสุดอาการอาจหนักถึงขั้นเข้าสู่ภาวะเงินฝืดได้เลย หลังจากที่ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ปรับตัวลง 0.2% ในเดือน ต.ค. 66 เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากดัชนีทรงตัวในเดือน ก.ย. 66 ในทิศทางเดียวกันกับดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ลดลง 2.6% ในเดือน ต.ค. 66 ซึ่งมากกว่าในเดือน ก.ย. 66 ที่ลดลง 2.5% โดยดัชนี PPI ของจีนปรับตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 13 สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับความยากลำบากในการฟื้นตัวหลังผ่านพ้นการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยแม้ว่ารัฐบาลจีนได้ประกาศใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการออกพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1 ล้านล้านหยวน (1.3743 แสนล้านดอลลาร์) และให้โควตาแก่รัฐบาลท้องถิ่นในการออกพันธบัตรปี 2567 แต่จีนยังคงเผชิญกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งความเสี่ยงของปัญหาหนี้สินในประเทศ และการที่จีนดำเนินนโยบายการเงินสวนทางกับประเทศตะวันตก อย่างไรก็ดีสถานการณ์หลังจากนี้อาจมีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องได้ แม้ว่าเศรษฐกิจจีนอาจจะไม่สามารถกลับไปร้อนแรงในระดับเดิมได้ก็ตาม โดยที่ล่าสุดผู้ว่าการธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่ระดับ 5% ในปีนี้ และธนาคารกลางจีนจะยังคงใช้นโยบายการเงินอย่างรอบคอบเพื่อฟื้นฟูการเติบโตของเศรษฐกิจที่แท้จริง ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนสำหรับปี 2566 สู่ระดับ 5.4% จากที่เคยคาดการณ์เอาไว้ในเดือน ต.ค. 66 ที่ 5%

นอกจากนี้ในส่วนของไทย IMF ได้คงคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ที่ 2.7% ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงกลางเดือน ต.ค. 66 แต่สูงกว่าการขยายตัวที่ 2.6% ในปี 2565 เล็กน้อย ในด้านของเงินเฟ้อนั้น IMF คาดการณ์ว่าจะยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายของทางการไทย แนวโน้มดังกล่าวยังคงมีความไม่แน่นอนอย่างสูงเนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงขาลงต่างๆ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,520 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)


Source: TradingView

172 views
bottom of page