top of page
358556.jpg

SET ต่ำกว่า 1,520 จุด เข้าสู่แนวโน้มพักตัวระยะสั้นก่อน


ถ้าสหรัฐรอดชัตดาวน์จะเป็นแรงหนุน !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นยังคงเป็นไปในลักษณะของการแกว่งตัวออกด้านข้าง หลังจากที่ยังคงขาดปัจจัยหนุนใหม่ และความกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยยังคงมีอยู่บ้าง โดยเฉพาะหลังจากที่ นายออสเตน กูลสบี ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก ออกมาระบุว่าเงินเฟ้อที่เคลื่อนไหวสูงกว่าเป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% ยังคงเป็นความเสี่ยงที่รุนแรงมากกว่านโยบายคุมเข้มด้านการเงินของเฟด โดยแม้ว่านโยบายของเฟดจะส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นในการฉุดเงินเฟ้อให้ลดลงสู่ระดับที่สามารถควบคุมได้ หลังจากที่ล่าสุดคณะกรรมการเฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% แต่ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (dot plot) เจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1 ครั้งภายในสิ้นปีนี้ และส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพียง 2 ครั้งในปี 2567 จากเดิมที่เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งในปีหน้า สอดคล้องกับความเห็นของนางมิเชล โบว์แมน ซึ่งเป็นหนึ่งในสมาชิกบอร์ดผู้ว่าการเฟด ที่ยืนยันว่าเฟดจำเป็นต้องเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อต่อไปเพื่อให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายในเวลาที่เหมาะสม ส่งผลให้ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์จากโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่าเฟดจะไปเริ่มวงจรการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในไตรมาส 4 ของปีหน้า หลังจากที่ก่อนหน้านี้คาดการณ์ว่าจะปรับลดในไตรมาส 2 ซึ่งมุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐดังกล่าว มาพร้อมกับตัวเลขในภาคการผลิตของสหรัฐที่ชะลอตัวลงชัดเจน เป็นปัจจัยกดดันการปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นโลกและสหรัฐในระยะสั้น หลังจากที่สหรัฐเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 50.1 ในเดือน ก.ย. 66 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 7 เดือน จากระดับ 50.2 ในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งหากดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าวจะบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐอยู่ในภาวะหดตัว ขณะที่ในปัจจุบันนี้ดัชนี PMI สหรัฐกำลังถูกกดดันจากการดิ่งลงของคำสั่งซื้อใหม่ แม้ว่าการจ้างงานดีดตัวขึ้น แต่ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนเช่นกัน สอดคล้องกับดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย ที่ปรับตัวลงสู่ระดับ -13.5 ในเดือน ก.ย. 66 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0 จากระดับ +12.0 ในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งการที่ดัชนีปรับตัวต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติกอยู่ในภาวะหดตัว

อย่างไรก็ดีในภาพรวมแล้ว ปัจจัยกดดันดังกล่าวคงจะเป็นแค่ปัจจัยกดดันในระยะสั้นของตลาดหุ้นโลกและสหรัฐเท่านั้น เนื่องจากภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะภาคแรงงาน ที่ล่าสุดกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 20,000 ราย สู่ระดับ 201,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 66 และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 7,750 ราย สู่ระดับ 217,000 ราย นอกจากนี้แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow จากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ล่าสุดยังแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 4.9% ในไตรมาส 3 หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.1% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ

ประกอบกับการที่ความกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐจะถูกปิดการดำเนินงานหรือชัตดาวน์ลดลงไปแล้วมาก หลังจากที่ล่าสุดมีความเป็นไปได้มากว่าวุฒิสมาชิกพรรครีพับลิกันและเดโมแครตใกล้จะบรรลุข้อตกลงการอนุมัติงบประมาณชั่วคราวเพื่อช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาลหรือชัตดาวน์ในวันที่ 1 ต.ค. 66 ซึ่งหากวุฒิสภาเห็นชอบในการผ่านร่างงบประมาณดังกล่าวและส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย ก็จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐมีงบประมาณในการใช้จ่ายต่อไปได้อีก 4-6 สัปดาห์ ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวถือว่ามีความสำคัญมาก และเป็นความเสี่ยงสำคัญของตลาดหุ้นด้วย สะท้อนออกมาจากการที่ มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ออกมาเตือนว่า หากหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐถูกปิดการดำเนินงานหรือชัตดาวน์ ก็จะส่งผลกระทบด้านลบต่อการประเมินความน่าเชื่อถือของสหรัฐ และจะสะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของสถาบันและระบบธรรมาภิบาลของสหรัฐเมื่อเทียบกับรัฐบาลของประเทศอื่นๆ ที่มีอันดับความน่าเชื่อถือสูงสุด โดยขณะนี้มูดี้ส์ให้อันดับความน่าเชื่อถือของรัฐบาลสหรัฐที่ระดับ AAA ขณะที่เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 66 ที่ผ่านมา ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA ไปก่อนแล้ว

ยุโรป และจีนยังเป็นปัจจัยกดดันหลัก ! ขณะที่ในภูมิภาคอื่นแรงกดดันสำคัญจะอยู่ที่ฝั่งยุโรปและจีน ส่วนญี่ปุ่นยังคงเป็นปัจจัยหนุนระยะสั้นๆ ของตลาดหุ้นโลกได้ โดยที่ในฝั่งของยุโรป แนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังคงเป็นความเสี่ยงหลัก หลังจากที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ว่าเอสแอนด์พี โกลบอล จะรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคบริการและการผลิตขั้นต้นเดือน ก.ย. 66 ซึ่งเป็นมาตรวัดภาวะเศรษฐกิจโดยรวม เพิ่มขึ้นสู่ระดับ 47.1 จากระดับต่ำสุดในรอบ 33 เดือนที่ระดับ 46.7 ในเดือน ส.ค. 66 และมากกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยสู่ระดับ 46.5 แต่ตัวเลขที่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า กิจกรรมธุรกิจอยู่ในภาวะหดตัว และสะท้อนว่าเศรษฐกิจยูโรโซนมีแนวโน้มที่จะหดตัวในไตรมาสที่ 3 และจะไม่กลับมาเติบโตในเร็วๆ นี้ โดยเฉพาะเมื่อแยกพิจารณาเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้น พบว่าในเดือน ก.ย. 66 ลดลงสู่ระดับ 43.4 จาก 43.5 ในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50 นับตั้งแต่กลางปี 2565 และต่ำกว่าการคาดการณ์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ที่ระดับ 44.0

ขณะที่ในฝั่งของจีนนั้น ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงไม่ดีขึ้น หลังจากที่ล่าสุด มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 2 แห่งของจีน ซึ่งได้แก่บริษัทไชน่า จินเหมา โฮลดิงส์ กรุ๊ป (China Jinmao Holdings Group) และไชน่า แวนกี้ (China Vanke) โดยระบุว่าบริษัททั้ง 2 แห่งมีแนวโน้มที่จะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ ซึ่งคำเตือนดังกล่าวนับเป็นสัญญาณล่าสุดที่บ่งชี้ว่าวิกฤตหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนกำลังลุกลามเป็นวงกว้าง โดยที่ปัจจุบันอันดับความน่าเชื่อของบริษัทไชน่า จินเหมา อยู่สูงกว่าระดับขยะ (Junk) เพียง 1 ขั้น ขณะที่อันดับความน่าเชื่อถือของบริษัทไชน่า แวนกี้ อยู่ต่ำกว่าระดับลงทุน (Investment Grade) อยู่ 3 ขั้น โดยการประกาศทบทวนอันดับความน่าเชื่อถือของทั้ง 2 บริษัทสะท้อนให้เห็นถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินและสินเชื่อที่อ่อนแอลงอย่างมาก อันเป็นผลมาจากแนวโน้มการฟื้นตัวที่ไม่แน่นอนของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีน ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้น สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่าจีนกำลังพิจารณาปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อสนับสนุนการถือหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ เซินเจิ้น และปักกิ่ง ในฐานะส่วนหนึ่งของการผลักดันเพื่อเปิดตลาดและส่งเสริมการซื้อขาย โดยในขณะนี้ จีนจำกัดการถือครองกรรมสิทธิ์ของต่างชาติในบริษัทจดทะเบียนในประเทศที่ 30% และจำกัดการถือครองหุ้นของต่างชาติแต่ละรายไว้ที่ 10% ทั้งนี้การหารือดังกล่าวมีขึ้นหลังท่ามกลางการไหลออกของเงินทุนต่างชาติจากตลาดหลักทรัพย์จีนอย่างต่อเนื่อง และหุ้นต่างๆ ในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในกลุ่มที่ทำผลงานได้แย่ที่สุดในปีนี้ และเป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่าจีนกำลังดำเนินการตามคำมั่นสัญญาที่ได้ให้ไว้ในที่ประชุมคณะกรรมการกรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน (โปลิตบูโร) ว่าจะกระตุ้นตลาดทุนและเพิ่มความเชื่อมั่นของนักลงทุน หลังจากที่ในเดือนที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้น A-shares มากที่สุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ และการถือครองหลักทรัพย์และตราสารหนี้ของจีนลดลงประมาณ 1.37 ล้านล้านหยวน (1.88 แสนล้านดอลลาร์) หรือ 17% จากระดับสูงสุดในเดือน ธ.ค. 64 จนถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 66 อย่างไรก็ตามคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของจีน (CSRC) และสำนักงานปริวรรตเงินตราแห่งรัฐของจีน (SAFE) ยังไม่ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นให้ประเด็นดังกล่าว ซึ่งถ้านโยบายดังกล่าวออกมาจริงๆ จะเป็นปัจจัยหนุนกับตลาดหุ้นจีนและเอเชีย

ในส่วนของญี่ปุ่นยังคงมีปัจจัยหนุนต่อ จากการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีมติคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายพิเศษ (Ultra-Loose Policy) โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีไว้ที่ราวระดับ 0% หลังจากที่ในการประชุมครั้งก่อนหน้า BOJ ได้ปรับนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (YCC) ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และถือเป็นการปรับนโยบายครั้งแรกนับตั้งแต่นายคาซูโอะ อุเอดะ เข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการ BOJ ในเดือน เม.ย. 66 ในส่วนของทิศทางของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคถ้า SET จะยังคงรักษา Momentum ของการปรับตัวขึ้นในระยะสั้นต่อไปได้ จะต้องกลับมายืนเหนือ 1,520 จุดให้ได้อีกครั้ง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งตัวต่ำกว่า 1,520 จุด เน้น “Wait and See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

7 views

Comentarios


bottom of page