top of page
312345.jpg

ดัชนีหุ้นไทยต่ำกว่า 1,634 จุด...ควร "Wait and See"


ความเสี่ยงทั้งในและนอกยังเยอะ !

ความเสี่ยงจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงเชื่องช้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งที่กำลังมาถึง สะท้อนมายังผลงานของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาที่ย่ำแย่กว่าค่าเฉลี่ยของโลก และของเอเชียอย่างชัดเจน โดยดัชนี SET Index ตลาดหุ้นไทย (ณ 6 มี.ค. 65) ปรับตัวลดลงราว 3.7% YTD สวนทางแบบคนละเรื่องเลยกับดัชนี MSCI ACWI ของตลาดหุ้นโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.0% YTD , ดัชนี MSCI EM ของตลาดหุ้นเกิดใหม่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.9% YTD และดัชนี MSCI Asia Pacific ของตลาดหุ้นเอเชียที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.2% YTD

อย่างไรก็ดีในเชิง Downside Risk ของตลาดหุ้นไทยอาจมีไม่มากนักในระยะสั้นๆ หลังมีปัจจัยบวกเข้ามาบ้างจากการที่สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือน ก.พ. 66 ว่าเพิ่มขึ้น 3.79% YoY ซึ่งชะลอตัวลงจากเดือน ม.ค. 66 และชะลอลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 และยังเป็นอัตราที่ต่ำสุดในรอบ 13 เดือน โดยสาเหตุหลักที่ทำให้เงินเฟ้อไทยชะลอตัวลงมาจากราคาพลังงานและอาหารสดที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.พ. 66) เพิ่มขึ้นเพียง 4.40% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือน ก.พ. 66 เพิ่มขึ้นเพียง 1.93% YoY ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 2 เดือนแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้น 2.48% โดยอัตราเงินเฟ้อเริ่มมีแนวโน้มเป็นขาลง พร้อมคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อช่วงไตรมาส 1 ปีนี้จะเพิ่มขึ้นไม่เกินระดับ 4%

ทั้งนี้กระทรวงพาณิชย์จะปรับประมาณการเงินเฟ้อของปี 2566 ใหม่อีกครั้งในการแถลงเดือนหน้า เนื่องจากสมมติฐานสำคัญมีการเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ, อัตราแลกเปลี่ยน และราคาน้ำมันในตลาดโลก ในขณะที่ปัจจุบันให้กรอบเงินเฟ้อไว้ที่ 2.0-3.0%

ในเชิงของกรอบการปรับตัวขึ้น นอกจากความเสี่ยงเฉพาะตัวจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงเชื่องช้า และความไม่แน่นอนทางการเมืองจากการเลือกตั้งที่กำลังมาถึงแล้ว สถานการณ์การลงทุนของโลกก็ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยกดดันด้วย โดยล่าสุดผลสำรวจ MLIV Pulse จาก Bloomberg ระบุว่า Global Fund manager ประเมินว่าการถือเงินสดในพอร์ตการลงทุนจะให้ผลตอบแทนเป็นบวกสุทธิในปีนี้ และจะมากกว่าค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด

สาเหตุที่ Global Fund Manager เลือกที่จะถือเงินสด เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับสภาวะทางการเงินและเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน, ภาวะตลาดหมี, การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตลอดจนแนวโน้มที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่อพอร์ตการลงทุนเหมือนกับในปี 2565 ดังนั้นการถือเงินสดดูเหมือนจะเป็นที่หลบภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นของสหรัฐสูงพอที่จะเอาชนะพอร์ตหุ้นและพันธบัตรแบบคลาสสิก 60/40 ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2544 และแม้แต่บัญชีออมทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงก็จ่ายดอกเบี้ยใกล้แตะระดับ 4% แล้วในขณะนี้ นอกจากนี้อีกปัจจัยเสี่ยงที่ยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด คือเรื่องของการขยายเพดานหนี้ หรือ Debt Ceiling ราว 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ของสหรัฐ เนื่องจากล่าสุดฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ระบุว่าแม้ทุก ๆ 2-3 ปี สหรัฐมักจะมีการเล่นเกมการเมืองที่อันตรายในประเด็นที่ว่าจะมีการปรับเพิ่มเพดานหนี้หรือผิดนัดชำระหนี้ของสหรัฐหรือไม่ ซึ่งแม้ว่าในครั้งนี้สหรัฐจะสามารถหลีกเลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ได้ แต่การนำเรื่องดังกล่าวมาเป็นปมความขัดแย้งทางการเมืองบ่อยครั้งนั้น อาจทำให้อันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐถูกปรับลดได้

ศูนย์นโยบาย Bipartisan Policy Center ได้วิเคราะห์ไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า สหรัฐมีแนวโน้มที่จะเริ่มผิดนัดชำระหนี้ในช่วงฤดูร้อนหรือต้นฤดูใบไม้ร่วงนี้ หากสภาคองเกรสไม่จัดการกับเพดานหนี้ให้ทันกำหนดเส้นตาย

แรงกดดันสหรัฐ, จีน และยุโรปเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น ! ขณะที่ประเด็นความเสี่ยงเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ และจีน ยังคงอยู่ในความสนใจของนักลงทุนในตลาดการเงินโลก สะท้อนออกมาจากการที่ ไบรอัน มอยนิฮาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของแบงก์ ออฟ อเมริกา ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค 3 ไตรมาส ในไตรมาส 3 และ 4 ปีนี้ ต่อเนื่องถึงไตรมาสที่ 1 ปีหน้า แต่ก็คาดว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐจะไม่รุนแรงระหว่าง 0.5-1.0% ในรายไตรมาส และอัตราดอกเบี้ยสหรัฐจะเริ่มลดลงในไตรมาส 2 ของปี 2567 ขณะที่ในส่วนของจีน ผลการประชุมประจำปีของสภาประชาชนแห่งชาติจีน (NPC) ได้มีการระบุว่ารัฐบาลจีนกำหนดเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือ GDP ในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 5% ลดลงจากเป้าหมาย 5.5% ในปีที่แล้วเล็กน้อย รวมทั้งตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณไว้ที่ 3% ของ GDP ในปี 2566 ซึ่งกว้างกว่าเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณ 2.8% ที่ตั้งไว้ในปีที่แล้ว หลังจากที่ GDP จีนเติบโตเพียง 3% ในปี 2565 ซึ่งน้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างมาก และเป็นหนึ่งในอัตราการเติบโตที่ชะลอตัวที่สุดในรอบเกือบ 50 ปี เนื่องด้วยเหตุผลหลายประการ รวมถึงมาตรการสกัดโควิด-19 ที่มีมาเป็นเวลา 3 ปี วิกฤตการณ์ในภาคอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีน การปราบปรามธุรกิจเอกชน และความต้องการสินค้าส่งออกของจีนลดลง ทั้งนี้แม้ว่าล่าสุด จ้าว เฉินซิน รองประธานคณะกรรมการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติ (NDRC) จะระบุว่า จีนมั่นใจว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจสำหรับปี 2566 ที่ 5.0% ได้ แต่การเติบโตในระดับดังกล่าวค่อนข้างสร้างความผิดหวังให้กับนักลงทุนในตลาดหุ้นโลกพอสมควร

นอกจากนี้ในฝั่งของยุโรปเอง แนวโน้มขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยยังคงมีอยู่ต่อไป หลังจากที่นักวิเคราะห์ของซิตี้กรุ๊ปคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% ในการประชุมเดือน มี.ค. และ พ.ค. 66 ซึ่งจะส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal Rate) ของ ECB พุ่งขึ้นแตะระดับ 4% ภายในเดือน ก.ค. 66 ทำให้หลายฝ่ายเริ่มมีความกังวลว่าการปรับขึ้นดอกเบี้ยเชิงรุกของ ECB เพื่อสกัดเงินเฟ้อนั้น มีแนวโน้มที่จะทำให้ ECB ดำเนินนโยบายคุมเข้มทางการเงินที่มากเกินไป และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารต่างๆ อาทิ บาร์เคลย์ส, แบงก์ ออฟ อเมริกา และมอร์แกน สแตนเลย์คาดการณ์ในขณะนี้ว่า อัตราดอกเบี้ยของ ECB จะแตะระดับ 4% ในที่สุดเช่นกัน

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,634 จุด เน้น “Wait and See” ไปก่อน สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ


ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)



Source: TradingView


22 views
bottom of page