top of page
327304.jpg

ความเชื่อมั่นรัฐบาลใหม่ หนุนตลาดหุ้นไทยไปต่อ


ดอกเบี้ยเรื่องเล็กเศรษฐกิจโตเรื่องใหญ่!

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอาจมีปัจจัยกดดันเข้ามากระทบตลาดหุ้นโลกพอสมควรจากผลการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล รัฐไวโอมิง หรือ Jackson Hole Meeting โดยประธานธนาคารกลางและผู้ว่าการธนาคารกลางระดับแนวหน้าของโลกต่างก็เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับที่สามารถควบคุมได้ แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน โดยเฉพาะ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ที่ส่งสัญญาณอาจขึ้นดอกเบี้ยต่อ เนื่องจากเฟดมองว่าเงินเฟ้อของสหรัฐยังคงอยู่สูงเกินไป และเฟดเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปหากมีความเหมาะสม และจะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง จนกว่าจะมีความมั่นใจว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวลงอย่างยั่งยืนไปสู่เป้าหมายที่เฟดกำหนดไว้

นอกจากนี้ พาวเวล ไม่ได้ส่งสัญญาณว่าเฟดกำลังพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยแต่อย่างใด สอดคล้องกับธนาคารกลางยุโรป หรือ ECB ที่ระบุว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงต่อไปตราบเท่าที่จำเป็น เพื่อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่ระดับเป้าหมาย หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะกรรรมการ ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน ส่งผลให้ล่าสุดนักลงทุนในตลาดการเงินเทน้ำหนักในการคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือน พ.ย. 66 สะท้อนออกมาจากข้อมูลล่าสุดโดย FedWatch Tool ของ CME Group ที่ระบุว่านักลงทุนให้น้ำหนัก 47.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75% ในการประชุมวันที่ 1 พ.ย. 66 และให้น้ำหนักเพียง 43.5% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ขณะที่นักลงทุนเริ่มให้น้ำหนัก 9.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 5.75-6.00% ในการประชุมเดือน พ.ย. 66 ด้วย แม้ว่าในการประชุมเฟดครั้งต่อไปในเดือน ก.ย. 66 นักลงทุนจะยังคงให้น้ำหนัก 80% ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ต่อไป

จากปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าสัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 3.6% WoW มาอยู่ที่ 32.3% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 37.5% เป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เพิ่มขึ้น 5.8% มาอยู่ที่ 35.9% สูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 31.0% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 สัปดาห์ อย่างไรก็ดีผมยังคงมองว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นเพียงแค่ “ปัจจัยกดดันระยะสั้น” เท่านั้น และในระยะกลาง-ยาว นักลงทุนจะให้น้ำหนักกับปัจจัยบวกบนการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่า สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นโลก, ตลาดหุ้นสหรัฐ, ตลาดหุ้นยุโรป และญี่ปุ่นยังคงปรับตัวขึ้นได้ 0.75%, 0.82%, 0.55% และ 0.55% ตามลำดับ หลังจากที่ เฟดสาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 5.9% ในไตรมาส 3 หลังจากมีการขยายตัว 2.0% และ 2.4% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ สอดคล้องกับตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐที่ลดลง 10,000 ราย สู่ระดับ 230,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 240,000 ราย

ลุ้นจีนกระตุ้นเศรษฐกิจหนุนตลาดหุ้นเอเชีย! ในส่วนของตลาดหุ้นเอเชียจะได้รับปัจจัยหนุนจากการระดมออกมากระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนแน่นอน หลังกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวลง 6.7% ในเดือน ก.ค. 66 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นการปรับตัวลงติดต่อกันเดือนที่ 7 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์และเศรษฐกิจได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรม โดยที่ล่าสุดรัฐบาลจีนได้ตัดสินใจผ่อนคลายนโยบายการจำนองบ้านเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นตลาดอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยภายใต้ความพยายามในการสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และในส่วนของตลาดหุ้น รัฐบาลจีนได้เรียกร้องให้สถาบันการเงินซึ่งรวมถึงกองทุนบำเหน็จบำนาญ, ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ และบริษัทประกันภัย เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตลาดหุ้น รวมทั้งประกาศลดภาษีอากรแสตมป์

สำหรับการซื้อขายหุ้นเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2551 โดยมีเป้าหมายที่จะดึงดูดนักลงทุนเข้าสู่ตลาดหุ้นจีนซึ่งกำลังอ่อนตัวลงอย่างมากในขณะนี้ ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทย การเข้ามาของรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของ นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ทำให้ตลาดหุ้นพร้อมตอบสนองในด้านบวกต่อไป เพราะถือว่าความไม่ชัดเจนทางการเมืองที่คงอยู่มา 7 เดือน ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไปไหนไม่ได้กำลังยุติลง สะท้อนออกมาจากการที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้น 2.70% ดีกว่ามากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นที่ปรับตัวขึ้น 1.14% และตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวขึ้น 0.75% ขณะที่แนวโน้มในระยะต่อไป แค่พิจารณาในเชิงปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว ตลาดหุ้นไทยก็ควรซื้อ-ขายที่ระดับค่าเฉลี่ย Forward P/E Ratio ที่ 20.3 เท่า ขณะที่ปัจจุบันตลาดหุ้นไทยซื้อ-ขายที่ระดับ Forward P/E Ratio ที่ต่ำมากเพียง 16.7 เท่า หรือต่ำกว่าค่าเฉลี่ยราว 21%

ดังนั้นในสถานการณ์ปกติ หรือ Base Case ที่ Consensus คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะเติบโตราว 7% ระดับราคาที่เหมาะสมของดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET ในปีนี้ ก็ควรจะอยู่ที่ราว 1,810 จุด หรือมี Potential Upside จากตรงนี้ราว 16% หรือแม้กระทั่งในสถานการณ์แย่ที่สุด หรือ Worst Case ที่ให้สมมติฐานว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ไม่เติบโตเลย หรือ +0% ในเชิงพื้นฐานระดับราคาที่เหมาะสมของดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET ในปีนี้ ก็ยังอยู่ที่ราว 1,689 จุด หรือมี Potential Upside จากตรงนี้ราว 8% อยู่ดี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในเชิงปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ควรวิ่งจากตรงนี้ได้อย่างน้อย 8% ในกรณีแย่สุด และในกรณีที่ควรจะเป็นจริงๆ สามารถไปได้ถึง 16% ด้วยซ้ำ ขณะที่ในทางเทคนิคถ้า SET ไม่หมุนลงมาต่ำกว่า 1,520 จุดอีกครั้ง SET ก็จะแกว่งตัวขึ้นในกรอบขาขึ้น หรือ Uptrend Channel ต่อไป

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,520 จุด เน้น “อ่อนตัวซื้อทยอยสะสม” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

277 views
bottom of page