top of page
440662.jpg

ต่ำกว่า 1,615 จุดแค่ดีดขึ้นแล้วลงต่อ...สหรัฐกำลังถดถอย !


แม้ว่าทิศทางของตลาดหุ้นโลกในสัปดาห์ที่ผ่านมาจะปรับตัวขึ้นมาได้บ้าง หลังจากที่รายงานการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่าคณะกรรมการเฟดมีความเห็นตรงกันว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐมีความแข็งแกร่งพอที่จะรับมือกับการคุมเข้มนโยบายการเงิน แม้ว่าการดำเนินการดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ โดยอาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงในช่วงเวลาหนึ่ง แต่กรรมการเฟดมองว่า การทำให้เงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2% ถือเป็นภารกิจที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการจ้างงานที่เต็มศักยภาพอย่างยั่งยืน

ประกอบกับการที่กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกเพิ่มขึ้น 4,000 ราย สู่ระดับ 235,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค. 65 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 230,000 ราย ขณะตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรพุ่งขึ้น 372,000 ตำแหน่งในเดือน มิ.ย. 65 สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 250,000 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตามปัจจัยที่เราต้องติดตามต่อไป คือการดำเนินการคุมเข้มนโยบายการเงินดังกล่าวของเฟด อาจจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐ ซึ่งล่าสุดเฟดสาขาแอตแลนตาเปิดเผย แบบจำลองคาดการณ์ GDPNow ระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะหดตัวติดลบ 1.2% ในไตรมาส 2 หลังจากที่มีการนำตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเข้าประมวลผลในแบบจำลองคาดการณ์ดังกล่าว ซึ่งการหดตัวในไตรมาส 2 ถ้าเกิดขึ้นจริง จะเข้าเกณฑ์นิยามของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession จากเศรษฐกิจหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ขณะที่ทางด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจโลกย่ำแย่ลงอย่างมากนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 65 และเศรษฐกิจโลกอาจจะถดถอยในปีหน้า เมื่อพิจารณาถึงความเสี่ยงต่างๆ ทั้งนี้ IMF ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกสำหรับปี 2565 เป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ และจะเผยแพร่รายงานคาดการณ์เศรษฐกิจสำหรับปี 2565 และ 2566 ฉบับใหม่ในช่วงปลายเดือน ก.ค. 65 หลังจากในเดือน เม.ย. 65 IMF ได้ปรับการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงเกือบ 1% สู่ 3.6% ในปี 2565 และ 2566 ขณะที่เศรษฐกิจโลกขยายตัว 6.1% สอดคล้องกับทางด้านโกลด์แมน แซคส์ ที่ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง โดยระบุว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ของสหรัฐจะขยายตัวเพียง 0.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 1.9%

ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจจริงที่ทยอยออกมา สะท้อนภาพที่อ่อนแออย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคบริการของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.7 ในเดือน มิ.ย. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นปี 2565 และลดลงจากระดับ 53.4 ในเดือน พ.ค. 65 สอดคล้องกับดัชนีภาคบริการของสหรัฐที่ปรับตัวลงสู่ระดับ 55.3 ในเดือน มิ.ย. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

จีน และญี่ปุ่นเป็นความเสี่ยงระยะสั้นของเอเชีย ! ขณะที่ความเสี่ยงที่ผมมองว่าน่ากังวลมากๆ ในระยะต่อไปคือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของยุโรป โดยล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยเงินเฟ้อของยูโรโซนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์อีกครั้งในเดือน มิ.ย. 65 ทำให้มีแนวโน้มสูงว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. 65 ในภาวะที่ยอดค้าปลีกของยุโรปในเดือน พ.ค. 65 ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงที่ +0.20% ซึ่งต่ำกว่าเดือนก่อนหน้าที่ +4% โดยเป็นผลมาจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นเนื่องจากเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้บริโภคใช้จ่ายลดลงจากเดิม

ในส่วนของประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอย่างเยอรมัน รายงานดัชนีความเชื่อมั่นของนักลงทุนร่วงลงสู่ระดับ -26.4 จากระดับ -15.8 ในเดือน มิ.ย. 65 และแย่กว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -19.9 ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นดังกล่าวได้รับผลกระทบจากวิกฤตพลังงาน ขณะที่รัสเซียลดการส่งก๊าซธรรมชาติสู่ยุโรป สอดคล้องกับฝั่งของอังกฤษ ที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิต ปรับตัวลงสู่ระดับ 52.8 ในเดือน มิ.ย. 65 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2 ปี

ขณะที่ ตลาดหุ้นเอเชีย ได้รับแรงกดดันจากการกลับมาแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกระลอกในจีน ซึ่งล่าสุดเซี่ยงไฮ้พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น 2 เท่า มากสุดนับตั้งแต่ปลาย พ.ค. 65 ร่วมทั้งจีนยังกำลังเผชิญกับภาวะน้ำท่วมภาคตะวันออกเฉียงเหนือหลังเจอพายุฝนอย่างหนักในมณฑลเหอเป่ยด้วย นอกจากนี้ตลาดหุ้นจีนยังได้รับแรงกดดันจากการปรับลดคาดการณ์ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จากนักวิเคราะห์ ซึ่ง GDP ของจีนปี 2565 ลงสู่ระดับ 4% จากระดับ 4.5% ตัวเลขคาดการณ์ครั้งใหม่นี้ ต่ำกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลจีนกำหนดไว้ที่ 5.5% ส่วนในฝั่งของญี่ปุ่นเองก็มีปัญหาชัดเจน โดยที่ล่าสุดธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นในไตรมาส 2 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 2 เนื่องจากผลกระทบของต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัดที่เกิดจากการที่จีนใช้มาตรการล็อกดาวน์

ทั้งนี้ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน สะท้อนออกมาในผลสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนสหรัฐจาก AAII ที่ระบุว่าในสัปดาห์ที่ผ่านมา สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ายังคงเป็นขาขึ้น หรือ Bullish เปลี่ยนแปลงติดลบ 3.40% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมาอยู่ที่ 19.40% ขณะที่สัดส่วนนักลงทุนที่เชื่อว่าตลาดหุ้นสหรัฐในระยะ 6 เดือนข้างหน้ากำลังกลับเป็นขาลง หรือ Bearish ที่เปลี่ยนแปลง +6.10% เมื่อเทียบจากสัปดาห์ที่ผ่านมา มาอยู่ที่ 52.8%

สำหรับตลาดหุ้นไทยในเชิงกลยุทธ์ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,615 จุด) ให้ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาลงจะยังคงอยู่ และการดีดตัวช่วงสั้นให้มองเป็นแค่ Technical Rebound ไปก่อน และถ้าปิดต่ำกว่าจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 1,544 จุดลงมา หรือทำ Lower Low อีกครั้งจะเกิดสัญญาณขายใหม่ทันที

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,615 จุดได้ เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ ”เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 14.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ

ภาพประกอบ : การวิเคราะห์ทิศทางตลาดหุ้นไทยในทางเทคนิครายวัน (Daily)



Comments


bottom of page