top of page
379208.jpg

ถ้าถอยไม่ต่ำกว่า 1,520 จุด...SET จะแกว่งต่อในกรอบขาขึ้น


เลิกกลัวเรื่องดอกเบี้ยสหรัฐ !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ แม้ว่าคำพูดของ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ภายหลังการประชุมนโยบายการเงิน (FOMC) ไม่ได้ออกมาส่งสัญญาณการหยุดขึ้นดอกเบี้ยที่ชัดเจนออกมา โดยระบุว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายการเงินในอนาคตนั้น เฟดจะตัดสินใจในการประชุมเป็นครั้งๆ ไป รวมทั้งพิจารณาถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในเวลานั้น และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยยังไม่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นในปีนี้

ในระหว่างการแถลงข่าว พาวเวล ยังระบุว่ามีความเป็นไปได้ว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกในการประชุมเดือน ก.ย. 66 หากข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าวสนับสนุนให้เฟดดำเนินการเช่นนั้น หลังจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมครั้งล่าสุด ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 22 ปี

ทั้งนี้การประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 11 นับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มี.ค. 65 ส่งผลให้เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%

อย่างไรก็ดี โกลด์แมน แซคส์ได้ออกมาคาดการณ์ว่าเฟดได้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว แม้ว่า เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ไม่ได้กล่าวอย่างชัดเจนทิศทางอัตราดอกเบี้ยในการแถลงข่าว สอดคล้องกับข้อมูลล่าสุดจาก FedWatch Tool ของ CME Group ที่บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 80% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 19-20 ก.ย. 66 และให้น้ำหนักเพียง 20% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.50-5.75%

FedWatch Tool ของ CME Group ยังบ่งชี้ด้วยว่า นักลงทุนคาดการณ์ว่าการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในเดือน ก.ค. 66 จะเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ โดยเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปี ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า ในภาวะที่แนวโน้มของเงินเฟ้อสหรัฐชะลอตัวลงต่อเนื่อง สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือน มิ.ย. 66 ชะลอตัวลงจากระดับ 3.8% ในเดือน พ.ค. 66

ส่วนดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่เฟด ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.1% ในเดือน มิ.ย. 66 ชะลอตัวลงจากระดับ 4.6% ในเดือน พ.ค. 66 ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐดีดตัวขึ้นสู่ระดับ 71.6 ในเดือน ก.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ต.ค. 64 ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวของเงินเฟ้อ และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งแรกสำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 ปี 2566 ออกมาขยายตัว 2.4% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.0% และสูงกว่าตัวเลข GDP ประจำไตรมาส 1 ซึ่งมีการขยายตัว 2.0% รวมทั้งภาคแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง

ล่าสุดตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐลดลง 7,000 ราย สู่ระดับ 221,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 5 เดือน และต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 235,000 ราย ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่อง ลดลง 59,000 ราย สู่ระดับ 1.69 ล้านราย

ตลาดหุ้นไทยกำลังแกว่งขึ้นในกรอบขาขึ้น ! ทิศทางของเศรษฐกิจจีนยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญของการลงทุนในตลาดหุ้นภูมิภาคนะครับ โดยล่าสุดรายงาน China Beige Book ซึ่งเป็นรายงานสำรวจภาวะเศรษฐกิจจีนระบุว่า กลุ่มผู้บริโภคของจีนปรับลดการใช้จ่ายเกือบทุกๆ ด้านในเดือนก.ค. 66 ยกเว้นการใช้จ่ายด้านการเดินทางและการรับประทานอาหารในภัตตาคาร ซึ่งส่งผลให้การเติบโตของรายได้ในภาคส่วนที่สำคัญของจีนชะลอตัวลง ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างซบเซา โดยธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบหนักที่สุด ขณะที่ยอดขายในธุรกิจการเดินทาง อาหาร และเครื่องดื่ม ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงทิศทางการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ไม่สอดคล้องกันในแต่ละภาคส่วน

ขณะที่อัตราว่างงานโดยรวมของจีนในเดือน มิ.ย. 66 อยู่ที่ระดับ 5.2% แต่อัตราว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาวซึ่งมีอายุระหว่าง 16-24 ปี อยู่ที่ระดับ 21.3% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับในส่วนของภาคการบริการและการผลิต ที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของจีนชะลอตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยที่ดัชนี PMI ภาคบริการเดือน ก.ค. 66 ลดลงสู่ระดับ 51.5 เมื่อเทียบกับระดับ 53.2 ในเดือน มิ.ย. 66

นอกจากนี้ดัชนี PMI ภาคการผลิตของจีนหดตัวลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ในเดือน ก.ค. 66 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกยังคงเผชิญกับภาวะซบเซา ท่ามกลางอุปสงค์ทั่วโลกที่อ่อนแรงลง โดยที่ดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือน ก.ค. 66 ของจีน อยู่ที่ระดับ 49.3 ซึ่งดัชนีอยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของจีนอยู่ในภาวะหดตัว และเป็นการหดตัวติดต่อกันเดือนที่ 4 ส่งผลให้ล่าสุดทางการจีนเตรียมประกาศมาตรการใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นการอุปโภคบริโภค เพราะสถานการณ์เริ่มบานปลายแล้ว หลังจากที่สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานว่ากำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนปรับตัวลง 8.3% ในเดือน มิ.ย. 66 สู่ระดับ 7.1976 แสนล้านหยวน ส่วนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 กำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรมจีนร่วงลง 16.8% หลังจากที่ดิ่งลง 18.8% ในช่วงเดือน ม.ค.-พ.ค. 66 เนื่องจากการชะลอตัวของอุปสงค์ได้ส่งผลกระทบต่อกำไรของบริษัทในภาคอุตสาหกรรม

อย่างไรก็ดีสถานการณ์ในลักษณะนี้อาจเป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นเอเชียในระยะต่อไป บนความคาดหวังให้ทางการจีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมได้

ในส่วนของแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยสถานการณ์ทางการเมืองเป็นปัจจัยตัดสิน ในทางเทคนิคการที่ดัชนีตลาดหุ้นไทย หรือ SET สามารถ Breakout หรือทะลุผ่าน Downtrend Line ขึ้นมาได้บนความคาดหวังกับการเดินหน้าอีกครั้งของประเทศภายใต้รัฐบาลใหม่ ทำให้ในระยะต่อไปถ้า SET ไม่หมุนลงมาต่ำกว่า 1,520 จุดอีกครั้ง SET ก็จะแกว่งตัวขึ้นในกรอบขาขึ้น หรือ Uptrend Channel ต่อไป

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,520 จุด เน้น “อ่อนตัวซื้อทยอยสะสม” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

19 views

Comments


bottom of page