แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกกลับสู่การพักฐานในระยะสั้นๆ อีกครั้ง หลังจากที่ในการประชุม Jackson Hole Meeting ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมายืนยัน ”ท่าทีที่แข็งกร้าว” หรือ “Hawkish ในการขึ้นดอกเบี้ย” เพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อสหรัฐ และย้ำถึงผลกระทบด้านลบต่อเศรษฐกิจที่จะตามมาจากนโยบายดังกล่าวด้วย ทั้งในภาคครัวเรือน และธุรกิจ จากภาวะดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น, เศรษฐกิจชะลอตัว และภาคแรงงานที่อ่อนแอลง ซึ่งแม้จะเป็นไปตามที่ตลาดได้กังวลไว้ก่อนหน้านี้ว่าท่าทีของประธานเฟดจะออกมาทรงนี้ แต่ท่าทีรอบนี้แรงกว่าที่คิดและชัดเจนมากกว่าทุกครั้ง
โดยประธานระบุว่าภารกิจของเฟดในการต่อสู้กับเงินเฟ้อยังไม่เสร็จสิ้น ขณะที่ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 60.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. 65 และให้น้ำหนักเพียง 39.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
ทั้งหมดเกิดขึ้นในภาวะที่เศรษฐกิจสหรัฐกำลังชะลอตัวลงชัดเจน สะท้อนออกมาจากการที่ล่าสุดดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 45.0 ในเดือน ส.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 27 เดือน จากระดับ 47.7 ในเดือน ก.ค. 65 ทั้งนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) อยู่ที่ระดับต่ำกว่า 50 ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ว่าภาคธุรกิจของสหรัฐยังคงอยู่ในภาวะหดตัว เนื่องจากผลกระทบจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อใหม่และการจ้างงาน
ขณะที่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ตัวเลขยอดขายบ้านใหม่ของสหรัฐ ปรับตัวลดลง 12.6% สู่ระดับ 511,000 ยูนิต ในเดือน ก.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 59 และลดลงจากระดับ 585,000 ยูนิตในเดือน มิ.ย. 65 โดยได้รับผลกระทบจากการพุ่งขึ้นของราคาบ้าน และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนองที่ปรับตัวสูงขึ้น สอดคล้องกับการที่จำนวนผู้ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการจำนองปรับตัวลดลง 2.3% ในสัปดาห์ที่แล้ว หลังการดีดตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จำนอง ทั้งนี้ จำนวนผู้ที่ยื่นขอสินเชื่อเพื่อการรีไฟแนนซ์ปรับตัวลดลง 3% ในสัปดาห์ที่แล้ว และปรับตัวลดลงถึง 83% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว และดัชนีการทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย ปรับตัวลดลง 1.0% ในเดือนกรกฎาคม เมื่อเทียบรายเดือน สู่ระดับ 89.8 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ทั้งนี้ความกังวลดังกล่าวสะท้อนออกมาในทิศทางของดัชนี VIX Index ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาดัชนี VIX Index ของตลาดหุ้นสหรัฐ, ยุโรป และฮ่องกงปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.35%, 9.05% และ 3.24%
สอดคล้องกับผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish ลดลง 5.60% มาอยู่ที่ 27.70% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish เพิ่มขึ้น 5.20% มาอยู่ที่ 42.40%
อย่างไรก็ดีสำหรับแนวโน้มของตลาดหุ้นไทยเชิงกลยุทธ์ในระยะสั้น SET ยังคงมีจุดหมุนที่บริเวณ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,609 จุด) เช่นเดิม โดยที่ถ้า SET ยังคงปิดสัปดาห์ยืนเหนือบริเวณดังกล่าวได้โอกาสแกว่งขึ้นไปที่ 1,660 จุดยังมี แต่ถ้าหมุนตัวลงมาปิดต่ำกว่าอีกรอบ ถือว่าจบรอบการ Technical Rebound เช่นกัน
ราคาน้ำมันดิบจะกลับมาเป็นปัจจัยหนุนเงินเฟ้อโลก ! ทิศทางของราคาน้ำมันยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อของโลกยังคงทรงตัวในระดับสูง และจะเป็นความเสี่ยงการลงทุนในตลาดหุ้นโลกต่อไป โดยที่ในสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นอีก 3.18% โดยได้รับปัจจัยบวกจากการที่ซาอุดีอาระเบียเสนอให้กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ปรับลดกำลังการผลิตเพื่อพยุงราคาน้ำมัน รวมถึงตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบของสหรัฐที่ปรับตัวลดลงมากกว่าคาดการณ์ในสัปดาห์ที่แล้ว แล้วว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันดิบอาจถูกกดดันจากความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าอาจจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันของโลกชะลอตัวลง
อีกทั้งยังคงถูกกดดันจากการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านและชาติตะวันตกมีความคืบหน้า ซึ่งอาจจะทำให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง แต่โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะปรับตัวลงแรงในระยะสั้นๆ ยังคงเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ปัจจัยกดดันจากฝั่งของจีนทำให้ทิศทางของตลาดหุ้นเอเชียในภาพรวมดูอ่อนแอลงไปอีก ทั้งนี้ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากมาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโรคโควิด-19 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งการเผชิญกับคลื่นความร้อนและภัยแล้งในหลายมณฑล กดดันให้ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 1 ปีลง 0.05% สู่ระดับ 3.65% จากระดับ 3.70% และปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดี (LPR) ประเภท 5 ปีลง 0.15% สู่ระดับ 4.30% จากระดับ 4.45% ขณะที่ รัฐบาลจีนเตรียมจัดหาเงินกู้พิเศษมูลค่า 2 แสนล้านหยวน (2.93 หมื่นล้านดอลลาร์) ให้กับบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่กำลังเผชิญปัญหาด้านการเงิน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าโครงการสร้างที่อยู่อาศัยซึ่งหยุดชะงักในช่วงที่ผ่านมานั้น จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ รวมทั้งประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจวงเงิน 1 ล้านล้านหยวน (1.46 แสนล้านดอลลาร์) โดยมีเป้าหมายที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจ รวมถึงลดผลกระทบจากการใช้มาตรการล็อกดาวน์ควบคุมโรคโควิด-19 และการทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ซึ่งครอบคลุมถึงการจัดสรรเงินทุนมูลค่า 3 แสนล้านดอลลาร์ให้กับธนาคารนโยบายของรัฐ (State Policy Banks) เพื่อให้ธนาคารเหล่านี้นำเงินไปลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน และการจัดสรรเงินให้กับรัฐบาลท้องถิ่นมูลค่ารวม 5 แสนล้านหยวนเพื่อใช้ในการออกพันธบัตรพิเศษ
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งเหนือกว่า 1,609 จุดได้ เน้น “อ่อนตัวซื้อเก็งกำไร” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในหุ้นมาที่ระดับ 50% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)
Source: Wealth Hunters Club
Comments