top of page
369286.jpg

ปัจจัยกดดันระยะสั้น ยังไม่กระทบแนวโน้มหลักขาขึ้น


ไม่สนสหรัฐถูกปรับลดเครดิต !

ชัดเจนว่าผลกระทบจากการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศ (Long-Term Foreign-Currency Issuer Default Rating) ของสหรัฐ ลงสู่ระดับ AA+ จากระดับ AAA โดยระบุถึงสถานะการคลังของสหรัฐที่มีแนวโน้มถดถอยลงในช่วง 3 ปีข้างหน้า และภาระหนี้สินที่สูงขึ้น ตลอดจนตัวเลขเศรษฐกิจของจีนที่ออกมาน่าผิดหวังอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลก และตลาดหุ้นสหรัฐปรับตัวลดลง 2.4% และ 2.3% ในสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มหลักขาขึ้นของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐเพียงระยะสั้นๆ เท่านั้น โดยเฉพาะในประเด็นของผลกระทบจากการที่ฟิทช์ได้ปรับลดอันดับเครดิตของสหรัฐ หลังจากที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อเสียงและเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงและไม่ยอมรับการตัดสินใจของฟิทช์ โดยอ้างว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง

โดยเฉพาะมุมมองของ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ที่ออกแถลงการณ์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ฟิทช์ทำเช่นนั้น โดยระบุว่าการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐเป็นการกระทำตามอำเภอใจ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ล้าหลัง ขณะที่ เจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพีมอร์แกน ระบุว่าการที่ฟิทช์ ปรับลดอันดับเครดิตสากลระยะยาวสกุลเงินต่างประเทศของสหรัฐนั้น ไม่ได้มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ เช่นเดียวกับในแง่ของการลงทุนที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ เจ้าของ บริษัท เบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ ระบุว่าไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการที่ฟิทช์ เรทติ้งส์ประกาศปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐ และสิ่งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อแนวทางการลงทุนของเบิร์กเชียร์ แฮธาเวย์ และยืนยันว่าสิ่งนี้ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้เขาเปลี่ยนแปลงมุมมองที่มีต่อพันธบัตรสหรัฐและสกุลเงินดอลลาร์

ขณะที่ในส่วนของเศรษฐกิจจีนนั้น แน่นอนว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นโลกจะได้รับแรงกดดันจากการที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ยอดส่งออกเดือน ก.ค. 66 ของจีนจะลดลง 12.5% ต่อเนื่องจากที่ลดลง 12.4% ในเดือน มิ.ย. 66 ซึ่งหากเป็นไปตามคาดการณ์ ยอดส่งออกเดือน ก.ค. 66 ถือว่าเป็นตัวเลขที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่จีนเผชิญกับการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือน ก.พ. 63 ซึ่งในเวลานั้นยอดส่งออกของจีนทรุดตัวลง 17.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิดที่เข้มงวดทั่วประเทศส่งผลให้ภาคการผลิตต้องหยุดชะงักลง

ล่าสุดมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจที่มาจากภัยพิบัติทางธรรมชาติโดยตรงของจีนพุ่งขึ้นแตะ 4.118 หมื่นล้านหยวน (5.74 พันล้านดอลลาร์) ในเดือน ก.ค. 66 ซึ่งมากกว่าเดือน ม.ค.-มิ.ย. 66 รวมกัน เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้ายหลังพายุไต้ฝุ่นกำลังแรง 2 ลูกพัดถล่มจีนพร้อมกันในเดือนเดียว ทั้งนี้ผลกระทบจากน้ำท่วมซึ่งเกิดขึ้นเป็นปกติในช่วงฤดูร้อนของจีน มีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นในปีนี้ โดยส่งผลกระทบต่อประชากรกว่า 7 ล้านคนทั่วประเทศในเดือน ก.ค. 66 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กรุงปักกิ่งต้องเผชิญกับฝนตกหนักที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 140 ปี ต่อจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดเป็นประวัติการณ์ในเดือน มิ.ย. 66

อย่างไรก็ดีสถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจจีนในเวลานี้ จะตามมาด้วยปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นโลกจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจีนแน่นอน ซึ่งมุมมองดังกล่าวสะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดรัฐบาลกลางจีนได้ประกาศ “มาตรการ 20 ประการ” เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว รวมถึงการกระตุ้นการซื้อรถยนต์ไฟฟ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าอัจฉริยะ ซึ่งมาตรการดังกล่าว ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผู้บริโภคเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังหมายถึงผู้ผลิตหรือผู้จัดหาสินค้าและบริการด้วย

นอกจากนี้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้วางแผนที่จะเพิ่มการสนับสนุนด้านเงินทุนสำหรับภาคเอกชน หลังจากประชุมกับกลุ่มผู้บริหารจากอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ โดยระบุชื่อบริษัทหลายแห่งในแถลงการณ์ ซึ่งเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนที่หน่วยงานกำกับดูแลกฎระเบียบจีนต้องเพิ่มความเชื่อมั่นตลาด

ตลาดหุ้นเอเชียกลับมาแล้วหนุนตลาดหุ้นไทยไปต่อ! ขณะที่ในด้านของความเสี่ยงจากการขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งของสหรัฐจะยังคงมีการพูดถึงอยู่บ้าง โดยเฉพาะหลังจากที่ มิเชล โบว์แมน ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะผู้ว่าการธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่โหวตให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมนโยบายการเงินเมื่อเดือน ก.ค. 66 ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพื่อฉุดเงินเฟ้อให้ชะลอตัวลงสู่ระดับเป้าหมาย


ส่วนคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ครั้งล่าสุด ส่งสัญญาณว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% อีกครั้งสู่ระดับ 5.6% ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดอยู่ในกรอบ 5.50-5.75% ภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ธนาคารโลกระบุในรายงานความคืบหน้าด้านความมั่นคงทางอาหารว่า เงินเฟ้อจากราคาอาหารภายในประเทศต่างๆ ยังคงอยู่ในระดับสูง โดยข้อมูลล่าสุดระหว่างเดือน ก.พ.-พ.ค. 66 แสดงให้เห็นว่ามีเงินเฟ้อสูง โดย 63.2% ของกลุ่มประเทศรายได้ต่ำ , 79.5% ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง และ 67% ของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน มีเงินเฟ้อสูงกว่า 5% โดยหลายประเทศมีตัวเลขเงินเฟ้อในอัตราเลขหลักสิบ

อย่างไรก็ดีมีความเป็นไปได้อย่างมากที่ปัจจัยลบในเรื่องของดอกเบี้ยสหรัฐดังกล่าว นักลงทุนจะให้น้ำหนักน้อยกว่าปัจจัยบวกจากแนวโน้มการประเมินเติบโตที่แข็งแกร่งกว่าคาดของสหรัฐ และญี่ปุ่น โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 3.9% ในไตรมาส 3/2566 เติบโตต่อเนื่องจากที่มีการขยายตัว 2.0% และ 2.4% ในไตรมาส 1 และ 2 ตามลำดับ

ขณะที่ล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์ของ เจพีมอร์แกน เชส ได้ปรับเปลี่ยนการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ โดยไม่คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกต่อไป สอดคล้องกับแบงก์ ออฟ อเมริกา คอร์ป ที่ก่อนหน้านี้เป็นธนาคารสหรัฐรายใหญ่รายแรกที่เปลี่ยนแปลงการคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอย่างเป็นทางการท่ามกลางความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่ในส่วนของญี่ปุ่น ล่าสุดผลสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายตัว 3.1% ในไตรมาส 2/2566 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งจะเป็นการขยายตัวติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ต่อเนื่องจากที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 1/2566 ซึ่งทิศทางดังกล่าวจะเป็นปัจจัยบวกต่อ Momentum ของตลาดหุ้นเอเชียด้วย หลังจากที่ล่าสุด Fund Flow จากนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นเอเชียติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือน ก.ค. 66

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานโดยอ้างข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย และเวียดนาม ระบุว่านักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อหุ้นในตลาดหุ้นเหล่านี้รวมกันเป็นเงินสุทธิ 3.48 พันล้านดอลลาร์ในเดือน ก.ค. 66 ทำสถิติเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชียติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 66

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียยกเว้นจีน ได้กลายมาเป็นตลาดหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากหุ้นมีมูลค่าถูกลงหลังร่วงลงในปีที่ผ่านมา และแนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียสดใสขึ้นหลังจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลง

ในส่วนของแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยสถานการณ์ทางการเมืองยังเป็นปัจจัยตัดสิน ขณะที่ในทางเทคนิคถ้า SET ไม่หมุนลงมาต่ำกว่า 1,520 จุดอีกครั้ง SET ก็จะแกว่งตัวขึ้นในกรอบขาขึ้น หรือ Uptrend Channel ต่อไป

กลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,520 จุด เน้น “อ่อนตัวซื้อทยอยสะสม” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

15 views

Comments


bottom of page