ในระยะสั้นตลาดหุ้นโลกและสหรัฐ จะได้รับปัจจัยหนุนจากการเปิดเผยผลประกอบการในไตรมาสที่ 3 ของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐที่ส่วนใหญ่ออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ นำโดยโกลด์แมน แซคส์ เปิดเผย กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 3 ที่ระดับ 8.25 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.69 ดอลลาร์ ส่วนรายได้อยู่ที่ 1.198 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.141 หมื่นล้านดอลลาร์ ด้านบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน เปิดเผย กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 3 ที่ระดับ 2.55 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 2.48 ดอลลาร์ ส่วนรายได้อยู่ที่ 2.379 หมื่นล้านดอลลาร์ สูงกว่าช่วงเดียวกันในปีที่แล้วที่ระดับ 2.334 หมื่นล้านดอลลาร์
นอกจากนี้ บริษัท เน็ตฟลิกซ์ เปิดเผย กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 3 อยู่ที่ 3.10 ดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 2.13 ดอลลาร์ ส่วนจำนวนสมาชิกทั่วโลกของเน็ตฟลิกซ์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.41 ล้านรายในไตรมาส 3 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 1.09 ล้านราย
รวมทั้งปัจจัยบวกจากการที่รัฐบาลของอังกฤษยกเลิกมาตรการปรับลดภาษีเกือบทั้งหมดที่มีการประกาศก่อนหน้านี้ ขณะที่นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ลิซ ทรัสส์ ประกาศลาออกจากตำแหน่ง
อย่างไรก็ตามแต่ ในระยะต่อไปตลาดหุ้นโลกและสหรัฐยังคงมีโอกาสถูกกดดันจากความเป็นไปได้ในการขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด หลังจากที่ตลาดแรงงานสหรัฐยังคงร้อนแรง สะท้อนออกมาจากตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกของสหรัฐลดลงสู่ระดับ 214,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย โดยตัวเลขดังกล่าวยังอยู่ต่ำกว่าระดับ 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในสหรัฐ
ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 59.8 ในเดือน ต.ค. 65 จากระดับ 58.6 ในเดือน ก.ย. 65 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 59.0 ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงทรงตัวในระดับสูง โดยผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนเช่นกัน ระบุว่าผู้บริโภคคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 5.1% ในช่วง 1 ปีข้างหน้า สูงกว่าระดับ 4.7% ที่มีการสำรวจในเดือน ก.ย. 65 ส่วนในช่วง 5 ปีข้างหน้า ผู้บริโภคคาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ระดับ 2.9% สูงกว่าระดับ 2.7% ที่มีการสำรวจในเดือน ก.ย. 65
ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาฟิลาเดลเฟีย กล่าวว่า การที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา แทบไม่สามารถควบคุมการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นเฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป และควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าระดับ 4% ภายในปลายปี 2565 นอกจากนี้เฟดสาขาฟิลาเดลเฟีย เปิดเผยดัชนีภาคการผลิตในภูมิภาคมิด-แอตแลนติก ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ -8.7 ในเดือน ต.ค. 65 จากระดับ -9.9 ในเดือน ก.ย. 65 ส่วนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาแอตแลนตา เปิดเผย แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ล่าสุดแสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจสหรัฐขยายตัว 2.8% ในไตรมาส 3
ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมเดือน พ.ย. 65 และ ธ.ค. 65 ซึ่งจะเท่ากับเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% จำนวน 5 ครั้งติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐจะเพิ่มขึ้นถึงระดับ 4.50-4.75% ในสิ้นปี 2565
ขณะที่ในส่วนของแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยเชิงกลยุทธ์ในระยะสั้น การที่ SET ยังคงแกว่งตัวอยู่ต่ำกว่าบริเวณ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,610 จุด) การดีดตัวระยะสั่น ยังให้ถือว่าเป็นแค่การ Technical Rebound เท่านั้นไปก่อน
การเมืองส่งผลเศรษฐกิจอังกฤษและจีนยังเปราะบาง สถานการณ์ที่ต้องติดตามต่อในระยะต่อไป และอาจกลายเป็นความเสี่ยงที่จะกดดันตลาดหุ้นโลกได้ คือสถานการณ์ในภาคที่อยู่อาศัยของสหรัฐ ที่ล่าสุดสหรัฐรายงานตัวเลขการเริ่มต้นสร้างบ้าน ปรับตัวลดลง 8.1% ในเดือน ก.ย. 65 สู่ระดับ 1.439 ล้านยูนิต และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 1.475 ล้านยูนิต โดยได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง และราคาวัสดุก่อสร้าง ขณะที่สมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์แห่งชาติของสหรัฐ (NAR) เปิดเผย ยอดขายบ้านมือสอง ปรับตัวลดลง 1.5% สู่ระดับ 4.71 ล้านยูนิตในเดือน ก.ย. 65 เมื่อเทียบรายเดือน ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ย. 65 และเป็นการปรับตัวลดลงเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน โดยได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาบ้าน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองเช่นกัน
ในฝั่งของอังกฤษ แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงนายกรัฐมนตรีแล้ว แต่ภาพรวมของเศรษฐกิจยังคงมีความเสี่ยงสูงจากภาวะเงินเฟ้อ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ เปิดเผย ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 10.1% ในเดือน ก.ย. 65 เมื่อเทียบเป็นรายปีสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น 10% เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ในฝั่งของเอเชียเอง การที่ล่าสุดรัฐบาลจีนประกาศเลื่อนการเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3 ออกไปโดยไม่มีกำหนดนั้น ได้เพิ่มความไม่แน่นอนให้นักลงทุน ทั้งนี้ตามกำหนดการเดิมนั้น รัฐบาลจีนจะเปิดเผยตัวเลข ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 3, การผลิตภาคอุตสาหกรรม, ยอดค้าปลีก, การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร และอัตราว่างงานในวันที่ 18 ต.ค. 65 ทั้งนี้นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์กคาดการณ์ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 3 ของจีนจะขยายตัว 3.3% หลังจากมีการขยายตัวใกล้ 0% ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.3% ยังอยู่ต่ำกว่าเป้าหมายต่ำสุดของรัฐบาลจีน ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจจีนได้รับผลกระทบจากมาตรการเข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19 และตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ทรุดตัวลงยาวนานที่สุดเป็นประวัติการณ์
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,610 จุด เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
コメント