ความกังวลดอกเบี้ยสหรัฐมีผลน้อย !
ตลาดหุ้นโลกยังคงเป็นขาขึ้นนะครับ เมื่อประเด็นความเสี่ยงเกี่ยวกับเพดานหนี้ของสหรัฐได้ยุติลงแล้ว ซึ่งจะช่วยให้สหรัฐสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ครั้งประวัติศาสตร์ หลังจากที่สภาคองเกรสมีมติอนุมัติข้อตกลงการปรับเพิ่มเพดานหนี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ และส่งต่อให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมาย
ทั้งนี้แม้ว่าจะมีแรงกดดันอยู่บ้าง จากความกังวลเกี่ยวกับทิศทางดอกเบี้ยของสหรัฐ หลังจากที่ล่าสุดสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ทั่วไป ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 4.4% ในเดือน เม.ย. 66 เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 4.2% ในเดือน มี.ค. 66 สอดคล้องกับดัชนี PCE พื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้ความสำคัญ ปรับตัวขึ้น 4.7% ในเดือน เม.ย. 66 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.6% จากระดับ 4.6% ในเดือน มี.ค. 66 ทำให้นักลงทุนเพิ่มน้ำหนักมากกว่า 60% แล้วว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน มิ.ย. 66
โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนักถึง 63.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. 66 และให้น้ำหนักเพียง 37.0% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
อย่างไรก็ดีผมมองว่านักลงทุนในตลาดหุ้นโลกและสหรัฐจะให้น้ำหนักกับขยายเพดานหนี้ และแนวโน้มเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของสหรัฐมากกว่า หลังจากที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 2 สำหรับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 1 ปี 2566 โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.3% ในไตรมาสที่ 1 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.1% และสูงกว่าตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ที่ระดับ 1.1% ขณะที่แนวโน้มที่แข็งแกร่งดังกล่าวของเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่จะต่อเนื่องไปในไตรมาสที่ 2 ด้วย หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผยว่าแบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 1.9% ในไตรมาส 2 ปี 2566 ซึ่งได้รับการสนับสนุนยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 4.1% สู่ระดับ 683,000 ยูนิตในเดือน เม.ย. 66 เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 65 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 665,000 ยูนิต จากระดับ 656,000 ยูนิตในเดือน มี.ค. 66 สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 54.5 ในเดือน พ.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 เดือน จากระดับ 53.4 ในเดือน เม.ย. 66 และตัวเลขการใช้จ่ายส่วนบุคคลของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้น 0.8% ในเดือน เม.ย. 66 สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 0.4% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือน มี.ค. 66 ซึ่งมุมมองดังกล่าวของผม สะท้อนออกมาที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +4.5% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 27.4% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ 39.7%
หุ้นเอเชียยังเปราะบาง และค่าเงินบาทกดดันหุ้นไทย ! ผมมองว่าแนวโน้มของตลาดหุ้นเอเชียในภาพรวมยังคงไม่ดีเท่าตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป หรือญี่ปุ่น เนื่องจากเศรษฐกิจในฐานะพี่ใหญ่ในภูมิภาคยังคงไม่สามารถกลับมาแข็งแกร่งได้ตามคาด โดยล่าสุดมอร์แกน สแตนลีย์ ออกมาระบุว่าในระยะใกล้นี้ การใช้จ่ายของผู้บริโภคจีนจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนที่โรคโควิด-19 จะแพร่ระบาด สถานการณ์ดังกล่าวไม่เพียงแค่ผู้บริโภคเท่านั้นที่เริ่มระวังการใช้จ่าย แต่ยังรวมถึงการมีทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้นอีกด้วย โดยมอร์แกน สแตนลีย์ระบุว่า ปัจจัยที่ฉุดรั้งภาคการบริโภคของจีนในปีนี้มี 3 ประการ
ประการแรกคือ จีนไม่ได้ใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเหมือนกับสหรัฐและประเทศอื่นๆ ที่แจกเงินให้กับประชาชนเพื่อเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19
ประการที่ 2 คือ การที่จีนใช้นโยบายควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวดเป็นเวลานานและเพิ่งจะมีการผ่อนคลายนโยบายในช่วงปลายปี 2565 นั้น ได้ส่งผลให้การจ้างงานในภาคบริการหายไปราว 30 ล้านตำแหน่ง โดยแม้ว่าตำแหน่งงาน 20 ล้านตำแหน่งมีแนวโน้มที่จะกลับมาภายในปีนี้และปีหน้า แต่นักวิเคราะห์ยังคงเชื่อว่าการฟื้นฟูตำแหน่งงานอีก 10 ล้านตำแหน่งที่เหลืออาจต้องใช้เวลานานขึ้น
ประการสุดท้ายคือ ตลาดที่อยู่อาศัยของจีนชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากรัฐบาลออกมาตรการควบคุมการเก็งกำไร นอกจากนี้การแข่งขันในท้องถิ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ยังสร้างความลำบากให้กับการเติบโตของแบรนด์จากต่างประเทศ โดยรายงานระบุว่า ในเดือนเม.ย. จีนมีจำนวนร้านกาแฟในประเทศเพิ่มขึ้น 16% เมื่อเทียบรายปี โดยเกือบทั้งหมดเป็นแบรนด์ภายในประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้นักเศรษฐศาสตร์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ให้น้ำหนักว่าธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ในเวลาที่รวดเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนอ่อนแรงลงอย่างมาก โดยคาดว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลด RRR สำหรับธนาคารรายใหญ่ลง 0.25% ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ ซึ่งเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการปรับลด RRR ในไตรมาส 4 ทั้งนี้ หากเป็นไปตามคาดก็จะส่งผลให้ RRR ถูกปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10.50% จากระดับ 10.75%
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยมีแนวโน้มที่จะได้แรงกดดันจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่า ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติด้วย ล่าสุดนักวิเคราะห์จากบริษัทซูมิโตโม่ มิตซุย แบงกิง คอร์ปอรเรชัน (SMBC) คาดการณ์ว่า ดัชนีดอลลาร์จะพุ่งขึ้นแตะระดับ 105 ในระยะใกล้นี้ โดยได้แรงหนุนจากข้อมูลแรงงานที่มีแนวโน้มแข็งแกร่ง ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า เงินบาทของไทยเสี่ยงเผชิญการอ่อนค่าทำนิวโลว์ โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ) ก็ไม่น่าจะช่วยสกัดการอ่อนค่าดังกล่าวได้ เนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ยืดเยื้อจากอุปสรรคในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทย ทำให้กองทุนต่างชาติแห่เทขายหุ้นและตราสารหนี้ของไทย ซึ่งถ่วงค่าเงินบาท
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,580 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: TradingView
Comments