top of page
312345.jpg

มีปัจจัยหนุนบ้างแต่ในภาพรวมยังไม่ช่วยอะไร


ยุโรปเปราะบางมาก !

แนวโน้มของตลาดหุ้นโลกในระยะสั้นยังคงถูกกดดันจากการที่ นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ได้ส่งสัญญาณชัดเจนหลังการประชุมที่โปรตุเกส ถึงความมุ่งมั่นในการสกัดเงินเฟ้อ แม้การใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงินจะชะลอการขยายตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการที่สหรัฐเปิดเผยตัวเลขตัวเลขประมาณการครั้งสุดท้ายของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 1 ของสหรัฐออกมาติดลบ และแย่กว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยหดตัว 1.6% จากเดิมที่รายงานว่าหดตัวเพียง 1.4% และ 1.5% ในตัวเลขประมาณการครั้งที่ 1 และ 2 ตามลำดับ และหากตัวเลข GDP สหรัฐหดตัวต่อไปในไตรมาส 2 ก็จะบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากมีการหดตัว 2 ไตรมาสติดต่อกัน

ขณะที่เฟดสาขานิวยอร์ก และสาขาซานฟรานซิสโก คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% หรือ 0.75% ในการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในเดือน ก.ค. 65 นอกจากนี้เฟดสาขานิวยอร์ก คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของสหรัฐ จะขยายตัว 1-1.5% ในปีนี้ ขณะที่อัตราว่างงานจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งถือว่าแย่กว่าที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF คาดการณ์ว่า GDP ของสหรัฐจะขยายตัว 2.9% ในปีนี้ ซึ่งลดลงจากที่เคยคาดการณ์ไว้ครั้งล่าสุดในเดือน เม.ย. 65 ที่ผ่านมาว่าจะขยายตัว 3.7% และคาดว่า สหรัฐจะหลีกเลี่ยงภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ได้ ส่วนในปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะขยายตัว 1.7% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ที่ 2.3% และปี 2567 จะขยายตัว 0.8%

ขณะที่มูดี้ส์ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ Aaa โดยระบุว่า เศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัวจากผลกระทบของโรคโควิด-19 ได้อย่างแข็งแกร่งมาก อีกทั้ง มูดี้ส์ยังคงแนวโน้มอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐไว้ที่ "มีเสถียรภาพ"

อย่างไรก็ดีในฝั่งของตลาดการเงิน พบว่านักวิเคราะห์ของเจพีมอร์แกนออกรายงานเตือนว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะถดถอยในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากการหดตัวของ GDP และการที่เฟดส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ สอดคล้องกับทิศทางของธนาคารยุโรป (ECB) ที่แสดงพร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอัตราที่แรงขึ้น หากมีความจำเป็น เพื่อควบคุมการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดีประเด็นที่น่ากังวลคือในด้านของปัจจัยพื้นฐานนั้น ทางฝั่งยุโรปอ่อนแอกว่าทางฝั่งของสหรัฐค่อนข้างมาก สะท้อนออกมาจากการที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจเยอรมนีประเทศอันดับที่ 1 ในยูโรโซนในเดือน มิ.ย. 65 ปรับตัวลดลงแตะ 92.3 จากระดับ 93.0 ในเดือน พ.ค. 65 ต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดที่ระดับ 92.9 ขณะที่ล่าสุดสถาบัน GfK ของเยอรมนีเปิดเผยว่า ความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเยอรมนีอาจจะปรับตัวลดลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน ก.ค. 65 เนื่องจากสงครามยูเครน และห่วงโซ่อุปทานที่ชะงักงันส่งผลให้ราคาพลังงานและอาหารยิ่งสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบจากฝั่งของยุโรปในระยะต่อไป

เอเชีย และไทยมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัวที่ดีกว่า ! มีความเป็นไปได้ที่แรงกดดันจากฝั่งตะวันตกจะทำให้สถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนย่ำแย่ไปอีก หลังการที่ล่าสุดกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำทั้ง 7 หรือ G7 ออกแถลงการณ์ระบุว่า G7 จะเพิ่มความร่วมมือในการรับมือภัยคุกคามจากรัสเซีย ขณะเดียวกันได้เตรียมสั่งห้ามการนำเข้าทองคำจากรัสเซีย เพื่อเพิ่มแรงกดดันให้รัสเซียยุติสงครามในยูเครน ในช่วงเวลาเดียวกับที่กองกำลังรัสเซียได้เข้ายึดเมืองซีวีโรโดเนสก์ (Sievierodonetsk) ทางตะวันออกของยูเครนได้อย่างสมบูรณ์แล้ว ขณะที่ผู้นำยูเครนเรียกร้องให้มีการขับไล่รัสเซียออกจากสหประชาชาติ (UN) พร้อมกล่าวหารัสเซียว่าเป็นรัฐก่อการร้าย

ทั้งนี้ผู้นำเยอรมันยืนยันพันธมิตรนาโตเดินหน้าสนับสนุนอาวุธให้ยูเครนอย่างเต็มที่ ขณะที่ความตึงเครียดในระยะต่อไปมีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นอีก หลังจากที่สวีเดนและฟินแลนด์เตรียมเข้าเป็นสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO) แบบด่วนพิเศษ หลังจากที่ตุรกีได้ยกเลิกอำนาจยับยั้งหรือวีโต้สำหรับการเข้าร่วม ซึ่งล่าสุดรัสเซียประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะตอบโต้ หาก NATO ส่งกองกำลังและวางโครงสร้างพื้นฐานในประเทศฟินแลนด์และสวีเดน

อย่างไรก็ดีในส่วนของตลาดหุ้นเอเชีย จะได้รับปัจจัยหนุนจากการทยอยเปิดเศรษฐกิจของจีน และการที่ล่าสุดธนาคารกลางจีน (PBOC) ให้คำมั่นหนุนเศรษฐกิจโตต่อเนื่อง พร้อมจัดหาเงินทุนช่วยธุรกิจขนาดเล็ก และจะสนับสนุนนโยบายทางการเงินเพื่อให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว โดยมุ่งเป้าไปที่การเพิ่มเครดิตสินเชื่อมากกว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ย หลังเศรษฐกิจจีนชะลอตัว เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 และปัญหาห่วงโซ่อุปทาน

ขณะที่ล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตประจำเดือน มิ.ย. 65 ที่ระดับ 50.2 จุด เพิ่มขึ้นจากตัวเลข 49.6 จุด ในเดือน พ.ค. 65 ซึ่งนับเป็นการอยู่สูงกว่าระดับ 50 จุด เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 ทั้งนี้ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน หลังจากรัฐบาลยุติมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ในนครเซี่ยงไฮ้

ในส่วนของตลาดหุ้นไทย มีโอกาสที่จะได้รับปัจจัยหนุนจากภาพรวมเศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. 65 ที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ขณะเดียวกันมูลค่าการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นในเกือบทุกหมวดสอดคล้องกับอุปสงค์ประเทศคู่ค้าที่ยังขยายตัว นอกจากนี้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศจากทั้งฝั่งไทยและต่างประเทศ

อย่างไรก็ดีในเชิงกลยุทธ์ตราบใดที่ SET ยังคงไม่สามารถกลับไปยืนเหนือ EMA 75 วัน (ล่าสุดอยู่ที่ 1,624 จุด) ได้ แนวโน้มใหญ่ในราย 3 เดือนที่เป็นขาลงจะยังคงอยู่ และการดีดตัวช่วงสั้นให้มองเป็นแค่ Technical Rebound ไปก่อน และถ้าปิดต่ำกว่าจุดต่ำสุดของปีนี้ที่ 1,544 จุดลงมา หรือทำ Lower Low อีกครั้งจะเกิด “สัญญาณขายใหม่” ทันที

ในส่วนของกลยุทธ์ สำหรับการลงทุนระยะสั้น (ไม่เกิน 1 สัปดาห์) กรณี SET ยังคงแกว่งต่ำกว่า 1,624 จุดได้ เน้น “Wait-and-See” สำหรับการลงทุนระยะกลาง (1-3 เดือน) ในลักษณะ Long-Only แนะนำ “คงสัดส่วนการลงทุนในหุ้นที่ระดับ 25% ของพอร์ต”

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงแค่ความเห็นส่วนตัวของผมนะครับ โปรดใช้วิจารณญาณ และศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการตัดสินใจลงทุนด้วยครับ สำหรับการพูดคุยกันระหว่างสัปดาห์นอกจากทาง Facebook ที่ www.facebook.com/wealthhuntersclub และ e-mail ที่ moobin.stockmania@gmail.com แล้ว แฟนๆ ยังสามารถติดตามมุมมองเกี่ยวกับการลงทุนจาก “นายหมูบิน” ได้ในรายการ “เซียนเศรษฐกิจ” ทาง FM 97 ทุกวันอาทิตย์ เวลา 15.00-16.00 น. เช่นเดิมครับ




12 views
bottom of page