top of page
369286.jpg

ยังไม่ต่ำกว่า 1,520 จุด เดินหน้า "สะสม" หุ้นไทยต่อ


ตลาดหุ้นโลกเดินหน้าต่อ !

ทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาดีดตัวขึ้นตามแนวโน้มหลักขาขึ้นอีกครั้งตามแนวโน้มของตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากที่ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดลง ท่ามกลางแนวโน้มที่ยังคงแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐ โดยที่ความกังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐที่ลดลง หลังดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไปของสหรัฐ ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.3% ในเดือน ก.ค. 66 ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.2% ในเดือน ก.ค. 66 เมื่อเทียบรายปี สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์เช่นกัน

นายราฟาเอล บอสติก ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ออกมาให้ความเห็นว่าเฟดอาจไม่มีความจำเป็นที่จะต้องคุมเข้มนโยบายการเงินมากขึ้นอีก ขณะที่ในด้านของมุมมองตลาดการเงิน นักลงทุนส่วนใหญ่คาดกการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในการประชุมที่เหลืออีก 3 ครั้งในปีนี้ โดยที่ FedWatch Tool ของ CME Group ระบุว่าล่าสุดนักลงทุนให้น้ำหนัก 93.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. 66 และให้น้ำหนักเพียง 7.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%

นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 52.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมเดือน พ.ย. 66 และให้น้ำหนักเพียง 43.3% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ส่วนในเดือน ธ.ค. 66 นักลงทุนให้น้ำหนัก 51.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% และให้น้ำหนักเพียง 40.0% ที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%

แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่ากระทรวงพาณิชย์สหรัฐจะเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ออกมาพบว่าเศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.1% ในไตรมาสดังกล่าว ต่ำกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 2.4% แต่ยังคงเพิ่มขึ้นจากที่มีการขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 1 ในส่วนของแนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ล่าสุดเฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัวถึง 5.6% ในไตรมาส 3 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวมากกว่า 2 เท่าจากไตรมาส 2 และแตะระดับสูงสุดนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2564 ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวมีความเป็นไปได้มากเมื่อพิจารณาจากความแข็งแกร่งของภาคการบริโภคและภาคแรงงานสหรัฐ โดยที่ในภาคของการบริโภค สะท้อนออกมาจากการที่ตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้น 0.8% ในเดือน ก.ค. 66 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.6% ในเดือน มิ.ย. 66

ภาคแรงงานสหรัฐ ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 187,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. 66 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 170,000 ตำแหน่ง และสูงกว่าการจ้างงานในเดือน ก.ค. 66 ซึ่งเพิ่มขึ้นเพียง 157,000 ตำแหน่ง และตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลง 4,000 ราย สู่ระดับ 228,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย ส่วนตัวเลขอัตราการเข้าสู่ตลาดแรงงานของสหรัฐ ซึ่งแสดงสัดส่วนของกำลังแรงงานต่อจำนวนประชากรทั้งหมด อยู่ที่ระดับ 62.8% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 63

ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวขึ้นราว 2.5% ทั้งคู่ และถือว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลกให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดในกลุ่มสินทรัพย์เสี่ยง สอดคล้องกับการที่ดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐที่ปรับตัวลดลงถึง 16.5% ในสัปดาห์ที่ผ่านมาด้วย

ได้เวลาพลิกวิกฤตของจีนเป็นโอกาส ! แนวโน้มของเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหนุนทิศทางของตลาดหุ้นโลก สะท้อนออกมาจากภาคการผลิตของยูโรโซนในเดือน ส.ค. 66 เริ่มกระเตื้องขึ้นเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า ช่วงเวลาย่ำแย่ที่สุดของภาคการผลิตยูโรโซนได้ผ่านพ้นไปแล้ว โดยที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือน ส.ค. 66 ของยูโรโซนที่จัดทำโดยฮัมบูร์ก คอมเมอร์เชียล แบงก์ (HCOB) ปรับตัวขึ้นสูงสุดในรอบ 3 เดือนสู่ระดับ 43.5 จากระดับ 42.7 ในเดือน ก.ค. 66 แม้ตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ทยอยประกาศออกมายังคงตกต่ำต่อเนื่อง เช่นล่าสุดจีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน ส.ค. 66 หดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 ทำให้เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะพลาดเป้าหมายการเติบโตที่ระดับราว 5% ในปีนี้ เนื่องจากผลกระทบของการทรุดตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการชะลอตัวของการใช้จ่ายผู้บริโภค และการเติบโตของสินเชื่อที่อ่อนแรงลง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวทำให้ธนาคารรายใหญ่หลายแห่งพากันปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้

สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ปรับลด GDP ตลอดปี 2566 ของจีนนั้น มาจากการที่นักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้คาดการณ์ว่าตัวเลข GDP ในไตรมาส 3 ของจีนจะขยายตัวเพียง 4.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 4.6% ขณะเดียวกันนักเศรษฐศาสตร์ได้ปรับลดตัวเลข GDP ปี 2567 ของจีนลงสู่ระดับ 4.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.8% สะท้อนว่าไม่ว่าจะยังไงหากไม่ใช่ปีนี้สุดท้ายในปีหน้า หากรัฐบาลจีนไม่เร่งที่จะออกมาตรการใดออกมา เศรษฐกิจจีนก็จะพลาดเป้าหมายการเติบโตของรัฐบาลที่ระดับ 5% อยู่ดี ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวลงซึ่งบ่งชี้ว่าจีนกำลังเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแล้ว

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาในแง่บวก สถานการณ์ดังกล่าวกำลังสร้างแรงกดดันอย่างหนักให้รัฐบาลจีนต้องเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมชุดใหญ่และโดยเร็วที่สุด โดยที่ล่าสุดทางการจีนประกาศมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งรวมถึงการที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลาง (MLF) ระยะ 1 ปีซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของจีนลง 0.15% ซึ่งเป็นการปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปี และจากนั้นได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 3.45%

นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.10% ในไตรมาส 4 ปีนี้ นอกจากนี้ทาง PBOC ยังประกาศว่าจะปรับอัตราส่วนการกันสำรองสกุลเงินต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 2% สู่ระดับ 4% จากเดิมที่ระดับ 6% โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 66 ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะชะลอการอ่อนค่าของเงินหยวน หลังจากที่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเงินหยวนเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่ทำผลงานย่ำแย่ที่สุดในเอเชียปีนี้ โดยปรับตัวลงราว 5% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ อันเนื่องมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยของจีนและสหรัฐที่ปรับตัวกว้างขึ้น

สัปดาห์แรกของเดือนกันยายนที่ผ่านมาธนาคารรายใหญ่ที่สุด 5 แห่งของจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากลง ซึ่งเป็นความร่วมมือกันในการพยายามลดแรงกดดันที่มีต่ออัตรากำไรในภาคธนาคาร ในขณะที่ธนาคารต่าง ๆ เตรียมปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ให้ฟื้นตัว ขณะที่รัฐบาลจีนโดยนายหลิว คุน รัฐมนตรีกระทรวงการคลังของจีน และเจิ้ง ซานจี้ ประธานคณะกรรมการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) ได้ให้คำมั่นต่อสภานิติบัญญัติของจีนว่ารัฐบาลจีนจะสนับสนุนด้านนโยบายและเร่งการใช้จ่ายของรัฐบาลมากขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจกำลังเผชิญกับภาวะตึงเครียด

ในทางเทคนิคถ้า SET ไม่หมุนลงมาต่ำกว่า 1,520 จุดอีกครั้ง SET ก็จะแกว่งตัวขึ้นในกรอบขาขึ้น หรือ Uptrend Channel ต่อไป

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,520 จุด เน้น “อ่อนตัวซื้อทยอยสะสม” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView


8 views

Comments


bottom of page