top of page
379208.jpg

การขยายตัวทางเศรษฐกิจ จะมีน้ำหนักมากกว่าในระยะยาว


ความเชื่อมั่นยังดี แม้กังวลดอกเบี้ย !

ในระยะสั้นตลาดหุ้นโลกยังคงได้รับปัจจัยกดดันจากถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ยังคงเน้นย้ำเรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประธานเฟด สาขาอื่นๆ ต่างให้ความไปในทิศทางเดียวกัน โดยที่ เจอโรม พาวเวล

กล่าวสุนทรพจน์ในงานเสวนาซึ่งจัดโดยสมาคมเศรษฐกิจแห่งวอชิงตัน (Economic Club of Washington) ว่า “ภาวะเงินเฟ้อที่ลดลง (Disinflationary) ซึ่งเป็นกระบวนการที่จะนำไปสู่การชะลอตัวของเงินเฟ้อนั้น เริ่มปรากฏให้เห็นแล้ว โดยเฉพาะในภาคสินค้า (Goods Sector) อย่างไรก็ดี การชะลอตัวอย่างยั่งยืนของเงินเฟ้อนั้นยังคงต้องใช้เวลาอีกนาน และในขณะนี้เราเพิ่งจะอยู่ในช่วงเริ่มต้นเท่านั้น”

อีกทั้ง เจอโรม พาวเวล ยังคาดการณ์ว่าปี 2566 จะเป็นปีที่เงินเฟ้อชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนมกราคมที่ออกมาแข็งแกร่งเกินคาด ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่เฟดจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และมองว่าเฟดจำเป็นต้องตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับที่คุมเข้ม (Restrictive Level) เอาไว้อีกระยะหนึ่ง

สอดคล้องกับประธานเฟดสาขาอื่นๆ ที่แสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฟดยังคงมีงานที่ต้องทำอีกมากในความพยายามที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งเกินคาดการณ์ อีกทั้งยังจำเป็นที่จะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 5.4% จากระดับ 4.50-4.75% ในขณะนี้

อย่างไรก็ดีปัจจัยกดดันดังกล่าวน่าจะเป็นปัจจัยกดดันเพียงระยะสั้นเท่านั้น และในช่วงที่เหลือของปี มีโอกาสที่ตลาดจะหันมาให้น้ำหนักที่มากกว่ากับภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งน่าจะชดเชยกับผลกระทบด้านลบจากภาวะอัตราดอกเบี้ยสูงได้ ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเริ่มชะลอตัวลง ซึ่งภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่ยังคงแข็งแกร่ง สะท้อนมาจากตัวเลขการจ้างงานที่แข็งแกร่งในเดือนมกราคม 2566

โดยตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้น 517,000 ตำแหน่งในเดือนมกราคม 2566 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 185,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.4% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2512 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% ขณะเดียวกัน ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ และปรับตัวเพิ่มขึ้น 4.4% เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.3%

ขณะที่ในฝั่งของภาคธุรกิจ ดัชนีภาคบริการของสหรัฐปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 55.2 ในเดือนมกราคม 2566 จากระดับ 49.2 ในเดือนธันวาคม 2565 ส่วนสต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.1% ในเดือนธันวาคม 2565 เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ ทั้งนี้เมื่อเทียบรายปี สต็อกสินค้าคงคลังภาคค้าส่ง ปรับตัวเพิ่มขึ้น 17.6% ในเดือนธันวาคม 2565 ยอดขายในภาคค้าส่งทรงตัวในเดือนธันวาคม 2565 หลังจากปรับตัวลดลง 1.4% ในเดือนพฤศจิกายน 2565

จากเหตุผลดังกล่าว ส่งผลให้ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง +7.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 37.50% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง -9.60% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 25.00% และเป็นครั้งแรกในรอบ 45 สัปดาห์ที่ Bull-Bear Spread กลับขึ้นมาเป็นบวกได้ ยุโรปยังดี ญี่ปุ่นเริ่มเสี่ยง ไทยดีขึ้น ! ในแง่ของความเสี่ยงฝั่งยุโรปดูดีขึ้นมากๆ นะครับ หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีเดือนมกราคม 2566 เมื่อปรับค่าให้สามารถเทียบกับสหภาพยุโรป (EU) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบเป็นรายปี และเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2565 ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.5%

นักวิเคราะห์คาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของเยอรมนีจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.0% เมื่อเทียบรายปี และปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า

ความเสี่ยงจริงๆ ถ้าจะมี คงมาจากฝั่งของญี่ปุ่นมากกว่า หลังจากที่ล่าสุดรัฐบาลญี่ปุ่น เปิดเผย การใช้จ่ายภาคครัวเรือนของญี่ปุ่นหดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันในเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยได้แรงกดดันจากเงินเฟ้อ แม้ภาคเอกชนมีการบริโภคแข็งแกร่งเมื่อประเทศเปิดพรมแดนอีกครั้งหลังโควิด-19 ระบาด

ทั้งนี้ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน ปรับตัวลดลง 1.3% ในเดือนธันวาคม 2565 เมื่อเทียบรายปี โดยลดลงหนักกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ว่าจะปรับตัวลดลง 0.2% หลังจากที่ปรับตัวลดลง 1.2% ในเดือนพฤศจิกายน 2565 อีกทั้งเมื่อเทียบรายเดือน การใช้จ่ายปรับตัวลดลง 2.1% ในเดือนธันวาคม 2565 สวนทางกับนักเศรษฐศาสตร์ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวขึ้น 0.3% ถือเป็นการลดลงที่มากที่สุดเมื่อเทียบรายเดือน นับตั้งแต่ที่ลดลง 2.8% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย ได้รับปัจจัยหนุนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปทานทยอยคลี่คลายตามรคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ปรับลดลง อย่างไรก็ดีอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงอีกระยะหนึ่งก่อนจะทยอยปรับลดลง โดยการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อพื้นฐานไม่ได้กระจายตัวหรือเร่งขึ้นต่อเนื่อง

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ของไทย เดือนมกราคม 2566 ขยายตัว 5.02% ต่ำกว่าตลาดคาด โดยอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน และอาหาร ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นจากภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้การใช้จ่ายในช่วงเทศกาลทั้งปีใหม่ และตรุษจีน คึกคักกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) ในเดือนมกราคม 2566 ขยายตัว 3.04% โดยกระทรวงพาณิชย์ คาดว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 จะขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง และเชื่อว่าจะไม่สูงถึง 5%

ขณะที่ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมกราคม 2566 อยู่ที่ระดับ 51.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 นับตั้งแต่ พฤษภาคม 2565 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 26 เดือนนับตั้งแต่ธันวาคม 2563 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ 46.0 ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสการหางานทำอยู่ที่ 49.0 และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 60.2

ทิศทางของตลาดหุ้นไทย เมื่อมองผ่านมุมมองในทางเทคนิค พบว่าในระยะสั้นหาก SET ไม่สามารถยืนเหนือ 1,675 จุด การพักฐานระยะสั้นสามารถเกิดขึ้นได้ แต่ตราบใดที่ SET ยังคงไม่ปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าเส้นค่าเฉลี่ย EMA 200 วันที่ 1,632 จุด ยังคงไม่มีอะไรน่ากังวล หรือมีสัญญาณของการเปลี่ยนทิศในระยะสั้นๆ

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,632 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/hippowealththailand และ e-mail ที่ hippowealththailand@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: TradingView

23 views

Comments


bottom of page