ราคาน้ำมันแค่กดดันสั้นๆ !
แนวโน้มขาขึ้นของตลาดหุ้นโลกยังคงได้รับแรงสนับสนุนชัดเจนจากปัจจัยบวกที่แข็งแกร่งจากฝั่งสหรัฐ โดยเฉพาะในประเด็นของทิศทางดอกเบี้ยและแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยที่ในประเด็นของทิศทางดอกเบี้ยล่าสุดนักวิเคราะห์จากสำนักวิจัยของโกลด์แมน แซคส์ได้ออกมาคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. 66 พร้อมกับคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับเพิ่มคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐด้วย ขณะที่เครื่องมือ FedWatch Tool ของ CME บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 73.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. 66 และให้น้ำหนักเพียง 26.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ขณะที่ในด้านของแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐ เฟดเปิดเผยตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวมของสหรัฐเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือน ส.ค. 66 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.7% ในเดือน ก.ค. 66
ทั้งนี้ ตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยรวม เป็นการวัดการปรับตัวของภาคโรงงาน เหมืองแร่ และสาธารณูปโภค ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ยอดค้าปลีกเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน ส.ค. 66 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าเพิ่มขึ้น 0.2% จากระดับ 0.5% ในเดือน ก.ค. 66 และกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 3,000 ราย สู่ระดับ 220,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 225,000 ราย ส่วนตัวเลขค่าเฉลี่ย 4 สัปดาห์ของจำนวนชาวอเมริกันที่ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรก ซึ่งถือเป็นมาตรวัดตลาดแรงงานที่ดีกว่า เนื่องจากขจัดความผันผวนรายสัปดาห์ ลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 224,500 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 66 สอดคล้องกับแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ที่แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 4.9% ในไตรมาส 3 หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.1% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดีประเด็นที่ต้องติดตามและอาจเป็นแรงกดดันระยะสั้นของตลาดหุ้นโลกได้คือทิศทางของราคาน้ำมัน ที่ปรับขึ้นมาตลอดตั้งแต่ปลายเดือนสิงหาคมจนสัญญาน้ำมันดิบ WTI ยังคงยืนเหนือระดับ 90 ดอลลาร์ แตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน พ.ย. 65 ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับภาวะน้ำมันตึงตัว หลังซาอุดีอาระเบียประกาศขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันโดยสมัครใจจำนวน 1 ล้านบาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่รัสเซียขยายเวลาปรับลดการส่งออกน้ำมันสู่ระดับ 300,000 บาร์เรล/วันจนถึงสิ้นปีนี้เช่นกัน หลังจากที่กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ออกรายงานคาดการณ์อุปสงค์ที่แข็งแกร่ง และคาดว่าตลาดจะประสบภาวะขาดแคลนน้ำมันในปีนี้ หากกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันยังคงปรับลดกำลังการผลิตต่อไป นอกจากนี้ราคาน้ำมันยังได้รับแรงหนุนหลังจากที่จีนเปิดเผยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดค้าปลีกสูงกว่าคาดในเดือน ส.ค. 66 ทั้งนี้ล่าสุดนักวิเคราะห์จากสำนักวิจัยของแบงก์ ออฟ อเมริกาคาดการณ์ว่าหากโอเปกพลัสยังคงลดการผลิตจนถึงสิ้นปีนี้ ขณะที่เอเชียมีความต้องการใช้น้ำมันจำนวนมาก ราคาน้ำมันจะพุ่งทะลุ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลก่อนถึงปี 2567 หลังจากที่สำนักงานพลังงานสากล (IEA) ระบุว่าการปรับลดอุปทานน้ำมันของซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย จะทำให้ตลาดเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันในไตรมาส 4
เริ่มเห็นสัญญาณบวกจากจีน ! นอกจากนี้ปัจจัยหนุนใหม่ที่เกิดขึ้นในภูมิภาคยังคงหนุนทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียด้วย โดยเฉพาะผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนเริ่มสะท้อนออกมาให้เห็นจากตัวเลขเศรษฐกิจแล้ว โดยที่ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 4.5% ในเดือน ส.ค. 66 เมื่อเทียบเป็นรายปี แข็งแกร่งกว่าในเดือน ก.ค. 66 ที่มีการขยายตัว 3.7% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดว่าอาจปรับตัวขึ้น 3.9% ซึ่งบ่งชี้ว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลจีนประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ อาจช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ขณะที่ยอดค้าปลีก ซึ่งเป็นมาตรวัดการอุปโภคบริโภค พุ่งขึ้น 4.6% ในเดือน ส.ค. 66 ซึ่งแข็งแกร่งกว่าในเดือน ก.ค. 66 ที่ปรับตัวขึ้น 2.5% และดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าอาจเพิ่มขึ้น 3% โดยได้แรงหนุนจากการที่ผู้บริโภคใช้จ่ายอย่างคึกคักในฤดูท่องเที่ยวช่วงหน้าร้อน
อย่างไรก็ดีภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังคงเป็นความเสี่ยงอยู่มาก โดยที่ล่าสุดดัชนีราคาบ้านเดือน ส.ค. 66 ของจีนลดลง 0.3% หลังจากที่ลดลง 0.2% ในเดือน ก.ค. 66 ถือเป็นการร่วงลงแรงที่สุดในรอบ 10 เดือน ซึ่งตอกย้ำถึงความรุนแรงของวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน แม้มีการออกมาตรการสนับสนุนจากรัฐบาลจีนก็ตาม
ทั้งนี้ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การกู้ยืมบางข้อและผ่อนคลายมาตรการจำกัดการซื้อบ้านในบางเมืองเพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นของผู้ซื้อบ้าน แม้ว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้จะกระตุ้นยอดขายบ้านใหม่ในเมืองใหญ่ ๆ เช่น กรุงปักกิ่ง แต่ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่านี่อาจเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ได้ผลแค่ในระยะสั้นและอาจยับยั้งดีมานด์การซื้อบ้านในเมืองเล็กๆ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลจีนจำเป็นต้องเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นเอเชีย โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางจีนประกาศคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนไว้ที่ระดับ 2.5% ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของตลาด ควบคู่ไปกับการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบจำนวน 5.91 แสนล้านหยวน ผ่านทางโครงการ MLF และกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เท่าเดิมที่ 2.5% โดยอัตราดอกเบี้ย MLF เป็นอัตราดอกเบี้ยมาตรฐานที่ธนาคารพาณิชย์จะต้องจ่ายเมื่อมีการกู้ยืมเงินจากธนาคารกลางจีน โดยมีระยะเวลาการกู้ยืม 6 เดือน-1 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับธนาคารพาณิชย์ ซึ่งล่าสุดนักวิเคราะห์จากสำนักวิจัยของโกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ซึ่งรวมถึงการปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลงอีก 0.25% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.10% ในไตรมาส 4 ของปีนี้ หลังจากที่ได้ประกาศปรับลด RRR ลง 0.25% โดยมีผลบังคับใช้ไปในวันที่ 15 ก.ย. 66 แล้ว และเป็นการปรับลด RRR ครั้งที่ 2 ในปีนี้ ซึ่งการปรับลด RRR ดังกล่าว นักเศรษฐศาสตร์จาก บริษัท แพนธีออน แมคโครอีโคโนมิกส์ คาดการณ์ว่าจะช่วยเพิ่มความสามารถในการปล่อยเงินกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ และเอื้ออำนวยต่อการกระตุ้นด้านการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกพันธบัตรของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งล่าสุดข้อมูลจากสำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่า รัฐบาลท้องถิ่นของจีนสามารถขายพันธบัตรพิเศษได้ปริมาณสูงที่สุดในรอบกว่า 1 ปีในเดือน ส.ค. 66
ด้านโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า การปรับลด RRR จะทำให้มีสภาพคล่องไหลเข้าสู่ตลาดอินเตอร์แบงก์จำนวนมากถึง 5 แสนล้านหยวน (6.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) พร้อมกับคาดการณ์ว่า รัฐบาลท้องถิ่นของจีนจะออกพันธบัตรพิเศษเพิ่มอีกมูลค่า 5 แสนล้านหยวนในไตรมาส 4 ปีนี้ และคาดว่าจีนจะประกาศผ่อนคลายนโยบายด้านอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติม เช่น การผ่อนคลายกฎระเบียบด้านการซื้อบ้าน และปรับลดอัตราส่วนเงินดาวน์บ้านในเมืองขนาดใหญ่หลายแห่งด้วย
ในส่วนของทิศทางของตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิคถ้า SET ไม่หมุนลงมาต่ำกว่า 1,520 จุดอีกครั้ง SET ก็จะแกว่งตัวขึ้นในกรอบขาขึ้น หรือ Uptrend Channel ต่อไป
กลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,520 จุด เน้น “อ่อนตัวซื้อทยอยสะสม” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Comments