top of page
312345.jpg

แม้ทรงจะค่อยๆ ดีขึ้น แต่ต่ำกว่า 1,613 จุด "Wait and See" ไปก่อน


วัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นยุติแล้ว !

แม้ว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นเอเชียจะได้รับแรงกดดันจากทิศทางของเศรษฐกิจจีนที่ไม่ได้ฟื้นตัวแรงตามคาด ทั้งๆ ที่ในปีนี้นักลงทุนส่วนใหญ่ตั้งความหวังว่าจีนจะสามารถหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเอเชียได้ โดยเฉพาะหลังจากที่จีนรายงานตัวเลขส่งออกเดือน เม.ย. 66 เพิ่มขึ้น 8.5% ชะลอตัวลงจากเดือน มี.ค. 66 ที่ขยายตัวแข็งแกร่งถึง 14.8% ขณะที่ตัวเลขนำเข้า เดือน เม.ย. 66 ปรับตัวลง 7.9% ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงติดต่อกันหลังจากที่ลดลง 1.4% ในเดือน มี.ค. 66 และย่ำแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้

อย่างไรก็ดี “นายหมูบิน” ยังคงมองว่าแนวโน้มหลักของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐยังคงเป็นขาขึ้นได้ จากแนวโน้มของเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง หลังจากที่แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา ล่าสุดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 2.7% ในไตรมาส 2 ต่อเนื่องจากที่ขยายตัว 1.1% ในไตรมาส 1 สอดคล้องกับการที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยว่า ตัวเลขขาดดุลการค้าภาคสินค้าและบริการของสหรัฐลดลง 9.1% สู่ระดับ 6.42 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน มี.ค. 66 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือน จากระดับ 7.06 หมื่นล้านดอลลาร์ในเดือน ก.พ. 66 อันเป็นผลจากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้น 2.1% สู่ระดับ 2.562 แสนล้านดอลลาร์

ขณะที่ในภาคแรงงานสหรัฐ ล่าสุดตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 253,000 ตำแหน่งในเดือน เม.ย. 66 มากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 180,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานลดลงสู่ระดับ 3.4% ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 3.6% และทำสถิติต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2512 สอดคล้องกับตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน เพิ่มขึ้นถึง 4.4% ซึ่งการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจสหรัฐมาพร้อมกับการที่แนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นของสหรัฐได้ผ่านพ้นไปแล้ว สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 83.4% ที่เฟดจะ “คงอัตราดอกเบี้ย” ที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 13-14 มิ.ย. 66 และให้น้ำหนักเพียง 16.6% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50%

นอกจากนี้ FedWatch Tool ยังระบุว่านักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเดือน ก.ค. 66 ก่อนที่จะ “ปรับลด” อัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 4.75-5.00% ในการประชุมเดือน ก.ย. 66 และปรับลดอีก 0.25% สู่ระดับ 4.50-4.75% ในการประชุมเดือน พ.ย. 66 รวมทั้งปรับลดอีก 0.25% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมเดือน ธ.ค. 66 หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมเมื่อ 2-3 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ส.ค. 50 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 10 ติดต่อกันนับตั้งแต่ที่เฟดเริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยใน เดือนมี.ค. 65 เท่ากับเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้วรวม 5.00%

นอกจากนี้ เฟดส่งสัญญาณยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ด้วยการยกเลิกประโยคที่เคยระบุในแถลงการณ์ก่อนหน้านี้ที่ว่า "คณะกรรมการเฟดคาดการณ์ว่าการคุมเข้มนโยบายเพิ่มเติมอาจมีความเหมาะสม" เพื่อให้เฟดบรรลุเป้าหมายเงินเฟ้อที่ระดับ 2%

เพดานหนี้สหรัฐทำให้ความเชื่อมั่นลดลงมาก ! อย่างไรก็ดีในระยะสั้นตลาดหุ้นสหรัฐจะได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องเพดานหนี้ของสหรัฐแน่นอน สะท้อนมาจากผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -0.1% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 24.1% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +6.4% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 44.9% หลังจากที่ เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐ ออกมาเตือนว่าหากสภาคองเกรสไม่ปรับเพิ่มเพดานหนี้จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงอย่างรุนแรง พร้อมกับย้ำกว่า กระทรวงการคลังอาจจะไม่สามารชำระหนี้ได้ตามกำหนดภายในวันที่ 1 มิ.ย. 66 ซึ่งเร็วกว่าที่รัฐบาลและนักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทคาดการณ์ไว้ และย้ำว่าก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังสหรัฐได้ใช้มาตรการพิเศษเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ แต่จะไม่ใช่สิ่งที่กระทรวงการคลังสหรัฐจะดำเนินการต่อไปได้ พร้อมระบุว่าเป็นหน้าที่ของสภาคองเกรสที่จะต้องดำเนินการเพื่อหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ โดยอุปสรรคในเวลานี้คือการยืนกรานของ ส.ส.พรรครีพับลิกันในการเชื่อมโยงการปรับเพิ่มเพดานหนี้กับการลดค่าใช้จ่ายของรัฐลงจำนวนมาก ซึ่งทางพรรคเดโมแครตและรัฐบาลสหรัฐไม่เห็นด้วย

ทั้งนี้เพดานหนี้คือจำนวนเงินทั้งหมดที่รัฐบาลสหรัฐได้รับอนุญาตให้กู้ยืมเพื่อให้รัฐบาลสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับสวัสดิการด้านประกันสังคมและด้านสุขภาพ, ดอกเบี้ยตราสารหนี้ของรัฐบาล และการใช้จ่ายอื่นๆ

ดังนั้นความล้มเหลวในการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐ จึงจะนำไปสู่การที่หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐบางส่วนจะไม่สามารถดำเนินการได้ หรือ Government Shutdown นอกจากนี้ผลต่อเนื่องจากการล่มสลายของธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (SVB) และซิกเนเจอร์ แบงก์ (SB) ยังคงมีอยู่ เพราะปัญหาที่เกิดกับธนาคารขนาดกลางดังกล่าว ทำให้ธนาคารต่างๆ คุมเข้มมาตรฐานการปล่อยเงินกู้ให้กับทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ซึ่งมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐ

ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐเปิดเผยผลสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อ (Senior Loan Officer Opinion Survey-SLOOS) ซึ่งถือเป็นหนึ่งในมาตรวัดความเชื่อมั่นในภาคธนาคารนับตั้งแต่การล่มสลายของ SVB และ SB นั้น บ่งชี้ว่าธนาคาร 46% เพิ่มมาตรฐานการปล่อยกู้ที่เข้มงวดมากขึ้นกับภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ เมื่อเทียบกับ 44.8% ในผลสำรวจครั้งก่อนในเดือน ม.ค. 66 โดยธนาคารส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ปัญหาต่างๆ จะยังคงเกิดขึ้นต่อเนื่องจนถึงปีหน้า และส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการคาดการณ์เชิงลบเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ รวมทั้งความกังวลเกี่ยวกับเม็ดเงินฝากไหลออก และการยอมรับความเสี่ยงได้น้อยลง

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,613 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

5 views
bottom of page