เศรษฐกิจถดถอยคือความเสี่ยงต่อไป !
แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกปรับตัวดีขึ้นชัดเจนในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยบวกจากการเปิดเผยผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนสหรัฐในไตรมาสที่ 2 ซึ่งออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และความกังวลเกี่ยวกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่ลดลง หลังเศรษฐกิจสหรัฐส่งสัญญาณชะลอตัวชัดเจน โดยล่าสุดคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ 12-0 ในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.75% สู่ระดับ 2.25-2.50% ตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้ ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐเปิดเผยตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 ของผลิตภัณฑ์มวลภายในประเทศ (GDP) ประจำไตรมาส 2 หดตัว 0.9% หลังจากที่หดตัว 1.6% ในไตรมาส 1 เท่ากับติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ทำให้สหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย "ทางเทคนิค"
นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสู่ระดับ 256,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 253,000 ราย
ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานดังกล่าวสูงกว่า 215,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐด้วย โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) สาขาชิคาโก เปิดเผยว่าดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) ปรับตัวลงสู่ระดับ -0.19 ในเดือน มิ.ย. 65 โดยดัชนี Chicago Fed National Activity Index (CFNAI) มีค่าติดลบเป็นเดือนที่ 2 ซึ่งบ่งชี้ถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำกว่าแนวโน้ม เพราะได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของการผลิตและการบริโภค
ผลสำรวจของ Conference Board ซึ่งระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลง 2.7 จุด สู่ระดับ 95.7 ในเดือน ก.ค. 65 ซึ่งเป็นการปรับตัวลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน สอดคล้องกับดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 47.5 ในเดือน ก.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 26 เดือน สะท้อน Momentum ของเศรษฐกิจสหรัฐที่ชะลอตัวลงชัดเจน
อย่างไรก็ดีผมมองว่าการปรับตัวขึ้นจากความกังวลที่ลดลงเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะเป็นปัจจัยบวกกับตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นเท่านั้น และจะยังไม่สามารถทำให้ทิศทางของตลาดหุ้นโลกจากลงเป็นขึ้นได้ในทันที เพราะในระยะต่อไปผมมองว่าประเด็นเรื่องการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง หรือ Growth Slowdown และอาจรวมไปถึงการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ในบางภูมิภาค จะเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกให้น้ำหนักมากที่สุดในช่วงที่เหลือของปีนี้
ในส่วนของประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางต่างๆ นั้น ผมมองว่าจะมีน้ำหนักน้อยลงไปมาก เพราะนักลงทุนน่าจะพอคาดการณ์สถานการณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่ IMF ปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของโลกในปีนี้ไปที่ 8.3% สูงสุดในรอบ 26 ปี และ IMF ระบุชัดเจนว่าธนาคารกลางควรให้ความสำคัญกับการควบคุมภาวะเงินเฟ้อเป็นลำดับแรก ซึ่ง IMF ระบุว่าการดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจสูงขึ้น แต่การชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไป จะสร้างผลกระทบที่เลวร้ายกว่า
ภาพของเศรษฐกิจแท้จริงยังไม่มีอะไรเป็นปัจจัยบวก ! การเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ในบางภูมิภาค จะเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนในตลาดหุ้นโลกให้น้ำหนักมากที่สุดในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยที่ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับลดคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลภายในประเทศ (GDP) ทั่วโลกในปี 2565 จากเดิมที่ขยายตัว 3.6% เหลือขยายตัว 3.2% และปรับลดคาดการณ์การณ์ GDP ในปี 2566 เหลือขยายตัว 2.9% จากเดิม 3.6% ในการเปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) รวมถึง ปรับลดคาดการณ์ GDP ของสหรัฐในปี 2565 เหลือขยายตัว 2.3% จากเดิมที่ขยายตัว 3.7% และในปี 2566 เหลือขยายตัว 1.4% จากเดิมที่ขยายตัว 2.4% และปรับลดคาดการณ์ GDP ของยุโรปจากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 2.8% เหลือขยายตัว 2.6% ในปี 2565 และในปี 2566 เหลือขยายตัว 1.2% จากเดิม 2.3% ซึ่งต้องบอกว่าถ้าเอาเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว เศรษฐกิจยุโรปน่ากลัวที่สุด โดยเฉพาะหลังจากที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) แบบรวมภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนประจำเดือน ก.ค. 65 ออกมาที่ระดับ 49.6 จุด ลดลงจากระดับ 52.1 จุดในเดือน มิ.ย. 65 และเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 25 เดือนขณะที่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) รวมภาคการผลิตและบริการขั้นต้นของเยอรมนี ลดลงมาอยู่ที่ 48.0 ในเดือน ก.ค. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปีเช่นกัน
ส่วนในฝั่งของเอเชีย แม้ว่าไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่ชัดเจนเท่ายุโรป แต่ปัญหาคือการฟื้นตัวที่เปราะบางมากโดยเฉพาะจีน โดยล่าสุด IMF ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนจากเดิมที่ขยายตัว 4.4% เหลือขยายตัว 3.3% ในปี 2565 และปรับลดคาดการณ์ ในปี 2566 เหลือขยายตัว 4.6% จากเดิม 5.1% อันเป็นผลกระทบจากมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ของจีน โดยรัฐบาลเขตปกครองพิเศษมาเก๊า ประกาศให้ประชาชนชาวมาเก๊าทุกคนต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตัวเองโดยใช้ชุดตรวจแอนติเจน (ATK) ทุกวันตลอดทั้งสัปดาห์แรกของเดือนสิงหาคม และต้องรายงานผลต่อรัฐบาล ขณะเดียวกันรัฐบาลได้สั่งให้ห้องแล็บเตรียมพร้อมรับมือกับการตรวจเชื้อครั้งใหญ่ นอกจากนี้ เมืองเซินเจิ้น ซึ่งเป็นศูนย์กลางการผลิตทางภาคใต้ของประเทศ กำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาดระลอกล่าสุดของโรคโควิด-19
สำหรับตลาดหุ้นไทยในเชิงกลยุทธ์ตราบใดที่ SET ยังไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,600 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาลงจะยังคงอยู่ และการดีดตัวช่วงสั้นให้มองเป็นแค่ Technical Rebound ไปก่อน
ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,600 จุดได้ เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”
ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ
Comments