top of page
image.png

เพื่อไทยนำรัฐบาลเสียงข้างมาก ปลดล็อกตลาดหุ้นไทย !!!


ตลาดหุ้นโลกยังเป็นขาขึ้น !

แนวโน้มหลักของตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ แม้ว่าในระยะสั้นนักลงทุนในตลาดจะยังคงรอความชัดเจนเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐที่จะออกมาหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินสหรัฐ (FOMC) ในวันที่ 25-26 ก.ค. 66 ซึ่งล่าสุดเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้เริ่มเข้าสู่ช่วงงดเว้นการแสดงความเห็นเกี่ยวกับนโยบายการเงิน (Blackout Period) แล้วตั้งแต่วันที่ 15 ก.ค. 66

ทั้งนี้ กฎระเบียบของเฟดได้ระบุห้ามเจ้าหน้าที่เฟดแสดงความเห็นต่อสาธารณะ หรือให้สัมภาษณ์ในช่วง Blackout Period เกี่ยวกับนโยบายการเงิน โดยเริ่มตั้งแต่วันเสาร์ที่สองก่อนที่การประชุม FOMC จะเริ่มขึ้น และสิ้นสุดในวันพฤหัสบดีหลังการประชุม FOMC อย่างไรก็ดีความเห็นของนักลงทุนส่วนใหญ่ยังคงมองว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเพียง 1 ครั้งในปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า หลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง โดยที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group ระบุว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 92.4% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. 66 และให้น้ำหนักเพียง 7.6% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 42.2% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 30-31 ม.ค. 67 โดยเพิ่มขึ้นจากที่ให้น้ำหนักเพียง 18.0% เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ขณะที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเพิ่งเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ประจำเดือน มิ.ย. 66 ออกมา ทุกรายการต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ทั้งหมด โดยดัชนี CPI ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 3.0% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี หรือนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 64 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.1% และลดลงจากระดับ 4.0% ในเดือน พ.ค. 66 เช่นเดียวกับดัชนี CPI พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.8% ในเดือน มิ.ย. 66 เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.0% และลดลงจากระดับ 5.3% ในเดือน พ.ค. 66

ภายหลังการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อดังกล่าว เจพีมอร์แกนได้ออกรายงานระบุว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ประกาศออกมาบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อได้ชะลอตัวลง และการปรับตัวลงของเงินเฟ้อดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้เฟดยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐยังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดเฟด สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่า แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.3% ในไตรมาส 2/2566 หลังจากขยายตัว 2.0% ในไตรมาส 1/2566 สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ปรับตัวขึ้นขึ้นสู่ระดับ 72.6 ในเดือน ก.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 64 และสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 65.5 และเพิ่มขึ้นจากระดับ 64.4 ในเดือน มิ.ย. 66

ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นได้รับแรงหนุนจากการชะลอตัวของเงินเฟ้อ และความแข็งแกร่งของตลาดแรงงาน อย่างไรก็ดีในระยะสั้นๆ ตลาดหุ้นสหรัฐอาจต้องระมัดระวังกับปัจจัยกดดันจากประเด็นของ “Earnings Season” เนื่องจากข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะรายงานตัวเลขกำไรลดลง 7% ในไตรมาส 2/2566 ซึ่งจะเป็นผลประกอบการที่ย่ำแย่ที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 2/2563 ซึ่งขณะนั้นกำไรของบริษัทในดัชนี S&P 500 ทรุดตัวลง 31.6% สอดคล้องกับข้อมูลจาก Refinitiv ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า บริษัทในดัชนี S&P 500 จะรายงานตัวเลขกำไรลดลง 6.4% ในไตรมาส 2 ปีนี้

กลุ่มตลาดหุ้นเกิดใหม่ดูเสี่ยงกว่าโดยเฉพาะจีน ! ถ้าพิจารณาในภาพรวม มีความเป็นไปได้ว่าตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่น นอกจากสหรัฐ และญี่ปุ่น มีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ Underperform กว่าทั้ง 2 ประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศเกิดใหม่ หรือ Emerging Market ที่ดูมีความเสี่ยงในเชิงมหภาคที่สูงกว่า ยกตัวอย่างเช่นเรื่องของหนี้สาธารณะ ที่ล่าสุดสหประชาชาติ (UN) เปิดเผยรายงานระบุว่า หนี้สาธารณะทั่วโลกพุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 92 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2565 เนื่องจากบรรดารัฐบาลได้กู้ยืมเงินเพื่อรับมือกับวิกฤตต่างๆ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาต้องแบกรับภาระหนี้อย่างมาก โดยหนี้ในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่าในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งแซงหน้าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เพิ่มขึ้นเพียง 3 เท่านับตั้งแต่ปี 2545 โดยประเทศกำลังพัฒนาเป็นหนี้เกือบ 30% ของหนี้สาธารณะทั่วโลก ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา 59 ประเทศมีสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP สูงกว่า 60% ซึ่งบ่งชี้ถึงภาระหนี้ที่ระดับสูง ซึ่งรายงานจาก UN ระบุว่าประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กว่า 50 ประเทศ มีภาระการชำระหนี้ดอกเบี้ยสุทธิสูงกว่า 10% ของรายได้ ขณะที่พี่ใหญ่อย่างจีนยังคงต้องพยายามในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจต่อไป โดยล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ระบุว่าเศรษฐกิจจีนกำลังชะลอตัวลง เนื่องจากการลงทุนในภาคเอกชนอ่อนแอลง ขณะที่การส่งออกชะลอตัว และอุปสงค์ภายในประเทศลดลง

IMF จะทบทวนตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจของจีนในรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) ซึ่ง IMF จะเผยแพร่ในวันที่ 25 ก.ค. 66 ทั้งนี้ในรายงานที่ IMF เผยแพร่ล่าสุดเมื่อเดือน เม.ย. 66 IMF คาดการณ์ว่า การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ที่แท้จริงของจีนในปี 2566 จะอยู่ที่ระดับ 5.2% เพิ่มขึ้นจากระดับ 3% ในปี 2565

นอกจากนี้ IMF กำลังจับตาตัวเลขเงินเฟ้อที่อ่อนแอลงในจีน เนื่องจากอุปสงค์ที่อ่อนแอลงและเศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยยอดส่งออกเดือน มิ.ย. 66 ร่วงลง 12.4% เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งย่ำแย่กว่าในเดือน พ.ค. 66 ที่ปรับตัวลง 7.5% และรุนแรงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดว่าจะลดลง 9.5% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่สำคัญ ทรงตัวในเดือน มิ.ย. 66 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งอ่อนแอกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 0.2% หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 0.2% ในเดือน พ.ค. 66 ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดต้นทุนสินค้าที่หน้าประตูโรงงาน ร่วงลง 5.4% ในเดือน มิ.ย. 66 เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะลดลง 5% หลังจากที่ปรับตัวลง 4.6% ในเดือน พ.ค. 66

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ดัชนี CPI และ PPI ของจีนอ่อนแอลงนั้น เป็นผลมาจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลง และสะท้อนให้เห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นไปอย่างเชื่องช้า และอาจผลักดันให้ทางการจีนเร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในไม่ช้านี้

ขณะที่ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ขอแค่ได้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มาจากกลุ่มพรรคการเมืองที่รวมเสียง ส.ส. กันแล้วได้มาซึ่ง “รัฐบาลเสียงข้างมาก” แม้ว่าล่าสุดจะมีความเป็นไปได้ว่าแกนนำจะเปลี่ยนมาเป็นพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกลอาจไปเป็นฝ่ายค้าน ยังมองว่าแม้จบได้แบบนี้ ตลาดหุ้นพร้อมตอบสนองในด้านบวกหนักๆ แรงๆ ทันที เพราะถือว่าความไม่ชัดเจนทางการเมืองที่คงอยู่มา 7 เดือนยุติเสียที และการเมืองไทยทำให้เศรษฐกิจไปไหนไม่ได้มานานเกินไปแล้ว

ในเชิงปัจจัยพื้นฐานตลาดหุ้นไทยในสถานการณ์ปกติ หรือ Base Case ที่ Consensus คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้จะเติบโตราว 7% SET ควรจะซื้อขายอยู่ที่ราว 1,807 จุด หรือมี Potential Upside จากตรงนี้ราว 21% หรือแม้กระทั่งในสถานการณ์แย่ที่สุด หรือ Worst Case ที่ให้สมมติฐานว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น หรือ EPS ของตลาดหุ้นไทยในปีนี้ไม่เติบโตเลย หรือ +0% ในเชิงพื้นฐานระดับราคาที่เหมาะสมของ SET ในปีนี้ ก็ยังอยู่ที่ราว 1,687 จุด หรือมี Potential Upside จากตรงนี้ราว 13% อยู่ดี ดังนั้นจะเห็นได้ว่าในเชิงปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว ตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ควรวิ่งจากตรงนี้ได้อย่างน้อย 13% ในกรณีแย่สุด และในกรณีที่ควรจะเป็นจริงๆ สามารถไปได้ถึง 21%

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,540 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

 

Comments


bottom of page