ชัดเจนว่าตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นยังคงอยู่ในแนวโน้มของการพักฐาน บนความกังวลต่อเนื่องจากโอกาสที่จะได้เห็นธนาคารกลางสำคัญๆ ของโลกปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในฝั่งของสหรัฐที่มีโอกาสมากจากการที่ตัวเลขภาคแรงงานที่ออกมายังคงแข็งแกร่ง โดยล่าสุดสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) ซึ่งเป็นมาตรวัดอุปสงค์ในตลาดแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 200,000 ตำแหน่ง สู่ระดับ 11.24 ล้านตำแหน่งในเดือน ก.ค. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 10.3 ล้านตำแหน่ง ส่วนอัตราการเปิดรับสมัครงานปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 6.9%
ขณะที่อีกฝั่งหนึ่ง กระทรวงแรงงานสหรัฐ เปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกปรับตัวลดลง 5,000 ราย สู่ระดับ 232,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน มิ.ย. 65 และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 245,000 ราย ส่วนตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้น 315,000 ตำแหน่งในเดือน ส.ค. 65 มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 300,000 ตำแหน่ง ขณะที่ตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงโดยเฉลี่ยของแรงงานปรับตัวเพิ่มขึ้น 0.3% เมื่อเทียบรายเดือน และปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.2% เมื่อเทียบรายปี โดยตัวเลขค่าจ้างรายชั่วโมงนับเป็นข้อมูลที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)ให้ความสำคัญเพื่อหาสัญญาณบ่งชี้ภาวะของอัตราเงินเฟ้อ
แม้ว่าล่าสุดอัตราการว่างงานสหรัฐจะปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 3.7% จากระดับ 3.5% ในเดือน ก.ค. 65 ก็ตาม แต่การที่ดัชนีภาคการผลิตของสหรัฐอยู่ที่ระดับ 52.8 ในเดือน ส.ค. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 52.0 โดยดัชนียังคงอยู่สูงกว่าระดับ 50 บ่งชี้ว่าภาคการผลิตของสหรัฐยังคงมีการขยายตัว ทำให้นักลงทุนในตลาดยังคงไม่ให้น้ำหนักกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการว่างงานสหรัฐในระยะสั้น ล่าสุดข้อมูลจาก CME FedWatch ระบุว่านักลงทุนให้น้ำหนักมากถึง 60.0% ที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. 65 ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวสะท้อนออกมาในผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาลง หรือ Bearish เพิ่มขึ้นถึง 8.6% มาอยู่ที่ 50.4% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้าจะกลับเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 5.8% มาอยู่ที่ 21.9% ซึ่งถือเป็นระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 38.0% ต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่ 41 ติดต่อกัน
ตลาดหุ้นอาเซียนและไทยน่าจะแข็งแรงกว่าโลก ! ในระยะสั้นมีความเป็นไปได้ว่าอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐจะยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อไป จากการบริโภคภาคเอกชนที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ในฝั่งของยุโรป ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหภาพยุโรป ปรับตัวเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 9.1% ในเดือน ส.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป เริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2540 ขณะที่ ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 97.6 ในเดือน ส.ค. 65 เมื่อเทียบเป็นรายเดือน จากระดับ 98.9 ในเดือน ก.ค. 65 และถือเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 64
อย่างไรก็ดีการถอยตัวของตลาดหุ้นอาเซียนและไทยหลังจากนี้ หากเกิดขึ้นอาจจะไม่รุนแรงเท่าตลาดหุ้นโลกและสหรัฐ เนื่องจากการปรับตัวลงของตลาดหุ้นโลก และสหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าเกิดจากแรงขายที่หนักมากในหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี เนื่องจากปัจจุบันดัชนี MSCI World Index มีน้ำหนักของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสูงถึง 22% โดยเฉพาะในสหรัฐที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับตัวลงถึง 4.6% ขณะที่ตลาดหุ้นอาเซียน และไทย ที่โครงสร้างของตลาดยังประกอบด้วยหุ้นกลุ่ม Traditional หรือยุคเดิมอยู่มาก จึงน่าจะได้รับผลกระทบน้อยกว่า เนื่องจากปัจจุบันตลาดหุ้นอาเซียน และไทยมีสัดส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่ำมากเพียง 2% ในดัชนี MSCI ASEAN Index ขณะที่มีสัดส่วนหุ้นในกลุ่มการเงิน โดยเฉพาะธนาคารที่จะได้ประโยชน์พอสมควรกับแนวโน้มดอกเบี้ยขาขึ้นถึง 38% เทียบกับ 14% ในดัชนี MSCI World Index ของตลาดหุ้นโลก
ดังนั้นสำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยเชิงกลยุทธ์ในระยะสั้น SET ยังคงมีจุดหมุนที่บริเวณ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,609 จุด) เช่นเดิม โดยที่ถ้า SET ยังคงปิดสัปดาห์ยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้โอกาสแกว่งขึ้นไปที่ 1,660 จุดยังมี ... แต่ถ้าหากหมุนตัวลงมาปิดต่ำกว่าอีกรอบ ถือว่าจบรอบการ Technical Rebound เช่นกัน
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,609 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Commentaires