top of page
379208.jpg

ยังคงไปต่อได้สำหรับตลาดหุ้นไทย


ข่าวดียังมีเรื่อยๆ !

ข่าวความคืบหน้าของวัคซีน COVID-19 ที่ยังทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทิศทางของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้น สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนี MSCI ACWI ซึ่งเป็นดัชนีถ่วงน้ำหนักของตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับตัวขึ้นอีก 1.42% โดยเฉพาะหลังจากที่ FDA เปิดเผยว่าข้อมูลการทดลองวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 ของบริษัท Pfizer ไม่ได้สร้างความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัย นอกจากนี้ข้อมูลยังมีความสอดคล้องกับข้อเสนอของ FDA ที่จะให้มีการอนุมัติวัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉิน (EUA) ขณะที่อังกฤษได้เริ่มฉีดวัคซีนต้านโรค COVID-19 ที่พัฒนาโดยบริษัท Pfizer และ BioNTech แล้ว ซึ่งนับเป็นประเทศยุโรปชาติแรกที่เริ่มฉีดวัคซีนดังกล่าวให้กับประชาชน

นอกจากนี้ในส่วนของตลาดหุ้นสหรัฐ ในฐานะตัวแทน หรือ Proxy ของตลาดหุ้นโลก ยังได้รับปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากความคืบหน้าในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐ โดยล่าสุดผู้นำเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เปิดเผยว่าสภาผู้แทนราษฎรลงมติต่อร่างกฎหมายงบประมาณชั่วคราวเพื่อหลีกเลี่ยงการปิดหน่วยงานของรัฐบาล (ชัตดาวน์) เป็นเวลา 1 สัปดาห์ และเพื่อให้เวลาแก่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้นในการเจรจาข้อตกลงในการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 9.08 แสนล้านดอลลาร์เพื่อเยียวยาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐในเดือน ธ.ค. 63 ดีดตัวสู่ระดับ 81.4 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 75.5 จากระดับ 76.9 ในเดือน พ.ย. 63

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นที่ปรับตัวขึ้นได้แรงหนุนจากความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนต้านไวรัส COVID-19 รวมทั้งจากการที่ Joe Biden คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ขณะที่ในฝั่งของยุโรป ธนาคารกลางของยุโรป หรือ ECB ได้ประกาศยืดเวลากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปอีก 9 เดือน จากเดิมที่กำหนดให้สิ้นสุดในเดือน มิ.ย. 64 ให้ยืดออกไปจนถึงเดือน มี.ค. 65 หรือจนกระทั่ง ECB จะเห็นว่าวิกฤตไวรัส COVID-19 ระบาดได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้ต่ำที่ 0% ต่อไป และจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบเพิ่มขึ้นอีก 5 แสนล้านยูโร ประธาน ECB เปิดเผยในการแถลงข่าวว่า GDP ของยูโรโซนจะขยายตัว 3.9% ในปีหน้า โดยชะลอลงจากคาดการณ์เดิมในเดือน ก.ย. 63 ที่ 5%

จากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่สูงขึ้น ส่งผลให้ดัชนี VIX Index ในสัปดาห์ที่ผ่านมาของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวลดลง 2.74%, 8.30% และ 3.42% ตามลำดับ สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish อยู่ที่ 48.10% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish อยู่ที่ 26.90%

ยังลุ้นหมุนกลับไปที่ 1,500 จุด ! ในเชิงของเทคนิค ทางที่ Indicator อย่าง MACD ของดัชนี Accumulated Foreign Fund Flow ยังคงมีสัญญาณ Positive Convergence อย่างต่อเนื่อง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการไหลเข้าของเม็ดเงินจากนักลงทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยที่ยังคงมีอยู่ในระยะสั้นอย่างชัดเจน ขณะที่ในเชิงของ Momentum ล่าสุดดัชนี Relative Strength ซึ่งเป็นดัชนีที่ใช้เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิภาพของหุ้นกับดัชนีอ้างอิงอย่าง World Stock Index สัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าตลาดหุ้นที่ Outperform ได้แก่ตลาดหุ้น Asia Ex-Japan และไทย ที่ Outperform

ขณะที่ในเชิงเทคนิคของตลาดหุ้นไทย “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,400 จุดอีกครั้ง ในระยะสั้น SET ยังคงอยู่ในทิศทางของการแกว่งตัวขึ้นต่อบนภาวะ “Risk On” ของตลาดหุ้นโลกได้ โดยมีบริเวณ 1,400 จุดเป็นจุดหมุน และ Cut Loss และมีบริเวณ 1,500 จุด (+/-10) เป็นเป้าหมายในระยะสั้น ส่วนประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 ของตลาดหุ้นไทยถูก Bloomberg Consensus ปรับประมาณการขึ้นเป็นครั้งแรก 1.34% หลังจากตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาถูกปรับประมาณการลงอย่างต่อเนื่องถึง 38.4%

อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นไทยยังต้องติดตามการระบาดไวรัส COVID-19 ในประเทศเราอย่างใกล้ชิด แต่เชื่อว่าตอนนี้ตลาดยังไม่ได้รับรู้เข้าไปถึงขั้นหากต้องมีการ Lockdown อีกรอบ และล่าสุด รมว.อนุทิน เองออกมาประกาศว่าจะไม่มีการปิดเมืองเชียงใหม่และเชียงรายแน่นอน เพราะมั่นใจว่าสามารถคุมสถานการณ์ได้ ขณะที่ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงระหว่างวันในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงไปต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ไปแล้ว โดยลงไปซื้อขายต่ำสุดที่ 29.90 บาท ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยยังคงพยายามรักษาระดับค่าเงินบาทไว้ไม่ให้แข็งค่ามากไปกว่านี้ ซึ่งตอนแรกธนาคารแห่งประเทศไทยจะแถลงมาตรการในวันที่ 9 ธ.ค. 63 แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายธนาคารแห่งประเทศไทยได้เลื่อนการแถลงออกไป ทำให้ต้องติดตามว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะแถลงมาตรการป้องกันการแข็งค่าของเงินบาทได้เมื่อใด และจะออกมาในรูปแบบไหน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ลงไปปิดต่ำกว่า 1,400 จุดอีกครั้ง เน้น “เก็งกำไรระยะสั้น” โดยมี 1,400 จุดเป็นจุดหมุน และจุด Cut Loss ในหุ้น CPALL, BJC, BEM, CRC, AOT, GPSC, PTTGC, WHA และ BDMS อีกครั้ง สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาอยู่ที่ระดับ 25% ของพอร์ต”


ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์ นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

 

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

17 views

Comments


bottom of page