top of page
312345.jpg

ต่ำกว่า 1,617 จุด ดีดตัวระยะสั้นแค่ Technical Rebound


ดอกเบี้ยยังขึ้น แต่เศรษฐกิจชะลอตัว !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกหลังกลางเดือนธันวาคม เข้าสู่การพักตัวในระยะสั้นแล้ว เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางประเทศต่างๆ มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ จะส่งผลให้เศรษฐกิจทั่วโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย รวมถึงถ้อยแถลงของ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟด หลังจากที่คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 0.75% ภายในสิ้นปี 2566 ขณะที่ การคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุด (Terminal rate) สู่ระดับ 5.1% ภายในปี 2566 ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 50 อีกทั้ง เฟดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐจะมีการขยายตัว 0.5% ในช่วงสิ้นปี 2565 โดยเพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมที่ 0.2% แต่ปรับลดคาดการณ์ในปี 2566 สู่ระดับ 0.5% จากเดิมที่ระดับ 1.2% และคาดการณ์ว่าจะขยายตัว 1.6% และ 1.8% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

ขณะที่ เจอโรม พาวเวล ประธานเฟดกล่าวภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะพูดถึงการปรับลดอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากเฟดให้ความสำคัญกับการใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินเพื่อฉุดเงินเฟ้อให้กลับสู่เป้าหมายของเฟดที่ระดับ 2% พร้อมกับกล่าวว่า แม้มีสัญญาณบ่งชี้ว่าตัวเลขเงินเฟ้อชะลอตัวลงในเดือน ต.ค. และเดือน พ.ย. 65 แต่ยังต้องการเห็นหลักฐานมากกว่านี้เพื่อให้มั่นใจว่าเงินเฟ้อกำลังอยู่ในช่วงขาลงอย่างยั่งยืน โดยก่อนหน้าการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ ซึ่งเป็นปัจจัยหนุนให้เฟดเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.4% ในเดือน พ.ย. 65 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.2% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ทั่วไป ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือน พ.ย. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือน พ.ย. 65 เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 5.9% และเมื่อเทียบรายเดือน ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) พื้นฐาน ปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.4% ในเดือนพฤศจิกายนสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2%

ขณะที่ผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลง -0.40% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 24.30% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +2.80% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 44.60%

ตลาดหุ้นไทยเข้าสู่ช่วงพักฐาน !

นอกจากในฝั่งของสหรัฐที่เริ่มกลับมากังวลเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย และการชะลอตัวลงของภาวะเศรษฐกิจอีกครั้งแล้ว ในฝั่งของตลาดหุ้นยุโรปก็ถูกกดดันจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ด้วย โดย ECB มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ตามการคาดการณ์ของตลาด ทั้งนี้ ECB ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 4 ติดต่อกัน หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน ก.ค. 65 และ 0.75% ทั้งในเดือน ก.ย.และ ต.ค. 65 ขณะเดียวกัน ECB จะเริ่มทำการปรับลดงบดุลในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 66 จนสิ้นสุดไตรมาส 2 ของปี 2566 สอดคล้องกับการที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ระดับ 3.50% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 9 ติดต่อกัน ขณะที่ในฝั่งของจีน ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ประเมินว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยคาดว่าจะขยายตัวเพียง 3% ในปี 2565 และ 4.3% ในปี 2566 ซึ่งลดลงจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.3% และ 4.5% ตามลำดับ

ขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเดือน พ.ย. 65 ของจีนอยู่ที่ระดับ 48 ลดลงจากระดับ 49.2 ในเดือน ต.ค. 65 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของรอยเตอร์คาดไว้ที่ 49 เนื่องจากผลกระทบของการใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นเวลานาน รวมทั้งการใช้มาตรการเข้มงวดเพื่อควบคุมการระบาดในหลายพื้นที่ ซึ่งรวมถึงกรุงปักกิ่งและกว่างโจว ส่วนPMI ภาคบริการอยู่ที่ระดับ 46.7 ในเดือน พ.ย. 65 ปรับตัวลดลงจากระดับ 48.7 ในเดือน ต.ค. 65 ทั้งนี้ PMI ที่อยู่ต่ำกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่า ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการของจีนอยู่ในภาวะหดตัว

สำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยเชิงกลยุทธ์ในระยะสั้นยังคงต้องระมัดระวังตัว โดย SET มีจุดหมุนที่บริเวณ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,617 จุด) เช่นเดิม โดยที่ถ้า SET ยังคงไม่สามารถกลับมาปิดสัปดาห์ยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้ การดีดตัวขึ้นระยะสั้นถือว่าเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้น

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,617 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น.เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)

Source: Wealth Hunters Club

11 views
bottom of page